ll ๒๐ เรื่องที่คุณต้องอึ้ง! เมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญ ll

หลังจากเราได้เสนอเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยใน ภาค ๑ รัฐธรรมนูญต่างประเทศ ไปแล้ว หลายคนอาจจะอึ้ง หลายคนอาจจะเฉยๆ เพราะเป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้ว เราลองมาดูอีกสิบข้อใน ภาค ๒ ซึ่งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทยกันดูบ้าง น่าจะเป็นเรื่องคุ้นเคยและรู้ดีกว่ารัฐธรรมนูญต่างประเทศ แต่คุณแน่ใจหรือ ว่ารู้จักรัฐธรรมนูญไทยดีแล้ว เราท้าให้คุณอ่านสิบข้อนี้เสียก่อน แล้วมาบอกเราว่าคุณรู้อยู่แล้วกี่ข้อ

๑. [หยุดฉลองรัฐธรรมนูญ ๓ วัน] ตั้งแต่ปี ๒๔๗๕-๒๔๘๔ รัฐบาลประกาศให้วันรัฐธรรมนูญเป็นวันหยุด ๓ วัน (๑๐-๑๒ ธันวาคมและต่อมาเป็น ๙-๑๑ ธันวาคม) เพื่อสมโภชเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ โดยมีทั้ง การออกร้าน การแสดง การละเล่นต่าง ๆ จัดขึ้นทั่วประเทศ

๒. [เผยแพร่เพลงชาติครั้งแรก] “เพลงชาติไทย” ฉบับปัจจุบัน เผยแพร่ครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๒ ในสมัยของจอมพลป. พิบูลสงคราม

๓. [ประกวดนางสาวไทยครั้งแรก] ในการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญปี ๒๔๗๗ มีการ  “ประกวดนางสาวสยาม” หรือ “ประกวดนางสาวไทย” ขึ้นครั้งแรก  ซึ่งผู้ที่ได้รับตำแหน่งคนแรกคือ กันยา เทียนสว่าง

๔. [เก็บรัฐธรรมนูญไว้ที่ไหน] การเขียนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับจริงเป็นลายลักษณ์อักษร จะใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์ชุบหมึก กองปกาษิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จารหมึกลงในสมุดไทยเล่มขาว ปกลงรักปิดทองล่องชาด  ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เขียนทั้งหมดสามเล่ม เก็บรักษาไว้สามแห่ง ได้แก่ รัฐสภา ใต้มหาเศวตฉัตร ณ พระบรมมหาราชวัง และทำเนียบรัฐบาล

๕. [มีชัยร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ๕ ครั้ง] มีชัย ฤชุพันธ์ เคยมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย ๕ ครั้ง

ครั้งแรก เป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๓๔ ที่ตั้งขึ้น หลัง“คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ รสช. ยึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ 

ครั้งที่สอง สมัยมีชัยเป็นประธานวุฒิสภา ได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี ๒๕๓๔ ที่ตนเป็นคนร่าง เพื่อจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.๒) ซึ่งเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐

ครั้งที่สาม หลังการรัฐประหารปี ๒๕๔๙ มีชัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๔๙ ร่วมกับวิษณุ เครืองาม และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

ครั้งที่สี่ หลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ มีชัยเป็นประธาน สนช. จึงผู้นำร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ขึ้นทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการ

ครั้งที่ห้า ปี ๒๕๕๗ รับหน้าที่เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด

๖. [หลบๆ ซ่อนๆ ที่สุด] รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๔ มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” (ฉบับชั่วคราว) รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีฉายาว่า "รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม" ประกาศใช้หนึ่งวันหลังการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เหตุที่ชื่อรัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม เนื่องจาก พล.ท. กาจ เก่งระดมยิง ผู้นำคนหนึ่งของคณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๓ ยังใช้บังคับอยู่ และได้เอาไปซ่อนใต้ตุ่มแดงในบ้าน เพราะกลัวว่าจะถูกกล่าวหาเป็นกบฏ หลังทำการรัฐประหารสำเร็จ ได้แก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีก ๗ ชั่วโมง ก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศใช้

๗. [ชั่วคราวนานที่สุด] รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีอายุการใช้ยาวนานที่สุดคือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๗ หรือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒ ในยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการใช้งานถึง ๙ ปี ๔ เดือน ๒๐ วัน ซึ่งนานกว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรบางฉบับ และยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สั้นที่สุดอีกด้วย โดยมีเพียง ๒๐ มาตรา รวมถึงมาตรา ๑๗ อันลือลั่น ที่มอบอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการแก่นายกรัฐมนตรีแต่ผู้เดียว

๘. [ร่างนานที่สุด] รัฐธรรมนูญที่มีการร่างนานที่สุด คือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๑๑ ในยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ใช้เวลาร่างนานถึง ๙ ปี ๑๖ วัน เริ่มร่างเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสมาชิกทั้งสิ้น ๒๔๐ คน เพื่อใช้แทน ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยนำขึ้นทูลเกล้าฯให้ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑

๙. [อายุสั้นที่สุด] รัฐธรรมนูญที่มีอายุการใช้งานสั้นที่สุด คือ ฉบับที่ ๑ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ อายุการใช้งานเพียง ๕ เดือน ๑๓ วัน (ประกาศใช้ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ หมดอายุเมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) มี ๓๙ มาตรา

๑๐. [มีประชามติครั้งแรก] รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๘ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการลงประชามติเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ๒๕,๙๗๘,๙๕๔ หรือ ๕๗.๖๑% ของผู้มีสิทธิออกเสียง ผลการลงประชามติ มีผู้เห็นชอบ ๕๗.๘๑% ไม่เห็นชอบ ๔๒.๑๙%

เกร็ดสาระที่เรานำเสนอมานี้ หากคุณรู้ว่ามีข้อผิดพลาดก็อย่าลืมเตือนเรามาด้วยนะ

แล้วรอติดตามกิจกรรม  'ความสุขช่างเรืองรอง เฉลิมฉลองร่างรัฐธรรมนูญใหม่' ในวันพรุ่งนี้

 

อ้างอิง

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมฉะบับที่ ๖ เรื่องทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ bit.ly/1PwaRfM

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1400849024&grpid=02&catid=02

http://whereisthailand.info/2011/12/constitution/

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1444203946