ประชามติอียิปต์: ร่างรัฐธรรมนูญ 3 ครั้งใน 5 ปี เลือกตั้งแล้วได้ผู้นำไม่ดีเลยต้องเชื่อมือทหาร

ปี 2011 ปฏิวัติล้มเผด็จการ จุดเริ่มของระบอบทหารในฐานะความหวัง 
 
“Everyone used to say there is no hope, that no one will turn up on the street,
that the people are passive. But the barrier of fear was broken.” Asmaa Mahfouz
“ทุกคนเคยกับการบอกว่า มันไร้ซึ่งความหวังซึ่งก็จะไม่มีใครไปปรากฏตัวบนท้องถนน
ซึ่งผู้คนต่างตกเป็นผู้ถูกกระทำ แต่กำแพงแห่งความกลัวมันถูกทำลายลงไปแล้ว” อัสมา มะห์ฟูซ
 
 
อียิปต์ได้รับเอกราชจากอังกฤษตั้งแต่ปี 1922 รัฐธรรมนูญฉบับปี 1923 ได้สร้างระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ขึ้นมา จนกระทั่งการปฏิวัติของกลุ่มทหารในปี 1952 ระบอบเผด็จการได้เข้ามาแสดงบทบาทหลักแทนที่ประชาธิปไตย อำนาจทางการเมืองถูกผูกขาดและกิจกรรมทุกรูปแบบของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยถูกปิดกั้น  ผู้นำเผด็จการที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของอียิปต์คือ ฮอสนี มูบารัค ประธานาธิบดีของที่ปกครองประเทศยาวนาน 30 ปี ตั้งแต่ 1981-2011 
 
การลุกฮือขึ้นประท้วงรัฐบาลของชาวตูนิเซีย ในปี 2010 จุดกระแสการปฏิวัติในโลกอาหรับ (Arab spring) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ปลุกเร้าชาวอียิปต์ให้ออกมาโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ  การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ต่อเนื่อง 18 วัน ของประชาชนอียิปต์ที่รู้สึกเหนื่อยหน่ายต่อพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง, การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก, และการประกาศภาวะฉุกเฉินที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิประชาชนอย่างร้ายแรง  เป็นผลให้มูบารัคประกาศลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2011   
 
ในยามที่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศว่างลงเช่นนี้ ไม่มีสถาบันหรือองค์กรใดที่มีความพร้อมไปกว่ากองทัพอีกแล้วประกอบกับมรดกทางความคิดของการรัฐประหารเมื่อปี 1952 ที่สร้างฐานความเชื่อว่า กองทัพและประชาชนคือหนึ่งเดียวกัน (‘army and the people are one’)  การเข้ามาของกองทัพจึงได้รับการต้อนรับจากประชาชนอียิปต์อย่างท่วมท้น ในวันนั้นกองทัพ คือ ความหวังในการนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคมอียิปต์  คล้อยหลังจากที่มูบารัคลงจากอำนาจเพียง 2 วันกองทัพได้ประกาศยุบสภาและระงับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ โดยประกาศจะปกครองประเทศจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง  
 
ภาพการชุมนุม ขับไล่มูบารัค
ที่มาภาพ edition.cnn
 
 
แก้รัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 โหวตรับท่วมท้น กรุยทางการเมืองให้พรรคภราดรภาพมุสลิม
 
"Keeping Mubarak's constitution, even temporarily, is an insult to the revolution,"  Mohamed ElBaradei
 
“การเก็บรัฐธรรมนูญของมูบารักไว้แม้เพียงชั่วคราว ก็นับเป็นการดูหมิ่นต่อการปฏิวัติ” มฮัมเหม็ด เอลบาราเดอี
 
แม้ว่าการเข้ามาของกองทัพจะไม่ได้มาพร้อมความชอบธรรมตามกฎหมาย  แต่ความไม่ชอบธรรมก็เจือจางไปได้ด้วยบรรยากาศแห่งเสรีภาพในการแสดงออก ที่ชาวอียิปต์ได้รับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี และการลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2011 ประชามติครั้งนี้มุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าฉบับของมูบารัค  โดยมีสาระสำคัญคือ การลดระยะเวลาการบริหารประเทศของประธานาธิบดีจาก 6 ปีให้เหลือ 4 ปีจำกัด 2 วาระติดต่อกันเท่านั้น, การบังคับให้ประธานาธิบดีเลือกรองประธานาธิบดี ภายใน 30 วัน หลังจากการเลือกตั้ง และการกำหนดคุณสมบัติว่าประธานาธิบดี ต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไปและห้ามสมรสกับชาวต่างชาติ  
 
การทำประชามติครั้งนี้ มีพรรคการเมืองกว่า 10 พรรคและผู้นำทางความคิดจำนวนหนึ่งรณรงค์ให้โหวตไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น อาหรับ ลีก, อามีร์ มอร์ซา นักการทูตและอดีตรองเลขาธิการอาหรับ ลีกและโมฮัมเหม็ด เอลบาราเดอี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ กลุ่มนักกฎหมายอาวุโสและนักเขียน โดยพวกเขาต่างกลัวว่าการร่างรัฐธรรมนูญนี้จะทำให้ระบอบเผด็จการเป็นสิ่งถูกกฎหมาย (Legalising dictatorship) 
 
อัตลักษณ์ทางศาสนาถูกหยิบยกมาใช้รณรงค์ระหว่างการทำประชามติครั้งนี้ ฮานิ ชุครอลเลาะห์ นักเคลื่อนไหวจากฝั่งเสรีนิยมกล่าวว่า องค์กรศาสนาได้สร้างข่าวลือที่ผิดว่า การโหวตไม่เห็นด้วยเป็นการคุกคามต่อมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า กฎหมายอิสลามคือพื้นฐานของกฎหมายอียิปต์ บ้างก็บอกว่า ผู้โหวตไม่เห็นด้วยเป็นผู้ที่ชื่นชอบในอเมริกา แต่ถ้าโหวตเห็นด้วยคุณคือผู้ศรัทธาในพระเจ้า
 
  
ชาวอียิปต์ ต่อแถวไปลงประชามติในปี 2011
ที่มาภาพ english.cina.com
 
การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีผู้มาออกเสียงร้อยละ 41 ของผู้มีสิทธิออกเสียง 45 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนผู้ออกมาใช้เสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์อียิปต์ โดยร้อยละ 77.2 หรือ 14.1 ล้านคนเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมีการเลือกตั้งรัฐสภาและประธานาธิบดีขยับมาเร็วขึ้น การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เป็นผลดีต่อพรรคการเมืองที่มีความพร้อมอย่าง พรรคภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) และพรรคของกลุ่มขั้วอำนาจเดิม ในทางกลับกันฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามอย่างกลุ่มเสรีนิยมไม่พึงพอใจนักต่อสถานการณ์เช่นนี้ เนื่องจากพวกเขาไม่มีเวลาเพียงพอในการจัดตั้งองค์กรทางการเมือง 
 
 
ประชามติภายใต้รัฐทหาร ความรุนแรง กับเสรีภาพที่บาดเจ็บ
 
“Biggest enemy was the one institution the people trusted, the military” Maikel Nabil Sanad
 
“ศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือสถาบันที่ประชาชนให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ...ทหาร” ไมเกล นาบิล ซานัด
 
ก่อนการลงประชามติเพียงสองวันทหารได้ทำร้ายผู้ประท้วง และเข้าจับกุมนักกิจกรรมเกือบ 200 คน โดยบีบีซีรายงานว่า ผู้ถูกจับที่เป็นหญิงอย่างน้อย 18 คน ต้องถูกเปลื้องเสื้อผ้าและตรวจสอบพรหมจรรย์  ขณะเดียวกัน วอชิงตันโพสต์ รายงานว่า กองทัพมีคำสั่งจับกุมไมเกล นาบิล ซานัด นักกิจกรรมในข้อหาดูหมิ่นกองทัพและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ โดยศาลตัดสินจำคุก 3 ปีในเรือนจำทหารก่อนจะลดเหลือ 2 ปี นับเป็นนักกิจกรรมคนแรกที่ถูกจับกุมหลังการขึ้นสู่อำนาจของกองทัพ 
 
ฟรีด้อม เฮ้าส์ (Freedom House) องค์กรจับตาเสรีภาพสื่อทั่วโลก รายงานว่า ในเดือนกันยายน 2011 กองทัพได้ประกาศใช้กฎหมายภาวะฉุกเฉิน และนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ข้อมูลข่าวและข้อมูลเท็จมาใช้อีกครั้ง ส่งผลต่อเสรีภาพของสื่อ การเซนเซอร์สื่อ ทั้งจากคำสั่งของรัฐและเซนเซอร์ด้วยตัวเองเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในอียิปต์ โดยนักข่าวหลายสิบคนถูกเรียกรายงานตัวเพื่อสอบสวนโดยอัยการทหาร นักข่าวและบล็อกเกอร์หลายสิบคนถูกจับกุม เช่น กรณีอัลลา อับเดล ฟัตตะห์ บล็อกเกอร์ เขาถูกจับกุมจากการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของทหาร 
 
 
ปี 2012 โมฮัมเหม็ด มอร์ซี พรรคภราดรภาพมุสลิมชนะเลือกตั้ง 
 
"I am here to vote for the first time in my life, I want to see a new generation for my country.
I want everything to change." Nadia Fahmy
 
“ฉันอยู่ที่นี่เพื่อที่ออกเสียงเป็นครั้งแรกในชีวิตของฉัน ฉันอยากจะเห็นยุคสมัยใหม่ของประเทศของฉัน
ฉันอยากให้ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง” นาเดีย ฟาห์มี
 
หลังประชามติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกผ่านไป การเลือกตั้งรัฐสภากำหนดให้จัดขึ้น ต่อเนื่องกันระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2011- 11 มกราคม 2012 ก่อนหน้านั้นเพียง 9 วันจัตุรัสตะฮ์รีย์ได้ต้อนรับผู้ชุมนุมอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการเรียกร้องให้กองทัพออกจากอำนาจอย่างเร็วที่สุดและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างถาวร กองทัพปฏิเสธที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนแต่จัดตั้งสภาที่ปรึกษาประธานาธิบดีเพื่อช่วยจัดการในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเมืองหลังการเลือกตั้ง และจะสละอำนาจภายในเดือนกรกฎาคมปี 2012  แต่นั่นไม่ได้ส่งผลต่อจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่สูงกว่าร้อยละ 60  ผลการเลือกตั้งพรรคภราดรภาพมุสลิมได้รับเสียงไปร้อยละ 47 และพรรคซาลาฟีย์ได้ร้อยละ 24
 
ขณะที่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอียิปต์ในเดือนมีนาคม 2012 ได้ตอกย้ำชัยชนะของพรรคภราดรภาพมุสลิมอีกครั้ง เมื่อโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ตัวแทนจากพรรคภราดรภาพมุสลิมได้รับเสียงมากที่สุด ต่อมาเขาได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งอิสลามซาลาฟีย์
 
ภาพของ โมฮัมเหม็ด มอร์ซี่ จากพรรคภราดรภาพมุสลิม
ที่มาภาพ edition.cnn
 
การที่คะแนนเสียงกว่าครึ่งเทไปที่พรรคอิสลาม จุดกระแสความกังวลทั้งในและต่างประเทศถึงอนาคตของกลุ่มผู้หญิง, กลุ่มเซคิวลาลิสต์ (กลุ่มที่ต้องการให้แยกศาสนาออกจากการเมือง) และกลุ่มชาติพันธุ์ อย่าง กลุ่มคอปติกที่นับถือศาสนาคริสต์  แต่พรรคภราดรภาพมุสลิมได้เรียกคืนความมั่นใจด้วยการให้สัญญาว่าจะทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างทั่วถึง ให้ความเคารพในสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และดำรงไว้ซึ่งข้อผูกมัดระหว่างประเทศ 
 
 
ประชามติแบบดึงดัน ของประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง ที่กลายเป็นเผด็จการ
 
“Egypt is facing a horrifying coup against legitimacy and the rule of law…
and a complete assassination of the democratic transition.” Amr Hamzawy
 
“อียิปต์กำลังเผชิญกับการรัฐประหารที่น่าสะพรึงกลัวต่อความชอบธรรมและหลักนิติธรรม…
และเป็นการลอบสังหารที่สมบูรณ์แบบของการส่งผ่านประชาธิปไตย” อามีร์ ฮัมซาวี
 
โมฮัมเหม็ด มอร์ซีเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของอียิปต์นับตั้งแต่ได้รับเอกราชและถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หลังจากเข้ารับตำแหน่งมอร์ซีพยายามลดทอนอำนาจของทหารด้วยการปลดประธานสภาที่ปรึกษากองทัพและโยกย้ายอำนาจของทหารให้มาอยู่ในมือของพลเรือนมากขึ้น รวมถึงยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติเมื่อปี 2011 เนื่องจากสาระบางประการของรัฐธรรมนูญเหนี่ยวรั้งอำนาจของประธานาธิบดี และตระเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
 
ในเดือนพฤศจิกายน 2012 เทเลกราฟ สำนักข่าวของอังกฤษรายงาน คำประกาศของ มอร์ซีว่า ทุกการตัดสินใจของประธานาธิบดีอยู่เหนือกฎหมาย และให้ยกเว้นการพิจารณาเอาผิดแก่สภาร่างรัฐธรรมนูญและสภาที่ปรึกษา จนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะบังคับใช้ เขากล่าวว่า ประธานาธิบดีมีสิทธิที่จะออกมาตรการหรือการตัดสินใจเพื่อปกป้องการปฏิวัติและการประกาศรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจและกฎหมายใดที่ออกโดยประธานาธิบดีถือเป็นที่สิ้นสุดไม่สามารถอุทธรณ์ได้  ประกาศดังกล่าวได้ก่อเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่าเป็นการยึดอำนาจ ประชาชนยังไม่พอใจที่มอร์ซีและพรรคพวกให้ความสนใจในอำนาจมากกว่าการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน 
 
การประท้วงขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงต้นเดือนธันวาคม ผู้ประท้วงมารวมตัวกันที่ทำเนียบประธานาธิบดีสมาชิกของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมถูกกล่าวหาว่าหน่วงเหนี่ยวกักขังและทุบตีผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลไม่ต่ำกว่า 49 รายและผู้ประท้วงอีก 10 รายเสียชีวิตระหว่างการปะทะ ขณะที่อีกมากกว่า 700 รายบาดเจ็บ ในที่สุดมอร์ซีได้ยอมรับที่จะยกเลิกคำประกาศของเขาแต่ยังคงผลักดันให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในเดือนธันวาคมอยู่ 
 
กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีปัญหาเนื่องจากไม่ได้ถูกเขียนขึ้นจากตัวแทนของประชาชน และขาดการปกป้องผู้หญิง, กลุ่มชาติพันธุ์ เสรีภาพของสื่อและเสรีภาพด้านอื่นๆ  ด้านกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งอิสลามซาลาฟีย์ประกาศไม่รับร่างเนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายอิสลาม (กฎหมายชารีอะห์) ขณะที่พรรคการเมืองหลายพรรคประกาศโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ด้านสมาคมผู้พิพากษาประกาศบอยคอตการทำประชามติครั้งนี้
 
ภาพผู้สนับสนุนมอร์ซี ชุมนุมสนับสนุนการทำประชามติ
ที่มาภาพ CNN
 
ภาพการชุมนุมขับไล่มอร์ซี
ที่มาภาพ wikimedia
 
ผลการทำประชามติในเดือนธันวาคม ปี 2012  ร้อยละ 63.8 หรือกว่า 10 ล้านคนของผู้มาลงคะแนนเสียงเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมีผู้มาใช้สิทธิเพียงร้อยละ 32.9 ของผู้มีสิทธิลงเสียงทั้งหมด ซึ่งน้อยกว่าจำนวนผู้มาออกเสียงประชามติในปี 2011 ข่าวจากไทยพีบีเอสระบุว่า ผู้สังเกตการณ์การลงประชามติอ้างว่าพบความผิดปกติ และการกระทำผิดขั้นตอน เช่น บางหน่วยเปิดให้ลงคะแนนเกินเวลาปิดหีบ มีการรณรงค์นอกคูหา รวมทั้งความผิดปกติของการลงทะเบียนผู้มีสิทธิลงคะแนน จึงเรียกร้องให้จัดการลงประชามติใหม่
 
การออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แทนที่จะเป็นการก้าวเดินต่อของการเมืองอียิปต์ แต่กลับกลายเป็นชนวนจุดกระแสความไม่พอใจให้แก่ผู้ชุมนุมขึ้นมาอีกครั้ง มีการชุมนุมปิดสะพานหลักของกรุงไคโรและปิดกั้นการจราจร ความแตกแยกทางการเมืองในการทำประชามติครั้งนี้ได้ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและค่าเงินของอียิปต์  
 
 
ปี 2013 ผู้ประท้วงไล่ รัฐบาลไม่ออก ทหารจึงต้องยึดอำนาจ แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่
 
“People here feel that they have been cheated and that they moved from autrocracy to a military dictatorship.
So they are back to the square to ask for their rights once again”  Mosa'ab Elshamy
 
“คนที่นี่รู้สึกว่าพวกเขาถูกหลอกลวงและพวกเขาก็ขับเคลื่อนจากระบอบผูกขาดอำนาจมาสู่ระบอบเผด็จการทหาร
ดังนั้นพวกเขาจึงกลับไปที่จัตุรัสนั่นไปถามถึงสิทธิของพวกเขาอีกครั้ง” โมซาอับ เอลชามี
              
ในปี 2013 กลุ่มนักกิจกรรมที่เรียกตนเองว่า “ตามาร็อด” หรือ “กบฏ” เริ่มการจัดแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อถอดถอนความเชื่อมั่นจากรัฐบาลมอร์ซี แคมเปญดังกล่าวได้มาถึงจุดสูงสุดมีการประท้วงของผู้คนกว่าล้านคนทั่วประเทศในวันที่ 30 มิถุนายน 2013 โดยเรียกร้องให้มอร์ซีลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 7 รายและบาดเจ็บอีกกว่า 600 รายในการปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนและต่อต้านมอร์ซี  แม้ว่ามอร์ซีจะไม่ใช่คำตอบสำหรับประชาชนอีกต่อไปแต่เขายังยืนยันที่จะไม่ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
 
ภาพการชุมนุมขับไล่มอร์ซี
ที่มาภาพ wikimedia
 
อับเดล ฟาตะห์ อัลซีซี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดทำรัฐประหารยึดอำนาจจากมอร์ซีในวันที่ 3 กรกฎาคม 2013 อัลซีซีกล่าวถึงการรัฐประหารครั้งนี้ว่า เป็นการยึดมั่นต่อความรับผิดชอบต่อพลเรือน และกองทัพไม่ได้แสวงหาอำนาจ เขาได้เปิดเผยโรดแมปของกองทัพ คือ ประกาศระงับใช้รัฐธรรมนูญ พร้อมแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวนำโดยอัดลี มันซูร์ ประธานาธิบดี มุ่งสู่การจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว และการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง  ที่น่าสนใจ คือ การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ยังคงเป็นการเขียนภายในกลุ่มผู้พิพากษากลุ่มเล็กๆ และทบทวนโดยคณะกรรมาธิการเพียง 50 คนเท่านั้น 
 
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์และเปิดเผยสู่สาธารณะในช่วงปลายปี 2013 ก่อนจะนำไปลงประชามติในเดือนมกราคม ปี 2014 กองทัพได้เรียกคืนอำนาจของตัวเองผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการเพิ่มอำนาจให้แก่ทหาร, ตุลาการและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งยังให้อำนาจทหารสอบสวนคดีของพลเรือนอีกด้วย ขณะที่การปกป้องสิทธิผู้หญิง, เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพอื่นๆ มีการพัฒนาดีขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา
 
หลังการยึดอำนาจ ฝ่ายผู้สนับสนุนมอร์ซียังเดินหน้าประท้วงรัฐบาลชั่วคราวทำให้เกิดการปะทะกันกับกองกำลังความมั่นคงส่งผลให้ ตามรายงานของฟรีด้อม เฮ้าส์ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน  เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมและดำเนินคดีกับผู้นำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม  และมีการประกาศให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นกลุ่มก่อการร้าย
 
ภาพ อับเดล ฟาตะห์ อัลซีซี ผู้ทำรัฐประหาร
ที่มาภาพ atlasinfo.fr
 
 
ประชามติภายใต้รัฐบาลทหารต้องรับเท่านั้น ความจริงบาดเจ็บ เสรีภาพล้มตาย
 
 “When you turn on a television or you open a newspaper, you enter a fact-free zone,” Nathan Brown
 
“ในตอนที่คุณเปิดโทรทัศน์หรือเปิดหน้าหนังสือพิมพ์ คุณได้เข้าไปสู่พื้นที่ปราศจากความจริง” นาธาน บราวน์
 
แม้ว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ในหมู่นักกิจกรรมและกลุ่มปฏิวัติ การรัฐประหารไม่ว่าจะด้วยเจตนาดีเพียงใดก็ก็สร้างบาดแผลฉกรรจ์ของระบอบประชาธิปไตยของอียิปต์เช่นเดียวกับเสรีภาพที่ทยอยล้มหายตายจากไปนับแต่นั้น 
 
รายงานของฟรีด้อม เฮ้าส์ เปิดเผยว่า การเซ็นเซอร์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ และการเซ็นเซอร์ตัวเองยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในอียิปต์ รัฐบาลได้เข้ายึดหนังสือพิมพ์อัลมาสริ อัลมายูม หนังสือพิมพ์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในอียิปต์ด้วยเหตุผลว่าตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ที่มีความอ่อนไหว เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ควบคุมตัวบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์และนักข่าวจากการที่พวกเขาตั้งคำถามเกี่ยวกับการสืบสวนการฉ้อโกงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2012 นักข่าวอัลจาซีรา 3 คน ถูกศาลตัดสินให้จำคุกไม่ต่ำกว่า 7 ปีฐาน เผยแพร่ข่าวที่มีลักษณะสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม 
 
ภาพ ทหารจับกุมกลุ่มผู้สนับสนุนภราดรภาพมุสลิม
ที่มาภาพ The Guardian
 
 
รัฐบาลให้เอกสิทธิ์แก่ตำรวจในการสั่งห้ามและสลายการประท้วงที่มีผู้เข้าร่วม 10 คนขึ้นไป การจัดกิจกรรมใดๆ จะต้องแจ้งให้ตำรวจทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วันก่อนจัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมรำลึกวันครอบรอบการปฏิวัติทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย  49 คน และถูกจับมากกว่า 1,000 คน การชุมนุมรำล นักกิจกรรมที่ใช้เงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศเพื่อกระทำการใดที่เป็นภัยต่อผลประโยชน์แห่งชาติต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับราว 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ มากไปกว่านั้นหากผู้กระทำผิดเป็นข้าราชการหรือกระทำความผิดที่เข้าข่ายการก่อการร้ายจะได้รับโทษประหารชีวิต 
 
หลังการรัฐประหาร รัฐบาลเตรียมจัดทำประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปี ท่ามกลางการคุกคามของรัฐบาลที่มีต่อผู้ไม่เห็นด้วย สำนักข่าวนิวสเตทแมน  รายงานว่า ผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งก่อนหน้านี้หลายพันคนถูกคุมขัง และหลายร้อยคนถูกสังหารโดยรัฐบาลทหาร ประกาศบอยคอต ไม่เข้าร่วมการทำประชามติ เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ ที่ต่อต้านการยึดอำนาจของทหารครั้งนี้
 
ฮิวแมนไรท์ว็อช องค์กรจับตาสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ไม่กี่วันก่อนลงประชามติ นักกิจกรรมอย่างน้อย 7 คนจาก พรรคอียิปต์เข้มแข็ง (the Strong Egypt Party) ถูกจับกุมจากการติดโปสเตอร์และแจกเอกสารรณรงค์ลงเสียงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ  ต่อมาสำนักข่าวเวิล์ดไทม์ รายงานว่า พรรคอียิปต์เข้มแข็ง ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่ยังคงรณรงค์ให้โหวตไม่รับร่าง ประกาศเลิกรณรงค์หลังจากที่สมาชิกถูกจับ โดยพรรคอียิปต์เข้มแข็งกล่าวว่า ประชามติครั้งนี้มีแค่ตัวเลือกเดียว คือ โหวตYES การโหวต NO นั้นต้องห้าม กระบวนการครั้งนี้ไม่เป็นธรรมและไม่เสรี และประกาศเปลี่ยนจุดยืนมาเป็นบอยคอตด้วย 
 
ผู้สื่อข่าวของ เดอะนิวยอร์กเกอร์ เคยตั้งคำถามต่อโฆษกคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายสำหรับพลเมืองอียิปต์ที่จะแสดงออกสัญลักษณ์ที่เรียกร้องให้ประชาชนลงเสียงไม่เห็นด้วย โฆษกคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธที่จะตอบคำถามตรงๆ แต่ตอบเลี่ยงว่า หากมีใครถูกจับกุมในตอนนี้ เจ้าหน้าที่สอบสวนมีหลักฐานที่ชัดเจนแล้วถึงความเกี่ยวข้องของผู้ต้องหากับการกระทำความผิด 
 
ขณะที่การรณรงค์ไม่เห็นด้วยถูกปราบปรามแต่กลับมีการรณรงค์ในการกระตุ้นชาวอียิปต์ให้ลงเสียงเห็นด้วยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อย่างดาษดื่น มีการแขวนป้ายขนาดใหญ่ไว้ตามสะพานและสะพานลอยหลักในกรุงไคโรกับสโลแกนที่ว่า เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วยต่อการก่อการร้าย (Yes to the constitution, no to terrorism.) ขณะที่การโฆษณาชวนเชื่อและการให้ข้อมูลแบบผิดๆ หมุนเวียนอยู่ในรายการโทรทัศน์ของอียิปต์ 
 
ภาพป้ายโฆษณา รณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ
ที่มาภาพ dailynewsegypt
 
 
 
ปี 2014 โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ 98% ไม่โหยหาเสรีภาพอีกต่อไป 
 
"I'm saying yes so that the country can rise again, and so that the people can eat,"  Salah Abdel Hamid
 
“ฉันบอกว่า เห็นด้วยเพื่อที่ว่าประเทศจะได้รุ่งโรจน์อีกครั้งและเพื่อที่ว่าผู้คนจะมีอะไรกิน” ซาลาห์ อับเดล ฮามิด
 
 
ภาพ ทหารดูแลการลงประชามติอย่างใกล้ชิด
ที่มาภาพ latimes
 
การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2014 นี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 38.6 จากจำนวนผู้สิทธิมาออกเสียงทั่วประเทศ 53 ล้านคนเป็นจำนวนที่น้อยกว่าการลงเสียงประชามติครั้งแรกในปี 2011 โดยผลการลงเสียงประชาชนร้อยละ 98.1 ที่มาใช้สิทธิเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 
 
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีก็จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2014 โดยมีผู้ลงสมัครรับเลือก 2 คนเท่านั้นคือ อับเดล ฟาตะห์ อัลซีซี อดีตผู้บัญชาการกองทัพและฮัมดีน ซับบาห์อี นักการเมืองฝ่ายซ้าย ผลคืออัล ซีซีได้รับชัยชนะไปอย่างท่วมท้นกว่าร้อยละ 96 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด โดยปรากฏรายงานจำนวนหนึ่งระบุถึงการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เช่น การใช้ทรัพย์สินของรัฐไปสนับสนุนอัล ซีซี และผู้ใช้สิทธิถูกคุกคามให้หวาดกลัวจากผู้สนับสนุนอัลซีซีและเจ้าหน้าที่รัฐบาล   
 
ในเดือนตุลาคม 2015 อียิปต์จัดการเลือกตั้งรัฐสภาโดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยที่สุดนับตั้งแต่มีการปฏิวัติโค่นล้ม มูบารัคในปี 2011  ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 อัล ซีซีได้กล่าวว่า การส่งผ่านการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว 
 
หลังจากการปฏิวัติขับไล่เผด็จการในปี 2011 อียิปต์ก็เผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี การเมืองอียิปต์ภายใต้อัล ซีซีไม่ได้เดินหน้าหรือเปลี่ยนแปลงไปจากยุคเผด็จการของมูบารัคมากนัก  อำนาจที่ล้นมือของอัล ซีซีนำไปสู่การละเมิดสิทธิประชาชนเห็นได้จากนักโทษทางการเมืองจำนวนมาก 
 
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาชาวอียิปต์เริ่มอดรนทนไม่ไหวต่ออัล ซีซีในการคอร์รัปชั่น, ความยากจนและอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายนประชาชนหลายพันคนได้ออกมาเดินขบวนป่าวร้องว่า Down with the regime และ Leave ซึ่งเป็นสโลแกนที่ใช้ประท้วงมูบารัคในปี 2011  
 
 
“Those who cannot remember the past are bound to repeat it” - George Santayana.
 
“ผู้ที่ไม่สามารถจดจำอดีตได้มีโอกาสที่จะกระทำมันซ้ำอีก” จอร์จ ซานตายาน่า
 
 
 
ที่มาภาพ Sebastian Horndasch
 
 
 
______________
อ้างอิง
Egypt and "Democracy Dilemma" โดย Masoud Rezaei จากเว็บไซต์ Academic journals
Mubarak's Horrific Human Rights Legacy โดย Emily Loftis จากเว็บไซต์  Motherjones
Egytian crisis: How did it happen จากเว็บไซต์ CBC News
Egypt referendum strongly backs constitution changes จากเว็บไซต์ BBC
Egyptian vote on constitution reveals deep divisions จากเว็บไซต์ The guardian
Egyptian Voters Approve Constitutional Changes โดย NEIL MacFARQUHARMARCH จากเว็บไซต์ NY Times
Maikel Nabil Sanad draws back the curtain on Egypt’s military โดย  Jackson Diehl จากเว็บไซต์ Washingtonpost
Mohammed Morsi grants himself sweeping new powers in wake of Gaza จากเว็บไซต์ Telegraph
Protesters across Egypt call for Mohamed Morsi to go จากเว็บไซต์ The guardian
First Round of Voting Spurs Dispute in Egypt จากเว็บไซต์ NY Times
Egyptian voters back new constitution in referendum จากเว็บไซต์ BBC
Coup D'Etat In Egypt: Military Removes President Morsi And Suspends The Constitution โดย Agustino Fontevecchia จากเว็บไซต์ Forbes
รายงาน Freedom in the world 2014 จากเว็บไซต์ Freedom house
รายงาน Freedom in the world 2015 จากเว็บไซต์ Freedom house
Arrest of 'No' campaign activists on eve of referendum in Egypt โดย  Richard Spencer จากเว็บไซต์ Telegraph
Why Egyptians Are Voting Away Their Freedoms โดย Jared Malsin จากเว็บไซต์ Time
Egypt: 7,400 Civilians Tried In Military Courts จากเว็บไซต์ Human Rights Watch
Egypt: Unprecedented Expansion of Military Courts จากเว็บไซต์ Human Rights Watch
Egypt referendum: '98% back new constitution' จากเว็บไซต์ BBC
If Everyone Votes Yes, Is It Democracy? โดย Peter Hessler จากเว็บไซต์ Newyorker