ศาลรัฐธรรมนูญกับบทบาท "คนดี" ของมีชัย

หนึ่งในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจก็คือ "อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ" เพราะนับตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่าง บวรศักดิ์ อุววรณโณ จนถึง มีชัย ฤชุพันธ์ ทั้งสองร่างก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกหนึ่งที่มีอำนาจควบคุมการบริหารประเทศ อย่างเช่น อำนาจวินิจฉัยเพื่อหาทางออกในประเทศเข้าสู่วิกฤติและไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เป็นต้น โดยเราได้ทำการรวมเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญไว้ ดังนี้
 
ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ 2 คน
 
อ้างอิงตามมาตรา 195 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของ มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งกำหนดว่า
 
สัดส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจาก ผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คน ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์อีก 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากส่วนราชการอีก 2 คน ซึ่งแต่เดิมในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดว่าให้สัดส่วนมาจาก ผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คน ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ 2 คน และรัฐศาสตร์สังคมศาสตร์อีก 2 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดนี้ได้ลดผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ไป แต่แทนที่ด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการแทน
 
เปิดประชุมฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระแก้วิกฤติการเมือง
 
อ้างอิงตามมาตรา 5 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของ มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งกำหนดว่า
 
ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่าง ประธานสภาผู้แทนราษฎร / ผู้นำฝ่ายค้าน / ประธานวุฒิสภา / นายกรัฐมนตรี / ประธานศาลฎีกา-ศาลปกครองสูงสุด-ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย และให้คำวินิจฉัยของที่ประชุมเป็นที่สุดและผูกพันรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงงานของรัฐ
 
ทั้งนี้ มาตราดังกล่าว เป็นหลักการที่แก้ไขเพิ่มเติมมาจากมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และมาตรา 207 ของรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย (ร่างแรก) ที่เขียนไว้ใกล้เคียงกันว่า ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแก่กรณีใดได้ ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
การปรับปรุงแก้ไขมาตราดังกล่าว ผู้ร่างได้ยกเหตุผลว่าเพื่อให้การบริหารประเทศมีทางออกในยามที่ต้องเจอกับวิฤติทางการเมือง และไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาบังคับใช้ได้ แต่ทว่าก่อนหน้านี้ มาตรา 207 ในร่างรัฐธรรมนูญของมีชัย ที่เปิดเผยออกมาครั้งแรก ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญจนถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก ดังนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด สำหรับการลงประชามตินี้ จึงลดอำนาจการตีความของศาลรัฐธรรมนูญเดิม และเพิ่มฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการและองค์กรอิสระ เข้ามาช่วยกันวินิจฉัยด้วย ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการแก้ไขล่าสุดก็คือ "สัดส่วนของที่ประชุมมีศาลและองค์กรอิสระเป็นส่วนมาก"
 
 
ไม่ว่าใครก็สามารถร้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อสั่งให้เลิกการกระทำที่ล้มล้างการปกครองฯ ได้
 
อ้างอิงตามมาตรา 49 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของ มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งกำหนดว่า 
 
บุคคลจะใชสิทธิหรือเสรีภาพเพื่อลมลางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยทรงเปนประมุขมิได ถ้าผูใดทราบวามีการกระทําดังกล่าวยอมมีสิทธิรองตออัยการสูงสุดเพื่อรองขอใหศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการใหเลิกการกระทําดังกลาวได แต่ถ้าอัยการสูงสุดมีคําสั่งไมรับดําเนินการตามที่รองขอหรือไมดําเนินการภายในสิบหาวันนับแตวันที่ไดรับคํารองขอ ผูรองขอจะยื่นคํารองโดยตรงตอศาลรัฐธรรมนูญก็ได 
 
ทั้งนี้ มาตราดังกล่าวเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 จะพบว่า การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงนั้นเป็นเรื่องใหม่ เพราะแต่เดิมการใช้สิทธิดังกล่าวต้องถูกกลั่นกรองโดยอัยการสูงสุดก่อน แต่ทั้งนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่เห็นชอบ ก็จะพบว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีชัยตีกรอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้แคบกว่า กล่าวคือให้สั่งเลิกการกระทำได้เท่านั้น แต่ร่างฉบับบวรศักดิ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเป็นอย่างอื่นได้ และถ้าพรรคการเมืองเป็นผู้กระทำการล้มล้างการปกครองฯ ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรคการเมืองได้อีกด้วย
 
ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันเขียน "มาตรฐานทางจริยธรรม" ภายในหนึ่งปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้
 
อ้างอิงตามมาตรา 219 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของ มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งกำหนดว่า
 
ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกําหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง
 
โดยในการจัดทํามาตรฐานทางจริยธรรม ให้รับฟังความคิดเห็นของ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้บังคับแล้ว ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย แต่ไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่จะกําหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรมที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้
 
นอกจากนี้ ในส่วนของบทเฉพาะกาล ในมาตรา 276 ยังกำหนดอีกว่าการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมต้องเสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ มิเช่นนั้น ให้ผู้ดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งไป
 
อำนาจวินิจฉัยให้ ครม. ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงพ้นไปจากตำแหน่ง
 
อ้างอิงตามมาตรา 170 วรรค 3 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของ มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งกำหนดว่า
 
รวมอยู่ด้วย ดังนั้น ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา สามารถเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกและให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ได้ว่า รัฐมนตรีคนใดขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 คือ ไม่มีความ "ซื่อสัตย์สุจริต" และ "มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง" 
 
นอกจากนี้ในมาตรา 170 วรรค 3 ยังกำหนดให้คณะกรรมการเลือกตั้งมีอำนาจในการยื่นเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย
 
++ อำนาจถอดถอนและตัดสิทธิการเลือกตั้งของ ส.ส. ส.ว. และ ครม. ที่คอร์รัปชั่นเงินแผ่นดิน ++
 
อ้างอิงตามมาตรา 144 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของ มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งกำหนดว่า
 
ส.ส. และ ส.ว. จะเสนอแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ใช้งบประมาณรายจ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวไม่ได้ นอกจากนี้ ถ้า ครม. มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การอนุมัติใหกระทําการหรือรูวามีการกระทําดังกลาวแลวแตมิไดสั่งยับยั้ง ก็จะมีความผิดไปด้วย
 
โดย ถ้ามีผู้กระทำการดังกล่าวให้เป็นอำนาจของ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ซึ่ง ส.ส. ส.ว. หรือ ครม. ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดต้องพ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย