ความคืบหน้าร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ถึงหมวดคณะรัฐมนตรี มาตรา 173 ตัดทิ้งข้อความ "นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" เปิดช่องนายกรัฐมนตรีคนนอก เทียบ รธน.ฉบับ รสช. และ รธน.ยุคเกรียงศักดิ์-เปรม ขณะที่เมื่อฟอร์มทีม ครม.ได้แล้ว นายกรัฐมนตรีต้องส่งรายชื่อให้วุฒิสภาสอบประวัติ - ก่อนเสนอชื่อ ครม. เพื่อกราบบังคมทูล
26 ก.พ. 2558 - ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการนัดประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 53-58 ระหว่างวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 - วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา จ.ชลบุรี โดยมีระเบียบวาระการประชุมเป็นการพิจารณายกร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ในเวลา 15.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำเสนอรายงานความคืบหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญ และมีการเผยแพร่เอกสารดังกล่าวในเว็บไซต์ของรัฐสภา (ดูเอกสารประกอบ) โดยในวันดังกล่าวเป็นการพิจารณาร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญรายมาตราของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี หมวด 4 คณะรัฐมนตรี มาตรา 173 - 184 มีรายละเอียดของการยกร่างที่สำคัญได้แก่
มาตรา 173 เปิดช่องนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
โดยที่มาของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในมาตรา 173 ระบุว่า
"มาตรา 173 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัตติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะรัฐมนตรี
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองวาระมิได้"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 พบว่าร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดในมาตรา 173 ได้ตัดข้อความที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งออก โดยในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 171 วรรคสอง ระบุว่า "นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 172" โดยนับเป็นการถอยกลับไปใช้บทบัญญัติที่ใกล้เคียงกับที่ระบุในรัฐธรรมนูญปี 2521 และล่าสุดในรัฐธรรมนูญปี 2534 ยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่ได้กำหนดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง
ขณะที่รัฐธรรมนูญล่าสุดห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองวาระ ส่วนในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 171 วรรคสอง กำหนดระยะเวลามากกว่านั้น คือระบุว่า "นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้"
วุฒิสภาจะประชุมเพื่อสอบประวัติ-ก่อนเสนอชื่อ ครม. เพื่อกราบบังคมทูล
มาตรา 176 ระบุว่า
"มาตรา 176 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำชื่อรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรีจะต้องนำชื่อผู้ซึ่งจะเป็นรัฐมนตรีส่งให้ประธานวุฒิสภา แล้วให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา 132 วรรคสองต่อไป"
สำหรับมาตรา 132 ที่อ้างถึงในมาตรา 176 ระบุว่า
"มาตรา 132 เมื่อมีกรณีที่วุฒิสภาต้องพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้วุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และ พฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนั้น รวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็น แล้วรายงานต่อวุฒิสภาเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
เมื่อมีกรณีที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นในการที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอนำความกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคล ให้วุฒิสภาดำเนินการตามวรรคหนึ่ง โดยจะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการเสนอนั้น มิได้ แล้วแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อจากนายกรัฐมนตรี"
มาตรา 177 ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติรัฐมนตรี ระบุว่า
"มาตรา 177 รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 113 (1) (2) (3) (4) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (12) (13) (14) หรือ (15) หรือ (16)
(5) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป เว้นแต่ในควำมผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(5/1) ไม่ได้แสดงสำเนาแบบรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลาสามปีต่อประธานวุฒิสภา ปกปิด หรือแสดงหลักฐานดังกล่าวอันเป็นเท็จ เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งไม่มีรายได้ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี
(6) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปีนับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี"
มาตรา 113 ตามที่อ้างถึงในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 177 เป็นลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยบางข้อความในมาตรา 113 นำมาใช้เป็นลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นรัฐมนตรีด้วย ระบุว่า
"มาตรา 113 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(1) ติดยาเสพติดให้โทษ
(2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(3) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 111 (1) (2) หรือ (4)
(4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล"
"...(6) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
(7) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(8) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม
(9) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือข้าราชการการเมือง
(10) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(11) เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงแล้วยังไม่เกินสองปี
(12) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(13) เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
(14) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 259
(15) เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองตามมาตรา 256 หรือมาตรา 257
(16) ลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา"
คณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อรัชทายาท-ผู้แทนพระองค์ก็ได้
มาตรา 178 ระบุว่า
"มาตรา 178 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อ พระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในจริยธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถวายสัตย์ปฏิญาณตามวรรคหนึ่งต่อพระรัชทายาท หรือผู้แทนพระองค์ก็ได้”
ครม.ต้องดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ-ความมั่นคง-แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภา
มาตรา 179 ระบุว่า
"มาตรา 179 คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการในเรื่องใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่
ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อน เพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้"
มาตรา 181 ได้เพิ่มข้อความให้คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตาม ยุทธศาสตร์ นโยบาบความมั่นคงแห่งชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว จากเดิมในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดเพียงให้คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตนเท่านั้น โดยในมาตรา 181 ที่เพิ่มเติมข้อความระบุว่า
"มาตรา 181 ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรวมถึงนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว และต้องรับผิดชอบต่อ สภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี"
ที่มา: ประชาไท