ประกาศผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายกิจกรรม "PechaKucha รัฐธรรมนูญ"
ผู้ผ่านเข้ารอบจะได้รับเงินรางวัล 2,000 บาท และจะได้มานำเสนอผลงานในวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ชนะจะได้รางวัลเงินสดอีก 5,000 บาท
ในวันงานผู้ร่วมงานทุกคนจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เพราะคะแนนในรอบสุดท้ายมาจากผู้ร่วมงาน 70% อีก 30% มาจากคณะกรรมการ ซึ่งได้แก่
สฤณี อาชวานันทกุล บล็อกเกอร์ นักเขียน และนักแปล
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬา
บุญยืน ศิริธรรม อดีตส.ว.
จึงขอเชิญมิตรรักแฟนเพลงทุกท่านมาร่วมชม ร่วมเชียร์ ร่วมให้คะแนนกันได้
สำหรับรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบทั้ง 11 คน/ทีม พร้อมคอนเซปต์ แรงบันดาลใจในการนำเสนอคร่าวๆ มีดังนี้
อัศวิน โคสาสุ
นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมุกดาหาร ขอพื้นที่แสดงความเห็นในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของประเทศ
รัฐธรรมนูญคืออะไร? ใช้ทำอะไร? เกี่ยวข้องกับพวกเรายังไง?
สรุปหลักสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2550 มีอะไรเด่นๆ บ้าง
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM)
หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเปิดเผยออกมา พวกเรากลุ่ม NDM รับไม่ได้กับหลายๆ มาตรา
จึงคิดว่าควรทำสรุปออกมาว่าร่างฉบับนี้มันไม่ดียังไง
ลองเสนอในรูปแบบ Info-graphic เปลือง 3G ที่กำลังฮิตๆ กัน รูปภาพฟรุ้งฟริ้ง+ตัวอักษรใหญ่ๆ
นำเสนอโดย รังสิมันต์ โรม เดี่ยวไมโครโฟน
ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี ขอเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญในแง่มุมของเด็กบ้าง
ระหว่างที่ผู้ใหญ่ก็ยังเถียงกันเอาเป็นเอาตาย
"รัฐธรรมนูญที่เด็กต้องการ" คือชื่อที่ตั้งมาเองในกิจกรรมนี้
ข้อเสนอหลากหลายถ้าได้ใช้จริงก็ดีกับเด็กและก็ดีกับผู้ใหญ่ด้วยเหมือนกัน
แต้ว เรวดี
นักศึกษามีเดียอาร์ตแอนดีไซต์ จากมช. นำเสนอด้วย Performance ประกอบ 20 สไลด์
มองรัฐธรรมนูญจากมุมของคนเล็กๆ เล่าผ่านชีวิตนักศึกษาที่มีภาระหนี้ กยศ.
ที่กำลังรอคอยให้รัฐใส่ใจประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่
จนสุดท้ายก็พบกับอะไรบางอย่างเมื่อร่างรัฐธรรมนูญปรากฏกายออกมา
วรุตม์ บุณฑริก
ทนายความที่อยากลองนำเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญผ่านข้อเท็จจริงตัวเลข
หวังให้ออกมาน่าตื่นตาตื่นใจเหมือน Steve Jobs
เขาจึงไปค้นหาตัวเลขต่างๆ ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของไทย ทั้งร่างล่าสุดและฉบับในอดีต
มาเผยให้เห็น ด้วยมุมมองใหม่ๆ
ชนินทร เนียมสอน
นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี ที่สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ
และกำลังหาพื้นที่แสดงความคิดเห็น แม้อายุยังไม่มากแต่อยู่ร่วมสมัยการฉีกรัฐธรรมนูญมา 2 ครั้ง
จึงเล่าได้ทั้งมุมประวัติศาสตร์ และเชื่อมโยงรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตย
โดยเริ่มจากคำถามง่ายๆ "ผมสงสัย..."
ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล
จากคนชอบถ่ายรูปสัตว์ตามที่ต่างๆ จนสังเกตเห็นการอยู่ร่วมกันในสังคมของสัตว์
และเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ก็น่าจะมีวิถีประชาธิปไตยในแบบของตนเอง
นำมาสู่ไอเดียการเล่าผ่านรูปสัตว์โลกน่ารักๆ ที่เคยถ่ายไว้ ในหัวข้อ "ประชาธิปไตยในหมู่สัตว์"
นลินี ฐิตะวรรณ
นักศึกษาสังคมวิทยา มธ. ผู้โตมากับครอบครัวที่แม่เป็นคริสเตียนและพ่อเป็นพุทธ
จึงมีประสบการณ์ท่ามกลางวัฒนธรรมผสมผสานของหลายศาสนา หลายนิกาย
จนเริ่มไม่แน่ใจในความหมายของสิทธิและเสรีภาพที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
นำเสนอผ่าน 20 สไลด์ ด้วยภาพถ่ายเองธีมขาว-ดำ
กวินวุฒิ เล็กศรีสกุล
นักศึกษาธรรมศาสตร์ผู้เชื่อว่า การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว
หลังผ่านประสบการณ์ทำหุ่นล้อการเมือง ในงานฟุตบอลประเพณีมาแล้ว
จึงลองนำประเด็นรัฐธรรมนูญที่หุ่นแต่ละตัวมุ่งจะสื่อสาร มาชวนตั้งคำถามผ่านภาพหุ่น 20 ภาพ
ทีมมากันทั้งชั้น
นักศึกษา นิติศาสตร์ มธ. ที่กำลังห่วงใยว่าคนไทยจะต้องโหวตรับ/ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย
จึงอยากนำเสนอต่อสังคมแบบให้ get ได้ทันที ให้ประชาชนได้รู้ว่ากำลังจะต้องเจอกับอะไรบ้าง
เพราะเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน
Kawee Sakawee
นักข่าวนักเขียน ผู้อ่าน Harry Potter จบทั้ง 7 เล่มจนช่ำชอง
ลองชวนสำรวจรัฐธรรมนูญในโลกของ Harry Potter
โดยสอดแทรกความรู้ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา และคำสอนจากนักคิดคนสำคัญ
ของโลกไว้ด้วย