วิษณุ เครืองาม ส่องนัยยะ “หลักนิติธรรม” ในร่างรธน.ฉบับปฏิรูป

วันที่ 29 เมษายน  ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง หลักนิติธรรมกับการบริหารประเทศ ในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่องการปฎิรูปประเทศ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ จัดโดยศาลรัฐธรรมนูญ ในวาระศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ 17 ปี

ศ.ดร.วิษณุ กล่าวตอนหนึ่งถึงช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีการเขียนคำว่า หลักนิติธรรม ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คำนี้ยังสถิตย์ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฎิรูปด้วย โดยมีการระบุถึง “หลักนิติธรรม” ไว้ มาตรา 3 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้  การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

“รวมถึงในมาตรา 217 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการอรรถาธิบายครั้งแรกในประเทศไทยและในโลกว่า หลักนิติธรรม แปลว่าอะไร

1.จะต้องยึดถือรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ของประเทศว่าเป็นสิ่งสูงสุดเหนืออำเภอใจ

2.ยึดหลักเคารพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

3.เคารพการแบ่งแยกการใช้อำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการไม่มีผลประโยชน์ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์ส่วนรวม

4.ยึดหลักนิติกระบวน โดยไม่มีการออกกฎหมาย หรือออกรัฐธรรมนูญเพื่อลงโทษย้อนหลัง หรือเพื่อตัดโอกาสฟ้องร้องดำเนินคดีในศาล หรือเพื่อให้บุคคลถูกดำเนินคดี สองซ้ำสองซ้อน หรือเพื่อบังคับให้คนต้องปรับปรำตนเอง หรือเพื่อลบล้างข้อสันนิษฐานว่า บุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่ากระทำผิด

5.ต้องเคารพความเป็นอิสระของศาล และความเป็นกลาง สุจริตเที่ยงธรรมของกระบวนการยุติธรรม” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า หลักนิติธรรมในรัฐธรรมนูญ จะเป็นรากแก้วของการปกครองของไทยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

“คอยดูต่อไปจะแสดงอิทธิฤทธิ์ เราจะเผชิญกับการนำหลักนิติธรรมมาใช้ ในศาล คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และในองค์กรอิสระ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) อย่างกว้างขวาง เพราะคำว่า หลักนิติธรรมได้กระจายไปปรากฎหลายมาตราในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เช่น มาตรา 3 มาตรา 171”

ศ.ดร.วิษณุ  กล่าวต่อว่า ในอดีตเวลามีปัญหาเราจะเจอปัญหาครอบจักรวาล คำว่า ผิดมาตรา 157 เมื่อก่อนที่รัฐสภาจะออกกฎหมาย รัฐสภาคิดอย่างเดียวอย่าออกกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ต่อไปสิ่งที่รัฐสภาต้องคิด อย่าให้ขัดหลักนิติธรรมด้วย

"เมื่อก่อนการบริหารประเทศยึดหลักอยู่หลักเดียว คือ ความรับผิดชอบร่วมกัน วันนี้ใครไปดูในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 ก็ยังเขียนหลักความรับผิดชอบร่วมกันไว้เช่นเดิม แต่ต้องไม่ลืมมาตรา 3 ด้วย   ครม. จึงปฏิเสธไม่นำพาต่อหลักนิติธรรมไม่ได้เลย แม้แต่ ป.ป.ช. ก.ก.ต. ก็หนีไม่พ้น ศาลยิ่งโดนบังคับมากกว่าใครทั้งหมด เพราะนอกจากศาลต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ตามมาตรา 3  ยังมีการตอกตะปู 2 ตัวตรึงไว้ ในมาตรา  219 และ 220 ไว้อีก

มาตรา  219 ศาลต้องตัดสินคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ตามหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย โดยนิติธรรมมาก่อนรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญมาก่อนกฎหมาย ทั้งหมดมีนัยยะสำคัญ ขณะที่ในมาตรา 220 เจ้าหน้าที่ทั้งหลายในกระบวนการยุติธรรม จะต้องทำหน้าที่ของตนตามหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย”

ศ.ดร.วิษณุ  กล่าวว่า นัยยะต่อจากนี้จะมีความหมายอย่างไร จะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะได้เห็นว่า เมื่อถึงเวลามีคดีความเกิดขึ้น ศาลอาจหากฎหมายใดมาตัดสินไม่ได้ หรือถ้าใช้กฎหมายการกระทำนี้จะถูกกฎหมาย แต่หากใช้หลักนิติธรรม การกระทำนี้จะผิด
 
“ผมเชื่อว่า ศาลจะเดินหน้าต่อไป และตัดสินว่า “จริงอยู่ แม้การกระทำดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย  แต่ก็เห็นได้ว่า ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมดังบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 217 ”

สำหรับการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็เคยตัดสินคดีโดยอ้างหลักนิติธรรมาแล้วหลายเรื่อง เช่น คดีที่คลาสสิกมาก คือคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินพระราชบัญญัติขายตรง มาตราหนึ่งขัดต่อหลักนิติธรรม  เรื่องนี้เป็นคลื่นกระทบฝั่งอย่างรุนแรง พอกับแผ่นดินไหวในเนปาล คณะกรรมการกฤษฎีกาเรียกประชุมใหญ่ทุกคณะ ในที่สุดก็พบว่า ผลจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีเรื่องนี้ กระทบต่อกฎหมายกว่า 100 ฉบับ เพราะเขียนอย่างเดียวกัน ต้องมีการแก้ไขกฎหมายนั้นโดยด่วน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์  พ.ร.บ.บริษัทมหาชน ก็เขียนเช่นเดียวกับพ.ร.บ.ขายตรง

“ปัจจุบันยังไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ หรือจะใช้มาตรา 44 หรือจะทำอย่างไรกันต่อ ”

ศ.ดร.วิษณุ กล่าวด้วยว่า หลักนิติธรรม จึงเป็นหลักรากแก้ว เป็นหลักครอบจักรวาล หากใช้เป็นจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล แล้วใช้แก้ปัญหาอะไรที่เป็นช่องว่าง ที่เรานึกไม่ออกบอกไม่ถูกเวลาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหลักใช้กำกับสภาเวลาออกกฎหมายคือต้องไม่ออกกฎหมายขัดหลักนิติธรรม 

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา