หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาระบุว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) มาตรา 61 วรรคสอง ขัดกับรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ต้องเลื่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ออกไป
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หนึ่งในผู้ยื่นเรื่องดังกล่าวให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ใช้บังคับไม่ได้ ก็จะไม่กระทบต่อการออกเสียงประชามติ โดยผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่างก็ยืนยันไปในทางเดียวกัน ว่าไม่จำเป็นต้องเลื่อนการออกเสียงประชามติ
“หากมีการเลื่อนการออกเสียงประชามติออกไปนั้น มิใช่ผลจากกระบวนการการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง แต่เป็นผลจากการตัดสินใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ” แถลงการณ์ของ iLaw ระบุ
banner ชักชวนคนให้ไปออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ของ กกต.
สำหรับเนื้อหาฉบับเต็มของแถลงการณ์ดังกล่าว มีดังนี้
ตามที่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และประชาชนรวม 107 คน ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) มาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ได้ และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงผลการประชุมว่าจะส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นนี้
iLaw ขอชี้แจงว่า กรณีที่ผู้ตรวจการออกมาแถลงนั้น เป็นเพียงการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการจำกัดการแสดงความคิดเห็นที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ขัดกับเสรีภาพของประชาชนและขัดกับรัฐธรรมนูญ ผลที่จะตามมาก็คือ เฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติ จะใช้บังคับไม่ได้ เสมือนว่าเนื้อหาตามวรรคสองนี้ไม่เคยมีอยู่ และบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาหรือดำเนินคดีตามวรรคสองของกฎหมายดังกล่าวก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมายนั้นอีกต่อไป
พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับนี้มีทั้งหมด 66 มาตรา ความยาว 21 หน้า เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกเสียง การแบ่งเขตออกเสียง ผู้มีสิทธิออกเสียง การนับคะแนน การประกาศผล ฯลฯ มาตรา 61 เองมีหกวรรค หรือหกย่อหน้า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ขัดกับเสรีภาพของประชาชนและขัดกับรัฐธรรมนูญ จะมีผลกระทบเฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ความยาวสี่บรรทัดเท่านั้น มาตราอื่นๆ ในกฎหมายฉบับนี้และย่อหน้าอื่นๆ ในมาตรา 61 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่เพื่อให้การดำเนินการออกเสียงประชามติลุล่วงไปได้
ทั้งนี้ กรณีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ มีตัวอย่างที่คล้ายกันกับกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2546 ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 198 ว่า พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 12 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวบังคับให้หญิงมีสามีต้องใช้ชื่อสกุลสามีเท่านั้น ทำให้ชายและหญิงไม่มีสิทธิเท่าเทียมกัน เกิดความไม่เสมอภาคทางกฎหมายด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศและสถานะของบุคคล
จากกรณีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชื่อบุคคล มาตรา 12 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 30 ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยอย่างเท่าเทียมกัน ให้ทุกคนมีความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันทั้งหญิงและชาย ซึ่งผลที่ตามมาภายหลังคำวินิจฉัยก็คือ พ.ร.บ.ชื่อบุคคล มาตรา 12 ถูกยกเลิก เพียงมาตราเดียวเท่านั้น และหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรจึงเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ตัวอย่างบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ
ส่วนประเด็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวจะสร้างผลกระทบต่อการลงประชามติหรือไม่ iLaw เห็นว่า ขึ้นอยู่การตัดสินใจของผู้มีอำนาจในขณะนั้นแต่เพียงผู้เดียว เพราะการอ้างว่า หากมาตรา 61 วรรคสองบังคับใช้ไม่ได้ จะทำให้ไม่มีกฎหมายความคุมและจะเกิดความวุ่นวายในการทำประชามติ เป็นเพียงการสันนิษฐานไปเองโดยที่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง และในความเป็นจริง แม้ไม่มีมาตรา 61 วรรคสอง การหมิ่นประมาท การยุยงปลุกปั่น การปล่อยข่าวลือที่เป็นเท็จ ก็เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แม้แต่การโพสต์ข้อความบนสื่อออนไลน์ที่กระทบต่อความมั่นคงหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ก็เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และในภาวะปัจจุบันยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 เรื่องขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข่าวสารอยู่แล้วอีกด้วย
นอกจากนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังให้ความเห็นต่อกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่ง พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไว้อีกว่า “หากไม่มี มาตรา 61 วรรคสอง ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประชามติ สามารถจัดได้ตามปกติและตามวันเวลาเดิม” เช่นเดียวกับนายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเป็นเพียงวรรคเดียวใน พ.ร.บ.ประชามติ จึงมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการออกเสียงประชามติ และไม่จำเป็นต้องเลื่อนการออกเสียงประชามติ
ดังนั้น iLaw ยืนยันว่า หากมีการเลื่อนการออกเสียงประชามติออกไปนั้น มิใช่ผลจากกระบวนการการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง แต่เป็นผลจากการตัดสินใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะช่วยให้ พ.ร.บ.ประชามติไม่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
(อ่าน วิธีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ)
ที่มา: ไทยพับลิก้า