หวั่นถูกแทรกแซง 1,130 ผู้พิพากษาลงชื่อค้านร่างรัฐธรรมนูญปมที่มา ก.ต.

ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม 1,130 คน เข้าชื่อจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) และการอุทธรณ์คำสั่ง ก.ต. ที่ลงโทษวินัยผู้พิพากษาสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ หวั่นการเมืองแทรกแซง 

16 มิ.ย.2558 - ตามที่มีรายงานข่าว ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม 1,130 คน เข้าชื่อในจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับที่มาคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) และการอุทธรณ์คำสั่งของ ก.ต.ที่ลงโทษวินัยผู้พิพากษาสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกานั้น 

มติชนออนไลน์ รายงานความเห็นของ ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ

ที่มา ก.ต.ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้พิพากษา 437 คนได้ยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องดังกล่าว เนื่องจากในร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ให้มีสัดส่วนจากบุคคลภายนอก 1 ใน 3 ของคณะกรรมการฯ ซึ่งตัวแทนจากศาลยุติธรรมได้เข้าไปร่วมประชุมเรื่องนี้กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจนได้ข้อสรุปว่าจะมีการยกเลิกสัดส่วนที่ให้บุคคลภายนอก 1 ใน 3 เข้ามาเป็น ก.ต. ได้ แต่จะมีการเสนอให้มีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลเข้ามาเป็น ก.ต. เพิ่มขึ้นอีก 1 คน

ซึ่งทางเราเองก็ได้สอบถามเหตุผลของแนวคิดดังกล่าว เพราะหลักการของศาลยุติธรรมไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง

ซึ่งทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงว่าเพื่อให้สอดคล้องกับศาลปกครอง แต่ส่วนตัวเห็นว่าเหตุผลดังกล่าวถือเป็นคนละเรื่องกัน เพราะอำนาจของศาลปกครองนั้น เป็นการใช้อำนาจตรวจสอบรัฐผู้ถืออำนาจบริหาร ทางฝ่ายรัฐบาลเองจึงมีความกริ่งเกรงว่า จะมีการใช้อำนาจในการรังแกฝ่ายบริหารจากตุลาการที่มีแนวคิดสุดโต่ง จึงมีการเจรจาให้มีตัวแทนจากฝ่ายบริหารเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (กศป.) เพื่อคานอำนาจ

แต่หลักการของศาลยุติธรรมนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะศาลยุติธรรมใช้หลักคุณธรรม การพิจารณาตัดสินจะต้องเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง ซึ่งระบบนี้จะต้องให้ผู้พิพากษาปกครองกันเอง

ศรีอัมพร กล่าวอีกว่า ส่วนอีกประเด็นคือเรื่องที่จะมีการกำหนดให้สามารถอุทธรณ์คำสั่งของ ก.ต.ไปยังศาลฎีกาได้อีกนั้น ตนมองว่าการตรวจสอบของ ก.ต. ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบวินัยของตุลาการนั้นมีการตรวจสอบจำนวน 4 ขั้นตอนตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูลเหตุอนุ ก.ต. ก่อนจะมีคำสั่ง และเมื่อมีคำสั่งแล้วผู้ที่ถูกตรวจสอบยังสามารถขอให้มีการพิจารณาคดีอีกครั้งได้อีก ถือว่าการพิจารณาของ ก.ต. นั้นมีคุณภาพเชื่อถือได้ หากกำหนดให้ ก.ต. ซึ่งเป็นองค์กรที่ลงโทษทางวินัยมีคำสั่งมาแล้ว สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ซึ่งเป็นองกรที่ใช้อำนาจตุลาการตัดสินอีกจึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

ศรีอัมพรกล่าวต่อว่า ในตอนนี้มีผู้พิพากษาที่เข้าชื่อลงในจดหมายเปิดผนึกแล้วกว่า 1,130 คนและคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยืนยันว่าการเข้าชื่อของผู้พิพากษาในครั้งนี้นั้นไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เราแค่แสดงจุดยืนคัดค้านและป้องกันการก้าวล่วงและแทรกแซงอำนาจตุลาการซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาคดี และกระทบต่อประชาชนโดยตรง โดยเรื่องดังกล่าวจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มิ.ย. ที่ศาลฎีกา ถ.แจ้งวัฒนะ จากนั้นทางตัวแทนผู้พิพากษาก็จะนำจดหมายเปิดผนึกนี้ไปมอบให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต่อไป

ต่อประเด็นคำถามถึงการยืนยันที่จะให้ตัวแทนฝ่ายบริหารเข้าไปเป็นหนึ่งใน ก.ต.อยู่ จะเกิดการประท้วงคัดค้านของผู้พิพากษาจนนำไปสู่วิกฤติตุลาการดังเช่นอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ ศรีอัมพร ตอบว่า จะยังไม่เกิดวิกฤติตุลาการ แต่หากมีการปล่อยคนนอกเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา จนทำให้ผู้พิพากษาขาดความเชื่อมั่นไม่มีความไว้ใจและขาดความเป็นอิสระ และส่งผลให้ผลคดีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามอำนาจ เมื่อนั้นก็อาจจะเกิดวิกฤติตุลาการได้อีก

“ต้องถามว่าจะให้ฝ่ายบริหารเข้ามาเพื่ออะไร ในเมื่อหลักการที่เราคัดค้านสัดส่วน ก.ต. 1 ใน 3 ตอนแรกนั้นก็เพราะไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง การที่ให้มีการปฎิรูปนั้นจะต้องปฎิรูปในสิ่งที่มีปัญหาในสิ่งที่ไม่ดีไม่ได้มาตรฐาน แต่ในส่วนของ ก.ต. นั้นมันไม่มีปัญหาอยู่แล้วจะมาแก้ไขให้มีคนเข้ามาแทรกแซงทำไม เราไม่ได้จะล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแต่เราค้านในเรื่องการแทรกแซงนี้” ศรีอัมพร กล่าว

ที่มา: ประชาไท