ศรีลังกา เผด็จการรัฐสภาขอต่ออายุโดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่
วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ.1982 เป็นอีกหนึ่งวันที่ชาวศรีลังกาต้องจดจำ เพราะมันคือการทำประชามติครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้นในประวัติศาสตร์ของประเทศศรีลังกา แต่ทว่า บรรยากาศการลงประชามติกลับไม่ได้เปิดกว้างอีกทั้งประชาชนก็ไม่ได้เรียกร้องที่ให้มีการลงประชามติครั้งนี้แต่อย่างใด
โดยเรื่องราวเริ่มต้นที่ ช่วงปีค.ศ. 1977 Junius Richard Jayewardene หรือที่ประชาชนเรียกว่า เจ.อาร์.จายาวาร์ดินี่ ผู้นำของพรรค United National Party ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หลังชนะการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างล้มหลาม และเขาได้คะแนนเสียงมากกว่า 5 ใน 6 ของรัฐสภา แต่ทว่า เขากลับอาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ ของศรีลังกา ให้มีตำแหน่งประธานาธิบดีระดับสูง (Executive President) เป็นทั้งประมุขของรัฐ ผู้นำรัฐบาลและผู้นำเหล่าทัพ และให้มีส.ส.บางส่วนมาจากการแต่งตั้ง รวมถึงขยายอายุของรัฐสภาจาก 5 ปี เป็น 6 ปี
ภาพของ เจ.อาร์.จายาวาร์ดินี่
ที่มาภาพ badaragama.wordpress
ที่มาภาพ badaragama.wordpress
ต่อมา เจ.อาร์.จายาวาร์ดินี่ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีระดับสูงคนแรก แต่คะแนนความนิยมของเขาหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1982 กลับลดลงมาก เขาชนะคู่แข่งได้อย่างสูสี ทำให้พรรคของเขากลัวว่าอาจจะแพ้ในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งต่อไป ดังนั้น เขาจึงเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อต่ออายุของรัฐสภาซึ่งพรรคของเขาถือคะแนนเสียงข้างมากอยู่ในปัจจุบันออกไปอีก 6 ปี โดยไม่ต้องไปเลือกตั้งใหม่ โดยข้ออ้างขณะนั้น คือ ต้องการให้รัฐสภาสานงานต่อ โดยเฉพาะการเปิดเศรษฐกิจค้าขายกับต่างชาติ ที่เขาเป็นคนเริ่มต้นขึ้น
เนื่องจากพรรคของ เจ.อาร์.จายาวาร์ดินี่ ถือเสียงข้างมากในรัฐสภาอยู่แล้ว การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงได้รับการรับรองจากรัฐสภาอย่างง่ายดาย และเจ.อาร์.จายาวาร์ดินี่ ยังตัดสินใจให้มีการทำประชามติขึ้นเพื่อรับรองความชอบธรรมของการต่ออายุรัฐสภาครั้งนี้ โดยคำถามที่ตั้งในการทำประชามติ ถามว่า
"Do you approve the Bill entitled the Fourth Amendment to the Constitution published in Gazette Extraordinary No 218/23 of November 13, 1982, which provides inter alia that unless sooner dissolved the First parliament shall continue until August 4, 1989, and no longer and shall thereupon stand dissolved."
ซึ่งพอจะแปลความเป็นภาษาไทยได้ว่า
"คุณจะอนุมัติให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ซึ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เลขที่ 218/23 วันที่ 13 พฤศจิกายน 1982 (ที่นอกเหนือสิ่งอื่นใด ถ้าไม่มีการยุบสภาก่อน) ได้มีผลบังคับใช้ต่อจนถึงวันที่ 4 สิงหา 1989 หรือไม่ (ก่อนที่จะหมดผลบังคับใช้และถูกยกเลิก)"
คำถามนี้ ถูกมองว่าเป็นคำถามที่ยาวและเข้าใจยาก สำหรับประชาชนชาวศรีลังกาในขณะนั้น ซึ่งบางส่วนยังไม่รู้หนังสือ แถมบัตรลงคะแนนประชามติในปี 1982 ถูกออกแบบให้เป็นรูปหลอดไฟและกาน้ำ ถ้าคนจะลงคะแนนว่าเห็นชอบก็ให้กากบาทในช่องที่เป็นรูปหลอดไฟ และคนที่จะลงคะแนนว่าไม่เห็นชอบก็ให้กากบาทในช่องที่เป็นรูปกาน้ำ โดยไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่าผลของการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเป็นอย่างไร ซึ่งสร้างความสับสนในการลงคะแนนเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้การลงประชามติครั้งนี้ถูกเรียกเล่นๆ ว่า "ประชามติหลอดไฟและกาน้ำ" (Lamp and Pot referendum)
นอกจากนี้ก่อนการจัดทำประชามติ เจ.อาร์.จายาวาร์ดินี่ อ้างว่าสมาชิกพรรคฝ่ายค้านพยายามลอบสังหารเขา และพยายามทำรัฐประหาร เขาจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และบังคับใช้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การทำประชามติครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ศรีลังกาจัดขึ้นในระหว่างที่ประเทศประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ผลการออกเสียงประชามติในปี ค.ศ.1982 มีประชาชนชาวศรีลังกามาลงคะแนนถึง 70.82% ของผู้มีสิทธิออกเสียง หรือกว่า 8,100,00 คน ผล คือ ผู้มาลงคะแนน 54% กาในช่องหลอดไฟ และ 45% กาในช่องกาน้ำ เป็นผลให้รัฐสภาของ เจ.อาร์.จายาวาร์ดินี่ มีอายุต่อไปอีก 6 ปี
เขาได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีสูงสุดที่ค้านสายตาประชาชนหลายครั้ง เช่น การให้อภัยโทษแก่นักโทษที่ทำผิดฐานฆาตรกรรม การให้ทหารอินเดียเข้ามาช่วยรบกับกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬ
ประชาชนชาวศรีลังกาทุกวันนี้ จดจำการทำประชามติในช่วงเวลานั้นเป็นประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายที่สุดช่วงหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นเผด็จการทางรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้เครื่องมือของระบบประชาธิปไตยเพื่อนำมาซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ช่วงเวลาของ เจ.อาร์.จายาวาร์ดินี่ ทำให้เกิดตำแหน่งประธานาธิบดีสูงสุด และทำให้ประชาชนชาวศรีลังกาต้องอยู่กับการมีผู้นำสูงสุดเช่นนี้มานานจนกระทั่งถึงปี 2014 เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดอำนาจลง
บังกลาเทศ ประชามติรับรองประธานาธิบดี ชนะถล่มทลาย 99%
Ziaur Rahman หรือ ซิเออร์ รามัน เป็นผู้นำที่มีบทบาทมากในประวัติศาสตร์ของบังกลาเทศ เขาเคยเป็นผู้นำกองทัพของบังกลาเทศในสงครามประกาศอิสรภาพจากปากีสถานในปี 1971หลังการรัฐประหารในปี 1975 และการลอบสังหารประธานาธิบดีคนก่อน เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก และเป็นทหารที่มีบทบาทในช่วงที่สองสามปีที่ประเทศวุ่นวาย เพราะมีการรัฐประหารซ้อนหลายครั้งและมีความวุ่นวายภายในประเทศ
ภาพของ ซิเออร์ รามัน
ที่มาภาพ dhakatribune
21 เมษายน 1977 ซิเออร์ รามัน ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาจัดให้มีการทำประชามติเพื่อรับรองตัวเขา ในวันที่ 31 พฤษภาคม ปีเดียวกัน หรือหนึ่งเดือนหลังการขึ้นสู่อำนาจ ท่ามกลางบรรยากาศประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหาร และภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึก
คำถามในการทำประชามติ ครั้งนั้น ถามว่า
"Do you have confidence in President Major General Ziaur Rahman BU and the policies and programs adopted by him?"
ซึ่งพอจะแปลความเป็นภาษาไทยได้ว่า
"คุณมีความมั่นใจในตัวประธานาบดี พล.ตรี ซิเออร์ รามัน บียู นโยบาย และโครงการต่างๆ ที่เขารับรองหรือไม่?"
ข้อมูลในวิกิพีเดียอธิบายผลการลงประชามติครั้งนั้นว่า จากผู้มาลงคะแนน 88.5% ของผู้มีสิทธิออกเสียง มีคนลงคะแนนว่ามั่นใจในตัวเขา 98.9% ไม่มั่นใจ 1.1% และไม่มีบัตรเสียเลยแม้แต่ใบเดียว
หลังจากนั้นประวัติศาสตร์ของบังกลาเทศเคยมีประชามติอีกครั้ง คือ การทำประชามติ ในปี 1991 เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญจากระบบประธานาธิบดีเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุด เปลี่ยนเป็นระบบรัฐสภามีอำนาจสูงสุข โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร ผลการทำประชามติผู้มาลงคะแนนร้อยละ 83.6 เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
การทำประชามติครั้งหลังเกิดจากความเรียกร้องของประชาชน และระหว่างการทำประชามติมีบรรยากาศของประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถทำกิจกรรมรณรงค์ได้ จึงเป็นประชามติที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน
____________
อ้างอิง
ขอบคุณข้อมูลจาก Suren Perara, Sri lanka Human Rights Lawyer
และ Islan, Md Zahirul, Human Rights officer, UNAMID
เว็บไซต์ atimes.com