วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ (2): หลังรัฐประหารเขียนเสรีภาพสวยเสมอ

หมายเหตุ : เนื่องจากการสัมภาษณ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญมีรายละเอียดมาก ผู้เรียบเรียงจึงแบ่งออกเป็นตอนๆ เพื่อสะดวกแก่การติดตามอ่าน ตอนแรก เป็นการตัดตอนมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งสังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ ตอนที่สองนี้จะย้อนไปตั้งแต่เริ่มต้นรายมาตรา ตั้งแต่หมวดสิทธิเสรีภาพถึงระบบเลือกตั้ง ตอนที่สามว่าด้วยวุฒิสภา องค์กรตรวจสอบ และบทสรุปภาพรวม การตัดตอนเช่นนี้อาจมีปัญหาบ้างในแง่ความต่อเนื่องเชื่อมโยง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้เรียบเรียง

ไชโย! คราวนี้แก้ รธน.ได้
ไม่ล้มล้างการปกครอง

วรเจตน์ชี้ให้เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ มีความเปลี่ยนแปลงในมาตรา 34 ข้อห้ามใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างระบอบการปกครอง ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2550 คือมาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า ส.ส. ส.ว.มีความผิดฐานแก้ไขรัฐธรรมนูญให้วุฒิสภามาจากเลือกตั้ง

โดยในร่างแรก มาตรา 31 เขียนว่า

“บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

ในกรณีที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดได้ ในการนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวและสั่งการอื่นได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แต่การใช้สิทธิเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว”

แต่ในร่างแก้ไขใหม่ซึ่งเปลี่ยนเป็นมาตรา 34 เขียนว่า

“บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

ในกรณีที่บุคคล กลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใด กระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดได้ แต่มิให้ถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของสมาชิกวุฒิสภา หรือขององค์กรอื่น เป็นการกระทำตามมาตรานี้ ในการนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวและสั่งการอื่นได้ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แต่การใช้สิทธิเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว”

มาตรานี้แก้ไขด้วยหรือ ผมไม่ทันสังเกต รู้แต่ว่าตอนแรกแก้ให้ใครก็ร้องศาลได้

มาตรา 34 เอาสิ่งซึ่งไม่ถูกต้องจากตอนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้วมาเขียน อย่างที่เราทราบกัน ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องผ่านอัยการสูงสุด แต่คราวนี้เขียนให้ผู้ทราบการกระทำคือประชาชนทั่วไปร้องได้เลย แล้วฉบับแก้ไขใหม่ก็ไปเขียนต่ออีกว่า มิให้ถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ของ ส.ส. ส.ว. หรือองค์กรอื่นเป็นการกระทำตามมาตรานี้ซึ่งความจริงมันไม่ควรเป็นการกระทำตามมาตรานี้อยู่แล้ว เพราะเป็นการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ แต่ก็ไปตะแบงกันคราวก่อนตอนที่เขาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาเสนอแก้ไขตามระบบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไปตะแบงว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง นักกฎหมายบางท่านตะแบงไปว่ามันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ทั้งๆที่เห็นได้ชัดว่าผู้ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเขาใช้อำนาจหน้าที่ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

คือการเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้คนต่างชาติมาอ่านเขาจะตลก เพราะเราไปเขียนว่า ให้ถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไม่เป็นการกระทำตามมาตรานี้ ทั้งที่โดยสภาพมันไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นอยู่แล้ว ต้องเขียนทำไม เขียนเพื่อจะบอกว่าที่คราวที่แล้วตีความไปอย่างนั้น ที่ตะแบงกันไปอย่างนั้น มันไม่ผิดนะ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ยกเว้นมิให้ถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ของ ส.ส. ของ ส.ว. หรือ องค์กรอื่นเป็นการกระทำตามมาตรานี้เหมือนที่ปรากฏอยู่ในร่างนี้อย่างนั้นหรือ แน่นอนคนเขียนก็จะบอกว่าจะได้ชัดๆไง ไม่ต้องเถียงกัน แต่ประเด็นคือ เรื่องนี้ไม่ควรต้องเป็นประเด็นเลย ในทางกลับกันกลับสร้างความชอบธรรมให้การวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องในครั้งที่ผ่านมา ถ้าจะเขียน ควรจะต้องไปเขียนวรรคหนึ่งให้ชัดเจนเพราะหัวใจสำคัญอยู่ตรงนั้น

แปลว่าถ้าเขียนใหม่ในมาตรา 34 อย่างนี้ ถ้าพรรคการเมืองจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างครั้งที่แล้วก็สามารถทำได้ ไม่ผิด

ถูกต้อง แต่จะมีคนตีความในทางกลับกันว่า เพราะคราวที่แล้วยังไม่มีการเขียนแบบนี้ เลยทำไม่ได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินน่ะ ถูกแล้ว แต่ต่อไปนี้เขียนแล้วทำได้ คือผมไม่รู้จะบรรยายอย่างไรดี

เท่ากับยอมรับว่าที่จริงรัฐสภามีสิทธิแก้รัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมาพวกเอ็งผิดไปแล้วก็แล้วไป

ประมาณนั้น ผมอ่านแล้วรู้สึกถึงความ...(เซ็นเซอร์)...ของการเขียน จริงๆ แล้วมันผิดตั้งแต่คอนเซปท์อันแรกเลย มาตรานี้เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการกระทำตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ

วิธีคิดเรื่องนี้คือหากมีใครจะใช้สิทธิเสรีภาพทำลายระบอบประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญก็จะให้สิทธิเสรีภาพสิ้นสูญไปเช่น หากคุณใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น การชุมนุม การรวมตัวกันเป็นสมาคม (ใช้เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นองค์การลับเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตย) การสอน การติดต่อสื่อสารถึงกันไปในทางที่ผิดเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย (บ้านเราอาจจะนึกถึงการขัดขวางการเลือกตั้ง) เขาก็จะบอกว่าคุณไม่มีเสรีภาพมารวมตัวกัน เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพอย่างนี้มันทำลายระบอบประชาธิปไตย  มันเป็นกลไกที่ระบอบประชาธิปไตยมีขึ้นเพื่อป้องกันตัวเอง แต่บ้านเราเอามาดัดแปลงใช้จนฟั่นเฝือ ผิดเพี้ยนไปหมด

ประเทศที่เป็นต้นแบบคือเยอรมนี เขาไม่ได้ให้ใครก็ได้เป็นคนไปร้อง ไม่อย่างนั้นมันจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่เขาให้องค์กรรัฐ คือให้รัฐบาล (ทั้งระดับสหพันธ์และมลรัฐ)หรือสภาผู้แทนราษฎรระดับสหพันธ์ที่จะเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นผู้บอกว่าสิทธิด้านไหนบ้างของปัจเจกบุคคลแต่ละคนที่จะต้องสิ้นสูญไป จนกระทั่งพฤติการณ์ของบุคคลนั้นๆ กลับมาเป็นปกติจึงสามารถไปยื่นคำร้องขอเอาสิทธิกลับคืนมา หลักเป็นแบบนี้

แต่มาตรานี้ถูกเอามาใช้เล่นการเมืองกัน คราวที่แล้วดันไปบอกว่าที่ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งมันตลก มีนักวิชาการไปบอกว่าเป็นการใช้อำนาจผิดมาตรา 68 ผมบอกว่าไม่ใช่ มาตรา 68 เป็นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่เรื่อง ส.ส. ส.ว. หรือองค์กรของรัฐดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้

เที่ยวนี้ผมเข้าใจว่า วันหน้าถ้าพวกเขาจะแก้รัฐธรรมนูญกันเอง ก็กลัวว่าเดี๋ยวจะมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าจะล้มล้างอะไรอีก ก็เลยเขียนไว้ อีกอย่างการเขียนอย่างนี้ในทางกลับกันมีผลว่า เที่ยวที่แล้วที่เอ็งผิดไปแล้ว ซึ่งอันที่จริงไม่ได้ผิดหรอก

ที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องเขียนแบบนี้ใช่ไหม

ไม่ต้องเขียนเลย กรณีนี้ผิด 2อย่างด้วย คือไปเอาเรื่องอัยการออก จริงๆ ถ้าจะมีแบบนี้ก็ต้องให้อัยการเป็นคนพิจารณาเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกในเชิงคอนเซปต์ว่าองค์กรของรัฐควรเป็นคนยื่นเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ให้ใครที่ไหนก็ยื่นได้ ไม่อย่างนั้นก็ยื่นกันมันล่ะสิ ซึ่งก็คือการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง คนยื่นเรื่องที่พบเห็นการกระทำไม่ได้ถูกกระทบสิทธิอะไรเลย นี่เปิดโอกาสให้ยื่นกันเข้าไป แล้วปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจอันมหาศาลในการที่จะดูว่าเรื่องไหนควรจะรับเป็นคดีดำเนินการต่อไป เรื่องไหนไม่ควรรับ การเป็นผู้เล่นในสนามการเมืองแบบที่มีอำนาจมากของศาลรัฐธรรมนูญก็จะยิ่งชัดเจนขึ้น

มาตรา 34 ที่เพิ่มข้อความให้ยุบพรรคการเมือง แล้วให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้นี่จะกลายเป็นเครื่องมืออะไรได้ไหม

อันนี้ความจริงไม่ได้เพิ่มเข้ามาใหม่ ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มี ความแตกต่างกันมีแต่เพียงว่าตามรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พรรคการเมืองใดเลิกการกระทำ ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองได้ โดยในกรณีที่สั่งให้ยุบพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจต่อไปในอันที่จะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบเป็นเวลาห้าปีได้ด้วย แต่ในร่างรัฐธรรมนูญที่เรากำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่นี้ เขาเขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองได้ ทั้งนี้ตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้พูดเรื่องการตัดสิทธิหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค

เราจะเห็นได้ว่าหลักการดั้งเดิมของเรื่องนี้คือการห้ามการใช้สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่ย้อนกลับมาทำร้าย ทำลายระบอบประชาธิปไตย การสั่งให้สิทธิสิ้นสูญไป อันที่จริงต้องเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล และจะต้องมีผลไปในอนาคต แต่ของบ้านเราใช้ว่าสั่งให้เลิกการกระทำ มิหนำซ้ำยังไปผูกกับการกระทำของพรรคการเมืองซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลอีก ทั้งๆที่กรณีของการยุบพรรคการเมืองมันควรเป็นเรื่องของนโยบายของพรรคที่ส่งผลทำลายระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การกระทำของบุคคลใดอันเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง การเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้ก็ทำให้การยุบพรรคการเมืองทำได้โดยง่าย

 

สิทธิและเสรีภาพมาก?
ลักษณะพิเศษรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร

ร่างรัฐธรรมนูญนี้ชูจุดขายว่ามีสิทธิเสรีภาพมาก มากยิ่งกว่า 2540 ยิ่งกว่า 2550

มันก็มีแต่ถ้อยคำ ผมอยากอธิบายว่ารัฐธรรมนูญไทยมีพัฒนาการ หรือมีคาแรกเตอร์สำคัญอย่างหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นหลังรัฐประหาร (หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ต่อเนื่องมาจากฉบับชั่วคราว) จะเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพค่อนข้างยาว เพื่อไปเกลื่อนกลืนกับส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ธรรมเนียมการเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้เริ่มหลังรัฐประหารปี 2490คือรัฐธรรมนูญปี 2492 ปรากฏชัดอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2549 ในรัฐธรรมนูญ 2550

รัฐธรรมนูญสยามฉบับแรกไม่มีเรื่องสิทธิเสรีภาพ  ฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 คือ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 กับฉบับปี 2489 มีเรื่องนี้แต่สั้น กระนั้นก็ครอบคลุมสิทธิสำคัญๆทั้งหมด พอรัฐประหารปี 2490 แล้วมาทำรัฐธรรมนูญปี 2492 นี่เป็นครั้งแรกเลยที่มีการบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ยาว รวมถึงมีเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐ สังเกตดูสิว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ก็บัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้ยาวกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เพราะมันเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร

เที่ยวนี้ยิ่งหนักไปกว่าเดิม ยาวมาก ถามว่าทำไมต้องยาว ก็เพราะว่าเขาต้องการเอาบทบัญญัติเรื่องสิทธิไปโชว์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพเต็มไปหมด

เราอาจสรุปได้ว่ายิ่งรัฐธรรมนูญมีบทแห่งสิทธิเสรีภาพยาวเท่าไร ยิ่งแปรผกผันกับความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น บ้านเราไม่เหมือนกับของชาวบ้านเขา รัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่มันเหมือนกับรัฐธรรมนูญ ปี 2492บทสิทธิยิ่งยาวมาก ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งน้อยหรือว่าไม่มี

ด้านหนึ่งเขียนเพิ่มอำนาจรัฐ อำนาจที่ไม่มาจากเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ไปเขียนเรื่องสิทธิให้ดีขึ้น แต่เมื่อรัฐมีอำนาจมากขึ้นก็มาทำลายสิทธิอยู่ดี อย่างนั้นใช่ไหม

การเขียนเรื่องสิทธิมากขึ้นยังเป็นการไปเพิ่มอำนาจในการตีความให้กับองค์กรตรวจสอบ และที่บอกว่ามีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น เมื่อไปดูในรายละเอียดก็ไม่แน่เสมอไป

ในบางมาตราก็มีการวางเงื่อนไขหรือมีการตรากฎหมายจำกัดสิทธิมากขึ้นด้วย เช่น เรื่องเสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในทางวิชาการ ในเรื่องเหล่านี้แบบเก่าดีกว่า คือมีการวางหลักเรื่องสิทธิไว้ แต่การตรากฎหมายจำกัดสิทธิจะมีเงื่อนไขให้น้อยกว่า

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดอำนาจในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิมากขึ้น ซึ่งพอเปิดอำนาจมากขึ้น ฝ่ายสภาหรือองค์กรอื่นๆ ก็ทรงอำนาจในการไปตรากฎหมายจำกัดสิทธิมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการอ่านกฎหมายเรื่องสิทธิเราจะไม่อ่านเรื่องของการที่เข้าไปรับรองสิทธิเท่านั้น แต่ต้องดูว่าอำนาจในการตรากฎหมายเข้าไปจำกัดสิทธิมีมากขึ้นไหม ซึ่งในบางกรณีมันเพิ่มขึ้นไปด้วย

อีกประการหนึ่งคือ ในหมวดสิทธิมีประเด็นกำหนดให้บุคคลสามารถใช้สิทธิทางศาลบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ได้โดยตรง ในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายบัญญัติแต่แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติก็สามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง ปัญหาคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติสิทธิให้ประชาชนเรียกร้องให้รัฐกระทำการในหลายเรื่อง แต่ว่ากฎหมายมันไม่มี เมื่อประชาชนอ้างสิทธิแล้วจะทำอย่างไร มันจะมีปัญหาอยู่ดีตอนบังคับการตามสิทธิ

ผมดูตัวอย่างมาตรา 53 เสรีภาพในการชุมนุม มีข้อความเพิ่มจากรัฐธรรมนูญ 2550 การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่... คราวนี้มีเรื่องศีลธรรมอันดีของประชาชน ความปลอดภัยด้านการสาธารณสุข เพิ่มเข้ามาด้วยนะ แปลว่าต่อไปจะต้องเป็นม็อบอนามัย มาตรา 51 ก็เพิ่มเสรีภาพเรื่องวิจารณ์ศาลว่าที่ได้กระทำโดยสุจริตตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แล้วถ้าไม่เป็นไปตามหลักวิชาล่ะ

อย่างที่บอกไง ดูเผินๆ เหมือนรับรองสิทธิมากขึ้น  แต่เวลาอ่านเรื่องสิทธิอ่านเพียงแค่ดูว่ามันเยอะๆไม่ได้  ต้องดูอำนาจในการตรากฎหมายเข้าไปจำกัดสิทธิ โดยหลักเรื่องสิทธิ ควรถือว่าสิทธิมีอยู่แล้ว ส่วนจะเข้าไปจำกัดเรื่องไหนต้องมีรัฐธรรมนูญเขียนให้อำนาจ วางเงื่อนไขในการเข้าไปจำกัดสิทธิ เพราะฉะนั้นยิ่งเขียนเงื่อนไขเข้าไปจำกัดสิทธิมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่รัฐจะก้าวล่วงเข้าไปในสิทธิของประชาชนยิ่งมากขึ้นเท่านั้น โอกาสที่องค์กรตุลาการจะใช้อำนาจในการตีความเพื่อบีบจำกัดสิทธิให้แคบลงก็มีมากขึ้นเท่านั้น

รัฐธรรมนูญอเมริกาตอนที่ประกาศใช้ครั้งแรกไม่ได้เขียนเรื่องสิทธิเอาไว้ เพราะโดยแนวคิดแล้วเขาเชื่อว่าสิทธิมันมีอยู่แล้ว การไปเขียน ยิ่งเขียนเยอะ ยิ่งทำให้สงสัยว่าถ้าไม่เขียนเท่ากับว่าไม่มีหรือ ตอนหลังก็มีการต่อรองกันเพื่อให้รัฐต่างๆที่มารวมกันเป็นสหรัฐอเมริกายอมรับรัฐธรรมนูญ คือตกลงกันว่าถ้ารับรัฐธรรมนูญแล้วจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้มีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพต่อมามีการแก้รัฐธรรมนูญให้มีบทแก้ไขเพิ่มเติม เพิ่มเรื่องสิทธิเข้าไป แต่ตอนแรกคนที่ร่างรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่มีความจำเป็น  การไม่เขียนนั้นดีกว่า เพราะเท่ากับว่ามีทั้งหมด

ดังนั้นในแง่นี้รัฐธรรมนูญถาวร 2475 รัฐธรรมนูญ 2489 เขาเขียนเรื่องสิทธิไม่เยอะก็จริง แต่ว่ามันครอบคลุมกว่าเขียนในรัฐธรรมนูญอย่างสวยหรูในตอนต้นแต่กลับถูกทำลายในตอนท้ายในบทเฉพาะกาล ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าเอาเข้าจริงแล้วสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่  สิทธิเท่าเทียมกันในการเข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างหลากหลายและทั่วถึง ทำได้จริงหรือ ถ้าทำได้จริงทำไมยังต้องมีกวดวิชากันอย่างเป็นล่ำเป็นสันอยู่

ประเด็นหนึ่งที่กรรมาธิการยอมแก้ไขคือเลิกใช้คำว่าพลเมือง

มันก็ต้องใช้คำว่าบุคคล เพราะเป็นคำตามกฎหมายเขาใช้แยกกันระหว่างหมวดเรื่องสิทธิของปวงชนชาวไทย กับหมวดว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คำว่าบุคคลในหมวดสิทธิมนุษยชนหมายถึงมนุษย์  ในหมวดปวงชนชาวไทยก็หมายถึงผู้ถือสัญชาติไทย อันนี้แก้ถูกแล้ว

ที่เขาพยายามชูเรื่องความเป็นพลเมืองขึ้นมา ก็คือเขาพยายามทำลายคำว่า “ราษฎร”  สิ่งที่เขาอธิบายแรกสุดก็คือเขาพยายามทำให้ประชาชนเป็นพลเมืองไม่ใช่ราษฎร เพราะคำว่าราษฎรหมายถึงคนซึ่งตกอยู่ในบังคับ ตกอยู่ในอำนาจ  นี่คือความพยายามที่เขาจะใช้ภาษาหรือวาทกรรมเข้ามาสร้างความชอบธรรมในการเขียนรัฐธรรมนูญ แต่ความหมายของคำว่าราษฎรในทางประวัติศาสตร์ตามรัฐธรรมนูญ ผมเคยอธิบายไปแล้วว่าในความเห็นของผมหมายถึงเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ

หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ก็ใช้ถ้อยคำและเนื้อที่มากกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 77-95 รวมแล้ว 19 มาตรา

แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ความจริงไม่ควรต้องมีในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญวางหลักการที่เป็นคุณค่าพื้นฐานก็พอ เป็นนิติรัฐ เป็นสังคมรัฐ มีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม กลไกตลาด หลักๆ มีเท่านี้พอ อย่างอื่นๆต้องปล่อย แต่นี่เราไปเขียนล็อคไว้หมด ซึ่งเป็นธรรมเนียมจากปี 2492 ถ้าเราดูรัฐธรรมนูญจะเห็นสิ่งตกค้างมาจากรัฐประหารผิณชุณหะวัณ เยอะเลย แนวนโยบายยิ่งเขียนก็ยิ่งเยอะ แล้วแนวนโยบายพวกนี้ก็จะใช้เป็นเครื่องมือโจมตีด่าทอกันทางการเมืองมากกว่า บางอย่างก็เป็นเหมือนกับวินิจฉัยหรือตัดสินในบางเรื่องไปด้วย บีบให้ต้องทำเรื่องตรงนั้น ทั้งที่ความจริงหลายเรื่องที่อยู่ในหมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมันเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินกันทางการเมือง ต้องให้ถามประชาชนหรือบางเรื่องต้องตัดสินกันด้วยการทำประชามติด้วยซ้ำไป

บางเรื่องก็แปลก เช่นเรื่องศาสนารัฐควรมีท่าทีอย่างไร ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีการอภิปรายกันน้อยมาก รัฐไทยควรเป็นกลางทางศาสนาให้มากขึ้นไหมอะไรทำนองนี้ แทบจะไม่มีการอภิปรายเลย

แล้วก็เอาคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติมาทิ้งท้ายยังไม่รู้มาจากไหน องค์ประกอบเป็นอย่างไร อำนาจหน้าที่ทำอะไรบ้าง อันนี้จะเป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกที แต่เขียนเป็นติ่งไว้ เหมือนไข่เอาไว้แล้วเดี๋ยวค่อยไปฟักอีกที

ผู้นำทางการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี นี่ก็ใช้คำสวย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาพยายามจะบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญจากคนดีมีคุณธรรม  จริงๆแล้วผมอยากจะบอกว่าถ้าจะเขียนเรื่องผู้นำการเมืองที่ดีก็ควรเขียนแบบซื่อตรง แต่นี่ไม่ซื่อตรงเพราะมาตรา 3 บอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่เอาเข้าจริงๆไม่ใช่ การเขียนก็ไม่ตรงต่อภาพรวมทั้งหมดของรัฐธรรมนูญแล้วพยายามเขียนคำว่าที่ดีลงไปแต่พอเริ่มต้นก็ไม่ดีเสียแล้ว

มีข้อสังเกตว่าในภาค 2 หมวด 1มีความพยายามที่จะสร้างกลไกควบคุมนักการเมืองในความหมายถึงผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ พยายามทำมาตรฐานทางจริยธรรมต่างๆ ขึ้นมา แล้วกำหนดด้วยว่าการฝ่าฝืน ไม่ทำตามมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นเหตุแห่งการถอดถอน แต่เหตุแห่งการถอดถอนก็ยังไม่เท่าเทียมหรือยังไม่ยุติธรรมซึ่งเดี๋ยวจะพูดต่อไป

มาตรา 76 มีความเปลี่ยนแปลงเพราะกรรมาธิการสตรีผลักดันจนลาออก แล้วกรรมาธิการก็ต้องยอมให้มีสัดส่วนผู้หญิงหนึ่งในสามของผู้สมัครบัญชีรายชื่อ

แต่เขาใช้คำว่า “ต้องมีเงื่อนไขว่าในกรณีที่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเพศใดมากกว่าอีกเพศหนึ่งแล้ว อย่างน้อยในบัญชีรายชื่อนั้นต้องมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นเพศตรงข้ามกับเพศนั้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม”

คราวนี้อย่างไรล่ะ แล้วพวกข้ามเพศ พวกTransgender พวก LGBT พวกนี้จะเอายังไงล่ะ รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่ามีสองเพศเท่านั้น ในหมวดสิทธิที่มีคำว่าเพศสภาพเป็นการอธิบายว่าไม่ได้เป็นเรื่องแค่สองเพศ ก็จะมีปัญหาว่ารัฐธรรมนูญเขียนไม่สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน มาตรา 76 วรรค 3 นี้รัฐธรรมนูญระบุว่ามีแค่เพียงสองเพศ มีเพียงเพศใดมากกว่าอีกเพศหนึ่ง ในขณะที่บทว่าด้วยสิทธิและความเสมอภาคเขาใช้คำว่าเพศสภาพ ซึ่งคำว่าเพศสภาพมันอธิบายได้ว่ามีความหลากหลายทางเพศ

เจตนาของเขาคือผู้หญิงหนึ่งในสาม แต่เขียนรัฐธรรมนูญก็จะเขียนแค่คำว่าผู้ชายกับผู้หญิงไม่ได้

เพราะเดี๋ยวเกิดมีผู้หญิงล้วนๆ(หัวเราะ) เลยต้องกำหนดให้มีสัดส่วนหนึ่งในสาม จริงๆผมคิดว่าเรื่องนี้มันพูดยากนะ จะปล่อยก็ได้ให้มันพัฒนากันไปก็ได้ อันนี้ก็แล้วแต่ บังเอิญคนพูดเป็นผู้ชาย เดี๋ยวพวกเฟมินิสต์จะว่า

ผมรู้สึกว่าถ้าจะทำเรื่องพวกนี้จริงๆควรทำเรื่องการส่งเสริมความเสมอภาคและความหลากหลายในแง่ของเพศในทางสังคม น่าจะเป็น priority แรกก่อนที่จะมาทางการเมือง  ไม่ใช่มาบังคับในทางการเมืองว่า 1 ใน 3 ต้องเป็นผู้หญิง ตอนนี้มีการรวมกลุ่มกันของคนที่เป็น LGBT และในอนาคตหากพวกเขาจะมีบทบาททางการเมืองบ้าง เขาต้องทำอย่างไร จะบอกว่าควรมีสัดส่วนทางเพศอย่างไร เพราะในพรรคของเขาก็อาจเกี่ยงกันว่าใครเป็นเพศชายใครเป็นเพศหญิงแล้วถ้าเกิดมีการแปลงเพศแล้ว จะดูยังไง  คนเขียนก็คงเขียนตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้หญิง แต่ปัญหาตอนนี้มันไปไกลกว่าเรื่องชาย-หญิง ดังนั้นการคิดแบบนี้ก็ไม่ครอบคลุม

Open List ยังอยู่

การเลือกตั้ง ส.ส.เขายังยืนตามเดิมนะ คือ ระบบสัดส่วนผสม ในส่วนบัญชีรายชื่อก็ยังเป็น open list อยู่ ที่มีการท้วงติงไปหลายเรื่องเขาไม่ได้ฟังเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะยังไม่เอามาใช้ มันเว้นไว้ในบทเฉพาะกาล

ครั้งแรกก็เลือกไป มีส.ส.ระบบแบ่งเขต มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในระบบบัญชีรายชื่อก็จะมีการจัดอันดับ ประชาชนก็เลือกที่พรรคการเมืองเท่านั้นเอง แต่ยังไม่มีสิทธิลงไปกาเลือกคนในบัญชีรายชื่อ แต่การเลือกตั้งหลังจากครั้งแรกจะลงไปกาชื่อคนในบัญชีและจะนับคนในบัญชีว่าคนไหนที่มีเสียงเยอะก็จะอยู่อันดับหนึ่งของบัญชี

อย่างที่ผมเคยวิจารณ์ไปและยังยืนยันในคำวิจารณ์นั้นอยู่ว่าระบบนี้ไม่ดี เพราะมันทำให้คนในบัญชีต้องแข่งกันเอง

อีกอย่างที่แก้ไขก็คือ เขาเลิกระบบของการแบ่งภาค ระบบแบบบัญชีรายชื่อใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง คือกลับไปใช้แบบ 2540หรือ 2550หลังแก้ไขสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์

การใช้เขตประเทศจะทำให้จำนวน ส.ส.ส่วนเกินเพิ่มขึ้นหรือลดลง

อันนี้อาจจะต้องดูจำนวนพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งประกอบด้วย ถ้ามีพรรคการเมืองลงเลือกตั้งหลายพรรค แล้วมีคะแนนเสียงถึงสัดส่วนที่จะได้เก้าอี้ในสภาผู้แทน แต่ไม่ชนะในเขตเลือกตั้ง ก็อาจจะเกินมาได้ แต่ของเรากำหนดไว้ที่ไม่เกิน 170 ที่นั่ง อันนี้อาจจะต่างจากเยอรมันซึ่งไม่กำหนดขั้นสูงไว้

เรื่องที่อาจเป็นประเด็นในการเลือกตั้งคือ open list คือเมื่อใช้ประเทศเป็นเขตประเทศมันใหญ่มีโอกาสมากที่คุณได้คะแนนเสียงในบัญชีรายชื่อเยอะแต่คำนวณที่นั่งในบัญชีรายชื่อระบบ open list แล้วไม่ถึงลำดับของคุณ

สมมติเรา 5 คนอยู่บัญชีรายชื่อเหมือนกันจัดลำดับคะแนนแล้วผมได้ที่ 5ได้คะแนนเสียง 200,000 แต่ปรากฏว่าพรรคผมชนะในเขตเลือกตั้งได้ที่นั่งจำนวนหนึ่งบางเขตได้คะแนน 30,000 บ้าง 40,000 บ้างแต่เมื่อคำนวณแล้วเป็นสัดส่วนที่ได้ในบัญชีรายชื่อ 4 คนผมเป็นคนที่ 5 ได้คะแนนตั้ง 200,000 แต่ไม่ได้เป็นส.ส. พวกส.ส.เขตได้คะแนนน้อยกว่ากลับได้เป็นส.ส. มันอาจเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ง่ายขึ้นอีกเมื่อใช้ประเทศเป็นเขต แต่ประเด็นสำคัญคือ open list มันทำให้แข่งกันเอง

ระบบนี้ไม่มีที่ไหนในโลกใช่ไหม

ผมว่าไม่มีนะผมเข้าใจว่าประเทศที่ใช้ระบบแบ่งเขตด้วยและบัญชีรายชื่อด้วยไม่น่าจะมีที่ไหนที่เขาใช้แบบopen list น่าจะมี open list เฉพาะประเทศที่ใช้ระบบบัญชีรายชื่ออย่างเดียว แต่อันนี้ต้องไปถามคนยกร่างว่าศึกษาประเทศไหนมา

เขาชอบอ้างทั่วโลก

อันไหนที่มีแล้วเข้าทางเขาก็มักเอามาอ้างบางทีอันหนึ่งมันผูกกับอันอื่นทั้งระบบมันมีเหตุผลรองรับของมันพอไปดึงส่วนหนึ่งมามันอาจจะอ้างได้แต่ระบบที่เชื่อมโยงมันเป็นอีกแบบคนเหล่านี้ก็อ้างผิดมาตั้งหลายเรื่องนะแต่ไม่เคยยอมรับเอาความต้องการทางการเมืองในช่วงเวลานั้นเป็นหลักคือมันเหมือนถอดเอาอะไหล่ตัวหนึ่งของเขามาแต่อะไหล่ตัวนี้จะฟังก์ชั่นต่อเมื่อมีอะไหล่ตัวอื่น

อะไหล่ปลอม (หัวเราะ)

อะไหล่ปลอมบ้างอะไรบ้างบางอย่างเขาก็เลิกผลิตไปแล้วอย่างองค์กรไต่สวนอิสระของอเมริกาเขาก็เลิกไปแล้ว แต่ของเราเอามา

 

บังคับ ส.ส.สังกัดพรรค
แต่พรรคขับออกไม่ได้

ปัญหาสำคัญที่ต้องพูดกันคือเรื่องสังกัดหรือไม่สังกัดพรรคการเมือง ในที่สุดก็ไม่เปิดโอกาสให้สมัครโดยอิสระได้อยู่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ไม่ให้พรรคขับสมาชิกออก

ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 113 (9) บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ “ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก”ซึ่งตัดไปจากมาตรา 106 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เขียนว่า “หรือพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้นให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก”

แปลว่าต่อไปพรรคการเมืองจะขับ ส.ส.ออกไม่ได้

ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะไปเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองยังไงต่อไป บทบัญญัติเดิมที่ให้ขับสมาชิกออกจากพรรคได้ตอนนี้ไม่มีแล้ว แต่ยังคงบังคับว่าคนที่จะเป็น ส.ส.ต้องสังกัดพรรค และสมาชิกภาพของคุณจะมีอยู่คุณต้องอยู่กับพรรค ถ้าคุณลาออกจากพรรคการเมืองหรือพรรคการเมืองของคุณถูกยุบแล้วคุณไม่สามารถหาพรรคการเมืองใหม่อยู่ได้ภายใน 60 วันก็จะหมดสมาชิกภาพแต่ขณะเดียวกันก็ตัดบทบัญญัติที่ให้พรรคการเมืองขับ ส.ส.ออกจากพรรคออกไป ทีนี้ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นว่าถ้า ส.ส.ของพรรคทำลายภาพลักษณ์ของพรรคจะให้ทำอย่างไร

เรื่องนี้เป็นปัญหารากฐานของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมหาชนบ้านเรา คือผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังแยกแยะfunction ของพรรคการเมือง กับfunctionของกลุ่มที่เป็น ส.ส.ในสภาไม่ได้ ยังเข้าใจว่าพรรคการเมืองเป็นหน่วยในทางมหาชน หรือบางท่านไปเข้าใจว่านิติบุคคลในทางกฎหมายมหาชนอยู่ กฎหมายเองก็เขียนโยงอำนาจตัดสินเกี่ยวกับเรื่องราวของพรรคการเมืองไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ในความจริงพรรคการเมืองเป็นการรวมตัวของเอกชน ควรเป็นนิติบุคคลเอกชน กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองจึงต้องคล้ายๆ กับสมาคม การเป็นสมาชิกของพรรค การออกจากพรรค ต้องว่ากันไปแบบนั้น มันต้องขึ้นกับเจตจำนงของตัวพรรค แล้วถ้ามีเรื่องก็ควรให้ศาลยุติธรรมตัดสิน ไม่ควรเอาสมาชิกภาพของ ส.ส.ไปผูกกับความเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง

ในขณะเดียวกันเราต้องยอมรับว่าการที่คนมาอยู่รวมกันเป็นพรรคการเมือง ถ้าทำในสิ่งซึ่งคนในพรรคนั้นเขาไม่ปรารถนา ทำลายภาพลักษณ์ชื่อเสียงของพรรค ทำไมจะให้เขาออกไม่ได้ การขับสมาชิกของพรรคออกจากพรรคน่าจะทำได้ อันนี้อาจต้องไปดูพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่ากรรมาธิการยกร่างจะเขียนต่อไปอย่างไร

งั้นถ้า พ.ร.บ.พรรคการเมืองบอกให้พรรคขับสมาชิกออกได้ ถ้าสมาชิกคนนั้นเป็น ส.ส. จะพ้นจากส.ส.ด้วยไหม

ก็ไม่ได้เขียน สมมติ พ.ร.บ.พรรคการเมืองบอกให้เอาสมาชิกออกได้ แต่ถ้าไม่ได้ออกเพราะลาออกเอง ไม่ใช่พรรคถูกยุบแล้วหาพรรคอยู่ไม่ได้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เขาก็ไม่ได้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. แล้วสถานะของคนพวกนี้จะเป็นยังไง

หรือจะเขียนบังคับไว้ว่าพรรคการเมืองไม่มีสิทธิขับสมาชิกออก

มันก็จะตลก มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะการเข้าเป็นสมาชิกมันเข้าโดยสมัครใจ สมัครเข้าไปก็ต้องให้พรรครับ มันมีกฎกติกาที่รับ รับแล้วอยู่ในพรรคแล้วกระทำการอันไม่เป็นที่พึงประสงค์ของพรรคในแง่ของการทำให้พรรคสูญเสียภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของสาธารณชน หรือมีความประพฤติส่วนตัวเหลวไหลอื้อฉาวมันก็สมควรที่ก็ต้องขับออกได้ อันนี้คิดจากตรรกะทั่วไปในการที่พรรคการเมืองเป็นการรวมตัวกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่เราเป็นสมาชิกสมาคมหนึ่งแล้วเขาไม่สามารถขับเราออกได้แต่ปัญหาคือ ถ้า ส.ส.ถูกพรรคขับออกมันจะเป็นอย่างไรในเชิงสมาชิกภาพในเมื่อมุมหนึ่งคุณบังคับให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรค แล้วกำหนดเอาไว้ว่าถ้าลาออกจากพรรค ก็เสียสมาชิกภาพ ส.ส.

ต้องฝากถามท่านนักปราชญ์ทั้งหลายในกรรมาธิการว่าคิดยังไง แต่ logic คือ เราควรต้องแยกระหว่างพรรคการเมืองกับกลุ่มส.ส.ออกจากกัน พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน เราเป็นสมาชิกพรรคแต่อาจไม่ได้เป็นส.ส.ก็ได้ เราร่วมในกิจกรรมของพรรคในด้านต่างๆ แต่ถ้าคุณมาเป็นส.ส.คุณต้องมีวินัยของ factionคือวินัยของพรรคการเมืองในสภา แต่ตัวนี้ต้องแยกออกจากพรรคการเมืองซึ่งอยู่นอกสภา เพราะคนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ต้องผูกพันอยู่กับระเบียบ วินัยของพรรคการเมือง ส่วนคนที่เป็นส.ส.ก็ต้องผูกพันกับวินัยของกลุ่มส.ส.ในสภาด้วย นอกเหนือจากการผูกพันกับวินัยของพรรคในฐานะสมาชิกพรรค และสองอันนี้ควรแยกกัน

ถ้าแยกกันตามมาตรฐานอย่างนั้นแล้วจะขับออกยังไง

ถ้าคุณถูกขับออกจาก faction คุณยังเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่นะ พรรคการเมืองต้องใช้อำนาจของพรรคในการขับคุณออกจากพรรคอีกทีหนึ่ง เพราะสถานะสองสถานะนี้มันแยกกัน มันไม่ควรจะรวมกัน ซึ่งถ้าเราไม่ได้บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค การถูกขับออกก็ไม่มีความหมาย ขับออกก็เป็นส.ส.อิสระ แต่พรรคจะบอกว่าคนคนนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองนี้แล้วนะ คนคนนี้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มส.ส.ของพรรคการเมืองนี้ในสภาหรือ faction นี้แล้วนะ แล้วในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนในพื้นที่ก็จะตัดสินใจเองว่าจะยังเลือกเขาอีกไหมโดยเฉพาะคนที่ผูกพันอยู่กับพรรคพรรคการเมืองในสภาหรือ factionในเยอรมันจึงใช้ตัวนี้เป็นตัวกำกับพฤติกรรมหรือวินัยของการอยู่ร่วมกัน

แต่แน่นอน เราก็ไม่ควรให้พรรคขับออกเพราะเหตุฝ่าฝืนมติของพรรค ซึ่งตรงนี้กรรมาธิการยกร่างเขียนรับรองไว้เรื่อง free mandateซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง คือพรรคไม่สามารถมีมติผูกมัดสมาชิกของพรรคในการลงมติเรื่องใดได้ แต่ในด้านหนึ่งพรรค (หมายถึง faction ในสภา) ต้องคุมวินัยของส.ส.ได้ เช่น การประชุมนี้สำคัญ เขาจำเป็นต้องใช้คะแนนเสียงผ่านกฎหมายที่พรรคหาเสียงไว้กับประชาชนแล้วคุณไม่มา หรือคุณแสดงความเห็นไปในทิศทางซึ่งขัดกับแนวทางที่พรรคหาเสียงไว้ พรรคก็ต้องประกาศหรือทำอะไรสักอย่างได้ เช่น พรรคประกาศหาเสียงชัดรู้ทั้งบ้านทั้งเมืองว่า จะแก้กฎหมายทำแท้ง พอได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.เสร็จแล้วคุณบอกว่าคุณไม่เอา แน่นอน เราบังคับไม่ได้เรื่องการโหวต เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน แต่ในฐานะที่คุณเป็นสมาชิกของพรรค พรรคก็คงต้องมีอำนาจอะไรบางอย่างเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นการอยู่ร่วมกันก็ลำบาก

สรุปแล้ว ส.ส.ควรมี free mandate แต่ก็ต้องมีวินัยพรรค มันจะไปด้วยกันอย่างไร

มันต้องมี 2 อัน ผมเทียบง่ายๆ เหมือนหลักความมีอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ ผู้พิพากษาตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี แปลว่าเวลาตัดสินคดีต้องไม่รับใบสั่งจากใคร ต้องผูกพันตนเองต่อกฎหมายและความยุติธรรมในการตัดสินคดี แต่อิสระนี้ไม่ได้หมายความว่าจะมาศาลเมื่อไรก็ได้ นัดคู่ความ 9.30 น. แล้วลงมา 11.00 น.แล้วอ้างอิสระ หรือองค์คณะเขาตั้งประเด็นไว้ ตุลาการมีอิสระบอกว่าประเด็นนี้ผมโหวต ประเด็นนี้ผมไม่โหวต มันไม่ได้ คุณต้องทำตามกฎหมายวิธีพิจารณา

คล้ายๆ กับ ส.ส. อิสระของ ส.ส. คือ จำนนต่อมโนธรรมสำนึกของตัวในการออกเสียง ในการอภิปราย ในการแสดงความเห็น ไม่ควรให้พรรคมามีอำนาจเป็นเผด็จการว่าพรรคสั่งแบบนี้ เอ็งต้องเป็นแบบนี้ อันนี้ก็เป็นเผด็จการสิ ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันถ้าพรรคไม่สามารถกำกับพฤติกรรมของ ส.ส.ตัวเองได้เลยก็ไม่ถูก ส.ส.ไปพูดจากระทบกระเทือนกับภาพลักษณ์ของพรรค มีพฤติกรรมอันส่งผลทำให้พรรคเสียชื่อเสียง พรรคต้องจัดการได้ มันต้องแยกกัน

แล้วถ้า free mandate ไม่ไปกับนโยบายของพรรคล่ะ ถ้าพรรคประกาศนโยบายนั้นในการหาเสียงเลือกตั้ง เช่นประชาชนรับรู้ร่วมกันแล้วว่าจะแก้กฎหมายทำแท้ง แล้วเลือกเข้ามา ปรากฏคุณไม่เอา ยกมือสวน

อันนี้ก็ต้องเป็นเรื่องของ ส.ส. ถ้าเป็นเรื่องการออกเสียงลงคะแนน หลักความเป็นอิสระของ ส.ส.ต้องอยู่สูงกว่าหลักการอื่น แต่พรรคจะต้องทำอะไร พรรคอาจจะบอกว่าผมไม่ส่งคุณลงสมัครครั้งต่อไป อีกอย่างถ้าหาเสียงไว้อย่างนั้น มันก็เท่ากับหักหลังคนส่วนใหญ่ที่เลือกตนเข้ามา ผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปของ ส.ส.คนนั้นย่อมเป็นที่คาดหมายได้

ขับออกได้ไหม

ประเด็นนี้ถ้าถามผม ผมคิดว่าไม่เพียงพอ ขับออกไม่ได้ อาจต้องดูพฤติการณ์อื่นประกอบกัน เขาโหวตสวนพรรคแล้วพูดจาให้ร้ายพรรคอีก ถ้ามีพฤติการณ์อื่นประกอบมากพอทำให้เห็นว่าไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างไร

ผมสงสัยเรื่องนี้เพราะถ้าลองแยกสองกรณี ถ้าเป็นกฎหมายใหม่ ที่พรรคไม่เคยตกลงเป็นนโยบายหาเสียงร่วมกัน พรรคจะเอาอย่างนี้ แต่ผมเป็นส.ส.ผมเห็นอีกแบบ หรือกระทบประชาชนในพื้นที่ผมไม่เอาด้วย อย่างนี้น่าจะถือเป็น free mandateเต็มๆ พรรคไม่ควรไปทำอะไรได้ แต่ถ้ากฎหมายนี้หาเสียงมาด้วยกัน แล้วคุณดันโหวตสวน อันนี้น่าจะผิด

มันก็ยังต้องถือเป็น free mandate อยู่ดี free mandate คือเอกสิทธิ์ในการโหวต พรรคไปบังคับไม่ได้ พรรคมีมติได้แต่มติของพรรคเป็นเพียงคำแนะนำในการโหวตเท่านั้นว่าทิศทางของพรรคเป็นแบบนี้นะ แต่ส.ส.ต้องมีสิทธิอยู่เสมอที่จะโหวตตามมโนธรรมสำนึกของเขา พรรคจะเอาเหตุที่เขาโหวตสวนมาเป็นมติในการขับออกไม่ได้ อันนี้ความเห็นผม แต่ถ้าคุณไม่ได้แค่โหวตสวนแต่มีพฤติการณ์อื่นอีกที่ทำลายพรรคที่คุณสังกัด อันนี้มันมากไปกว่าการใช้ free mandate ไม่เคารพการอยู่ร่วมกัน มันต้องสามารถจัดการอะไรบางอย่างได้ แต่ทั้งหมดเป็นการบาลานซ์ มันสุดขั้วไปด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้

ฉะนั้นที่กรรมาธิการเขียนเรื่อง free mandate เติมเรื่องอภิปราย ลงมติ พวกนี้ถูกต้อง แต่ปัญหาคือพอไปตัดเรื่องการขับออกจากพรรคมันก็เป็นประเด็น จริงๆ เรื่องนี้จะแก้ปัญหาต้องแก้ที่รากฐาน คือเราไม่ควรบังคับให้บุคคลต้องสังกัดพรรคการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้ง อันนี้คือหลัก เราต้องถือหลักในแง่ที่ว่า การที่บุคคลเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองไม่ว่าจะเข้าไปในแง่ของการเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หรือเข้าไปในแง่ของอาสาให้คนอื่นเขาเลือก (ลงสมัครรับเลือกตั้ง) ก็ตาม ระบบกฎหมายควรรับรองให้เป็นสิทธิ ด้วยเหตุนี้ในแง่การลงสมัครรับเลือกตั้งก็ไม่ควรต้องไปบังคับให้เขาต้องเข้าอยู่ในพรรค ก็เขาอาจบอกว่ามันไม่มีนโยบายพรรคไหนเลยที่เขารับได้ เขาต้องการเสนอความคิดของเขาให้ประชาชนเลือก

ดังนั้นผมสนับสนุนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค แต่เรื่องนี้มันเป็นคนละอันคนละประเด็นกับเรื่องที่มีการพูดกันว่าจะทำให้เกิดเผด็จการพรรคการเมือง มันเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน แล้วผมก็ไม่สนับสนุนออกกฎหมายบังคับให้สังกัดพรรคการเมืองเพราะว่า กลัวส.ส.ไปขายเสียง รับสตางค์ เรื่องพวกนี้ไม่ควรเอามาเป็นประเด็นคิดในแง่ของการบังคับการตามสิทธิ เรื่องรับเงินมันไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้องไปจัดการอย่างอื่น ถามว่าสังกัดพรรคแล้วจะไม่มีการรับเงินโหวตหรือ

ประเด็นนี้ในรัฐธรรมนูญถูกต้องแล้วในการวางหลัก free mandate แต่ปัญหาที่ยังไม่ถูกต้องคือ อีกด้านหนึ่งต้องมีวินัยของพรรค การคุมวินัยของพรรคหรือวินัยของกลุ่มการเมืองในสภาทำได้ตั้งหลายอย่าง เช่น ถอนคืนตำแหน่ง คุณเป็น ส.ส.ของพรรคไปละเมิดกติกาการอยู่ร่วมกัน ไปเป็นกรรมาธิการในโควตาของพรรคหรือ faction ก็ต้องถอนคืน แต่ระบบบ้านเราไม่มี

ด้านหนึ่ง ส.ส.มีอิสระในการออกเสียงลงคะแนนแต่ก็ต้องมีวินัย บ้านเราคิดว่าอิสระกับวินัยไปด้วยกันไม่ได้ ถ้าเข้าใจหลักการให้ถูกต้องมันไปด้วยกันได้ เราเลยไปเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือระบบตามใจ ไม่ใช่ ประชาธิปไตยเป็นระบบที่ให้อิสระแต่ว่าคุณต้องมีวินัยด้วย ฉะนั้น ส.ส.ต้องมีระบบให้พรรคดำเนินการทางวินัยได้ แต่ไม่ใช่แค่เขาโหวตสวนพรรคแล้วไล่เขาออก

มันมีกลไกอีกตั้งหลายอย่างที่ทำให้กระบวนการของการเป็นส.ส.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแต่บ้านเราไม่เคยเอามาใช้คือบางส่วนมีการเขียนไว้ แต่บังคับการไม่ได้ ผมเคยเสนอว่า คุณทำกิริยาบางอย่างที่เป็น “กิริยาทราม” ในสภา หลายอย่างที่เราเห็นทำให้ภาพลักษณ์ในสภาเสีย คุณต้องมีระบบการลงโทษ เช่น ประณามในราชกิจจานุเบกษา บันทึกไว้ว่าบุคคลนี้ได้แสดงพฤติกรรมแบบนี้ในสภา อีก 20 ปีคนมาอ่านก็รู้ว่าทำแบบนี้ไม่ถูก หรือระบบตัดเงินเดือน แต่พวกนี้ส่วนหนึ่งต้องไปทำในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับการประชุมสภา

เมื่อครู่ที่อาจารย์บอกว่าการขับจากพรรค ถ้าเห็นว่าไม่เป็นธรรมให้ฟ้องศาลยุติธรรมคืออย่างไร

Point ผมคือต้องเริ่มจากหลักก่อนว่า พรรคการเมืองตั้งยังไง มีใครเป็นสมาชิกพรรค เอาตรงนี้ก่อน

ในทางหลักการ พรรคการเมืองตั้งขึ้นโดยคนที่มีเจตจำนงทางการเมืองเหมือนกันมาร่วมกันให้เกิดพรรคขึ้นมา พรรคมีนโยบาย พรรครณรงค์หาสมาชิกพรรคให้เพิ่มมากขึ้น แสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป อีกส่วนหนึ่งคือ ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อได้รับเลือก สมาชิกของเขาก็จะมีสถานะเพิ่มขึ้นมาอีกอันหนึ่ง คือนอกจากจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแล้วยังเป็น ส.ส.อีกด้วย แล้วเขาก็จะมีกลุ่มของส.ส.ที่อยู่ในสภา ผลก็คือจะมี 2 ส่วนแยกกัน คือส่วนหนึ่งเป็นนิติบุคคลที่อยู่นอกสภา อีกอันหนึ่งคือกลุ่มของสมาชิกผู้แทนราษฎรในสภา กลุ่มในสภานี้เองที่สมาชิกพรรคการเมืองคนอื่นที่ไม่ได้เป็นส.ส.เขาไม่ได้เกี่ยวด้วย แต่กลุ่มที่อยู่ในสภาก็ผูกพันกับพรรคการเมืองเพราะไปจากพรรคการเมืองนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ identify หรือเป็นชนิดเดียวกันกับพรรคการเมือง เพราะมันน้อยกว่ากลุ่ม ส.ส. ในสภานี้เองที่ควรจะมีสิทธิและหน้าที่โดยเฉพาะของมันขึ้นมา ที่เราเรียกว่าเป็น faction แยกจากpolitical party

ฉะนั้น ที่เราบอกว่า ขับสมาชิกออกจากพรรค ก็คือพรรคการเมืองที่เป็นนิติบุคคลเอกชนขับคนที่เป็นสมาชิกพรรคออกจากพรรค คนๆนั้นอาจเป็นหรือไม่เป็น ส.ส.ก็ได้ แต่การขับออกจากพรรคนี้มันไม่ควรจะเกี่ยวกับสถานะความเป็นส.ส.ของเขาที่อยู่ในสภา เพราะเมื่อเขาเป็นส.ส.ในสภาเขาเป็นสมาชิกของ faction เขาอาจต้องถูกขับออกจาก faction อีกทีหนึ่ง กรณีที่เขาถูกขับออกจาก faction นั้นควรจะเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าจะมี แต่เรื่องที่เขาถูกพรรคการเมืองขับออกจากพรรค อันนี้ควรเป็นเรื่องศาลยุติธรรม ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไปฟ้องศาลยุติธรรมเพราะเป็นเรื่องเอกชน แต่ของเราเอาเรื่องพรรคการเมืองทุกอย่างไปเชื่อมกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มันไม่ได้เป็นนิติบุคคลในกฎหมายมหาชน พรรคการเมืองไม่ได้เป็นองค์กรของรัฐ แต่ขณะที่กลุ่มส.ส.ในสภามันเป็นหน่วยที่ทรงสิทธิหน้าที่ทางกฎหมายมหาชนเพราะอยู่ในสภา แต่พรรคการเมืองมันอยู่นอกสภา

สมมติพรรคเพื่อไทยขับนาย ก. นาย ข. ที่เป็นสมาชิกพรรคแต่ไม่ได้เป็นส.ส.ออก ก็ไม่ได้เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ

จริงแล้วตามหลักการไม่เกี่ยว เพราะไม่ใช่เรื่องอำนาจมหาชน แต่ระบบคิดของบ้านเราไม่ได้เริ่มต้นคิดจากระบบแบบนี้มาตั้งแต่แรก และด้วยเหตุนี้ ปัญหาสำคัญอันหนึ่งของระบบรัฐสภาไทยคือ การทำกฎหมายหรือการแยกเรื่องสิทธิหน้าที่ในทางมหาชนของกลุ่ม ส.ส.ในสภาออกจากพรรคการเมืองจึงไม่เคยเกิดขึ้น เราจึงสับสนตลอดเวลาในระบบคิด เราจึงเอาเรื่องพรรคการเมืองไปผูกกับศาลรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่

ด้วยเหตุนี้ในบางประเทศ คนที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง กับคนที่เป็นผู้นำส.ส.ในสภา อาจจะเป็นคนละคนกัน เพราะคนที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเขามีหน้าที่ทำพรรค บางทีเขาอาจไม่อยู่ในสภาก็ได้ แต่เขาทำพรรคให้ใหญ่ขึ้น ขยายสาขาพรรค ขณะเดียวกันตัวนโยบายของพรรคจะถูกส่งต่อให้ตัวส.ส.ในสภาซึ่งต้องผูกพันกับพรรค ตรงนี้จะเป็นระดับนำของพรรคอยู่แล้ว แต่ถ้าเราพูดถึงมิติทางกฎหมาย มันมีตัวตนของมันแยกออกจากพรรค

บ้านเราเมื่อก่อนนี้เราเอาผสมเลย เราเอากรรมการบริหารพรรคบวกกับส.ส.มาขับส.ส.ออก ซึ่งสมาชิกพรรคการเมืองคนอื่นก็ไม่รู้ ระบบการคุ้มครองสิทธิก็ไม่ค่อยดี แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา

ผมเข้าใจว่าที่การที่กรรมาธิการไม่เขียนเพราะเขาอาจจะปวดหัว ซึ่งถ้าเราดูของเก่ามันก็ปวดหัวเหมือนกัน ของเก่าบอกว่า “พรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้นให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก” เห็นไหมที่ผมบอกว่าเอากรรมการบริหารพรรคกับส.ส.มานั่งประชุมกัน “ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ลาออกหรือพรรคการเมืองมีมติ เว้นแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นได้อุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ คัดค้านว่ามติดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา 65 วรรคสาม” ซึ่งมาตรา 65 วรรคสามก็คือมตินั้นขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  “ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมิได้มีลักษณะตามมาตรา 65 วรรคสาม ให้ถือว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา 65 วรรคสามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นอาจเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” อันนี้มันตลก ถ้ามติพรรคมันขัดหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ให้ออกจากพรรคแล้วไปหาพรรคใหม่อยู่ให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด ถ้าทำไม่ได้ก็สิ้นสถานภาพความเป็น ส.ส.

อ้าว ทำไมเป็นอย่างนั้นทั้งที่เขาไม่ผิด

ก็ใช่ไง ตรรกะมันผิดหมดตั้งแต่แรก เพราะพอไปบังคับให้สังกัดพรรคแล้วก็ต้องมาหาทางออกอีรุงตุงนังแบบนี้ จริงๆ หลักก็คือ ถ้ามติพรรคขัดกับหลักประชาธิปไตย มติพรรคก็ต้องตกไป คน ๆ นั้นก็ต้องอยู่ในพรรคต่อไป แต่คนเขียนเขารู้สึกว่า เฮ้ย มันอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว มันถูกขับออกแล้ว ไปหาพรรคใหม่อยู่เหอะ เอ็งก็ต้องไปหาให้ได้ ถ้าหาไม่ได้ก็ซวยไป มันไม่มีlogic อะไรทางกฎหมายเลย มั่วกันมาแบบนี้พอถึงฉบับนี้ ทำยังไงดีวะ ตัดออกเลยแล้วกัน
ผมเคยทำรายงานการวิจัยและวิจารณ์ไว้แล้วว่าระบบนี้มันตลก

อย่างที่ผมบอกคือ ดีที่สุดไม่ต้องบังคับสังกัดพรรค ถ้าสังกัดพรรคและพรรคขับเขาออกก็ควรทำได้ แต่เขาต้องไม่เสียสมาชิกภาพ logicควรจะเป็นแบบนั้น ประเทศเรามัวแต่ไปงูกินหางกับเรื่องสังกัดพรรคการเมือง แล้วผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยก็สนับสนุนให้สังกัดพรรค ไปถามดูสิ ผมว่าเสื้อแดงเสื้อเหลืองจะมีประเด็นร่วมกันอย่างหนึ่งเลย คือ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค เพราะอะไร เพราะเขานึกภาพส.ส.ในอดีต มันไม่มีพรรคคุม มันขายเสียงกันเละเทะ เขานึกแบบนั้น แต่โดยหลักการมันไม่ถูก

ผมเห็นด้วยว่าคนที่เป็นส.ส.ควรจะสังกัดพรรค “ควร” แต่ไม่ใช่ “ต้อง” มันไม่เหมือนกันนะ เราไม่ควรเอากฎหมายไปบังคับคนให้สังกัดพรรค แต่ควรมีมาตรการจูงใจให้คนสังกัดพรรคแบบที่ในต่างประเทศทำกัน มาตรการจูงใจคือ เช่น ถ้าคุณเป็น ส.ส.อิสระ ประชาชนเลือกคุณมา เวลาคุณอยู่ในสภา สภาให้เวลาอภิปราย เขาให้เป็นก้อน ให้กับพรรค คุณเป็นส.ส.อิสระคุณได้เวลาอภิปรายน้อยมาก ได้เหมือนกันแต่ถ้าพรรคได้เป็นก้อนจะไปเกลี่ยให้สมาชิกพรรคไปบริหารกัน มันก็ชักจูงให้คนอยากอยู่ในพรรค เพราะเมื่อเริ่มอาวุโสขึ้น จะสามารถแสดงบทบาททางการเมืองได้มากกว่า อีกอันคือการกำหนดว่าโควตาของกรรมาธิการให้เฉพาะส.ส.สังกัดพรรคการเมือง คุณจะได้มาเป็นกรรมาธิการคุณต้องมีพรรค เพราะมันต้องการการหล่อหลอมเจตจำนงในการทำงาน คนที่มันเป็นอิสระมันเหมือนเบี้ยหัวแตก เหล่านี้คือมาตรการในการจูงใจ แต่บ้านเราไปใช้มาตรการบังคับแล้วก็ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรทางการเมืองเลย

 

ทำไมต้องหนี Vote No

มาตรา 110 บอกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งจะแพ้ Vote No ไม่ได้ มาจากมาตรา 113ในร่างแรก ถ้าแพ้ Vote No ไม่ได้เป็น ส.ส.เลย มีคนแซวว่างั้นถ้าพรรคการเมืองบอยคอตต์เลือกตั้งรณรงค์ Vote No คุณก็เลือกตั้งไม่สำเร็จนะ เพราะไม่มี ส.ส.ต้องเลือกไปจนกว่าจะชนะโหวตโน เขาก็ไปเพิ่มวรรคสองว่าในกรณีที่แพ้ Vote No ให้จัดเลือกตั้งใหม่ ในการจัดเลือกตั้งใหม่นี้ จะเป็นผู้ได้รับเลือกต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20ของผู้มาใช้สิทธิ แล้วถามว่าถ้ายังไม่ได้อีกทำยังไง ก็เขียนว่าในกรณีที่ไม่มีผู้ได้คะแนนเสียงตามที่กำหนดดังกล่าวให้ดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

รอบสามก็เลือกไป เอาคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ถ้ายังไม่ได้อีกก็คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5(หัวเราะ) Logic มันผิด โลกนี้มันซับซ้อนอยู่แล้ว ทำไมคนร่างรัฐธรรมนูญถึงทำให้โลกมันซับซ้อนกว่าเดิม ผมก็ไม่เข้าใจ ทำไมต้องรอให้แพ้ Vote No ก่อนถึงจะเอาแบบคะแนนมากกว่าร้อยละ 20

โดยหลักควรเป็นแบบนี้ ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นบนหลักเสรีประชาธิปไตย ประชาชนเขาควรตัดสินใจเองว่าจะโหวตแบบไหน Vote No ก็ได้ เลือกใครก็ได้ ทีนี้คะแนนเสียงVote Noหมายถึงไม่เลือกใครเลย โดยสภาพก็ต้องนับเป็นผู้ไม่ออกเสียงไป คือไม่เลือกใคร แต่มันก็มีคนอื่นที่เขาเลือก คนที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าก็ต้องเป็น ส.ส. โดยตรรกะ

จะถือว่าแพ้Vote No ไม่ได้?

ไม่ได้ มันไม่เกี่ยว เพราะคนที่ Vote No คือเขาไม่เลือก อันนี้เราคิดแบบระบอบประชาธิปไตย รัฐมันต้องfunctionในแต่ละเขตมันต้องมีตัวแทนโดยสภาวะธรรมดา ถ้าคุณใช้คะแนนเสียง Vote No เป็นสรณะ แปลว่าคุณผ่านกฎหมายในสภาก็คงไม่ได้ถ้าคะแนนVote No บวกกับคะแนนไม่ผ่านเยอะกว่าคะแนนผ่านกฎหมาย จะตีความไม่เอากฎหมายหรือ มันไม่ควร ในแง่นี้นะ การVote No คงต้องดูจากลักษณะด้วยว่าถือเป็นการปฏิเสธหรือถือเป็นการงดออกเสียงไป เพื่อให้function ดำเนินไปได้ในกรณีนี้ก็ต้องตีว่าเป็นงดออกเสียงไปเป็นการสละไม่เลือกใคร

มันมีฐานทางการเมืองด้วย Vote No เกิดครั้งแรกตอนคัดค้านเลือกตั้ง 2 เมษาปี 49

ผมจำได้ว่าเดิมเรื่องนี้อยู่ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง เพิ่งเอาขึ้นมาเขียนในรัฐธรรมนูญครั้งนี้เอง จำได้ไหมที่คุณวาสนา เพิ่มลาภ พูดว่าเขียน Vote No แล้วแกต้องจัดเลือกตั้งใหม่ แกก็ถามว่า อ้าว แล้วใครเขียนกฎหมายมา ผมเขียนหรือ แต่ในที่สุดต้องมาจัดเลือกตั้งใหม่ แล้วก็มีมีปัญหาการฟ้องร้องกันอีรุงตุงนังต่อมา เรื่องเวียนเทียนผู้สมัครหรือขัดขวางไม่ให้มีการสมัครเพื่อสภาจะได้เกิดขึ้นไม่ได้ ตอนช่วงปี 2549 น่ะ

ถ้าดูLogic ของคนที่คิดเรื่องโหวตโน เขาคิดแบบนี้ว่า ถ้าคะแนนเสียงVote No เยอะท่วมคะแนนเสียงเลือกตั้ง มันก็ไม่ชอบธรรม ไม่ควรอ้างได้ว่าเป็นผู้แทนของประชาชนในเขต

แต่ถ้าดูการเลือกตั้งบางประเทศ เช่นเลือกประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็ต้องได้เสียงเกินครึ่ง

แต่เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่อง Vote Noในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก ถ้ายังไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงให้มาเลือกรอบสอง รอบสองจะเอาที่ 1และ 2มาแข่งกัน อันนี้ดีนะน่าจะเอามาใช้กับเลือกตั้งผู้ว่าฯ ถ้ารอบแรกไม่มีใครได้คะแนนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของคนมาออกเสียง สมมติคุณได้ 1ล้านเสียง คนมาออกเสียง 2.5ล้าน แปลว่าคนสนับสนุนคุณหนึ่งล้าน ไม่สนับสนุนอีกล้านห้า การที่คุณจะเป็นผู้นำเดี่ยว มีอำนาจคนเดียวก็ควรต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกว่าครึ่ง มันจึงมีรอบสองโดยคัดเอาที่ 1และที่ 2มาแข่ง  แต่ไม่ใช่เรื่อง Vote No

เรื่อง Vote No บางทีอาจมีข้ออ่อนก็ได้ คือทำให้คนไม่ยอมเลือกในสิ่งที่มีให้เลือก หรือในสภาวะจำกัด โอเค ควรให้เขาโหวตได้ การ Vote No เป็นการแสดงเจตจำนงของคน แต่ไม่ควรมีผลเป็นการบล็อกการเกิดขึ้นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเกิดขึ้นของตัวแทนพื้นที่นั้น เว้นแต่เกิดสภาพที่สุดขั้วขึ้น เช่นทุกคนหรือเกือบทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง Vote No ทั้งหมด

ถ้าเราถือเป็นการแสดงพลังทางการเมือง เช่นการแอนตี้รัฐบาลทักษิณเมื่อปี 49 ก็ Vote No ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่าน จะแอนตี้รัฐธรรมนูญก็ Vote No แต่ไม่ควรไปหักล้างกระบวนการเลือก ส.ส.อย่างนั้นหรือ

เอาหลักการก่อน โดยทั่วไปมันก็ควรเป็นอย่างนั้น ผมไม่ค่อยสนับสนุนกับกระบวนการดูคะแนนเสียงแบบVote No ในการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีผลในทางกฎหมาย เว้นแต่โดยสภาพของเรื่องการ Vote No ต้องถือว่าเป็นการปฏิเสธ ซึ่งมันมีเหมือนกันในการประชุมคณะกรรมการต่างๆ แต่ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญถ้ามันท่วมคะแนนเสียงของคนที่โหวตแล้วทำให้ไม่ได้ส.ส. คนทั้งประเทศต้องมาติดตรงนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกันสมมติมีไม่กี่เขตที่Vote No อยู่นั่น ไม่ได้ ส.ส.สักที แล้วทั้งประเทศต้องรออย่างนี้หรือมันไม่น่าจะถูกนะ ประชาธิปไตยมันมากไปกว่าการดูเจตจำนงตรงนั้น มันต้องดูfunction โดยรวมให้เดินไปได้ด้วย แต่อันนี้พูดถึงสภาพของกฎเกณฑ์ทั่วไปที่เป็นประชาธิปไตยนะ ทีนี้ในส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันซับซ้อนกว่านั้น เราอาจจะต้องแยกพิจารณาความชอบธรรมทางการเมือง กับ กฎเกณฑ์ในทางกฎหมายออกจากกัน การ Vote No ถ้ามีมหาศาล มันก็สะท้อนว่าระบบการเมืองมันเดินไปไม่ได้แล้ว คนไม่ยอมรับ แม้ว่าในทางกฎหมายอาจจะไม่ได้ผิดก็ตาม แต่เราต้องคิดถึงกรณีอื่นๆ ด้วย เช่น มีเขตเลือกตั้งเดียวหรือไม่กี่เขต Vote No อยู่นั่นแหละ อันนี้จะทำยังไง

สมมติเรารณรงค์ Vote No สิบล้าน ไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม

ก็ควรจะเข้าไปให้มีสภา แล้วยุบสภาแล้วเลือกกันใหม่หรือกำหนดกติกาใหม่แล้วก็เลือกตั้งใหม่ถ้าคนที่เข้าไปไม่ทำอะไรถึงตอนนั้นคนสิบล้านก็ออกมาบนถนนแสดงเจตจำนงทางการเมืองอยู่ดีเราจึงควรตีความว่าการทำแบบนี้มันเป็นแสดงเจตจำนงแบบหนึ่ง คนที่เป็น ส.ส.ก็จะรู้ว่าความชอบธรรมที่เขาได้มามันไม่เยอะ เขาก็จะตระหนักมากขึ้น แล้วก็หาทางปรับเปลี่ยนกติกาให้คนส่วนใหญ่ยอมรับ เพราะถ้าเริ่มต้นแบบที่เขียนในร่างนี้ สุดท้ายมันต้องแก้ปัญหาจนให้ได้ ส.ส.อยู่ดี ร้อยละ 20อะไรต่อมิอะไร ทำไมไม่ทำแบบนี้แต่แรก

(หัวเราะ) แล้วยังมีก๊อกสามแบบขอคิดก่อนอีกว่าจะเขียน พ.ร.บ.ประกอบอย่างไร

ถ้าบอกว่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ก็ไม่ถึงครึ่ง ความชอบธรรมก็ไม่เยอะอยู่ดี ทำไมไม่เอาแบบปกติธรรมดาไป ได้เท่าไรก็เท่านั้น แล้วถ้า Vote No มันมหาศาลมากทั้งประเทศ อันนั้นต้องแก้กันทางการเมืองแล้ว กฎหมายอย่างเดียวไปไม่รอด