รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องแก้ปัญหาฉวยอำนาจของเสียงข้างมาก โดยไม่ติดกับดักอำนาจนิยมของรัฐราชการ

21 ตุลาคม 2558 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญไทย : มองไปข้างหน้า” โดยมีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ด้านรัฐศาสตร์ และด้านกฎหมายเข้าร่วมเสวนา นักวิชาการชี้แก้ปัญหาอำนาจนิยมและคอร์รัปชั่นต้องทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ขณะทีอดีตกรรมาธิการยกร่างแม้ที่มาคนร่างปัจจุบันไม่ชอบธรรมแต่มีประชามติ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนมองรัฐธรรมนูญผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์ว่า สมัยก่อนที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเพราะความเชื่อเรื่องการปกครองเป็นเรื่องของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง สังคมต้องการมีอำนาจในการปกครองตนเอง ความเชื่อเรื่องดังกล่าวจึงได้เปลี่ยนมาอยู่ที่ประชาชน ทำให้ต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาใหญ่เข้ามาควบคุม โดยที่มาของรัฐธรรมนูญมีหลายรูปแบบ เช่น วิธีสันติ หรือการรัฐประหาร เป็นต้น แต่สุดท้ายจะจบที่เดียวกัน คือ รัฐธรรมนูญเป็นอภิมหากฎหมายที่ไปกำหนดกฎหมายอื่น

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การมีรัฐธรรมนูญที่ยาวนาน เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการกราบบังคมทูลขอให้มีรัฐธรรมนูญ เป็นการเสนอแนวทางปฏิรูปครั้งแรก แต่ไม่สำเร็จ จากนั้นหลังการปฏิวัติของคณะราษฎรจึงมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรก คือ รัฐธรรมนูญปี 2475

นอกจากนี้ ธเนศ ยังระบุว่า เจตนารมณ์การร่างรัฐธรรมนูญแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เจตนารมณ์แบบสากลที่ร่างเพื่อคนทั้งประเทศ และแบบเฉพาะกลุ่มที่มีคนกลุ่มเล็กๆ เข้าไปจัดทำ สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญที่มีเจตนารมณ์เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ มีอยู่ 4 ฉบับ คือรัฐธรรมนูญปี 2475 รัฐธรรมนูญปี 2489 รัฐธรรมนูญปี 2517 และรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีหลักการสำคัญ เช่น ผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง หรือการห้ามข้าราชการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อป้องกันทหารเข้ามาใช้อำนาจ

ธเนศ ยังได้เปรียบเทียบที่มาของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกากับรัฐธรรมนูญของไทย ว่ามีความแตกต่างกัน โดยรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาทุกคนมีจุดร่วมเดียวกันคือ กลัวการรวมศูนย์อำนาจ ขณะที่รัฐธรรมนูญของไทย มาจากทั้งกลุ่มคนที่กลัวการรวมศูนย์อำนาจและกลุ่มคนที่กลัวคนโกงหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ทำให้ไม่สามารถแปรเจตนารมณ์ไปสู่การปกครองของคนส่วนใหญ่ได้

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญต้องแปรเจตนารมณ์และอุดมคติของฝ่ายต่างๆ ออกมาเป็นความจริง นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผ่านการลองผิดลองถูก และต้องสร้างโครงสร้างที่มีการถ่วงดุลระหว่าง 3 อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทำให้ประชาชนมีความเชื่อ มีอุดมคติเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมอยู่ตลอดเวลา 

“ ต้องทำให้ประชาชนมีอุดมคติอยู่ต่อไปเรื่อยๆ คือความเชื่อเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมต้องปรากฏอยู่ตลอดเวลารัฐธรรมนูญถึงจะทำงานได้ ” ธเนศกล่าวทิ้งท้าย

 

ด้าน เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือกระบวนการการเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย หากแต่เป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตย พร้อมทั้งระบุว่ารัฐธรรมนูญจะต้องแก้ไขปัญหาการเมืองไทย 2 เรื่อง คือปัญหาการบิดเบือนการใช้อำนาจของเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง และปัญหารัฐราชการอำนาจนิยม

“หากมองไปข้างหน้า รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องแก้ปัญหาการบิดเบือนการฉวยใช้อำนาจของเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่ติดกับดักอำนาจนิยมของรัฐราชการ เห็นว่าต้องแก้ 2 อย่างนี้” เกษียรกล่าว

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าเป็นช่วงของการไร้สเถียรภาพทางการเมือง ไม่มีความต่อเนื่องทางนโยบาย ไม่มีความต่อเนื่องของรัฐบาล และสิ่งที่เป็นปัญหาคือการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการบิดเบือนการฉวยใช้อำนาจของเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง ด้วยระบอบอำนาจนิยมของรัฐราชการ โดยผลักดันให้การเมืองไทยเปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้กลายเป็นระบอบไม่ประชาธิปไตย ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการพยายามจะแก้ปัญหาโดยการลดประชาธิปไตยลง ตัวอย่างเช่น ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ของ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่พยายามสร้างระบอบที่มีการเลือกตั้ง แต่อำนาจโครงสร้างในภาพรวม อำนาจของสถาบันเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง กลับถูกกำกับ จำกัด และควบคุม โดยสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

“ ที่ผ่านมาแก้ปัญหาด้วยการไปลดประชาธิปไตยให้น้อยลง ให้อำนาจแก่คนดีเสียงข้างน้อย ผมคิดกลับกัน การจะแก้การบิดเบือนฉวยใช้อำนาจจากการเลือกตั้ง ต้องแก้ให้ประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่ลดลง ” เกษียร

เกษียร ยังระบุว่า ปัญหาการบิดเบือนฉวยใช้อำนาจจากการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เช่น กรณีการฆ่าตัดตอนขบวนการยาเสพติด มาตรการรุนแรงในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ หรือการออกร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ซึ่งเป็นจุดอ่อนของการเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนที่อาจไปอยู่ใต้อำนาจของพรรคการเมือง หรือเจ้าของพรรคการเมืองได้

“ ต้องแก้ปัญหาโดยเพิ่มประชาธิปไตยให้มากขึ้น โดยเฉพาะประชาธิปไตยทางตรง ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบถ่วงดุลผู้แทนของตน ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งไปจนดำรงตำแหน่งทำหน้าที่ในสภา ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่และทุกประเทศในโลกที่เป็นประชาธิปไตยก็มีกัน เช่น ขั้นตอนให้ประชาชนลงคะแนนตรวจสอบผู้สมัครลงเลือกตั้งของพรรคการเมือง การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การลงประชามติในประเด็นกฎหมายที่มีความสำคัญ เช่น ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย ก็ให้ประชาชนลงประชามติ โดยไม่ต้องไปล้มระบอบประชาธิปไตย หรือไม่ต้องทำลายสถาบันการเมือง ” เกษียรกล่าว

นอกจากนี้ เกษียรได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การหวังพึ่งอำนาจระบบราชการเพื่อแก้ปัญหาการบิดเบือนฉวยใช้อำนาจจากการเลือกตั้ง นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยังก่อให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้นไปอีก

 

 

ในส่วนของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำประชามติ 2 ข้อ ข้อแรก ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้ประชามติผ่าน ก็ต่อเมื่อผู้มีสิทธิออกเสียงข้างมากเห็นชอบ หรือประมาณ  23 ล้านคน ซึ่งเป็นไปได้ยาก จึงมีความพยายามตีความว่าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติหมายถึงผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ในทางตัวบทคงเป็นไปไม่ได้

ข้อที่สอง ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน  ต่างจากเมื่อปี 2549 ที่ระบุชัดว่าให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติกับคณะรัฐมนตรีปรึกษากัน แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ ซึ่งเป็นแบบมัดมือชก ส่วนครั้งนี้ถ้าไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว สิ่งที่เป็นไปได้คือจะมีการตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ร่างใหม่ และทำประชามติ ถ้าไม่ผ่านอีกก็ร่างอีก วนลูปไปเรื่อยๆ แต่โดยส่วนตัวเชื่อจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวน่าจะถูกแก้ไขในอีกไม่นานนี้ โดยอาจแก้เรื่องจำนวนผู้มาออกเสียงประชามติและอาจกำหนดว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร

ข้อสังเกตสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ โดยปกติรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะไม่มีบทบัญญัติให้แก้ไขตัวมันเอง แต่ฉบับนี้มีการเขียนไว้ ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ยึดอำนาจเห็นว่ามีความไม่แน่นอนของสถานการณ์ เราจึงไม่สามารถมั่นใจได้ว่ากติกาในรัฐธรรมนูญจะเป็นแบบที่เขียนไว้ เพราะอาจปรับได้ เช่นตอนแรกไม่มีเรื่องการทำประชามติ แต่เมื่อถูกกดดันจึงแก้ไขเพิ่มการทำประชามติเข้ามา

วรเจตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องระยะเวลาในการร่างที่กำหนดไว้คือ 6-8 เดือน แต่ก็ไม่แน่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญใช้ตามเวลานั้น ดูจากตัวอย่างสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ร่าง 9 ปี และใช้จริงเพียง 3 ปี ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ในช่วงผันแปรของยุคสมัย ผู้กุมอำนาจรัฐต้องการความมั่นคง เขาจึงพยายามกำหนดกติกาให้ตัวเองได้เปรียบ

“ถ้าจะลองทำนายรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างขึ้นอาจต้องไปดูรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำโดย สปช. เพราะกรอบการร่างต้องเป็นไปตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยฉบับที่ถูกคว่ำมีความอัปลักษณ์หลายประการ เช่น อภิรัฐบาลหรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การให้ ส.ว.บางส่วนมาจากการแต่งตั้ง ให้นายกรัฐมนตรีอาจมากจากคนนอกได้ ผมเชื่อว่าหลายส่วนจะถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างขึ้น โดยอาจเปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่างของกฎเกณฑ์ แต่หลักๆ คงไม่ต่างจากเดิมมากนัก” นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์กล่าว

วรเจตน์กล่าวอีกว่า การรัฐประหารเมื่อปี 49 ไม่มีการถ่ายอำนาจของคณะยึดอำนาจลงในรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ครั้งนี้อาจจะต่างไปคือมีการถ่ายอำนาจลงในรัฐธรรมนูญในนามของการแก้วิกฤต และจะมีองค์ประกอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ามาในรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ การที่มีองค์กรที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนนั้น ในต่างประเทศองค์กรเหล่านี้เป็นได้อย่างมากคือองค์กรกลั่นกรองหรือที่ปรึกษาเท่านั้น แต่ไทยกลับให้อำนาจมหาศาลกับองค์กรที่มาจากการสรรหา แล้วกล่อมเกลาว่านี่เป็นประชาธิปไตยแบบไทย
วรเจตน์เห็นว่า ต่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาในสังคมได้ เพราะไม่ได้วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง กล่าวคือร่างรัฐธรรมนูญหรือการปกครองตอนนี้เอาองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา มาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แล้วจะแก้ได้อย่างไร และกล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าเรามองไปข้างหน้า แต่ชนชั้นนำในสังคมยังไม่เข้าใจปัญหาในขณะที่คนส่วนใหญ่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร รัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นก็จะใช้ได้แค่ชั่วคราว และจะเป็นชนวนที่นำไปสู่อะไรก็ได้

เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ การพูดครั้งนี้จึงขอพูดแบบมองไปข้างหน้า โดยแบ่งเป็นหลายประเด็น เริ่มจากเรื่องของผู้ร่าง เห็นว่าผู้ร่างที่ดีที่สุดควรเป็นตัวแทนของประชาชนมาร่าง เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ 2540 น่าจะเป็นฉบับเดียวที่มีตัวแทนของประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนฉบับที่เหลือไม่ว่าจะฉบับ2475 หรือ ฉบับที่กำลังร่างปัจจุบัน ผู้ร่างไม่ได้มีความชอบธรรมมาจากประชาชนทั้งสิ้น 

ส่วนประเด็นเรื่องความชอบธรรม เห็นว่า เมื่อผู้ร่างไม่มีความชอบธรรมที่ต้องมาจากประชาชน ก็ต้องหาความชอบธรรมอะไรสักอย่างจึงเป็นที่มาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ให้ร่างรัฐธรรมนูญต้องผ่านการทำประชามติ ส่วนประเด็นที่ว่าการทำประชามติดังกล่าวไม่ชอบธรรมเพราะสามารถหลอกไปได้รวมกันไปได้ ก็เห็นว่าการเลือกตั้งก็สามารถหลอกกันไปได้ รวมกันไปได้เช่นกัน

ขณะที่ประเด็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องสอดคล้องกับสังคมไทยและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก เช่น กรณีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้นถ้าไปดูรัฐธรรมนูญของประเทศโปรตุเกสก็เคยมีบัญญัติไว้ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญควรจัดวางอำนาจรัฐให้เหมาะสม เพราะการเลือกตั้งอย่างเดียวคงไม่ใช่ประชาธิปไตยทั้งหมด แต่ต้องมีรายละเอียดในการเลือกตั้ง 

ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญเมื่อเป็นกฎหมายสูงสุดก็ควรถูกออกแบบให้แก้ไขยาก และต้องกำหนดว่าส่วนใดหรือหลักการใดไม่สามารถแก้ไขได้เลย ส่วนกรณีบทเฉพาะกาล มีไว้เพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะไม่ต้องการให้อยู่ในรัฐธรรมนูญแบบถาวร เพราะสิ่งสำคัญของรัฐธรรมนูญก็คือการแก้ไขปัญหาในอดีต

 

 

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นว่าเราจะเอาอย่างไรกับประชาธิปไตย ประเทศสากลของโลกมองว่า “จะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยมันดีกว่านี้” แต่ประเทศไทยมองถอยหลังไปไกลกว่านั้นว่า “จะเอาประชาธิปไตยหรือไม่” ส่วนตัวเชื่อว่าเราควรมีระบอบประชาธิปไตยที่ได้เริ่มต้นไว้ในทางนิตินัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 สิ่งที่ควรคิดกันวันนี้คือ เราจะปกครองตนเองกันอย่างไรไม่ให้ล้มเหลวอีก และข้อสำคัญคือจะกลับไปสู่ประชาธิปไตยอย่างไรไม่ให้นองเลือด ซึ่งเชื่อว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าใจจึงเป็นที่มาของการกำหนดให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากจะดูว่า คสช. ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านประชามติหรือไม่ ให้ดูว่าคสช.จะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อกำหนดจำนวนการผ่านประชมติที่ชัดเจนหรือไม่ เพราะหากยึดตามตัวบทเดิม เสียง 24.5 ล้านเสียงคงไม่สามารถทำได้ แต่หากไม่แก้ก็มีแนวโน้มสูงว่า คสช. ไม่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ทั้งนี้เห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านประชามติ คือการร่างให้คนรับได้ และอะไรที่เคยถูกต่อต้านก็อย่านำมาใส่อีก

ปริญญา กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญคือการทำให้อำนาจถ่วงดุลกัน ซึ่งความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญ 2540 คือการให้อำนาจฝ่ายบริหารมากเกินความจำเป็น และการถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซงองค์กรอิสระ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 แก้ไขโดยการให้ศาลมาเป็นกรรมการสรรหาองค์กรตรวจสอบ เท่ากับว่าเราออกแบบให้ผู้ตัดสินเกมฟุตบอล มาเลือกผู้เล่นฝ่ายหนึ่งเอง เป็นสาเหตุให้กรรมการไม่สามารถควบคุมการแข่งขันได้ ส่วนตัวเห็นว่า การถ่วงดุลอำนาจควรแยกอำนาจตุลาการอกไปทำหน้าที่ของตัวเอง และให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารถ่วงดุลกัน

นอกจากนี้ ปริญญา ยังเปรียบเทียบประชาธิปไตยไทยกับฟุตบอลไทย ด้วยว่า ก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 การจัดอันดับประชาธิปไตยไทยอยู่อันดับที่ 63 ของโลก อยากให้เทียบกับฟุตบอลทีมชาติไทยซึ่งอยู่อันดับ 137 ของโลก แต่เราก็ยังมีความหวัง เรายังมีกำลังใจ เรายังสนับสนุน แต่ทำไมเราไม่สนับสนุนประชาธิปไตยบ้าง ประชาธิปไตยไทยดีกว่าอันดับของทีมฟุตบอลไทยนะครับ

ที่มาเนื้อหาของ เจษฎ์ โทณะวณิก และ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มาจากมติชนออนไลน์