เทวฤทธิ์ มณีฉาย, เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา สัมภาษณ์/เรียบเรียง
จากกระแสเรียกร้องให้ทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ จะกระทั่งบางกลุ่มได้เสนอทำประชามติเพื่อขยายเวลา คสช. และรัฐบาลเพื่อปฏิรูปให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง ล่าสุด(9 มิ.ย.58) ที่ประชุมคสช.ร่วมกับครม.ได้ข้อสรุปเตรียมแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อให้เมื่อ สปช. พิจารณาเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่กรรมาธิการฯ แก้ไขเสร็จแล้ว จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญไปลงประชามติ โดยให้ กกต. รับผิดชอบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการทำประชามติ ส่งผลให้ประเด็นเรื่อง ‘การทำประชามติ’ ถูกพูดถึงทั้งฝ่ายที่สนับสนุน คสช.และฝ่ายที่ต่อต้านรัฐประหาร เป็นต้น
ในโอกาสนี้ประชาไท จึงได้สัมภาษณ์ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย และหัวหน้าภาควิชาปกครองคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความหมาย หลักการ เงื่อนไขของการทำประชามติ ประสบการณ์ประชามติในต่างประเทศ รวมทั้งประเมินความเป็นไปได้ ผลกระทบของการทำประชามติทั้งร่างรัฐธรรมนูญและการต่ออายุคสช.
ประชาไท : นิยามความหมายของประชามติคืออะไร?
สิริพรรณ : เป็นทั้งหลักการและกระบวนการรูปแบบหนึ่ง ที่ให้ประชาชน (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) เป็นผู้ตัดสินใจให้ความเห็นชอบ หรือปฏิเสธในประเด็นที่มีความสำคัญด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านสภานิติบัญญัติ ด้วยเหตุนี้ จึงมักถูกจัดให้เป็นกลไกหนึ่งของระบอประชาธิปไตยทางตรง ผลของการทำประชามติ อาจเป็นได้ทั้งผูกมัดให้ต้องทำตาม หรือเป็นเพียงข้อเสนอแนะ
สำหรับหลักการในการทำประชามติมี 4 ประการที่ควรพิจารณา ประกอบด้วย
หนึ่ง คำถามจะต้องชัดเจน ไม่ซับซ้อน ไม่สามารถถูกตีความให้เป็นอย่างอื่น ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย และสามารถตัดสินใจได้ว่าเห็นด้วย ตอบ ใช่ หรือ รับรอง ไม่เห็นด้วยตอบ ไม่หรือ ไม่รับรอง เป็นต้น
สอง จะต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีการรณรงค์อย่างเท่าเทียม
สาม ต้องมีระยะเวลาในการรณรงค์มากพอ เช่น ในสวิตเซอร์แลนด์ให้ 180 วันอย่างน้อย สกอตแลนด์ครั้งที่แล้ว น่าจะเกือบ 9 เดือน เพื่อให้ประชาชนเลือกตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะแยกออกจากสหราชอาณาจักร
สี่ ประชาชนต้องรู้ว่า ผลของการเลือกแต่ละด้านจะเป็นอย่างไร
ประชามติจำเป็นต้องจำกัดอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยหรือไม่?
“การทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นเรื่องของประเทศประชาธิปไตยใหม่ หรือประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ส่วนประเทศประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นแล้ว มีรัฐธรรมนูญที่ยาวนานแล้ว จะทำประชามติเมื่อแก้ไขบางมาตรา ไม่ทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะมีโอกาสสูงที่จะถูกตีความได้หลายทาง ไม่ใช่ประเด็นรับหรือไม่รับเนื้อหาอย่างเดียว ประชาชนเองก็ยากที่จะบอกว่าชอบเนื้อหาทุกมาตรา หรือบางส่วน ดังนั้น ต้องยอมรับว่าการทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นการรับหรือไม่รับจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ เห็นชอบหรือไม่กับที่มาของรัฐธรรมนูญ มากกว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ” สิริพรรณ กล่าว
ตัวอย่างประเทศที่ใช้การทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญ คือ ออสเตรเลียในปี ค.ศ. 1898-1900 และ ฝรั่งเศส สาธารณรัฐที่ 5 สมัย Charles de Gaulle ปี ค.ศ. 1958
ในระบอบเผด็จการก็ทำได้ แต่ต้องยอมรับว่ามันมีเส้นแบ่งระหว่างการทำประชามติภายใต้เผด็จการที่อยากคงอำนาจ กับเผด็จการที่ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยใหม่ เส้นแบ่งนั้นคือ เป้าหมายและกระบวนการที่ต่างกัน เหมือนการเลือกตั้ง เพราะในระบอบเผด็จการก็มีการเลือกตั้ง ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีการเลือกตั้งและการทำประชามติแล้วจะต้องเป็นประชาธิปไตย ล่าสุดที่อียิปต์และซีเรียก็ทำประชามติ ภายใต้บรรยากาศที่รัฐบาลทหารเป็นคนริเริ่ม
ถ้าเช่นนั้นเหมือนการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญของไทยในปี 2550 หรือไม่?
ประเทศไทยตอนนั้นก็ทำประชามติภายใต้กฎอัยการศึกในหลายพื้นที่ เหตุผลชัดเจนที่เรียกได้ว่า ไม่ได้เป็นการทำประชามติภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยคือ เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และแสดงความคิดเห็น ไม่ได้รับการปกป้อง คุ้มครอง และมีการห้ามฝ่ายที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
แปลว่าบรรยากาศของประชาธิปไตย คือ ต้องมีเงื่อนไขที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและไม่มีการใช้กฎหมายพิเศษหรือไม่?
โดยทฤษฎีก็ควรเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ควรไปจำกัดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นจึงจะทำประชามติที่เป็นประชาธิปไตยได้ อย่างที่กล่าวแล้วว่า ประชามติเป็นกลไกหนึ่งทางการเมือง จึงถูกหยิบใช้ได้จากทั้งรัฐบาลที่มาและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ความแตกต่างน่าจะอยู่ที่เป้าหมายและกระบวนการทำประชามติมากกว่า รัฐบาลประชาธิปไตย ทำเพื่อสอบถามความเห็นหรือโอนอำนาจตัดสินใจในประเด็นที่มีความสำคัญให้ประชาชน ส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จะทำเพื่อรับรองอำนาจทางการเมืองและสร้างความชอบธรรมให้กับการอยู่ในและใช้อำนาจของตน
แปลว่าถ้าลักษณะการโหวตของคน จะโหวตเพื่อหวังผลทางการเมืองบางอย่าง ไม่ได้เลือกที่ตัวเนื้อหา เช่น การเลือกรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะไม่รู้ว่าอะไรรออยู่ข้างหน้า จึงจำเป็นต้องรับไปก่อน จะถือว่าผิดหลักหรือไม่?
แบบนั้นจะผิดหลักของประชามติในเรื่องของการตระหนักรู้ผลของการตัดสินใจ รัฐธรรมนูญปี 2550 เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่รับ ในรอบนี้ ประชาชนต้องรู้ว่าการไม่รับจะเกิดอะไรต่อไป จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยใคร ใช้เวลาเท่าไหร่
ในต่างประเทศมีการเลือกเสนอต่ออายุของรัฐบาลผ่านประชามติหรือไม่?
ไม่มีโดยตรงที่ถามว่า จะให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีคนนั้น หรือประธานาธิบดีคนนี้อยู่ต่อ เพราะจะขัดกับหลักการของประชามติ ที่ต้องไม่ทำเกี่ยวกับตัวบุคคล หากพิจารณาจากตัวกฎหมายเกี่ยวกับประชามติในรัฐธรรมนูญปี 2550 จะเห็นว่าประชามติจะทำเกี่ยวกับตัวบุคคลไม่ได้ มันจะกลายเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก ความชอบ ความไม่ชอบ มากกว่าเรื่องของหลักการ ในบางประเทศที่มีการทำประชามติเพื่อขยายวาระในการดำรงตำแหน่ง พบว่าผู้นำมีจุดจบด้วยการถูกทำรัฐประหาร เช่น ประเทศ ฮอนดูรัส ปากีสถาน และ ฟิลิปปินส์
แล้วถ้าเป็นคำถามถ้าเกิดถามเป็นเชิงวาระ เช่น ขอปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ถือว่าผิดหลักหรือไม่?
คำถามมันสามารถตีความได้ เช่นปฏิรูปอะไร และจะเสร็จเมื่อไหร่ จะให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ น่าจะเป็นคำถามที่ไม่เข้าเกณฑ์การทำประชามติที่เหมาะสม
คิดว่าจะมีการทำประชามติต่ออายุเพื่อปฏิรูปไปอีกสองปี ถ้ามีการทำจริงๆ อาจารย์มองแรงหนุนแรงต้านจะเป็นอย่างไร และคสช.จะมีเสถียรภาพหรือไม่?
ไม่คิดว่ารัฐบาลจะถามคำถามแบบนั้นนะ คิดว่าสังคมอาจกำลังถูกปั่นจากบางกลุ่มหรือบางคน จริงๆ แล้ว เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะไม่ถามคำถามที่ไร้สาระและเป็นเป้าถูกโจมตีได้ เพราะมันจะบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลเอง
เราเองจำเป็นมากที่จะต้องนิ่งและไม่เต้นไปตามการโยนหินถามทางไปทุกเรื่อง เพราะเราจะถูกเบี่ยงไปจากประเด็นที่สำคัญจริงๆ คำถามดังกล่าวตลกและไร้สาระเกินไป คนในรัฐบาลย่อมรู้ว่าจุดที่เหมาะสมของการตั้งคำถามคืออะไร เพื่อไม่ให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือมีแรงเสียดทานทั้งในประเทศและจากต่างชาติ ดังนั้นคำถามอะไรที่พิสดารเกินกว่าหลักสากล คิดว่าเขาคงไม่ถาม
ยังไม่นั่งคิดให้ตกผลึกกับเรื่องนี้ เพราะยังไม่อยากเต้นไปตามที่เขาจับให้เราเต้น เขาส่งคนมาโยนหินถามทาง ถามคำถามพิสดารมาก ๆ พอเราเจอคำถามจริง ๆ เราก็จะรู้สึกว่า เออ มันดีกว่าที่เราคิดเอาไว้ ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว ต้องระวังด้วยว่ามีการวางหมากและจิตวิทยาเอาไว้
“ถ้ารัฐบาลจะอยู่ต่อ เขามีวิธีที่จะอยู่ต่อได้โดยไม่ต้องถามคำถามนี้ในประชามติ” สิริพรรณ กล่าว
ประเมินการลงจากอำนาจของ คสช อย่างไร?
ระบอบทหารและอำนาจนิยมคงอยู่กับสังคมไทยไปอีกระยะหนึ่ง มองว่าการเปลี่ยนตัวผู้นำหรือรัฐบาลขณะนี้ ไม่มีนัยยะสำคัญต่อประเทศมากนัก เพราะตัวระบอบและวิธีคิดที่กำกับประเทศยังอยู่ ส่วน คสช จะลงหลังเสือ ถูกเสือกัด ก็เป็นมิติเล็กๆในภาพกว้างของระบอบและโครงสร้างอำนาจ
มีหลายกลุ่มที่ออกมาเสนอเรื่องการทำประชามติที่รับร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ อาจารย์เห็นว่ายังไง มีเงื่อนไขไหมที่เห็นด้วย?
เห็นด้วยเพราะว่า ประการแรก รัฐธรรมนูญ 2550 มีที่มาจากการทำประชามติถูกล้มไป การใช้เสียงของประชาชนเพื่อรับรองกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ประการที่สอง ใน ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 มีการระบุชัดเจนว่า ถ้าจะแก้ไขต้องทำประชามติ ดังนั้น การจะผ่านรัฐธรรมนูญ ก็ควรต้องทำประชามติ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากล ประการที่สาม คือการทำประชามติเป็นการยืนยันหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญ
ข้อกังวลใจที่มีอยู่ก็คือ ระยะเวลาที่ให้ประชาชนตัดสินใจ และการทำความเข้าใจกับประชาชนว่า การรับหรือไม่รับไม่ใช่เพียงการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเท่านั้น สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ มันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณของที่มาของรัฐธรรมนูญ ความยากอยู่ที่การอธิบายประชาชนในประเด็นดังกล่าว เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยการรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550
ถึงแม้จะกังวลใจ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ก็ยังคงสนับสนุนให้มีการทำประชามติ เพราะเป็นช่องทางที่จะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชนได้ดีที่สุด หลายๆประเทศจึงให้เวลาไว้เป็นปี ภายหลังประกาศให้ทำประชามติ การทำประชามติในเวลาสั้น ๆ เร็วๆ จึงมีจุดอ่อนในด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ถ้าจะให้เป็นตามโรดแมป การทำประชามติก็จะต้องใช้เวลาไม่นานเกินไป แต่มันก็จะเป็นจุดอ่อนตรงที่ไม่มีเวลามากพอให้ประชาชนได้ซึมซับถึงผลที่จะเกิดขึ้นและมีเวลาตัดสินใจ
ทางที่ดี ประชามติควรทำก่อนจะมีการร่างประเด็นสำคัญ แล้วถามเป็นคำถามบางมาตรา แต่ถ้ามาถามบางมาตราตอนนี้ มันก็ไม่เหมาะ เพราะร่างมาแล้วทั้งฉบับ ซึ่งจะเป็นบทเรียนในการทำประชามติในครั้งหน้าในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ประชามติไม่จำเป็นต้องทำครั้งเดียว ทำหลายครั้งก็ได้ ค่อยๆเจาะประเด็นลงไปในแต่ละครั้ง แต่เพื่อประหยัด หลายประเทศจึงทำพร้อมการเลือกตั้ง
แล้วถ้าเกิดยังมีการดึงดันไปทำประชามติบนข้อจำกัดเรื่องเวลา ทำให้คนไม่มีโอกาสตัดสินใจจากเนื้อหาที่แท้จริงแล้ว หากผ่านในอนาคตการแก้ไขผลจากประชามติจะแก้ไขได้ยากไหม?
ความยากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต ไม่ได้อยู่ที่เงื่อนไขทำประชามติ เพราะโดยหลักการ รัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็ควรทำประชามติ ความยากกลับอยู่ที่กระบวนการซึ่งระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า เช่น ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเป็นหลักสากล ผลของการทำประชามติถือว่าเป็นที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจตีความ เพราะอำนาจการตัดสินใจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน ใหญ่กว่าอำนาจอื่นใดทั้งปวง
การใช้ประชามติเป็นเครื่องมือ จะกลายเป็นการสร้างระบอบการเมืองในลักษณะของวงจรการรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และก็ทำประชามติหรือไม่?
เราจะต้องออกจากวัฎจักรเดิมของการทำประชามติที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเสียก่อน ต้องไม่เดินบนเส้นทางเดิม ที่มีเวลาให้ตัดสินใจน้อย ไม่เปิดโอกาสให้มีการรณรงค์เลย อีกทั้งยังไม่รู้ว่าตัดสินใจรับหรือไม่รับ จะส่งผลอย่างไรตามมา
ในอนาคต ถ้ามีการรัฐประหารอีก มีการร่างรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และความจริงใจที่จะเป็นประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น และมีการจัดทำประชามติอีก ก็ยังประนีประนอมให้โอกาสได้ แต่หมายความว่า กระบวนการทำประชามติต้องเปิดเผย โปร่งใส เป็นไปตามหลัก 4 ประการดังที่กล่าวไปแล้ว ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะเริ่มต้นใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในลักษณะไหน ประชามติเป็นการสร้างสัญญาประชาคมที่คนในประเทศตกลงร่วมกัน
ถ้าประชามติไม่ผ่านคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น?
ถ้าไม่ผ่านรัฐบาลก็อยู่ต่อ มันก็จะไปเริ่มกันใหม่เพราะผิดไปจากโรดแมป การทำประชามติก็คือการหลุดจากโรดแมปตั้งแต่แรก เพราะในโรดแมปไม่มีประชามติ ทำให้โรดแมปเดิมดีเลย์ แม้กลุ่มที่เรียกร้องประชามติก็ไม่อยากให้ดีเลย์ แต่จะไม่ดีเลย์ก็ไม่ได้ถ้าต้องการให้ประชามติมีความสมบูรณ์ มันจึงเป็นดาบสองคม
“ถ้าสมมติว่าประชามติไม่ผ่าน ก็อยู่ที่รัฐบาลจะทำอย่างไรต่อ อาจจะเริ่มโรดแมปใหม่ด้วยซ้ำ นัยยะที่เป็นด้านมืดของการเรียกร้องประชามติก็คือ มันเหมือนเรายื่นเช็คเปล่าให้รัฐบาลทำโรดแมปใหม่ ดังนั้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องทำประชามติเพื่อถามว่าเขาควรยืดเวลาอยู่ต่อไหม” สิริพรรณ กล่าว
การยืดระยะเวลาออกไปเพื่อการทำประชามติที่สมบูรณ์แบบ เท่ากับเป็นการยืดระยะเวลาให้กับ คสช?
ใช่ ถ้าเราเรียกร้องให้ทำ ก็ต้องยอมรับผลว่ารัฐบาลจะอยู่ยาวขึ้น ตอนนี้เขาเป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ อำนาจตัดสินใจอยู่ที่เขา
ต้องยกเลิกมาตรา 44 เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยไหม?
โดยทฤษฎีควรยกเลิกแน่นอน หรืออย่างน้อยต้องปล่อยให้มีการรณรงค์ และการชุมนุมได้อย่างเสรี แต่มองในมุมรัฐบาล เขาคงไม่ยกเลิกหรอก แต่ส่วนตัวเห็นว่าประชามติก็ควรจะต้องทำอยู่ดี ขอเสนอว่า ถ้าจะทำให้มีความเป็นประชาธิปไตย สามารถทำได้โดย
หนึ่ง จัดสรรงบประมาณที่เพียงพอให้ทั้งสองฝ่ายเท่าๆกัน ทั้งฝ่ายที่รับรองและไม่รับรอง
สอง ขอความร่วมมือให้สื่อทุกฉบับต้องให้ข้อมูลจากทั้งสองด้านอย่างเท่าเทียมกัน
สาม กลุ่มที่รณรงค์ใดๆ ที่ทำโดยสงบ สันติ ต้องทำได้อย่างเสรี ได้รับการปกป้องตามกฎหมาย และไม่ถูกขัดขวาง
สี่ กลไกของรัฐ ทีวี จะต้องเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้รณรงค์อย่างเท่าเทียม โดยรัฐควรจัดสรรเวลาให้
เรื่องนี้บีบให้กลุ่มพรรคการเมืองต้องรับๆ ไปก่อนหรือไม่ แล้วค่อยไปรอเลือกตั้งแล้วแก้ไขทีหลัง?
ประเมินว่า เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการรณรงค์โดยพรรคในระดับชุมชนจะเข้มข้นมาก และรัฐบาลประเมินแล้วว่าคงจะเอาไม่อยู่ ถ้าจะทำประชามติ ก็คงเป็นประชามติแบบปี 2550 และจะไม่มีการให้รณรงค์ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย
จากความรู้สึก คิดว่า นักการเมืองจะไม่รับๆไปก่อน ถ้านักการเมืองถูกปล่อยให้รณรงค์ พวกเขาก็คงจะบอกว่าไม่รับ นักการเมืองไม่อยากลงเลือกตั้งเร็ว เพราะรู้ว่าจะอยู่ไม่นาน ไม่คุ้มกับต้นทุนการเลือกตั้งที่สูง เพราะสถานการณ์ยังไม่นิ่งพอ ทั้งฝ่าย คสช และที่นักการเมืองประเมินอยู่ นักการเมืองมองว่า ถ้ามีการเลือกตั้งขึ้นมา ก็จะอยู่ได้ไม่เกินสองปี ยังไม่เห็นนักการเมืองคนไหนมาบอกว่าให้เลือกตั้งเร็วๆ มีแต่คนบอกว่าให้รอไปก่อน
ที่เรายังไม่รู้คือ หน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญหลังถูกแก้ไขจะเป็นอย่างไร เหมือเราถูกเขาจับให้เล่นเกมก่อนเวลาที่เหมาะสม เราคุยกันตอนนี้เหมือนพูดกับอากาศ ไม่มีฐานอะไรให้คิดได้เลย
ถ้ากลุ่มคนที่ปฏิเสธทุกอย่างจากการรัฐประหาร รวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย การรณรงค์ให้ประชาชนออกมาทำประชามติเป็นการบีบบังคับคนกลุ่มนั้นต้องมาร่วมสังฆกรรมกับการรัฐประหารด้วยหรือเปล่า?
ก็มองได้ว่า เราปฏิเสธการมีส่วนร่วมภายใต้กติกาของทหารทั้งปวงทุกรูปแบบก็เป็นทางหนึ่ง แต่คนคิดแบบนี้น่าจะมีน้อย ทำให้เสียงของคนกลุ่มนี้ก็จะหายไป เป็น wasted action และถูกรวมไปกับพวกที่ไม่มีความใส่ใจทางการเมืองอยู่แล้ว เช่นพวก 28% โดยประมาณที่อย่างไรก็ไม่ไปเลือกตั้ง นอกเสียจากคุณจะรณรงค์ให้คนไม่ไปร่วมทำประชามติเกินครึ่ง ซึ่งในทางปฏิบัติไม่น่าจะทำได้ มันจะแสดงให้เห็นว่าประชามตินั้นล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม เพราะว่าคนไม่มาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ถ้าเรามองไปข้างหน้า คำถามก็คือ เราอยากจะนับหนึ่งกับรัฐธรรมนูญที่เราอยากจะใช้ไปนานๆด้วยวิธีไหน
คิดว่ามีกลไกไหนที่จะป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกบ่อยๆไหม?
ใกล้ ๆ นี้ไม่มีหรอก แต่ในอนาคตอันไกลอาจจะมี ถ้าถึงจุดหนึ่ง คนในสังคมส่วนใหญ่มองว่าประชาธิปไตยเป็นกติกาเพียงกติกาเดียวจริงๆ ไม่ยอมรับการออกนอกเส้นทาง ส่วนตัวไม่สิ้นหวังนะ เพราะเราเพิ่งผ่านมาได้ 80 กว่าปีเอง ปัจจุบันก็ยังมีกลุ่มที่มองว่าประชาธิปไตยไม่เหมาะ การเลือกตั้งไม่ใช่ ก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์และต่อสู้กันต่อไป
ที่มา : ประชาไท