รัฐธรรมนูญไทย 101: 2# ที่มารัฐธรรมนูญ-จากบริบทโลกถึงบริบทไทยๆ

รายการ "รัฐธรรมนูญไทย 101" กับ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตอนสอง ที่มาของรัฐธรรมนูญจากบริบทโลกถึงบริบทไทยๆ โดยตอนที่ 1 ก่อนหน้านี้เป็นการตอบคำถามเรื่องสำคัญว่าทำไมจึงต้องเรียนรู้เรื่องรัฐ ธรรมนูญ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง การฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า (รับชมรัฐธรรมนูญไทย 101 ก่อนหน้านี้)

คลิปรายการ "รัฐธรรมนูญไทย 101" กับบัณฑิต จันทร์โรจน์กิจ (คลิกเพื่อรับชมทาง YouTube)

 

พัฒนาการสังคม-การเมืองอังกฤษ และกำเนิดรัฐธรรมนูญ

บัณฑิตกล่าวว่า ที่มีผู้แบ่งรัฐธรรมนูญแบ่งเป็น 2 ประเภทที่ว่า รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร และรัฐธรรมนูญแบบที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นเป็นการแบ่งแบบพื้นฐานมากๆ คือไปดูในแง่พัฒนาการทางสังคม-การเมืองของอังกฤษว่า "Constitution" หรือรัฐธรรมนูญนั้นถูกสร้าง หรือถูกริเริ่มใช้เมื่อไหร่ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในสังคมอังกฤษ ภายหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (ค.ศ. 1688-1689) ที่ขุนนางอังกฤษขับพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ออกจากบัลลังก์ และกล่าวหาพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ว่าทรงละเมิด"หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญในราชอาณาจักร" โดยหลังจากนั้นมีการออก "Bill of Rights" เพื่อจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์องค์ใหม่ และกำหนดอำนาจของรัฐสภา

โดยนัยของคำว่า "Constitution" หรือรัฐธรรมนูญ หมายถึงหลักหรือข้อตกลง เพราะฉะนั้นพัฒนาการของรัฐธรรมนูญอังกฤษไม่ได้จู่ๆ มาแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มาจากพัฒนาการของสังคมที่มีข้อตกลงอันยาวนาน อาจจะย้อนไปได้ตั้งแต่การร่างมหากฎบัตร หรือ แมคนาคาร์ตา (Magna Carta) เมื่อ ค.ศ. 1215 ซึ่งขุนนางอังกฤษ 25 คนร่างขึ้นเพื่อจำกัดพระราชอำนาจของพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ เนื่องจากมองว่าใช้อำนาจตามอำเภอใจ รวมทั้งบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมืองซึ่งโดยนัยสำคัญของพัฒนาการดังกล่าวสะท้อนการจำกัดอำนาจของราชาธิปไตยในอังกฤษ

สมัยก่อนชุมชนการเมืองไม่ได้มีผู้ปกครองหลายคน มีคนตระกูลเดียวที่ครอบครองอำนาจ มีระบบขุนนางที่พัฒนามาโดยลำดับ การตัดสินใจทางการเมืองก็ขึ้นกับบุคคลทางการเมือง เมื่อสังคมมีพัฒนาการขึ้นก็พยายามจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง จึงเป็นที่มาของความพยายามเรียกร้องมีส่วนร่วมในอำนาจ ในกรอบนี้จึงเป็นพัฒนาการหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ

โดยพัฒนาของรัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นจากพันธะสัญญาต่างๆ ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญของอังกฤษเป็นแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นก็มองข้ามข้อเท็จจริงมากมาย ถึงแม้ว่าอังกฤษจะไม่มีเอกสารการเมืองรองรับสิทธิ ระบุการใช้อำนาจต่างๆ ตรากฎหมายไว้เป็นเอกสารทางการเมืองฉบับเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีการเขียนสิ่งเหล่านี้เป็นลายลักษณ์อักษร

สิ่งที่ประกอบกันเป็นรัฐธรรมนูญของอังกฤษ ได้แก่ พระราชบัญญัติ ธรรมเนียมปฏิบัติ เช่น เมื่อรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่าทำความผิด ก็จะลาออกก่อนเพื่อพิสูจน์ตัวเอง หรือการเขียนคำอธิบายทางการเมืองที่ยอมรับว่าเป็นงานวิชาการ เช่นงานของ Walter Bagehot ผู้เขียน The English Constitution ตีพิมพ์ ค.ศ. 1867 ที่เล่าวิธีปฏิบัติ ธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือต่อกันมา รวมทั้งสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นต้น จึงไม่ได้แปลว่าอังกฤษไม่ได้เขียนกฎหมายไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่โดยรัฐธรรมนูญของอังกฤษไม่ได้รวมไว้ในเอกสารทางการเมืองฉบับเดียว แบบที่เกิดขึ้นในรัฐสมัยใหม่อื่นๆ

เพราะฉะนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญไว้ในกฎหมาย ไว้ในข้อตกลงฉบับเดียวเป็นของใหม่ ซึ่งย้อนไปได้ในสมัยที่สหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชจากอังกฤษ ใน ค.ศ.1776 สหรัฐอเมริกามีความต้องการที่จะสร้างรัฐแบบใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาคือสร้างรัฐแบบที่ไม่มีกษัตริย์เหมือนอังกฤษ ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลา 200 กว่าปี

 

ที่มาของรัฐธรรมนูญ: จากบริบทโลกถึงบริบทไทยๆ

บัณฑิต เสนอว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญในโลกนี้มี 4 แบบ หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย หรือประเทศราชาธิปไตยไปเป็นคอมมิวนิสต์

สอง การฟื้นฟูประเทศหลังพ่ายแพ้สงคราม เช่น กรณีประเทศญี่ปุ่น มีรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1947 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จำกัดอำนาจทางการเมืองของสถาบันทางการเมืองบางอย่าง และจำกัดอำนาจทางการทหาร

สาม ได้แก่ประเทศที่ได้รับเอกราชใหม่ เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย ปากีสถาน หรือประเทศเกิดใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960

สี่ คือ รัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งประเทศไทยเราชินมากกับการทำรัฐประหารเพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญ