สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: สิทธิของผู้บริโภคและการจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากรัฐอาจจะยากขึ้นไปอีก

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย กล่าวถึง สิทธิในการคุ้มครองผู้บริโภคไว้อย่างไร
 
ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ กล่าวถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้ใน หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
 
           "มาตรา 46 สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองบุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้ง องค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคองค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์ที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ"
 
และถูกเขียนอีกครั้งไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ
 
           "มาตรา 61 รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค"
 จากมาตรา 46 สามารถอธิบายได้ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง และ มีสิทธิในการรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักเกณฑ์ วิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และด้านการเงิน และในมาตรา 61 หมายว่า รัฐมีหน้าที่ในการกำหนดกลไก หรือมาตรการในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ในด้านการรับข้อมูลที่เป็นจริง ความปลอดภัย ความเป็นธรรมในการทำสัญญา และด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
 
แอบดูรายละเอียดเทียบกับ รัฐธรรมนูญปี 40 และ 50

 
ในรายละเอียดสำหรับเรื่องสิทธิของผู้บริโภคนั้น รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้ระบุไว้ใน มาตรา 57  สิทธิของผู้บริโภคนั้นย่อมได้รับความคุ้มครอง โดยเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
 
 และรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ระบุไว้ใน มาตรา 61 สิทธิของผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครอง ในด้านการรับรู้ข่าวสารที่เป็นจริง มีสิทธิในการร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการเยียวยาจากความเสียหาย และสามารถรวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภค
 
เมื่อนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับพบว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติตัดการเขียนถึงสิทธิการคุ้มครองที่เพิ่มเติมขึ้นในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ออก คงเหลือเพียงแต่ การรับรองว่า ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่จำกัดว่า การคุ้มครองนั้นต้องเป็นเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
 
ถึงแม้ว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติจะไม่ได้เขียนครอบคลุมถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงออกจากหมวดสิทธิ แต่ข้อความนี้ก็ยังถูกเขียนไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ มาตรา 61 แทนโดยให้รัฐมีหน้าที่จัดมาตรการ หรือกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ความปลอดภัย ความเป็นธรรมในการทำสัญญา รวมทั้งด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
 
ในส่วนของสิทธิที่เคยถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 แต่ไม่ได้เขียนไว้ในร่างฉบับนี้ ในทางปฏิบัติหากร่างฉบับนี้ ผ่านการทำประชามติและบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ผลกระทบอาจจะแตกต่างจากเดิมไม่มากนัก เพราะทางปฏิบัติยังขึ้นอยู่กับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ นโยบาย และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย แต่ก็เป็นข้อสังเกตว่า วิธีการเขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ นั้น ตัดสิทธิบางส่วนที่เคยมีใน ฉบับปี 2550 ออกไป
 
ข้อกังวลใหญ่ "องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค" ยังมีโอกาสได้เกิดอยู่หรือไม่
 
รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 57 บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของผู้บริโภค โดยทำหน้าที่ 1) ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ และข้อบังคับต่างๆ 2) ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค
 
รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 61 บัญญัติให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค โดยมีหน้าที่เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 คือ ตรวจสอบและรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และยังกำหนดให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานขององค์กรอิสระด้วย
 
แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ มาตรา 46 ระบุเพียงว่า ประชาชนมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรเพื่อผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคมีสิทธิรวมตัวกันตั้งเป็นองค์กรที่เป็นอิสระ โดยหลักเกณฑ์ วิธิการจัดตั้ง อำนาจ และการสนับสนุนด้านการเงิน ให้รัฐเป็นผู้กำหนดโดยออกเป็นกฎหมาย และในมาตรา 60 ได้กำหนดหน้าที่ของรัฐไว้ว่า รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่างๆ
 
เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เผยแพร่ความเห็นของ รศ.ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรอิสระในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า การเขียนแบบนี้เท่ากับมองว่าปัจจุบันเราไม่มีองค์กรผู้บริโภคเลย ผู้บริโภคต้องไปรวมตัวกันก่อนจึงจะสามารถไปรวมตัวกันให้ความเห็นกับรัฐ โดยให้รัฐออกกฎหมายว่าจะให้เป็นตัวแทนอย่างไร ในเรื่องอะไรบ้าง สะท้อนให้เห็นความล้าหลังของร่างรัฐธรรมนูญ จึงขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการยกร่างฯ ขอให้ยึดหลักการการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคทำหน้าที่ตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศในการให้ความเห็นต่อหน่วยงานรัฐ สนับสนุนผู้บริโภคให้เท่าทันปัญหาและสามารถคุ้มครองตนเองได้
 
รศ.ดร.ภก. วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ให้ความเห็นไว้เช่นกันว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เขียนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ถือเป็นการลดทอนสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยมีเพียงการรับรองเรื่องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริโภครวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตน ไม่มีการตั้งองค์การของผู้บริโภคที่เป็นอิสระเพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ซึ่งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา สะท้อนถึงการสร้างความเหลื่อมล้ำในการใช้อำนาจของรัฐ และสวนทางกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญที่บอกว่าต้องการจะปราบการทุจริต คอร์รัปชั่น ซึ่งผู้ประกอบการหรือนายทุนมักผูกขาดใช้อำนาจเงินมหาศาลเข้าหาอำนาจรัฐให้เอื้อประโยชน์ นำไปสู่แนวทางการปฏิรูปประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนหรือผู้บริโภคไม่มีส่วนร่วม
 
ด้าน สุภัทรา นาคะผิว อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ชุดก่อนหน้านี้ ให้ข้อสังเกตว่า เรื่องสิทธิประชาชนในร่างฉบับลงประชามติถูกลดทอนลงกว่าเดิม ถ้าเทียบกับมาตรฐานรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 เพราะการกำหนดให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยรัฐให้การสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ เป็นการยกระดับงานคุ้มครองผู้บริโภคที่มากกว่าการส่งเสริมการรวมตัวทั่วไปของผู้บริโภค เสรีภาพในการรวมตัวหรือรวมกลุ่มกันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้ว แต่เจตนารมณ์ของการให้มีองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคนั้นต้องการให้มีองค์กรของผู้บริโภคเข้ามาทำหน้าที่สร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภค
 
 
ความฝันในการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากรัฐอาจสะดุดลง หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 ผ่านประชามติ
 
นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ประกาศใช้ก็มีความพยายามจากภาคประชาชนในการผลักดันให้เกิดองค์อิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นจริง ตามที่ถูกกำหนดไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่เนื่องจากปัญหาในการตีความของกฎหมายที่ไม่ตรงกัน ของภาครัฐ ภาคประชาชน และ NGOs ทำให้ยังไม่สามารถจัดตั้งองค์กรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมาได้สำเร็จ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถูกประกาศขึ้นมาบังคับใช้แทน
 
รัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภค และการจัดตั้งองค์อิสระเพื่อผู้บริโภคที่ชัดเจนขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2540 โดยระบุชัดเจนไว้ในมาตรา 61 ว่า ให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ และต้องได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นเหมือนความหวังในการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้จริงเสียที
 
แม้ว่าตลอดอายุของรัฐธรรมนูญปี 2550 องค์กรภาคเอกชนจะพยายามผลักดันให้เกิดองค์อิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง
 
หลังความพยายาม 19 ปี ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ยังไม่เกิดผล จนเมื่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2559 ปรากฎออกมาก็ทำให้หลายฝ่าย ภาคประชาสังคม ประชาชน หรือผู้ที่มีบทบาทในการผลักดันให้เกิดองค์อิสระนี้ต่างกังวลว่าองค์กรอิสระที่เคยเรียกร้องกันมานานจะไม่สามารถจัดตั้งขึ้นมาได้อีกแล้ว เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ระบุให้จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นอิสระจากรัฐ ไว้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่ระบุไว้เพียงว่า ประชาชนมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่รัฐเป็นสนับสนุนหลักเกณฑ์ วิธีการ อำนาจในการเป็นตัวแทน และเงิน
 
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธีเพื่อผู้บริโภค ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคไว้ว่า หากย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ซึ่งมีการที่กำหนดให้มีการตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ยังไม่สามารถตั้งได้เลยจนผ่านมาถึง 19 ปีแล้ว และร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 นี้ ยิ่งไม่มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอีก ก็ยิ่งไม่มีหวัง