วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ (1): ‘อภิรัฐบาล’ ม.44 แปลงร่าง

ชวนอ่าน 'ร่างรัฐธรรมนูญ' กับ 'วรเจตน์ ภาคีรัตน์' นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้ว่าด้วยคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติและบทเฉพาะกาล

ดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญที่นี่
http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution/download/article/article_20150824155735.pdf

“ถ้าเซ็ตระบบได้มันไปยาวเลย ผมไม่คิดว่า 5 ปีนะ แต่จะสร้างสถาปนาระบอบการปกครองอันใหม่ขึ้นมาเลย” วรเจตน์กล่าวถึงโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญ ว่าไม่เพียงต้องการให้มี คปป.อยู่ 5 ปี

“มาตรา 257 บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิดความรับผิดชอบแก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และประชาชน ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนั้น

ให้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ และข้อเสนอการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบ

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี หรือ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย"

“มาตรา 258 บทบัญญัติในภาคนี้ให้สิ้นผลบังคับในวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ครบห้าปี เว้นแต่

(1)ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน คณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เสนอให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้บทบัญญัติในภาคนี้คงใช้บังคับอยู่ต่อไป ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

(2) รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้บทบัญญัติในภาคนี้คงใช้บังคับอยู่ต่อไป ซึ่งต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่รัฐสภามีมติ”

มีข้อสังเกตว่ามาตรา 258(2) นี้เพิ่มมาในร่างแก้ไข

ผมอ่านดูแล้วมองว่าจะไม่ใช่แค่ 5 ปี พอครบ 5 ปี จะใช้ช่องทางมาตรา 258(2)) ขยายต่อแน่นอน เพราะรัฐสภามีวุฒิสภาจากการสรรหาเข้าไปเท่าไหร่แล้ว บวกกับ ส.ส.อีกส่วนหนึ่งก็ลงมติได้แล้ว สังเกตดูเรื่องนี้ถ้าจะให้ใช้ต่อควรทำให้มันยาก ต้องทำแบบแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งใช้เสียง 2 ใน 3 แต่นี่ มาตรา 258(2)ทำให้มันง่าย ในขณะที่แก้รัฐธรรมนูญยากมากจะเป็นจะตาย แต่การขยายอันนี้ออกไปง่ายมาก เพราะใช้คะแนนเสียงกึ่งหนึ่งเท่านั้นเอง

แค่เห็นตรงนี้ก็รู้แล้วว่าเป้าหมายจะอยู่ยาวกว่า 5 ปี หรือไม่อย่างนั้นอาจใช้เป็นเครื่องมือต่อรองว่าต้องยอมแก้รัฐธรรมนูญ แต่แก้แบบที่ elite ที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญนี้ยังได้ประโยชน์ต่อไป ถ้าไม่แก้ เดี๋ยวโหวต เอ็งถูกล็อคต่อไปอีก 5ปี

มาตรา 257 ที่บังคับรัฐบาลต้องทำตามคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ถ้าไม่ทำตามร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็เป็นส่วนที่เขียนเพิ่มขึ้นมาในฉบับแก้ไข

ใช่ แล้วมันมีความรับผิดด้วย มันก่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อ ครม.และหน่วยงานของรัฐ

คปป. กรรมการโดยตำแหน่งเห็นชัดเลยว่าเอาผู้บัญชาการเหล่าทัพกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้ามา อันนี้คือการวางสถานะของทหารสูงกว่าพลเรือน ประชาธิปไตยมีหลักอันหนึ่งคือหลักความเหนือกว่าของรัฐบาลพลเรือนที่มีอยู่เหนือทหาร Supremacy of the Civilian Authorities over Battalion Authorities แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ ผบ.เหล่าทัพทั้งหมดเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งโดยสภาพเป็นอภิรัฐบาล เป็นสิ่งที่อยู่เหนือกว่าคณะรัฐมนตรีขึ้นไปอีก ดังนั้นระบบการบังคับบัญชาจึงกลับหัวกลับหางหมด คนที่เป็น รมว.กลาโหม ซึ่งตามสายการบังคับบัญชาเป็นผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพ ยังไม่อยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลย

คณะกรรมการชุดนี้จะมี 22 คน แล้วเลือกประธานเข้ามาเป็นคนที่ 23 เพราะมาตรา 260 วรรคสองเขียนว่า “ให้กรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกผู้ซึ่งมีความเหมาะสมคนหนึ่งให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ”

คำว่า “ผู้ซึ่งมีความเหมาะสมคนหนึ่ง” จำเป็นจะต้องเป็นคนใน 22 คนนี้หรือเปล่า จริงๆ ควรจะอยู่ในนี้ แต่มันเปิดช่องให้คนนอกก็ได้ เพราะถ้าต้องการให้เป็นคนในก็ต้องเขียนแบบศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นๆ ว่าให้ผู้ได้รับเลือกประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธาน

เพราะฉะนั้นต้องไปถามคนร่างว่า คุณให้ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มาจากไหน คนในนี้หรือคนอื่น แล้วคุณสมบัติของประธาน...อันนี้นี่สุดๆ เลย “ผู้ซึ่งมีความเหมาะสม” (หัวเราะ) ผู้ซึ่งมีความเหมาะสมคืออะไร เขียนไว้ง่ายๆ ดี

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง ของคณะกรรมการชุดนี้เรายังไม่รู้เลยนะ เพราะมาตรา 260 วรรคสาม บอกว่าจะอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ

ส่วนอำนาจหน้าที่ เขาเขียนไว้ในมาตรา 261 วรรคสอง ว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ “ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน”  เป็นการเขียนเพื่อที่จะบอกว่า เขาไม่ใช่อภิรัฐบาลนะ แต่งานทั้งหมดที่ทำคืองานบริหารราชการแผ่นดิน มันจะมีอะไรตลกกว่านี้อีกในสามโลก (หัวเราะ)

อำนาจตามมาตรา261ครอบคลุมทั้งหมด นี่แค่ในสถานการณ์ทั่วไป และอำนาจจะถูกทำให้มากขึ้นอีกตาม (11) “ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติ” เพราะกฎหมายลูกยังเขียนเติมลงไปได้อีก ส่วนในวรรคสาม สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ถ้าดำเนินการไม่ได้ให้ชี้แจงเหตุผล และถ้าคณะกรรมการยืนยันด้วยมติ 3 ใน 4 ก็ต้องดำเนินการตามมติดังกล่าว

คำถามคือ ถ้าคณะรัฐมนตรีดำเนินการไปตามมติดังกล่าวและเกิดความเสียหาย หรือเกิดความผิดพลาดขึ้น ใครรับผิดชอบ ความรับผิดชอบอยู่ที่ใคร อยู่ที่คณะรัฐมนตรี เช่นถ้าจะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ หรือรัฐมนตรี ไม่ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ แล้วถ้าเป็นปัญหาเสียหายด้านวินัยและการคลังใครจะรับผิดชอบ คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบเพราะทำตามคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ หรือ

ในโครงสร้างนี้ มาตรา 262 ยังให้มีสภาดำเนินการปฏิรูปและปรองดอง ตัวสภามีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ บวกกับคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ และคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง พวกนี้จะมาประกอบกันเป็นสภา ซึ่งจะมีอำนาจเสนอ ร่าง พ.ร.บ. อันนี้เขาเลิกระบบเสนอกฎหมายกลับหัวกลับหางที่เราวิจารณ์คราวที่แล้วทิ้งไป  แบบเอากฎหมายไปเข้าที่วุฒิสภาก่อนนี่ไม่เอา เขาใช้ระบบไปที่สภาผู้แทนปกติ แต่จะไปบังคับที่กรรมาธิการวิสามัญ ให้มีสมาชิกสภาปฏิรูปและการปรองดองอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง

ส่วนที่สอง การปฏิรูปด้านต่างๆ มี 4 มาตรา มีกฎหมาย มีการศึกษา มีเศรษฐกิจ แต่ผมว่าไม่ใช่ 4 ด้านนะ อันนี้คือปัญหา ยกตัวอย่างมาตรา 265 ด้านการศึกษาสาธารณสุข ศิลปวัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค เหล่านี้ให้กรรมการชุดเดียวหรือ ดูแล้วมันเหมือนกับจะมีกรรมการมากกว่า 4 ด้าน มาตรา 266 โอเคด้านเศรษฐกิจ ส่วนมาตรา 267ทรัพยากรธรรมชาติ ผังเมือง พลังงาน สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม  มันไม่ใช่ด้านเดียวแล้ว

เอาไว้ดูกฎหมายประกอบ เดี๋ยวค่อยเขียนอีกทีว่าจะมีกรรมการกี่ชุด (หัวเราะ)

มาตรา 260 จะมีการตั้งหน่วยงานธุรการขึ้นมา แม้ว่าจะเป็นแค่ 5ปี แต่ไม่ได้เอาหน่วยที่มีอยู่แล้วเป็นหน่วยสนับสนุนตั้งหน่วยขึ้นใหม่ แล้วก็มีเงินงบประมาณ เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายจะสูงมากๆ พูดง่ายๆ เป็นการสร้างตำแหน่งขึ้นมา ให้คนเข้ามามีตำแหน่งพวกนี้

ม.280 = ม.44แปลงร่าง

“ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติตามมาตรา 260 ให้รอการแต่งตั้งประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการโดยตำแหน่งตามมาตรา 260(1) ไว้ก่อน จนกว่าจะได้มาซึ่งประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้ถือว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติที่ได้แต่งตั้งขึ้นตามมาตรานี้ เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติตามมาตรา 260”

อ่านมาตรา 280 วรรคแรกนี้แปลว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะตั้งก่อนมีรัฐสภาจากการเลือกตั้งใช่ไหม

ใช่ ถูกต้อง 19 คนนี้ตั้งขึ้นมาก่อน คือมาตรา 260เขียนเอาไว้ว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 11คนให้รัฐสภาตั้ง แต่รัฐสภาจะยังไม่ได้ตั้ง เมื่อดูตามมาตรา 280 สนช.จะเป็นคนตั้งก่อน พอตั้งมาแล้วเมื่อบวกกับกรรมการโดยตำแหน่งก็เป็น 19 คน แล้วรอ 3 ตำแหน่งคือ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่มี

คำถามคือชุดนี้ที่ตั้งครั้งแรกจะอยู่ไปกี่ปี จะอยู่จนกว่ารัฐสภาจะเลือก 11 คนที่เป็นอำนาจของรัฐสภาหรืออยู่ตลอดโดย ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่มีส่วนเลือกเลย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนวาระการดำรงตำแหน่ง เพียงบอกว่าหมวดนี้บังคับใช้ 5 ปี แต่ไม่ได้บอกวาระกรรมการ ถ้ากลับไปดูมาตรา 260วาระการดำรงตำแหน่งจะอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบ กรรมาธิการยังไม่เขียนเรื่องวาระเลย แต่เขียนบทเฉพาะกาลให้ตั้งแล้ว

ที่แน่ๆ คือตั้งโดย สนช. ตั้งก่อนมีรัฐสภา แม้จะเขียนว่า “ให้รอการแต่งตั้งไว้ก่อน” แต่เฉพาะ 3 ตำแหน่ง อ่านทั้งหมดก็คือตั้งตามบทเฉพาะกาล 280 แล้วให้ถือว่าเป็นกรรมการตาม 260 ฉะนั้น สภาก็จะไม่มีอำนาจตั้งกรรมการนี้อีกถ้าดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระ ซึ่งเราไม่รู้ว่าวาระนานแค่ไหน

เหนืออำนาจตุลาการ

มาตรา 280 วรรคสอง ภายใน 5 ปี ถ้ามีความจำเป็น คณะกรรมการก็จะมีอำนาจ การใช้อำนาจให้ปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุด คำถามคือประธาน 2 ศาลเกี่ยวอะไรด้วย เขาอยู่ฝ่ายตุลาการเอาเขามาให้ความเห็นทำไม อันนี้เหมือนตอนประธาน 3 ศาลปรึกษากันสมัยไล่ทักษิณเอาสิ่งที่ไม่ถูกมาทำให้ถูก มันเป็นอย่างนี้หมดเลย

ทำไมไม่มีศาลฎีกา หรือเพราะในคณะกรรมการยุทธศาสตร์มีอดีตประธานศาลฎีกาอยู่แล้ว
                    
ถูกต้อง แต่การที่ไม่มีประธานศาลฎีกา ผมเข้าใจว่าเขาต้องการกันประธานศาลฎีกาออกไปมากกว่า ศาลเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรมอาจจะรู้สึกเยอะ ถ้าต้องทำอะไรเกี่ยวกับทางการเมือง

อำนาจอันหนึ่งที่สำคัญคือ อำนาจสั่งการ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้“ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร” เขียนแบบนี้เหมือนลวงว่าไม่มีอำนาจตุลาการ เคารพศาล แต่ในทางปฏิบัติมันไม่มีประโยชน์เพราะว่ามันตรวจสอบไม่ได้

ประเด็นสำคัญคือเขาเขียนว่า “ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือมีกรณีที่เกิดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ทั้งการดำเนินการตามปกติของสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรีไม่อาจดำเนินการเพื่อยุติกรณีดังกล่าวได้”
                                                        

แล้วเงื่อนไขที่จะใช้อำนาจได้ ใครจะตรวจสอบ ไม่มีเลย เงื่อนไขแบบนี้มันตรวจสอบไม่ได้อยู่ดี เหมือนกับมาตรา 44 แล้วเขายังไปเขียนวรรค 3 แบบนี้ “ให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และเป็นที่สุด” มันก็คือ เสก เนรมิตบางสิ่งบางอย่างไปในอนาคต เขายังไม่ได้ทำเลย แต่ถ้าเขาทำให้ถือว่าสิ่งที่ทำถูก ถูกอยู่เสมอ พูดง่ายๆ “กูไม่มีวันผิด” 

ถ้าไม่มีคำว่า “ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายและเป็นที่สุด” ศาลอาจเข้ามาตีความได้ เพราะในอดีต เคยมีกรณีที่เขียนว่า คำสั่งรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด มีการฟ้องร้องกัน ศาลก็บอกว่าเป็นที่สุดในทางบริหาร ไม่ตัดอำนาจศาลในการเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งศาลวินิจฉัยถูกต้องตามหลักกฎหมายมหาชน แต่เที่ยวนี้เขาเขียนลงไปในเนื้อ “ให้ถือว่า..ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และเป็นที่สุด”  ความสำคัญอยู่ตรงนี้ก็คือสิ่งที่ทำนั้น “ชอบ” และหาก “ชอบ” เสียแล้วถ้ามีใครไปฟ้องแล้ว ศาลจะมาทำอะไร มันชอบไปเสียแล้ว

ถ้าเปรียบเทียบการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง

อำนาจเหล่านั้นยังฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ว่าการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.เหมาะสมหรือไม่ จำเป็นเพื่อสาธารณประโยชน์ไหม เข้าเงื่อนไขหรือเปล่า แต่นี่ไม่ได้เลย หนักกว่าเพราะอำนาจเหล่านั้นเป็นอำนาจของฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลไง

ถ้ายกตัวอย่างที่ crash ที่สุดและชัดที่สุดคือ กรณี ครม.ทูลเกล้าฯ ตราพระราชกำหนดโดยอ้างว่ามีความจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ ป้องปัดภัยพิบัติ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แล้วมีคนบอกว่าไม่เข้าเงื่อนไขพวกนี้ ส.ส.ร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ แล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ตามนั้นก็โมฆะเลย

แต่นี่เขียนเงื่อนไขเอาไว้กว้าง“ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติบูรณภาพแห่งดินแดน..” ผมถึงเรียกว่า อภิรัฐบาล ไง

ความจริงไม่ต้องเขียนอะไรพวกนี้ให้มันวุ่นวายหรอก เขียนว่าถ้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เห็นว่า “เหมาะสม” ก็สามารถใช้อำนาจได้ เขียนไปได้เลยเพราะมันตรวจสอบไม่ได้ ส่วนนี้ตัดระบบตรวจสอบ ตัดระบบการคุ้มครองสิทธิออกไปอย่างสิ้นเชิง

ถ้าเราเปรียบเทียบกับมาตรา 44 ก็เขียนเงื่อนไขการใช้อำนาจคล้ายกัน

“ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆการส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติหรือเพื่อป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติราชบัลลังก์เศรษฐกิจของประเทศหรือราชการแผ่นดินไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆได้ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติในทางบริหารหรือในทางตุลาการและให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด”

อำนาจตามกฎหมายต้องมีองค์ประกอบครบถึงจะใช้อำนาจได้ฉะนั้นถ้าเป็นอำนาจข้าราชการธรรมดาถ้าใช้อำนาจไม่ตรงองค์ประกอบไม่ครบก็คือไม่ชอบศาลต้องมาตรวจสอบการใช้อำนาจแต่มาตรา 44เขียนว่าใช้แล้วให้เป็นที่สุดศาลไม่มีโอกาสดูเลยว่าองค์ประกอบ สาเหตุ เหตุการณ์ เป็นแบบนั้นแบบนี้จริงหรือเปล่าหรือmake ขึ้นมาเองที่จริงไม่ต้องเขียนให้ยืดยาวหรอกก็เขียนว่าเมื่อปรากฏแก่หัวหน้าคสช.ว่าจำเป็น ก็ให้ใช้อำนาจไปเลย

มาตรา 280 ก็เขียนเหมือนมาตรา 44 แค่ไปตัดคำว่า “ในทางตุลาการ” ออกหน่อยหนึ่งแต่ผลมันเหมือนกันก็คือมาตรา 44 แปลงร่างกลายเป็นมาตรา 280ในรัฐธรรมนูญ

อำนาจ คสช.ในบทเฉพาะกาล

มาตรา 278 วรรคสอง ที่ให้ คสช.ยังคงอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะพ้นตำแหน่งพร้อมคณะรัฐมนตรี ฉบับนี้เพิ่มข้อความว่า “ในระหว่างเวลาดังกล่าว ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติคงมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมด้วย” ข้อความนี้ไม่มีในร่างแรก และไม่มีในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550

เขาอาจคิดว่าจะทำยังไงดีให้หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ให้ คสช. ยังมีอำนาจอยู่ต่อ ครั้นจะเขียนมาตรา 44เอาไว้ก็โจ่งแจ้ง มาตรา 278วรรคสองจึงเหมือนเขียนหลบให้ ซึ่งมันตลก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศใช้มาก็ต้องไปเลิกฉบับชั่วคราว เพราะองค์กรตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวต้องไปอยู่ในบทเฉพาะกาล มันก็ต้องไปว่ากันตามบทเฉพาะกาล แต่นี่บอกว่า ให้คงมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ซึ่งผมยังไม่ได้ดูว่ามันมีอำนาจอะไรบ้าง แต่น่าจะหมายถึงมาตรา 44

จริงๆ ควรจะเขียนมาตรา 44 ลงในนี้ แต่การเอามาตรา 44 มาเขียนเลยมันน่าเกลียด นี่คือการเขียนแบบซ่อนว่าอำนาจที่มีให้มีอยู่ต่อไป เป็นการเขียนกฎหมายที่ค่อนข้างประหลาด คล้ายๆ กับรัฐธรรมนูญยกเลิก แต่อำนาจยังอยู่

รัฐธรรมนูญ 2550 กับร่างแรกเขียนเหมือนกันเป๊ะแต่มาแก้ในร่างหลัง เขากลัวจะไม่มีอำนาจหรือเปล่า

ถ้าไม่เขียนก็ไม่มีอำนาจอยู่แล้วมาตรา 44 เป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่เข้ามาของเดิมมันต้องหมดไป

ผมเข้าใจว่าเขาคงรู้สึกว่าพอรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว คสช.ยังอยู่ แล้วไปสู่ระบบเลือกตั้ง ถ้ามีปัญหาอะไรขึ้นมาจะทำให้ไม่ชะงัก แต่จริงๆ ถ้าตั้ง คปป. ขึ้นมาก็มีอำนาจตาม คปป. อยู่แล้ว

มาตรา 295 ก็เขียนเพิ่มเข้ามาว่าประกาศคำสั่ง คสช.ยังมีผลต่อไป การยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงให้ตราพระราชบัญญัติ

วันข้างหน้าก็บีบให้ต้องลบล้างผลพวงรัฐประหารอย่างเดียว ยิ่งเขียนล็อกอย่างนี้ยิ่งไม่มีทางอื่น ถ้าจะมีรัฐธรรมนูญรัฐประหารก็ต้องครองอำนาจไว้ให้ได้ตลอดกาล ถ้าอำนาจกลับสู่มือประชาชนเมื่อไร ที่เขียนเอาไว้พวกนี้ก็ต้องถูกลบได้หมด รัฐธรรมนูญเที่ยวนี้เขียนแบบนี้สุ่มเสี่ยงมากๆ ในวันหน้า เพราะมันปิดทางข้างหน้า มันไปในทางที่ต้องลบล้าง

แต่เขาก็เชื่อมั่นว่าสามารถคุมได้

ผมจึงค่อนข้างเชื่อไงว่าถ้าคุมอะไรไปข้างหน้าได้ เขาก็มีโอกาสขยายบทนี้ออกไปเกิน 5 ปีแน่ๆ เชื่อหรือว่าจะคืนอำนาจกลับมา มันเคยมีหรือ มันไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ และครั้งนี้ยิ่งชัดเจนมากๆ นี่เอาไว้ทุกเม็ดในบทเฉพาะกาล สะท้อนให้เห็นว่ากลัวมากกับการคืนอำนาจ โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าจะคืนอำนาจ หรือถ้าคืนก็คงจะนานมาก ผมคงตายไปแล้ว เราก็อยู่กันไปอย่างนี้ อยู่กับ คปป.

แต่นี่มันคือการเดิมพัน เดิมพันอันแรกคือประชามติคว่ำไม่คว่ำ จากนั้นคือเดิมพันตัวระบอบ มันแข็งมากๆ ตึงมากๆ เอาทหารขึ้นไปปกครอง เขาไม่รู้ตัวหรือว่าทำไม่ได้ หรือรู้แล้วแต่กลัวในการจะลง นอกจากนี้ยังสะท้อนความกลัวของพวกเนติบริกรด้วย ที่เขียนออกมาขนาดนี้เพราะใช้เทคนิคการ “ให้ถือว่า” เยอะมากในรัฐธรรมนูญ ปรากฏอยู่เต็มไปหมด

 

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีจำนวน 285 มาตราให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อพิจารณาก่อนลงมติว่าจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ ในวันที่ 6 ก.ย. นี้