วันที่ 3 กันยายน 2558 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคมร่วมกับหลายองค์กร จัดงานเสวนา วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 กับทิศทางการปฏิรูปการเมืองไทย: ทางออกหรือทางตัน ท่ามกลางบรรยากาศที่สปช.กำลังจะลงมติว่าจะเห็นชอบกับร่างนี้หรือไม่ในวันที่ 6 กันยายน 2558
ลิขิต ธีระเวคิน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีคำปรารภ ว่าร่างขึ้นมาเพราะอะไร เพื่ออะไร และจะไปทางไหน เพราะถ้าไม่มีคำปรารภก็เหมือนไม่มีจิตวิญญาณ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาตราที่สำคัญที่สุดคือมาตรา 3 ที่บอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ดังนั้นอะไรก็ตามจะขัดแย้งกับมาตรา 3ไม่ได้ อย่างเช่น ประเด็นนายกฯ มาจากคนนอกได้เมื่อเกิดวิกฤต ก็ขัดกับมาตรา 3 ขัดหลักประชาธิปไตย เพราะวิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมาเป็นวิกฤตที่สร้างขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ต่อไปอาจมีการจัดการให้เกิดขึ้นมาอีก เพื่อให้นายกฯ คนนอกเข้ามาได้
ลิขิต กล่าวต่อว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เป็นบุคคลต่างๆ ที่ถือว่าอาวุโส แต่ในแง่หลักการก็ขัดมาตรา 3 และหลักประชาธิปไตย คล้ายช่วงหลัง 6 ตุลา 19 ที่มีรัฐบาลหอย (รัฐบาลพลเรือนที่แต่งตั้งจากการรัฐประหาร นำโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร) แต่เราไม่ต้องการเปลือกหอยอีกต่อไป ประชาธิปไตยแบบนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่เป็นประชาธิปไตยเสี้ยวใบ 25%
ด้านไพโรจน์ พลเพชร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นภาพสะท้อนอำนาจต่อรองของสังคม เช่น รัฐธรรมนูญ 40 การเมืองช่วงนั้นพลังประชาชนแข็งแกร่ง จึงมีพื้นที่มาก ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตนมีข้อสังเกตว่ามีการแยกสิทธิออกเป็น 2 ประเภท คือสิทธิมนุษยชนกับสิทธิของปวงชนชาวไทย ซึ่งสิทธิหลายเรื่องไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เช่น สิทธิในการมีครอบครัว สิทธิแรงงานที่รัฐต้องคุ้ครอง
“เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายความมั่นคงขอพื้นที่ในรัฐธรรมนูญโดยใช้ คปป. ที่ผ่านมาพอยึดอำนาจเสร็จก็กลับกรมกอง แต่ครั้งนี้ต่างออกไป.. หากเกิดวิกฤตขึ้น ฝ่ายความมั่นคงก็จะไม่ไว้ใจฝ่ายนักการเมืองในการแก้ปัญหา จึงให้ คปป.มีอำนาจในการนำพาการปฏิรูป และยังขออำนาจจัดตั้ง ส.ว. 123 คน มีวาระ 3 ปี ซึ่งส.ว.มีหน้าที่สำคัญที่การแต่งตั้งองค์กรอิสระ” ไพโรจน์กล่าว
ด้านนิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า วันนี้จะขอกล่าวในฐานะนักรัฐศาสตร์คนหนึ่งไม่ใช่ในนามพรรค กว่าที่จะต่อสู้ให้ได้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เราต้องสูญเสียชีวิตไปเท่าไหร่ตั้งแต่สมัยพฤษภาทมิฬ การเปิดให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนนอกได้ ไม่ใช่เรื่องเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่มันเป็นเรื่องถูกหรือผิด และร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งเสียเอง
นิกรกล่าวอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนมัดตาชก เพราะบางช่วง กมธ.ยกร่างฯ ไม่เปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟัง ไม่มีใครเห็น จะได้เห็นก็ตอนที่ออกมาแล้ว ส่วนเรื่องการกำหนดให้มี คปป. นั้น ไม่มีที่ให้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ถ้าอยู่ในจีนคงอยู่ได้ อำนาจของ คปป.จะทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐบาล รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะเป็นเหมือนหีบห่อ ไม่มีอำนาจจริงๆ
ขณะที่ฉันทนา หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ กล่าวว่า ความขัดแย้งที่ผ่านมาเกิดจากปัญหาความไม่ลงตัวของ 2 เงื่อนไข คือ ความชอบธรรมและความไว้วางใจ ทั้งสองอย่างมีความสัมพันธ์กันจึงทำให้ประชาธิปไตยทำงานได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญที่เกิดหลังวิกฤตน่าจะช่วยคลี่คลาย ลดความรุนแรง จัดการปัญหาได้ดีกว่าเดิม
ฉันทนากล่าวต่อว่า ความชอบธรรมในร่างรัฐธรรมนูญนี้มีการปรับเรื่องความเป็นตัวแทน มีการกระจายอำนาจ ส่วนความไว้วางใจแสดงออกด้วยกลไกการตรวจสอบ มีการดึงประชาชนเข้ามาร่วมเยอะ แต่องค์กรที่หลุดพ้นการตรวจสอบคือภาคความมั่นคง กองทัพ ตำรวจ ศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เราไม่รู้ว่าความโปร่งใสเป็นอย่างไร การเขียนรัฐธรรมนูญให้ คปป. มีอำนาจเข้ามาแก้ไขวิกฤติแบบนี้เหมือนการย้ายจากรัฐประหารแบบเดิม มาเป็นรัฐประหารแบบใหม่ที่ใส่ไว้ตรงนี้ ถ้ากองทัพมีความเป็นผู้นำที่จะปฏิรูป และเขียนชัดเจนในรัฐธรรมนูญให้มีการปฏิรูปกองทัพก็อาจจะแก้ปัญหาการรัฐประหารได้