ยกร่าง รธน.เพิ่มฐานความผิดไม่ให้เอกสิทธิคุ้มครอง ส.ส.-ส.ว.

18 กรกฎาคม 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯนอกสถานที่ที่เมืองพัทยา ในวันที่ 6 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครองของสมาชิกรัฐสภา และได้ข้อยุติว่าในระหว่างสมัยประชุมจะทำการจับกุม คุมขัง หรือออกหมายเรียก ส.ส.หรือ ส.ว.ไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่จะได้รับอนุญาตจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หรือกรณีที่ถูกจับกุมขณะทำความผิด หรือในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดอื่นที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส.ส.หรือ ส.ว. สามารถถูกสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาได้ แต่ยังมีข้อยกเว้น กรณีหากเกิดการจับกุม ส.ส.หรือ ส.ว. ในขณะทำความผิดจะต้องรายงานประธานสภาหรือประธานวุฒิสภาทันที และประธานสภาทั้งสองอาจร้องขอให้ปล่อยตัวได้
 
“การฟ้องร้องดำเนินคดี ส.ส.และ ส.ว.ในคดีอาญา ไม่ว่าจะฟ้องนอกหรือในสมัยประชุมสภา ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในสมัยประชุมไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภา หรือวุฒิสภา หรือเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือคดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือความผิดอื่นที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หรือกรณี ส.ส. หรือ ส.ว. ผู้นั้นยินยอมให้ดำเนินคดี ศาลจะสามารถพิจารณาคดีนั้นได้ แต่การพิจารณาคดีต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่ ส.ส. หรือส.ว.มาประชุมสภา” โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าว
 
นายคำนูณ กล่าวว่า  ส่วนมาตรการลงโทษนักการเมืองด้วยการถอดถอนและลงโทษทางการเมือง จะปรับใหญ่จากรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ที่ลงโทษทางการเมือง 5 ปี ในทุกฐานความผิด เปลี่ยนเป็นการแยกลงโทษใน 2 กรณี คือ กรณีทำผิดฐานจงใจที่ใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น และฐานประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงจะถูกลงโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ส่วนอีก 4 ฐานความผิด ได้แก่ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อว่าทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม จะถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งอื่นๆ ตลอดไป โดยมาตรานี้บัญญัติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557
 
ที่มา: ประชาไท