มอนิเตอร์แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประจำสัปดาห์ที่ 6-10 ก.ค. 58

ติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับสัปดาห์นี้(6-10 ก.ค.) มีการแก้ไขเรื่องใหญ่สองเรื่องด้วยกันคือ การกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ไม่เกิน 200 คน ที่จะมาจากการเลือกในเขตจังหวัด 77 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ต้องผ่านการคัดกรอง ส่วนอีก 123 คนยังคงมาจากการเลือกกันเองและการสรรหา โดยมีการเลือกกันเองมีทั้งหมด 4 แนวทาง  พร้อมตัดอำนาจ ส.ว. ในเรื่องการเสนอกฎหมาย และการถอดถอนนักการเมืองออก

ขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) กำหนดให้ตัดการเลือกตั้งแบบ Open list ออก และจัดทำระบบบัญชีรายชื่อเขตเดียวทั้งประเทศ เคาะจำนวน ส.ส. 450-470 คน

ส.ว. 77 คนจากจังหวัดเลือกตั้งโดยตรง 123 คนยังคงสรรหา

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2558 พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า เบื้องต้นที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ได้กำหนดให้ ส.ว.มีจำนวนไม่เกิน 200 คน โดยมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 จังหวัด และมาจากการเลือกกันเองและการสรรหา จำนวน 123 คน ที่มาของการเลือกกันเองและการสรรหาจะมาจาก 4 แนวทาง

วิธีแรก คือการคัดเลือกกันเอง 10 คน ของอดีตข้าราชการพลเรือนและทหาร จากเดิม 20 คน ปรับลดให้เหลือ 10 คน (ฝ่ายละ 5 คนแทน) เพื่อไปเพิ่มจำนวนให้กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ

ส่วนวิธีที่ 2 คือการให้กรรมการการเลือกตั้ง จับฉลาก 15 คน จากตัวแทนสภาวิชาชีพ และ องค์กรวิชาชีพ มีทั้งสิ้น 21 องค์กร 

และอีก 98 คน ให้มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวนมาก และหลากหลาย ซึ่งแบ่งการสรรหาเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้แทน 6 ด้าน ๆ ละ 5 คน รวมทั้งหมด 30 คนคือ ด้านเกษตรกรรม แรงงาน การศึกษา ชุมชน วิชาการ และด้านท้องถิ่น ส่วนอีกกลุ่มคือ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ จำนวน 68 คน อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ ผู้พิการ ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านกฎหมาย และด้านชาติพันธุ์ เป็นต้น 

ส่วน อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภานั้น สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิถอดถอนเฉพาะข้าราชการที่เห็นชอบมาเท่านั้นอย่างกรรมการ ในองค์กรอิสระ ส่วนการถอดถอนนักการเมืองสามารถทำได้เฉพาะประเด็นที่ขัดต่อจริยธรรม โดยต้องเป็นมติร่วมกันของ 2 สภา ในการประชุมรัฐสภา

ส่วนอำนาจการถอดถอนนักการเมือง กรณีที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีทุจริต หรือ คดีอาญานั้น ให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอื่น เนื่องจาก ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ในการเสนอกฎหมาย และตรวจสอบคัดกรองรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่ประชุมเห็นตรงกันว่าให้ตัดออก เพื่อไม่ให้ก้าวกายอำนาจฝ่ายบริการ

ตัดทิ้ง Open list เคาะ ส.ส. 250-270 คน

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2558  มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยวาระการพิจาร ณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเป็นวันที่ 8 โดยพิจารณาในภาค 2 ผู้นำการเมืองและสถาบันการเมือง หมวด 3 รัฐ สภา มาตรา 96

ทั้งนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ได้เปิดเผยก่อนเข้าประชุมว่า สำหรับหมวดรัฐสภา ในส่วนของระบบรัฐสภา ซึ่งอยู่ในมาตรา 103-120 นั้น เบื้องต้น กมธ.ยกร่างฯ ได้มีการนำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมที่ เสนอเข้ามาพิจารณาแล้วได้ข้อยุติเบื้องต้น ไปว่า โครงสร้างของสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) นั้น เราจะปรับเปลี่ยนประมาณ 2-3 ประเด็นหลักเพื่อให้การเลือกตั้งมีความง่ายขึ้น ไม่ก่อให้เกิดความซับซ้อนและไม่เกิดบัตรเสียจึงตัดการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบโอเพนลิสต์ ซึ่งเป็นการให้สิทธิ์ประชาชนในการเลือกผู้สมัครในแต่ละบัญชีรายชื่อออกไป แล้วมาใช้วิธีการหยั่งเสียงโดยสมาชิกพรรคแทน เพื่อเป็นการทดแทนการเลือกตั้งแบบโอเพนลิสต์

สำหรับโครงสร้างของ ส.ส. นั้น เดิมกำหนดให้บัญชีรายชื่อแบ่งออกเป็น 6 ภาค แต่พิจารณาแล้วเกรงว่าจะเกิดความยุ่งยากต่อพรรคการเมืองในการส่งรายชื่อผู้สมัคร และพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครในภาคหนึ่งภาคใดก็จะไม่ได้คะแนนในส่วนของบัญชีรายชื่อที่จะมาสะสมเป็นคะแนนระดับประเทศอีกทั้งการคิดคะแนน การคิดจำนวน ส.ส.เมื่อได้ยอดรวมแล้วการจะส่งกลับไปสู่ภาคต่างๆ ก็อาจจะเกิดปัญหาได้ ดังนั้นเราจึงเห็นชอบให้จัดทำเป็นบัญชีรายชื่อเดียวทั้งประเทศ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวอีกว่า เมื่อเป็นบัญชีรายชื่อเดียวจึงทำให้เราลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลงเหลือ 150 คน จากเดิม 200 คน และไปเพิ่มจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 300 คนจากเดิม 250 คน ดังนั้นโครงสร้างใหญ่ยังเหมือนเดิม คือมีจำนวน ส.ส. 450-470

ที่มา: ประชาไท