สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: เมื่อ "สิทธิเสรีภาพ" เขียนใหม่เป็น "หน้าที่ของรัฐ"

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ย้ายสิทธิและเสรีภาพบางส่วนไว้ที่หมวดหน้าที่ของรัฐ

สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ เป็นการเขียนที่แปลกใหม่ โดยโยกย้ายสิทธิของประชาชนหลายประการไปอยู่ในหมวด "หน้าที่ของรัฐ" อันเป็นหมวดใหม่ที่เขียนขึ้นมาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีชัย ฤชุพันธุ์ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ให้เหตุผลว่า การเขียนเช่นนี้  ประชาชนอยู่เฉยๆ ประชาชนจะได้รับสิทธิ ถ้ารัฐไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ สิทธิหลายอย่างบังคับให้รัฐทำ บางเรื่องเขียนไว้เป็นหน้าที่ของรัฐ ใครมีหน้าที่ต่อเราก็เกิดสิทธิขึ้นมาแล้ว

แนวคิดเบื้องหลังของ หมวดหน้าที่ของรัฐเกิดจากการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ทบทวนรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ผ่านมาและพบว่า มีสิทธิบางอย่างที่เขียนไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพแต่ไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ จริง ดังนั้นจึงเห็นควรเขียนหมวดหน้าที่ของรัฐขึ้นมาเพิ่มเติมเป็นหลักประกันให้ แก่ประชาชนว่า รัฐต้องปฏิบัติตามทีรัฐธรรมนูญเขียนไว้ ซึ่งรัฐจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนและเหมาะสมกับสถานะทางการเงินการคลัง  จากแนวคิดดังกล่าวร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จึงโยกย้ายสิทธิและเสรีภาพบางส่วนมาไว้ยังหมวดหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ยังมีสิทธิบางส่วนถูกย้ายไปไว้ที่หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ 

เมื่อประชาชนไม่ใช่เจ้าของสิทธิ : หน้าที่ของรัฐลดทอนสิทธิประชาชนและตัดข้อผูกพันระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐออก

             “การ เอาสิทธิหลายตัวไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐเสียหมด ผมอธิบายว่ามันเหมือนกับเราเคยเอาแกะหลายตัวและเอารั้วมาล้อมเพื่อคุ้มครอง ไม่ให้หมาป่าเข้ามา แต่กลับเอาแกะหลายตัวออกจากรั้วนี้ มันเป็นการถอยกลับไป” แก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540

แม้ ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะสะท้อนวัตถุประสงค์ว่า หมวดหน้าที่ของรัฐจะเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนที่ไม่ว่ายังไงเสียรัฐก็จะ ต้องปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้แต่เมื่อนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ สิทธิและเสรีภาพของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ใน 3 หมวดคือ หมวดสิทธิและเสรีภาพ, หมวดหน้าที่ของรัฐและหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐไปเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 จะเห็นว่า หลักประกันดังกล่าวมีความไม่ชัดเจน

ไพโรจน์ พลเพชร อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ เพิ่มอำนาจรัฐและลดอำนาจประชาชน โดยรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ได้เขียนถึงสิทธิตามแนวคิดสิทธิที่เกิดขึ้นมาก่อนรัฐ และรัฐจะต้องเคารพสิทธิของประชาชน มีหน้าที่ปกป้องไม่ให้ผู้อื่นละเมิดได้ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเขียนตามแนวคิดสิทธิไม่มีอยู่จริงแต่รัฐมี หน้าที่ทำให้เกิดขึ้น นั่นกลายเป็นว่าลดสิทธิของประชาชนหลายๆเรื่อง ทำให้ประชาชนกลายเป็นวัตถุของรัฐ 

สอดคล้องกับแก้วสรร อติโพธิ อดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พ.ศ. 2540 ที่อธิบายว่า ร่างรัฐธรรมนูญของมีชัยได้เอาเรื่องเหล่านี้ออกจากหมวดสิทธิเสรีภาพหมดเลย เอาไปอยู่หมวดใหม่ที่เรียกว่าหน้าที่ของรัฐก็เกิดมีคำถามว่าเมื่อเป็น หน้าที่ของรัฐขึ้นมาแล้วหมายความว่าอย่างไรมันจะเป็นสิทธิหรือไม่ โดยกล่าวต่อว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพไม่ใช่เรื่องรายละเอียดเพราะมันเป็นเรื่องของวิธีคิดที่ ว่า ต่อไปนี้คุณจะมีสิทธิเฉพาะอยู่ในบ้านและเนื้อตัวของคุณและแทนที่ประชาชนจะ เป็นมนุษย์ที่เป็นประธานที่ยอมเสียสิทธิเท่าที่จำเป็นและเอาประโยชน์ส่วนรวม ไปให้รัฐดูแล สิ่งเหล่านี้มันหายไป

ความคิดที่ว่าสิทธิไม่มีอยู่จริง รัฐเป็นผู้จัดหาให้ยังปรากฏชัดในหมวดหน้าที่ของรัฐดังเช่น การหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "สิทธิ" ในหมวดหน้าที่ของรัฐและใช้คำว่า "รัฐ" เป็นผู้ดำเนินบทบาทหลักในการจัดหาสิทธิให้แก่ประชาชนแทน และทวีความชัดเจนมากขึ้นในคำพูดของมีชัย ฤชุพันธุ์ที่ว่า บางเรื่องเขียนไว้เป็นหน้าที่ของรัฐ ใครมีหน้าที่ต่อเราก็เกิดสิทธิขึ้นมาแล้ว

ในทางทฤษฎี การที่รัฐธรรมนูญรับรอง "สิทธิ" ของประชาชน จะมีผลให้ประชาชนเป็นเจ้าของสิทธิเป็นตัวผู้ทรงสิทธิเอง และจะสามารถอ้างสิทธินี้ขึ้นยันต่อใครได้ทั้งรัฐไทย ทั้งประชาชนคนอื่น บริษัทเอกชน หรือรัฐต่างประเทศ แต่เมื่อรัฐธรมนูญกำหนดให้เป็น "หน้าที่ของรัฐ" เท่ากับประชาชนไม่ได้เป็นผู้ทรงสิทธิเหล่านั้นแต่เป็นผู้รอรับการจัดให้โดย รัฐ หากรัฐไทยภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ไม่จัดให้ประชาชนสามารถเรียกร้องให้ทำหน้าที่ ได้ แต่จะเรียกร้องต่อประชาชนคนอื่น บริษัทเอกชน หรือรัฐต่างประเทศไม่ได้

ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ2550 หมวดสิทธิและเสรีภาพ มีมาตราที่กำกับไว้ชัดเจนถึงผลผูกพันของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ และประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิที่รัฐธรมนูญรับรอง ไว้ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ มาตรา 25 ก็กำหนดผลที่ประชาชนจะได้รับจากการมีสิทธิไว้ชัดเจนว่า "สิทธิ" ต่างๆ ที่รับรองไว้ ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้แม้ยังไม่มีกฎหมายลูกบัญญัติรายละเอียด สามารถยกขึ้นต่อสู้ทางศาลได้ และหากถูกละเมิดสิทธิก็มีสิทธิได้รับการเยียวยาจากรัฐ ซึ่งผลที่ประชาชนจะได้รับเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากเรื่องดังกล่าวบัญญัติให้เป็น "หน้าที่ของรัฐ" ไม่ใช่ "สิทธิ"

หลายประเด็นที่เคยเป็น "สิทธิ" ของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และ 2550 ถูกเขียนใหม่เป็นหน้าที่ของรัฐ ตัวอย่างเช่น หน้าที่ของรัฐต่อการศึกษา รัฐอุดหนุนการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียน ลดสิทธิเรียนฟรีถึงม.ปลาย

ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 จัดให้เรื่องการศึกษาเป็นสิทธิอยู่ในหมวดสิทธิและเสรีภาพระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการเข้ารับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 นี้ได้ย้ายสิทธิการศึกษาทั้งหมดไปไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐทั้งหมด  โดยรัฐจะต้องจัดการศึกษาให้แก่เด็กเป็นเวลา 12 ปีนับตั้งแต่อนุบาล 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อเป็นการพัฒนาในทักษะต่างๆอย่างเหมาะสม ให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ประเด็นที่สังคมสนใจคือการตีความที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้การอุดหนุนการศึกษาของรัฐสิ้นสุดที่ชั้นมัธยม ศึกษาตอนต้น ส่งผลให้มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเป็นกังวล

มีชัย ฤชุพันธุ์ ชี้แจงถึงสาเหตุที่ตัดการเรียนฟรีในระดับ ม.ปลายออกไปว่า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างคนจนกับคนรวย ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้ระบบการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน เพราะเด็กจะพัฒนาได้ต้องอยู่ระหว่าง 2-5 ขวบ ซึ่งคนมีเงินได้รับการพัฒนา แต่คนจนไม่ได้รับการพัฒนา เพราะฉะนั้น พอถึงระดับ ม.ปลายก็เสียเปรียบ สู้กันไม่ได้ เพราะตอนนั้นสมองไม่พัฒนาแล้ว สอดคล้องกับสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีการลงทุนในระดับก่อนประถมน้อยมาก ทั้งที่ทั่วโลกได้หันกลับมาเน้นการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพราะเห็นได้ชัดว่าหากสมองเด็กวัยนี้ได้รับการพัฒนาก็จะเจริญได้เต็มที่ถึง ร้อยละ 90

อย่างไรก็ดีหลายฝ่ายยังแสดงความเป็นกังวลต่อเรื่องดังกล่าวกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทได้ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ควรจะใช้วิธีขยายระยะเวลาของสวัสดิการเรียนฟรี จาก 12 ปี เป็น 15 ปี ในรัฐธรรมนูญและหากกลัวงบประมาณจะไม่พอก็ควรจะปล่อยให้รัฐบาลปกติที่เป็นตัวแทนของประชาชนตัดสินใจเองว่าจะให้ “เรียนฟรี12ปี” เริ่มต้นและสิ้นสุดที่ใด ไม่ใช่กงการของรัฐธรรมนูญที่จะระบุรายละเอียดขนาดนี้เลยแม้แต่น้อย ด้านสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติระบุชัดว่าร่าง รัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอันเป็นที่ยอมรับตรงกันว่าประเทศรัฐภาคีจะต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกัน

ขณะที่กนกพร สบายใจ ตัวแทนเครือข่ายการศึกษาทางเลือกกล่าวว่า เรื่องการศึกษาทางเลือกได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่ร่างนี้ตัดทิ้งไปทั้งที่มันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากล ในกฎหมายใหญ่ควรเขียนเรื่องหลักการที่จะให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกการ ศึกษาและหลักการที่จะได้รับการสนับสนุนสวัสดิการที่ถ้วนหน้าที่รัฐจัดให้ ยังมีปัญหารวมศูนย์จัดการศึกษาไว้ทุกด้านทุกระบบไว้ที่รัฐ

อ่านต่อสรุปร่างรัฐธรรมนูญ: การศึกษาไม่เป็น "สิทธิ" รัฐต้องจัดเรียนฟรี 12 ปี จากเด็กเล็กถึงม.3 

หน้าที่ของรัฐต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค สิทธิในการเยียวยาความเสียหายของผู้บริโภค

รัฐธรรมนูญ 2540 กล่าวถึงสิทธิของผู้บริโภคว่า ผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองและต้องมีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทน ผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการออกกฎหมายต่าง รวมทั้งให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้เขียนขยายความถึงสิทธิดังกล่าวในมาตรา  61 ว่า สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองในการรับข้อมูลที่เป็นจริงและมี สิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ในวรรค 2 ของมาตราเดียวกันยังระบุว่า ให้มีองค์กรที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นองค์กรอิสระจากภาครัฐปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 แต่เพิ่มเติมการตรวจสอบและรายงานการกระทำและการละเลยการคุ้มครองผู้บริโภค

มาตรา 46 ของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ระบุว่า สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง โดยบุคคลมีสิทธิในการรวมตัวจัดตั้งองค์กรเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคที่ มีความเป็นอิสระโดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ มาตราที่ 61 ระบุว่า รัฐจะต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของผู้ บริโภค จะเห็นได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดทอนข้อเขียนในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ว่า บุคคลมีสิทธิในการร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย

อ่าน ต่อสรุปร่างรัฐธรรมนูญ: สิทธิของผู้บริโภคและการจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากรัฐ อาจจะยากขึ้นไปอีก 

หน้าที่ของรัฐต่อการบริการสาธารณสุขของรัฐ สิทธิเสมอกันหายไป

รัฐธรรมนูญปี 2540 เขียนถึงสิทธิการได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและผู้ยาก ไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่า ใช้จ่าย การบริการทางสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กรส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมเท่าที่จะทำได้ ในเรื่องการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตราย รัฐจะต้องจัดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่าและทันต่อเหตุการณ์

มาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดย ไม่เสียค่าใช้จ่าย บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ขณะที่การป้องกันและขจัดโรคติดต่อได้กลายเป็นสิทธิของบุคคลที่รัฐจะต้องจัด หาให้อย่างเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์

ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เขียนไว้ในมาตรา 47 ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตาม ที่กฎหมายบัญญัติ และบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่ เสียค่าใช้จ่าย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ย้ายการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่าง ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพไปอยู่ในมาตรา 55 ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ  และเขียนรายละเอียดใหม่โดยตัดทอนคำว่า "ได้มาตรฐาน" "ทันต่อเหตุการณ์" และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำสำคัญอย่างคำว่า "เสมอกัน"  ออกไป

นโยบายที่สะท้อนถึงหลักสิทธิสุขภาพเสมอกันของคนไทยคือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2545 จากสถิติในปี 2552 พบว่า คนไทยราว 47 ล้านคนพึ่งพิงอยู่กับระบบประกันสุขภาพ ระบบดังกล่าวสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยลงอย่างต่อเนื่องและลดปัญหาความ ยากจนที่เกี่ยวเนื่องกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ดังนั้นการลดทอนคำว่า เสมอกัน จึงก่อกระแสความกังวลของหลายภาคส่วนว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่การยก เลิกระบบหลักประกันสุขภาพ ส่งผลให้มีแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ของรัฐสภาว่า การตัดสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าออกไปไม่เป็นความจริงแต่ไม่ได้ให้เหตุผลที่ ชัดเจนด้วยว่า ทำไมถึงตัดคำว่า เสมอกันออกจากสิทธิการรับบริการสาธารณสุขของคนไทยและยังกล่าวอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนให้สิทธิเพิ่มแก่ประชาชนในด้านการป้องกันและขจัดโรค ติดต่ออันตราย ทั้งที่การให้สิทธิดังกล่าวปรากฏมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว

อ่านต่อสิทธิทางสาธารณสุข เพิ่มสิทธิมารดา คำว่า "สิทธิเสมอกัน" หายไป 

สิทธิในกระบวนการยุติธรรมย้ายไปหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ พันธะระหว่างรัฐและประชาชนหายไป

ไม่เพียงแค่สิทธิจะถูกย้ายไปยังหมวดหน้าที่ของรัฐแล้วยังมีสิทธิบางอย่างที่ ไม่ถูกพูดถึงในหมวดสิทธิและเสรีภาพเลย แต่มาปรากฏอยู่ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ อย่างสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 ได้เขียนไว้อย่างละเอียดถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของบุคคลและบุคคลย่อมมี สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยสิทธิดังกล่าวมีพันธะผูกพันกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน และประชาชนเองมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลในกรณีที่รัฐไม่ทำหน้าที่ให้เกิดสิทธิ ดังกล่าวได้ นอกจากนี้หน่วยงานที่ใช้อำนาจต่อสิทธิดังกล่าวยังต้องคำนึงถึงหลักศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์อีกด้วย

แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กลับย้ายสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไปอยู่ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 68 ซึ่งหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐเป็นเพียงแนวทางที่ให้รัฐดำเนินการตรากฎหมายและ กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น ไม่มีมาตราใดมารับรองพันธกรณีที่รัฐมีต่อประชาชนในสิทธินั้น ขณะเดียวกันเมื่อสิทธิดังกล่าวถูกโยกย้ายไปเป็นแนวนโยบายของรัฐ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช้คำว่า "ต้อง" แต่หลีกเลี่ยงไปใช้คำว่า "พึง" แทน ทั้วที่ก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิที่ประชาชนจำต้องได้ในฐานะมนุษย์ที่เข้าสู่กระบวนการ ยุติธรรม แต่รัฐธรรมนูญ 2559 กลับนำไปจัดไว้ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ  และมีรายละเอียดที่เกี่ยวกับลดน้อยลงมาก

เรื่องนี้ไพโรจน์ พลเพชร อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ให้ความเห็นว่า การย้ายสิทธิไปไว้ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐจะทำให้บทบัญญัติในหมวดนี้ไม่มี ความหมายและไม่มีผลในทางปฏิบัติ