“เดือนเด่น นิคมบริรักษ์” วิพากษ์จุดอ่อน ป.ป.ช.-สตง. กับจุดตายใช้อำนาจพิเศษปราบคอร์รัปชัน “ถ้าจะแค่ล้างบาง..ก็แก้ปัญหาไม่ได้”

“ทุจริตคอร์รัปชัน” เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทย จนแม้จะมีการตั้งองค์กรพิเศษมาเพื่อขจัดปัญหานี้โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2540 แต่สถานการณ์ก็ไม่เคยดีขึ้น

กระทั่งเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ตั้งไว้เป็น 1 ใน 11 หัวข้อ ที่ต้องมีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน

“ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอก็เป็นหนึ่งในผู้ที่สนใจการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และนำเสนองานวิจัยเพื่อชี้ทางออกในเรื่องนี้มาตลอด เช่น งานวิจัย หัวข้อ “การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ และการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย” ที่ชี้จุดอ่อนของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และต้นเดือนมีนาคม ปี 2558 ก็เพิ่งเผยแพร่งานวิจัย หัวข้อ “การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรอิสระเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน” ที่ชี้อุปสรรคการทำงานขององค์กรอิสระ 3 แห่ง ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน

ท่ามกลางภาวะที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมเขียนกติกาประเทศ โดยตั้งองค์กรตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นใหม่อีกหลายองค์กร

ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เตรียมออกกฎหมายไล่จับคนโกง

ขณะที่หัวหน้า คสช. เตรียมใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ย้ายข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตออกจากตำแหน่ง

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ไปนั่งคุยกับ ดร.เดือนเด่น เพื่อหาคำตอบว่าอุปสรรคในการกำจัดคอร์รัปชัน แท้จริงแล้วคืออะไร? จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร? และวิธีการที่ผู้มีอำนาจกำลังเดินหน้าทำอยู่ในเวลานี้ จะนำไปสู่สังคมปลอดคอร์รัปชันได้จริงหรือ…

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

ไทยพับลิก้า: ทำไมจึงเลือกทำวิจัยโดยเน้นบทบาทของ 3 องค์กรอิสระ ป.ป.ช. สตง. และ ผู้ตรวจการฯ เป็นหลัก ไม่รวมถึงหน่วยงานอื่น

เราเลือกหน่วยงานที่เกี่ยวกับคดีคอร์รัปชัน แน่นอนว่าศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมืองก็เกี่ยว แต่เราเลือกเฉพาะ 3 หน่วยงานนี้ เพราะเราอยากดูเชิงการตรวจสอบมากกว่า ไม่ใช่กระบวนการทางยุติธรรม

ทั่วโลกจะมีหน่วยงานลักษณะเดียวกับ สตง. ส่วน ป.ป.ช. แล้วแต่ ประเทศพัฒนาแล้วบางทีเขาก็ไม่มี เพราะปัญหาคอร์รัปชันในประเทศพัฒนาแล้ว ถึงจะมี แต่ก็เป็นความผิดทางอาญาทั่วไป เช่น คุณไปโกงเขา ก็เป็นความผิดยักยอกทรัพย์ ไม่ต้องมีหน่วยงานพิเศษขึ้นมา แต่ประเทศกำลังพัฒนามักจะมี เพราะมีปัญหานี้แรง และการที่ต้องมี ป.ป.ช. ก็สะท้อนถึงความล้มเหลวในกลไกการตรวจสอบปกติ เพราะถ้าทำดีแล้ว มันก็ไม่จำเป็นต้องมี

ไทยพับลิก้า: ที่กลไกปกติในประเทศกำลังพัฒนาทำงานไม่ดีมาจากอะไร ระบบอุปถัมภ์ หรือสาเหตุอื่น

ประเทศกำลังพัฒนา ต้องบอกว่า institution ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวสถาบัน แต่รวมถึงกติกา กฎระเบียบ และการบังคับใช้ มักจะอ่อน เพราะเรื่องพวกนี้ เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ธรรมเนียม จารีตประเพณีของทางตะวันตก เรื่องของการตรวจสอบ-ถ่วงดุล ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากไม่ค่อยคุ้นเคย เพราะในอดีตเราจะเน้นแต่เรื่องการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมการทำธุรกิจ ทำยังไงก็ได้ให้มันโตไปได้

แต่พอมาถึงจุดที่ว่าการโตเริ่มมีปัญหาอีกด้าน คือมีการทุจริตคอร์รัปชัน เราก็ยังรับมือกับมันไม่ได้ เพราะตัวรัฐบาลเองก็ไม่อยากจะทำ เนื่องจากบางทีไปขัดกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งพอธุรกิจมาเกี่ยวกับการเมืองก็เริ่มมีปัญหา ดังนั้น หากเรายังกอดด้านเศรษฐกิจ การต่อต้านคอร์รัปชันก็ยังเป็นประเด็นลำดับรอง และในระยะสั้น การตรวจสอบคอร์รัปชันจะมีผลต่อเศรษฐกิจ เพราะถ้าเราจะตรวจสอบโครงการต่างๆ โดยละเอียด มันก็จะล่าช้า ประชาชนก็จะถูกจับเป็นตัวประกัน บอกว่า “ดูสิ ล่าช้าเพราะตรวจสอบมาก” รัฐบาลที่ผ่านมาก็จะใช้มุกนี้ตลอด คือไม่พัฒนาระบบ แล้วพอมีคนมาร้องเรียนก็บอกว่า คนพวกนี้ถ่วงความเจริญ ทำให้มันล่าช้า ซึ่งก็มีคำถามว่าแล้วคุณจะปล่อยให้โครงการผ่านไปโดยไม่ตรวจสอบเหรอ ช้าก็ช้า แต่ต้องทำให้มันถูก

ไทยพับลิก้า: ของไทยมีองค์กรพิเศษเช่นนี้มา 18 ปีแล้ว คนไทยเริ่มเปลี่ยนความคิดบ้างหรือยังว่า ช้าหน่อยก็ได้ ขอให้โปร่งใส

มันก็มีกลุ่มคนที่ตรวจสอบ แต่ก็มีอีกกลุ่มที่ไม่เห็นความสำคัญกับประเด็นนี้ เห็นแต่เรื่องปากท้อง ซึ่งก็เป็นไปได้สำหรับประเทศกำลังพัฒนา คนที่ยังต้องห่วงปากท้อง จะมาบอกเรื่องธรรมาภิบาล เขาก็ไม่สนใจหรอก นโยบายประชานิยมถึงได้ขายได้ จะเอาเงินมาจากไหนก็ช่างเอ็ง ขอให้ข้าได้ก็พอ การสำรวจหลายๆ ครั้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เบอร์ 1 คือปัญหาปากท้องทุกที เรื่องคอร์รัปชันเป็นปัญหารองๆ

ไทยพับลิก้า: ถ้าจะให้คะแนนหน่วยงานเหล่านี้ ใครสอบตก สอบผ่าน มีอะไรควรปรับปรุง เต็มสิบจะให้เท่าไร

ไม่อยากให้คะแนน (หัวเราะ) เพราะพวกนี้เวลาลงข่าวจะลงแต่ตัวเลข อยากวิจารณ์เชิงคุณภาพมากกว่า

ข้อจำกัดของทั้ง 3 องค์กรจากการวิจัย เหมือนกันหมด 1. ยกเว้นผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นหน่วยงานที่ไม่ได้ตั้งขึ้นมาใหม่ โอนจากหน่วยงานเก่า ไม่ว่าจะเป็น สตง. ที่เดิมอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง หรือ ป.ป.ช. ที่เดิมอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมันต่างจากต่างประเทศที่จะสร้างคนใหม่ recruit ใหม่หมด แต่กรณี สตง. ป.ป.ช. เป็นธรรมเนียมไทย ที่พอตั้งหน่วยงานใหม่ ก็จะโอนคนเก่า ทั้งที่ภารกิจ เวลาเราตั้งหน่วยงานใหม่ เรายิ่งต้องการคนประเภทใหม่ ยิ่งเป็นองค์กรอิสระด้วย เรายิ่งต้องการคนที่มีคุณสมบัติเหมาะกับงานนั้นๆ งานปราบปรามคอร์รัปชันคนที่ทำต้องไว ต้องเก่ง ไม่เช่นนั้นจะไปตามปราบโจรได้ยังไง แต่เราก็เอาข้าราชการจาก ปปป. เข้าไปอยู่ใน ป.ป.ช. ก็เลยทำงานแบบราชการ ทำช้าแบบราชการ

เรื่องงบประมาณ ไม่แน่ใจว่าเป็นปัญหาจริงหรือเปล่า เพราะ ป.ป.ช. มักจะบ่นว่าเงินไม่พอ แต่เขาก็ใช้เงินไม่หมด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการจัดซื้อจัดจ้างที่ ป.ป.ช. เองออกระเบียบละเอียดมากจนทำอะไรแทบไม่ได้เลย ระเบียบที่ออกมามันรัดตัวมาก เพราะจะจับขโมย แต่จริงๆ ขโมยตัวใหญ่ๆ หลุดหมด ซึ่งส่วนตัวคิดว่าต้องมุ่งไปจับปลาตัวใหญ่มากกว่า แทนที่จะมาออกระเบียบยิบย่อยแบบนี้

แล้ววิธีการทำงานของ ป.ป.ช. ตอนนี้ ปัญหาคือโครงสร้างการทำงานตอนนี้ยังเป็นระบบราชการ ทั้งที่ตามกฎหมายเป็นองค์กรอิสระ สามารถกำหนดเองได้หมด บุคลากรจะเอาใครก็ได้ จะออกระเบียบที่มันคล่องตัวกว่านี้ก็ได้ แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่กล้า เพราะ สตง. ยังเป็นคนตรวจอยู่ ทั้งที่จริงๆ หน่วยงานพวกนี้ควรจะมีความกล้า ถึงจะเป็นองค์กรอิสระที่แท้จริง นี่คือประเด็นที่หนึ่ง เรื่องการทำงานแบบราชการ

2. ค่าตอบแทน ตัวกรรมการ 3 องค์กร มีเงินเดือนแค่ 7 หมื่นกว่า สำหรับงานที่ถูกข่มขู่ทุกวี่ทุกวัน โดยเฉพาะคนที่เป็น ป.ป.ช. นะ ซึ่งมันน้อยมาก ถ้าเทียบกับ กสทช. ที่กรรมการมีเงินเดือนกว่า 3 แสนบาท ทั้งที่เป็นการทำงานแบบเต็มเวลาและต้องไปฟาดฟันกับคน นี่ก็คือปัญหา เพราะถ้าเงินเดือนน้อย เขาจะไปจ้างคนเก่งๆ มาช่วยไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องมีการประเมินใหม่แล้ว ว่างานแบบไหนควรจะให้ค่าตอบแทนแบบไหน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

3. กลไกการตรวจสอบต่างๆ มันไปกระจุกที่ ป.ป.ช. หมด รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ออกแบบมาให้ทุกอย่างพุ่งไปที่ ป.ป.ช. ไม่ว่า สตง. หรือผู้ตรวจการแผ่นดินจะตรวจพบอะไร ถ้าเป็นเรื่องทุจริต ก็ต้องส่ง ป.ป.ช. ทั้งที่ ป.ป.ช. ก็มีคดีของตัวเองอยู่แล้ว ทำให้มีคดีค้างจำนวนมาก เพราะทำไม่ไหว และยิ่งไปเปิด ป.ป.ช. จังหวัด ยิ่งเละกันไปใหญ่ นี่คือความผิดพลาดที่ไปเปิด ป.ป.ช. จังหวัด เท่าที่คุยกับคนใน ป.ป.ช. ไม่มีใครสนับสนุน เพราะยิ่งทำให้ ป.ป.ช. อ่อนแอ ต้องเอาคนส่วนกลางลงไป แล้วคนทำคดีก็ไม่มี เขาถึงได้หยุดตั้ง ป.ป.ช. จังหวัด ที่มีอยู่ก็ให้แค่ส่งเสริม ไม่มีอำนาจพิจารณาคดี เพราะพอไปอยู่ท้องถิ่นก็จะถูกครอบงำง่าย

พอทุกอย่างกรูไปที่ ป.ป.ช. คงต้องออกแบบใหม่ว่าจะทำอย่างไร อย่างน้อย สตง. ก็ต้องเพิ่มเขี้ยวเล็บให้ เพราะเขาเป็นด่านหน้า พบเยอะ เพราะเห็นเยอะ เวลาเจออะไรแล้ว ไม่ต้องไปผ่าน ป.ป.ช. อีก ในอดีตเขาเคยมีเรื่องการวางฎีกาเบิกจ่าย ถ้า สตง. เจออะไรผิดปกติก็จะไม่ให้เบิกจ่าย แต่สมัยนี้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ แค่กดก็ไปหมดแล้ว จึงต้องไปคิดใหม่ว่า มีกลไกอะไรที่ถ้าคุณไม่ผ่าน เงินไม่ออก

4. ป.ป.ช. เองยอมรับว่าตัวเองทำงานเรื่องป้องกันน้อย มีแต่เรื่องปราบปราม ซึ่งในต่างประเทศจะทำเยอะกว่า ป้องกัน 70% ปราบปราม 30% แต่ของเรา ปราบปราม 80-90% ป้องกันแค่ 10-20% มันก็เลยปราบอยู่นั่นแหละ สมัย อ.เมธี ครองแก้ว ยังเป็นกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ ก็เข้าไปเป็นอนุกรรมการศึกษาเรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตของด้านเศรษฐกิจและรัฐวิสาหกิจ เช่น ตอนนั้นมีการรวบรวมกฎหมายทั้งหมดที่ให้ดุลยพินิจแก่รัฐมนตรีในการอนุมัติ ที่พบว่ามีเยอะมากหลายร้อยฉบับ ทั้งขอโควตานำเข้าหอยแปลกๆ มันบ้าบอคอแตก เราไม่เคยสังคายนากฎหมาย แต่พอทำแล้วก็ไม่รู้หายไปไหน ทำมา 2-3 ปีก็แป้ก นี่สะท้อนถึงการทำงานด้านการป้องกันของ ป.ป.ช. ที่อ่อนมาก

นี่คือ 4 เรื่องที่เป็นปัญหาหลัก ซึ่งต้องไปคิดว่าจะแก้อย่างไร

ไทยพับลิก้า: มีข้อเสนอแก้ปัญหา 4 ปัญหาข้างต้นหรือไม่ ควรจะทำอย่างไร

ที่มาทำวิจัยเรื่องนี้ เพราะอยากพิสูจน์ว่าโมเดลที่สร้างองค์กรอิสระมามากมายเต็มเมืองมันไม่ work เพราะ CPI (Corruption Perception Index – ดัชนีความโปร่งใส) ของเราก็มีแต่ลดลงๆ ขอร้องว่าอย่าสร้างองค์กร ซึ่งตอนนี้ก็ดีแล้วที่เริ่มมีการยุบรวม แต่ก็จะถูกร้องเรียนอีก เพราะสร้างมาแล้วยุบไม่ได้ หน่วยงานอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไม่ใช่ว่าไม่มีก็ได้ มีไว้ก็ดี แต่มีแล้ว ปัญหาก็คือจะทำอย่างไรให้หน่วยงานนี้มัน function

ระบบของไทยใจร้อน อะไรไม่พอใจก็ยุบมันไป เหมือนระบบเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ระบบไหนก็ใช้ไม่ได้ เพราะไม่ได้ “คนดี” ปรากฏว่าระบบไหนมันก็ไม่ได้คนดี คุณต้องมาดูว่าระบบที่ทำมาแล้วมันล้มเหลว มันล้มเหลวตรงไหน แล้วไปแก้มัน เหมือนกับเอาเครื่องมืออะไรมาใช้ พอไม่ work ก็ซื้อใหม่ๆๆ มันก็ไม่ได้สักที กี่ปีก็เปลี่ยน ระบบนั้น ระบบนี้ เล่นกันสนุก ทั้งที่จริงๆ ต้องไปดูว่า ทำไมกลไกการตรวจสอบมันไม่ function

------- ไม่รู้ว่าการตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่จะแก้ปัญหาได้ถูกจุดหรือเปล่า เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าไปคิดเรื่องตั้งองค์กรใหม่ คือทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบการตัดสินใจของผู้ใช้อำนาจที่ขาดความโปร่งใสจนนำไปสู่การทุจริต ซึ่งทางออกมี 2 ทาง 1. ทำอะไรคุณต้องเปิดเผยหมด คุณตัดสินใจอย่างไร มติที่ประชุมเป็นอย่างไร คนจะได้ไล่จับคุณได้ 2. ต้องเอาคนนอกเข้าไปร่วมด้วย -------

ไทยพับลิก้า: อย่างผู้ตรวจการแผ่นดิน คนอาจจะถามว่าทำไมไม่มีผลงาน จนจะถูกยุบรวมกับ กสม. 

ผู้ตรวจการฯ เท่าที่ศึกษาไม่ใช่ว่าเขาไม่มีผลงาน เพียงแต่เขาไม่ได้โฆษณาตัวเองเท่าไร แล้ววิธีการทำงาน ต้องเข้าใจว่าเขาไม่มีอำนาจ พองานของเขาไม่หวือหวา คุณก็ไม่สามารถรายงานในข่าวได้ว่าผู้ตรวจการฯ ฟ้องหรือชี้มูล เพราะเขาไม่มีอำนาจ ซึ่งจริงๆ จากการศึกษา เขาก็ทำหน้าที่ได้ดีนะ เพราะ 1. เขาเล็ก เพราะเริ่มใหม่ ไม่ได้โอนมาจากใคร ไม่ได้ใช้งบมาก คนก็ capable ดีกว่า 2 หน่วยงานที่ใหญ่กว่าอีก 2. การทำงานของเขา แม้จะไม่ออกสู่สายตาของสื่อ แต่ก็เป็นหน่วยงานที่มีค่าต่อประชาชน เพราะทุกคนเข้าถึงผู้ตรวจการฯ ได้หมด เขาไม่มีกำหนดว่าคุณต้องเป็นเรื่องทุจริตหรือเรื่องการเงินของรัฐบาลนะ ดังนั้น เวลาชาวบ้านมีเรื่องเดือดร้อนก็วิ่งมาหาผู้ตรวจการฯ ซึ่งอันนี้ถือว่าสำคัญ เพราะเราจะไปคาดหวังให้ชาวบ้านรู้ว่า เรื่องนี้ต้องไป ป.ป.ช. สตง. ดีเอสไอ หรือ ปปง. คนมันไม่รู้หรอก เขาเดือดร้อน ดังนั้นผู้ตรวจการฯ จึงเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด

แม้จะมีคำถามว่าผลงานของผู้ตรวจการฯ คืออะไร ก็มีตัวอย่างเช่น การซีร็อกซ์บัตรประชาชน ที่ไม่ต้องซีร็อกซ์หน้า-หลังอีกแล้ว แต่ใช้แค่ด้านที่มีรูปแค่หน้าเดียว ซึ่งก็ช่วยประหยัดทรัพยากร นี่คือผลงานของผู้ตรวจการฯ ที่แม้จะทำเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีค่านะ แล้วเขาทำได้ทุกเรื่อง วิธีทำงานเขาก็ต้องไป work กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็เป็นข้อดี “เพราะการที่เขาไม่มีอำนาจ เขาก็ไม่หยิ่งผยอง นี่พื้นที่ชั้นนะ อย่ามายุ่ง” ส่วนมากหน้าที่ของผู้ตรวจการฯ คือการประสานงาน เช่น ปัญหาน้ำเสีย ก็ต้องไปถามหน่วยงานทั้งท้องถิ่นหรือระดับชาติ ก็ทำหน้าที่แทนประชาชนที่จะไปเรียกร้องตรวจสอบ เขาทำแบบนี้เยอะมาก ซึ่งก็เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีหน่วยงานอื่นทำ

การที่หน่วยงานไม่มีอำนาจ ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เพราะทำให้เขาพยายามทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ดังนั้นส่วนตัวจึงคิดว่าควรมีผู้ตรวจการฯ ควรจะมีอยู่ เพราะใกล้ชิดกับประชาชน และสิ่งที่จะเสนอเพิ่มคือ ควรให้ผู้ตรวจการฯ มีอำนาจในการสั่งยับยั้งการดำเนินการบางอย่างของหน่วยงานราชการได้ชั่วคราว เช่น ประชาชนจะถูกรื้อบ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของ ปชช. นี่คือสิ่งที่เขาขอ ไม่ได้ขอให้เพิ่มอำนาจ

ไทยพับลิก้า: แต่พอคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เขียนให้ยุบไปรวมกับ กสม. จะดูผิดฝา-ผิดตัวหรือไม่ เพราะงานคนละแบบ

ใช่ แต่การที่เอาชื่อผู้ตรวจการฯ ขึ้นก่อน ก็คงรู้ว่าเขาอยากจะเอาใครอยู่ กสม. ถึงได้ออกมาโวยวาย ขณะที่ผู้ตรวจการฯ ไม่ได้โวยวาย เขาประเมินแล้วผู้ตรวจการฯ มีผลงาน สำหรับประชาชนแล้วโอเค เพียงแต่ให้อำนาจเขาหน่อยว่า เวลาเห็นอะไรให้ยับยั้งได้ชั่วคราว

จริงๆ กสม. ก็สำคัญ เพราะหลังๆ จะมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนหนัก แต่ก็ต้องมานั่งคิดว่า กสม. ล้มเหลวตรงไหน จะปรับองค์กรอย่างไร มากกว่าจะมายุบรวม เพราะมันคนละเรื่อง ไม่มีใครเขาเอาผู้ตรวจการฯ มายุบรวมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนบางประเทศอาจจะมีผู้ตรวจการฯ หลายๆ ด้าน เช่น สวีเดน ที่เป็นต้นแบบ ก็จะมีผู้ตรวจการฯ ทุกเรื่องเลย แต่ไทยจะกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่เอาผู้ตรวจการฯ มารวมกับ กสม. ซึ่งจริงๆ ไทยก็เป็นภาคีด้านสิทธิมนุษยชนกับสหประชาชาติ จึงควรมี กสม. แต่จะทำอย่างไรให้มัน function ให้มันดีขึ้น มากกว่าจะไปยุบรวมกัน มันตลก

ไทยพับลิก้า: ได้จับตาร่างรัฐธรรมนูญที่มีจะมีการเพิ่มองค์กรตรวจสอบขึ้นมา (อาทิ สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สภาตรวจสอบภาคพลเมือง ฯลฯ) อีกมากมายหรือไม่ มีความเห็นอย่างไร

ก็ติดตามบ้าง แต่ยังไม่ลงตัว ส่วนตัวไม่รู้ว่าการตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่จะแก้ปัญหาได้ถูกจุดหรือเปล่า เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าไปคิดเรื่องตั้งองค์กรใหม่ คือทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบการตัดสินใจของผู้ใช้อำนาจที่ขาดความโปร่งใสจนนำไปสู่การทุจริต ซึ่งทางออกมี 2 ทาง 1. ทำอะไรคุณต้องเปิดเผยหมด คุณตัดสินใจอย่างไร มติที่ประชุมเป็นอย่างไร คนจะได้ไล่จับคุณได้ 2. ต้องเอาคนนอกเข้าไปร่วมด้วย มี 2 อย่าง ในต่างประเทศโมเดลแบบนี้เขาใช้กับเยอะแยะ เช่น EITI (Extractive Industries Transparency Initiative) ที่จะใช้กับกรณีพลังงาน โครงการ CoST (Construction Sector Transparency Initiative) หรือข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact – IP) ที่จะใช้กับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ก็หลักเกณฑ์เดียวกัน คือให้เปิดเผยข้อมูลบวกเอาคนข้างนอกมาทำงาน

ไอเดียนี้เขาทำกันทั่วโลก แต่สำหรับเมืองไทย ไม่ว่าจะสมัยไหน นักการเมืองก็ยังใจแคบ ไม่เปิดให้คนข้างนอกเข้ามาหรอก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของเราก็ล้มเหลว ตรงนี้สำคัญที่สุดแต่กลับไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาทำ ไปคิดแต่จะตั้งองค์กร คุณจะไปตั้งองค์กรอะไรมามากมาย ถ้าเผื่อข้อมูลมันไม่เปิดเผย ไม่โปร่งใส องค์กรเหล่านี้ก็ทุจริตได้ ไม่ทำงานตรงไปตรงมาได้

สิ่งสำคัญคือต้องเปลี่ยนไอเดียการบริหารประเทศให้เปิดเผยให้หมด เหมือนประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มี Sunshine Act ก็เปิดหมด นี่คือมาตรฐานที่เราต้องมี ไม่ใช่ไปตั้งองค์กร สร้างกฎระเบียบขึ้นมากมาย ทั้งที่ใครก็ตามจะมานั่ง แค่ต้องทำตามกฎระเบียบ ไม่ใช่ไปหาเทวดามานั่ง เรามันมีแต่จะนั่งหาเทวดา แทนที่จะบอกว่าเอามนุษย์ปุถุชนได้ มีความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่พอคุณมานั่งแล้วจะทำสิ่งที่มันไม่ดีไม่ได้ เพราะมันมีกลไกตรวจสอบ อย่างนี้เราไม่คิด

มัวแต่รอเทวดา ชาติหนึ่งก็ไม่มา

ไทยพับลิก้า: แม้แต่องค์กรตรวจสอบก็ไม่เปิดเผยข้อมูล และไม่ให้คนนอกเข้าร่วม

ป.ป.ช. เองก็ไม่ค่อยเปิดข้อมูล เช่น มติ ป.ป.ช. ที่ให้ยกคำร้องกรณีฮั้วประมูล 3 จีของ กสทช. ก็มีข้อครหาเยอะมาก เพราะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ขี้ว่า กสทช. ผิด 4:0 พอมาเข้า ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ก็มีการลากไปเรื่อยๆ สุดท้ายออกมามติเฉียดฉิว แล้วได้ข่าวว่า ประธาน ป.ป.ช. ต้องโหวตถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่เปิดข้อมูลว่าสุดท้ายแล้วมติเป็นเท่าไร อะไรอย่างนี้ มันทำให้เสียความน่าเชื่อถือขององค์กรไปเยอะ ต่างกับกรณีมีมติ 7:0 ในโครงการรับจำนำข้าวที่ยังออกมาโฆษณาเยอะ แต่พอมาเรื่อง 3 จีกลับไม่พูดเลย คนก็สงสัยว่าทำไมกรณีนี้กล้าบอก กรณีนั้นไม่ยอมบอก เหตุผลก็อ้างมาอย่างข้างๆ คูๆ มันก็คาใจคนเยอะ แล้วอย่างนี้จะไปเรียกความน่าเชื่อถือได้อย่างไร

ไทยพับลิก้า: เคยมีคนเสนอว่า น่าจะทำเหมือนศาล ที่เขียนไว้ในคำพิพากษาว่าใครลงมติข้างไหน

ใช่ แล้วให้เหตุผลที่ฟังได้ ไม่ใช่ตอบแล้วคนงง ใช้สีข้างเข้าถู คนดูก็สงสัยว่าคุณเป็นกลางหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า: กฎระเบียบต่างๆ ที่ ป.ป.ช. ออกมามากมาย เช่น ให้เปิดราคากลางและวิธีคิดราคากลาง ให้คู่สัญญากับหน่วยงานรัฐรายการธุรกรรม คิดว่าจะแก้ปัญหาทุจริตได้หรือไม่

ไม่เห็นแก้เลย เหมือนที่บอกว่าระเบียบพวกนี้สุดท้ายมันฆ่าคนดี เช่น ระเบียบว่าด้วยพัสดุของ ป.ป.ช. ที่ออกมาว่าต้องมีราคากลาง สุดท้ายคนที่จะทำมาหากินอย่างถูกต้องก็เดือดร้อน ทีนี้ เมื่อมีระเบียบเช่นนี้ออกมา ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของราชการเป็นไปได้ยากมาก เพราะเราดูแต่ระเบียบ ไม่ไปดูเรื่องผลงาน พอเราไม่มีคนไปดูผลงาน เราก็เลยเน้นกระบวนการ ให้มีถี่ รัดตัวให้หมดเลย โดยที่ผลงานจะเป็นอย่างไรไม่รู้

เช่น จะจ้างคนทำวิจัย ก็ต้องบอกว่าใช้ดินสอกี่บาท หรือจัดสัมมนาก็ต้องคำนวณค่ากาแฟแก้วละเท่าไร สุดท้ายจึงกลายเป็นว่าการทำงานวิจัยของหน่วยงานรัฐ มีแต่วิธีจัดประชุมสัมมนา เพราะมันมีผลผลิตที่เห็นได้ชัดเจน และเขาบอกว่าทำงบง่ายดี

ปัญหาของประเทศไทยคือ เวลาจะออกกฎอะไรจะมองด้านเดียวตลอด มองแต่ปัญหาที่จะแก้ ฉันจะแก้ตรงนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อออกมามันมีผลกระทบ มันมีต้นทุน นี่คืออีกอย่างที่ประเทศไทยล้มเหลว เพราะเราไม่เคยมีการประเมินว่ากฎหมายที่ออกมาจะแก้ปัญหาอะไร ซึ่งในต่างประเทศเรียกว่า Regulatory Impact Assessment (RIA) ซึ่งดิฉันทำวิจัยให้กฤษฎีกาจบแล้ว เพราะนี่คือหัวใจสำคัญของประเทศ สำคัญคือกฎหมาย ไม่ใช่แค่เฉพาะ พ.ร.บ. แต่รวมถึงกฎระเบียบย่อยทุกอย่างที่จะมาบังคับใช้กับเอกชน ต้องประเมินทุกอย่างว่า 1. ความจำเป็น จำเป็นแค่ไหนในการออกมา และ 2. ต้องโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่ก่อนจะเขียนอักษรตัวแรก ไม่ใช่คุณร่างเสร็จ เอ้า ชอบไหม ตอนนั้นมันช้าเกินไปแล้ว เพราะถ้าจะบอกว่าไม่เห็นด้วย ทำมา 2 ปี คุณจะรื้อใหม่หมดหรือ เขาไม่รื้อ ดังนั้น ถ้าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็ต้องตั้งแต่ต้นของการออกแบบแนวคิด ความจำเป็นในการออกกฎหมายฉบับนี้ ต้องเอาคนที่มีส่วนได้เสียมาร่วมตั้งแต่ต้น ว่ากฎหมายนี้มันจำเป็นไหม มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าไหม แล้วถ้าจำเป็นต้องมีกรรมการ ควรจะเป็นใคร อำนาจอยู่ที่ไหน แล้วสุดท้าย ต้องดูว่ามันจะกระทบอะไร มันคุ้มไหม

เหมือนระเบียบของ ป.ป.ช. เรื่องราคากลาง คุณก็ไม่ได้มองอีกด้าน ด้านลบ ว่ามันกระทบต่อคนดีที่ไม่ได้มีเจตนาจะทุจริต แล้วสุดท้ายมันคุ้มไหม หรือคุณไปไล่จับไอ้ตัวใหญ่ๆ เป็นหมื่นเป็นแสนล้านดีกว่า หรือที่จะให้คู่สัญญากับหน่วยงานรัฐรายงานธุรกรรม ทีแรกจะให้รายงานธุรกรรมโครการที่มีมูลค่า 5 หมื่น – 1 แสนบาท คงตายกันพอดี ดีที่เปลี่ยนเป็น 2 ล้านบาท โธ่ เจริญพรกันทั่ว

ไทยพับลิก้า: มีระเบียบอื่นๆ ของ ป.ป.ช. ที่มองว่าเป็นอุปสรรคอีกไหม

เรื่องอื่นยังไม่ได้ยิน เท่าที่ฟังก็มีแต่เรื่องราคากลาง แต่ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างให้ระวังจะไปออกเป็น พ.ร.บ. ซึ่งดี ไม่ใช่ไม่ดี เพราะกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างทุกประเทศเขาออกมาเป็น พ.ร.บ. ไม่มีใครใช้ระเบียบ แต่ก็ต้องดูว่าคุณออกมายังไง ถ้าออกมารัดตัวมาก ก็จะลำบาก

เป็น พ.ร.บ. ดี จะไปยกเว้นคนโน้นคนนี้ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าออกมารัดตัวเกินไป มันก็ตลก เพราะเราตั้งองค์กรมหาชน องค์กรอิสระ เพื่อเลี่ยงระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็บอกว่า เฮ่ย เอาทุกคนมาอยู่ใต้ระเบียบนี้ดีกว่า สุดท้ายจะเอายังไง ดังนั้นจะทำยังไงให้ระเบียบมันดี ไม่มีใครหลุดไปได้ แต่คนที่อยู่ก็มีความสุข ไม่ต้องทุกข์จากความไร้ประสิทธิภาพ

ปัญหาที่เกิด เพราะเรามัวแต่ห่วงเรื่องกระบวนการ สตง. เองแม้ตามกฎหมายจะให้ดูกระบวนการ ขั้นตอน ระเบียบ และผลงานด้วย แต่การประเมินผลงานใช้คนเยอะมาก ถ้าเราสามารถทำผลผลิตออกมา ประเมินความคุ้มค่า เราแทบจะไม่ต้องดูระเบียบเลยนะ ถ้าเราได้ถนนที่ดี คุ้มค่ากับเงินที่ลงไปมันก็จบ คุณจะไปจ้างใคร เอาพ่อแม่ใครมาก็เรื่องของคุณ แต่ถ้าไม่มีการวัดปลาย ก็จะไปเน้นดูกระบวนการแทน ทั้งที่ประเทศพัฒนาแล้ว เรื่องกระบวนการ เขาจะอ่อนไปเยอะแล้ว เขาเน้น output-based ประเมินว่าผลงานที่ออกมามันคุ้มเงินกับที่ลงไปไหม แต่มันต้องใช้คนเยอะ และใช้ทักษะเยอะ ต้องปฏิรูปหมดเลย เหมือนบริษัทเอกชนเวลาอยากดูว่าพนักงานทำงานคุ้มเงินที่จ้างไหม ก็ต้องมีคนมาช่วยคิด สตง. ถ้าอยากจะประเมินก็คงต้องเอาคนนอกมา (outsource)

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้เลยดูเหมือน สตง. ไปเน้นที่จับผิดกระบวนการอย่างเดียว กลายเป็นได้โครงการที่สุจริต โปร่งใส แต่ไม่ประสิทธิภาพ

มันก็วนอยู่แค่นี้ สุดท้ายก็ยังโกงได้อีก

ถ้าจะทำกันแค่ล้างบาง มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง… ทุกอย่าง การตรวจสอบ การเปิดเผยข้อมูล ต้องฝังไว้ในกฎหมาย ทำให้ดิ้นไม่ได้ หรืออะไรที่มันทุจริตมากๆ และไม่มีประโยชน์ต่อสังคม คุณต้องใจเด็ดและยุบมันไปเลย
 

ไทยพับลิก้า: คณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ของ สปช. ที่มีคุณประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน มีแนวคิดเสนอให้จัดตั้งศาลทุจริตแยกออกมาจากศาลยุติธรรม คิดอย่างไร

จริงๆ มันก็มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นศาลเฉพาะด้านอยู่แล้ว แต่ได้ยินว่าจะไม่เอาเฉพาะนักการเมือง ให้รวมถึงนักการเมืองระดับสูงด้วย จริงๆ ก็ไม่อยากจะตอบ เพราะต้องไปดูข้อมูลก่อนว่า วัตถุประสงค์ในการตั้งศาลนี้คืออะไร ปัญหาที่คดีมันค้างที่ศาลเยอะหรือไม่ หรือศาลที่ทำอยู่เดิมมีข้อจำกัดอย่างไร

ถ้าจะมีศาลนี้ ก็ต้องถามว่า ปัญหาคอขวดของคดีมันอยู่ที่ศาลยุติธรรมหรือไม่ ลองเอาบันทึกข้อมูลมาดูสิ คือประเทศไทยมันไม่ค่อยมีข้อมูล เราไม่อยากเสนออะไรตามความรู้สึก เคยขอข้อมูลไปยัง ป.ป.ช. ว่ารู้ไหมว่าคดีตัวเองไปค้างอยู่ตรงไหน ปรากฏว่าไม่มีข้อมูล ศึกษาแล้วหงุดหงิด เพราะไม่มีข้อเท็จจริงหรือ evidence-based เลย ว่ามันมีคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการกี่คดี ไปค้างอยู่ที่อัยการกี่คดี ไปค้างอยู่ในศาลกี่คดี ซึ่งถ้าไม่มีข้อมูล มันก็จะแก้ไม่ถูกจุด จึงยังไม่อยากออกความเห็น

ตอนทำงานวิจัย ก็ออกความเห็นไปว่าทั้ง 3 หน่วยงานไม่มีใครติดตามผลงานของตัวเองเลย สตง. ก็บอกว่าชั้นส่งให้ ป.ป.ช. แล้ว แต่ถามว่าคุณส่งไปแล้วไง เขาดองกี่เรื่อง ไปถึงไหนแล้ว

ตอนนี้เราจึงไม่รู้จริงๆ ว่า ความล่าช้ามันอยู่ตรงไหน

ไทยพับลิก้า: มองว่าการใช้อำนาจพิเศษจากรัฐประหารจะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้จริงหรือไม่ เพราะสมัยปี 2549 ก็มีตัวอย่าง ที่สุดท้ายแก้ปัญหาไม่ได้จริง

มันก็คงแก้ได้บางเรื่อง คือจับคนโกง เพราะปัญหาขณะนั้นคือรัฐบาลโกงเอง ก็ต้องเตะรัฐบาลออกไป แล้วเอาคนที่ไม่เกี่ยวข้องมาทำ เหมือนล้างบางกัน แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะไม่มีการทุจริต หลายเรื่องสังคมก็ยังตั้งคำถาม เช่น เรื่องไมโครไฟนไปถึงไหนแล้ว เอกชนก็ออกมาพูดว่า เรื่องขอหักหัวคิว 30% มันยังมีอยู่ เพียงแต่มันเปลี่ยนมือเท่านั้น

ถ้าจะทำกันแค่ล้างบาง มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะต้องมีการวางระบบ เช่น รัฐวิสาหกิจที่ถูกโกงกิน แค่เปลี่ยนกรรมการยังไม่พอ หรือที่พยายามจะรื้อการบินไทย ถ้าไม่วางระบบ รัฐบาลหน้าเข้ามาก็เหมือนเดิม

ไทยพับลิก้า: สำคัญคือต้องวางระบบ

ทุกอย่าง การตรวจสอบ การเปิดเผยข้อมูล ต้องฝังไว้ในกฎหมาย ทำให้ดิ้นไม่ได้ หรืออะไรที่มันทุจริตมากๆ และไม่มีประโยชน์ต่อสังคม คุณต้องใจเด็ดและยุบมันไปเลย เช่น รัฐวิสาหกิจหลายๆ แห่ง บางแห่งไม่แน่ใจว่ามีไว้ทำไม หรือทำไม่ต้องเป็นของรัฐ ทางออกที่ถาวร คืออะไรที่มันไม่มี function ทางสังคม ก็ขายให้เอกชนไป หรือหาผู้ร่วมทุนดีๆ พยายามหารายใหม่เข้ามา แล้วก็แข่งกันไป รัฐบาลก็ถอยออกไป รัฐวิสาหกิจยิ่งเยอะยิ่งกินเยอะ เหมือนถุงที่มันรั่ว เงินมันไหลไปกับรัฐวิสาหกิจเยอะมาก การจัดซื้อจัดจ้าง โอ้โห มันน่าเศร้า ซูเปอร์เบอร์ดก็อยากยุบหลายแห่ง แต่ทำจริงมันทำยาก ถูกแรงค้านแรงต้าน

จริงๆ รัฐบาลชุดนี้ ถ้าไม่ได้กลัวเสียหน้า กลัวเสียคะแนนเสียง เพราะคุณก็ไม่ได้ลงเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็ทำไปเลย ถ้าคิดว่ามันถูกจริง

ไทยพับลิก้า: แต่กฎหมายที่ สนช. ออกมาก็น่าจะแก้ช่วยปัญหาคอร์รัปชันได้ระดับหนึ่ง

คงจะ… แต่น้อยมาก อย่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาติของทางราชการ พ.ศ. 2558 คุณบรรยง พงษ์พานิช หรือ อ.มานะ นิมิตรมงคล พูดว่า ยังอีกไกล เพราะยังมีอีก 4-5 หมื่นขั้นตอนเรื่องการออกใบอนุญาต บางหน่วยงานยังไม่รู้เลยว่าตัวเลขมีขั้นตอนอะไรบ้าง แล้วจะบอกกำหนดเวลาได้อย่างไร

ดังนั้น มันจึงอีกนาน ไม่ใช่ออกมาแล้วจะแก้ปัญหาได้เลย เพราะปัญหามันหมักหมม แต่ถ้าให้แฟร์ ทุกอย่างจะให้แก้ได้เลยก็คงยาก เพราะหลายอย่างก็สะสมมา 30-40 ปี ไม่เคยคิดว่าการออกใบอนุญาตต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ไม่มีนอกมีใน มีกฎหมายออกมาฉบับเดียว จะให้มันได้เรื่องเลยคงเป็นไปไม่ได้ ต้องใจเย็น แต่โอเค ในงานสัมมนาเรื่องเกาะติดนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันรัฐบาลประยุทธ์ เราก็ยังให้คะแนนเขา เพราะผ่านมากี่รัฐบาลไม่มีใครทำ เพราะรู้ว่าจะเป็นอุปสรรคกับตัวเอง อย่างน้อยได้ออกมา 1 ฉบับ ก็เป็นการสะท้อนระดับหนึ่งว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ที่มาภาพ: http://tdri.or.th/recruitment/

เมื่อ “ทีดีอาร์ไอ” ปรับตัว
นับแต่ก่อตั้งในปี 2527 เกือบ 3 ทศวรรษที่แล้วทีดีอาร์ไอนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อร่วมกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง

แต่งานวิจัยหลายชิ้นกลับถูกเพิกเฉยทั้งจากผู้มีอำนาจ-สาธารณชน โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “วิธีการนำเสนอ” ที่ยากต่อการทำความเข้าใจ

ดร.เดือนเด่นยอมรับ ในอดีตงานวิจัยที่ทีดีอาร์ไอทำไป หลายชิ้นถูกนำไปไว้บนหิ้ง ไม่ถูกไปไปใช้ ไม่สร้างผลกระทบใดๆ เมื่อ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ เข้ามาเป็นประธานทีดีอาร์ไอในปี 2555 จึงปรับวิธีคิด-วิธีทำงานใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เข้าถึงสาธารณชนได้ง่ายขึ้น มีการตั้งทีมทำอินโฟกราฟิกมาช่วยอธิบาย นักวิชาการหลายคนต้องไปออกโทรทัศน์หรือเขียนคอลัมน์ลงในหนังสือพิมพ์เป็นประจำ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ ยัง “พลิกวิธีคิด” เพื่อให้คนเข้าถึงงานวิจัยของทีดีอาร์ไอได้มากขึ้น จากเดิมที่ต้องไปอ่านงานวิจัยเล่มหนาเตอะก่อนถึงค่อยมาฟังนักวิจัยพูด

กลายเป็นนักวิจัยต้องเสนองานวิจัยที่ย่อยแล้วอย่างสั้น-กระชับ-น่าสนใจ ภายใน 20 นาที เพื่อให้คนตามไปหางานวิจัยฉบับเต็ม ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีผ่านเว็บไซต์

“คนทำงานทีดีอาร์ไอเป็นเรื่องนโยบาย เราจะผลักดันนโยบาย ต้องสื่อสารกับสาธารณชนให้รู้เรื่อง พูดให้มันง่ายๆ มีวิธีการพูด เด็กรุ่นใหม่ก่อนจะออกทีวีเราก็ต้องมาฝึก แต่ก่อนจะให้เฉพาะดอกเตอร์ออก หลังๆ ก็มีปริญญาโท คนที่เก่งหน่อยก็ส่งเสริม”

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามในการสร้างเครือข่าย ด้วยการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน เพื่อให้งานวิจัยที่ออกมามีผลกระทบมากกว่าเดิม เช่น ดร.เดือนเด่นเองก็ถูกคณะกรรมการบริหารของสถาบันฯ สั่งให้ไปทำงานร่วมกับองค์การต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย

ส่วนการบริหารงานภายในองค์กร มีการวางระบบประเมินผลงานระหว่างหัวหน้า-ลูกน้อง เพื่อให้การทำงานมีความใกล้ชิดกับมากขึ้น ระบบการคัดเลือกคน แทนที่จะดูแค่คนจบดี เรียนดี ยุคหลังจะดูเรื่องภาวะผู้นำด้วย ขณะเดียวกัน ก็วางระบบถ่ายทอดวรยุทธ์ระหว่างนักวิจัยรุ่นใหญ่-รุ่นเล็ก ด้วยการ “จับคู่” ทำงาน เช่น ดร.เดือนเด่น คู่กับ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ คู่กับ น.ส.เสาวลักษณ์ ชีวสิทธิยานนท์ เป็นต้น

อีกเรื่องที่ทีดีอาร์ไอหันมาทบทวน ในยุคการเมืองแบ่งขั้วเข้มข้นรุนแรง คือการดำรงความ “เป็นกลาง” เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในฐานะคลังสมองของชาติได้จริงๆ ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะเข้ามาบริหารประเทศ

ดร.เดือนเด่นบอกว่า “TDRI มีจุดยืนว่าจะไม่ยุ่งการเมือง เห็นได้จากไม่มีคนของเรา เข้าไปเป็น สปช. หรือ สนช. เลย เราตัดสินใจว่าจะไม่ยุ่งการเมือง ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากทหาร ต่างจากในอดีตที่มีคนของเราเข้าไปเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อให้ความเห็นของเราเป็นกลางอย่างแท้จริง ไม่ถูกใครครหาว่าใกล้ชิดใคร เพื่อที่ไม่ว่าใครจะเข้ามา จะได้ขอข้อมูลจากทีดีอาร์ไอได้ทั้งหมด”

“ตอนนี้ทีดีอาร์ไอมีคนกว่า 120 คน ถือว่าไม่เล็กแล้ว ถ้าอยากจะเป็นหน่วยงานที่มีคุณภาพ จึงต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเป็นราว”

ที่มา: ไทยพับลิก้า