รัฐบาล “ประยุทธ์” แถลงผลงาน 6 เดือน – “หม่อมอุ๋ย” โชว์ไส้ในเศรษฐกิจ หากส่งออกไม่สะดุด จีดีพีไตรมาส 2/2558 โตไม่ต่ำกว่า 4%

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558 เวลา 9.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านต่างๆ อาทิ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กระทรวงกลาโหม, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ, นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลงานรัฐบาลช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา(อ่านรายละเอียดทั้งหมด)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาว่า ผลจากการเร่งรัดโครงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ จากไตรมาสแรกปี 2557 จีดีพีติดลบ 0.5% กลับมาขยายตัวเป็นบวก 0.5% ในไตรมาสที่ 2 ไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 0.6% ไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 2.3% และยังคงขยายตัวต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 1/2558 ขยายตัว 3%

เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2558 มีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การลงทุนภาครัฐขยายตัว 5% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4% และถ้าดูตัวเลขของกระทรวงอุตสาหกรรมจะพบว่าการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกภาคบริการขยายตัว 15% ขณะที่ภาคการส่งออกไตรมาสแรกของปี 2558 ติดลบ 4% ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2558) คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4% ถ้าดูจากสถิติการอนุญาตจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าขยายตัว 10% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การลงทุนภาครัฐขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% เนื่องจากขณะนี้มีโครงการลงทุนของรัฐทำสัญญาผูกพันแล้ว หากภาคส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น จากติดลบ 4% ในไตรมาสแรก มาเป็นขยายตัว 0% คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 4% แน่นอน

“ข้อสังเกตคือ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ 3 ตัว การลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว แต่ภาคส่งออกติดลบ 4% ถือเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ หากภาคส่งออกไม่ติดลบ เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัว 4% ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ ดังนั้น ถ้าจะดูเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเท่าไหร่ต้องดูที่ภาคส่งออกเป็นสำคัญ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นภาคส่งออกหรือไม่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า การส่งออกขึ้นอยู่กับตลาดโลกจริงๆ คงออกมาตรการอะไรมากไม่ได้ หากไปดูข้อมูลประเทศคู่ค้าสำคัญ ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 ยอดส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่ลดลงมากที่สุดคือ ส่งออกไปประเทศจีน ติดลบ 11% ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการปราบคอร์รัปชัน ทุกครั้งที่รัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังหรือเข้มงวดในเรื่องนี้ เศรษฐกิจจีนก็ชะลอตัวลง การนำเข้าและการบริโภคภายในประเทศก็ลดลง แล้วการบริโภคในประเทศจะชะลอตัวลงตาม แต่ในขณะนี้จีนหันมากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว คาดว่าจะกลับมาสั่งซื้อสินค้าไทยเหมือนเดิม อันดับ 2 คือสหภาพยุโรป 2 เดือนแรกของปีนี้ ยอดส่งออกติดลบ 5% ถัดมาเป็นญี่ปุ่นติดลบเล็กน้อย เนื่องจากกำลังซื้อลดลง ขณะนี้ทางรัฐบาลกลางของญี่ปุ่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กรณีสภาหอการค้าเสนอให้ลดค่าเงินบาทลงเล็กน้อย เพื่อช่วยผู้ส่งออก ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า หลังจากที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทแล้วไม่สามารถลดค่าเงินบาทได้ ค่าเงินอ่อนหรือแข็งค่าขึ้นอยู่กับภาคการค้าระหว่างประเทศ สิ้นปี 2557 ดุลการชำระเงินของประเทศไทยอยู่ที่ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ดูแล ค่าเงินบาทต้องแข็งค่าขึ้นกว่านี้อีก อย่างเช่น ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 ดุลการค้าเป็นบวก 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่มีเงินทุนไหลออกไปส่วนหนึ่ง ทำให้เหลือเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ค่าเงินบาทขณะนี้ไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก แสดงว่า ธปท. มีการแทรกแซง แต่ถ้าจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมากกว่านี้คงจะดี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ธปท.

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี

“ถามว่าจะมีมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกไหม ผมว่าอย่าเพิ่งไปผลักดันอะไรมาก ขอดูภาคส่งออกก่อน ที่ผ่านมาใช้งบประมาณมากแล้ว อย่างเช่นภาคการเกษตร รัฐบาลใช้เงินไปเกือบ 6 หมื่นล้านบาท แต่ก็ไม่ได้เสียดายอะไร เพราะไม่ได้ทำให้รัฐเสียหาย 7-8 แสนล้านบาท” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ในฤดูการผลิตข้าวถัดไป รัฐบาลเตรียมจัดมาตรการชดเชยรายได้ให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ขอดูก่อนว่าราคาผลิตผลทางการเกษตรเป็นอย่างไร สาเหตุที่รัฐบาลจัดมาตรการมาชดเชยรายได้ให้เกษตรกร 40,000 ล้านบาท เพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจชะลอตัวมาก รายได้เกษตรกรตกต่ำมาก โดยเฉพาะชาวนากับชาวสวนยาง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเติมเงินให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้เสียเปรียบภาคอื่นๆ ส่วนมาตรการจำกัดพื้นที่เพาะปลูก ขณะนี้มีชาวสวนยางสมัครใจเข้ามาขอสินเชื่อกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจังหวัดแล้ว 87,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวสวนยางที่มีพื้นที่เพาะปลูกเกิน 10 ไร่

ส่วนมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวนั้น นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะแถลงข่าวในวันที่ 23 เมษายน 2558 ในมาตรการดังกล่าวนี้จะมีแผนการลดพื้นที่ปลูกข้าว โดยสนับสนุนให้ชาวนาไปปลูกอ้อยแทน ในปี 2558 ตั้งเป้าหมาย 7 แสนไร่ คาดว่าภายใน 3-4 ปี จะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยได้ถึง 6 ล้านไร่ แต่ต้องทยอยทำให้สอดคล้องกับโรงงานน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นด้วย

“สัปดาห์ถัดไป ผมจะแถลงข่าวความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมส่งข้อมูลมาให้ผมค่อนข้างชัดเจนมาก เช่น ก่อนปีงบประมาณ 2558 สร้างถนนเสร็จไปแล้วกี่เส้นทาง ขณะนี้กำลังก่อสร้างกี่เส้นทาง เสร็จเรียบร้อยเมื่อไหร่ และจะต้องเร่งเปิดประมูล หรือทำสัญญาในปี 2558 มีกี่เส้นทาง จริงๆ เศรษฐกิจก็เริ่มดีแล้ว แต่ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร เศรษฐกิจไทยจะกลับมาคึกคักได้ ภาคส่งออกต้องกลับมาขยายตัว ตอนนี้โฟกัสต้องมุ่งไปที่ภาคส่งออกเป็นสำคัญ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ที่มา: ไทยพับลิก้า