ภายหลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเสนอต่อสภาปฎิรูปแห่งชาติ ใช้เวลาในการพิจารณา 7 วันระหว่างวันที่ 20-26 ในรัฐธรรมนูญจำนวน 130 หน้า รวมทั้งหมด 315 มาตรา
SIU ตั้งข้อสังเกตบางประการในร่างรัฐธรรมนูญใน ส่วนของที่มา นายกรัฐมนตรีที่เปิดโอกาศให้คนนอกเข้ามาดำรงตำแหน่ง หลักการในคัดสรร สว. รวมถึงการเกิดองค์กรใหม่ๆตามรัฐธรรมนูญดังนี้
ที่มาของนายกรัฐมนตรี
- ถ้าเป็นผู้แทนราษฎรต้องได้รับคะแนนเสียงของสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)จำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
- ถ้าไม่ได้เป็นสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ต้องได้รับคะแนนเสียง 2/3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
ความน่าสนใจในที่มาของนายกรัฐมนตรี นอกจากไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งแล้ว ในมาตรา 173 ระบุว่าในกรณีที่พ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาประชุมเป็นครั้งแรกแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูลภายใน 15 นับแต่วันที่พ้นกาหนดเวลาดังกล่าว เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี กลไกนี้นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอก อาจไม่จำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียง 2/3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดก็ได้
ที่มาของ สว.จำนวน 200 คน
เลือกกันเอง 65 คน
-อดีตข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าซึ่งเป็นตำแหน่งบริหาร และอดีตข้าราชการฝ่ายทหาร ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ไม่เกิน 20 คน
-ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง 15 คน
-ผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่น 30 คน
สรรหา จำนวน 58 คน
ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การเศรษฐกิจ การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ผังเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค ด้านเด็กเยาวชน สตรี ด้านผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ และด้านอื่น
เลือกตั้ง 77 คน
ผู้ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน ที่มาของผู้ที่จะสมัครเลือกตั้ง จะต้องผ่านการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิและด้านคุณธรรม(4) ก่อนที่จะมีสิทธิรับเลือกตั้ง
ที่มาของ สว.โดยภาพรวมยังคงโยงกับกลุ่มอดีตข้าราชการในตำแหน่งสูง การสรรหายังคงใช้กฎเกณฑ์คุณธรรมมาเป็นตัวชีวัด แม้จะมีบางส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังต้องผ่านการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิและด้านคุณธรรม
ที่มาภาพ http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1401504139
เกิดหน่วยงานและองค์กรต่างๆจำนวน 15 แห่ง
องค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 60)
สภาตรวจสอบภาคพลเมือง จำนวน 77 จังหวัด (มาตรา 71)
สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ (มาตรา 74)
คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ (มาตรา 77)
คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม (มาตรา 207)
สมัชชาพลเมือง (มาตรา 215)
ศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ (มาตรา 244)
คณะกรรมการดำเนินการจัดเลือกตั้ง (กจต.) (มาตรา 268)
ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน (มาตรา 275)
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ(มาตรา 279)
คณะกรรมการปฏิรูปการเงิน การคลัง และภาษีอากร(มาตรา 283)
คณะกรรมการการกระจายอำนาจแห่งชาติ(มาตรา 285)
คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ(มาตรา 286)
คณะกรรมการปฏิรูปสังคมและชุมชน(295)
คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ (มาตรา 297)
องค์กรหนึ่งที่น่าจับตาคือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ(มาตรา 279) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีจำนวน 120 คน ประกอบไปด้วย สปช. 60 คน สนช. 30 คน ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ 30 คน คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน 15 คน โดยที่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นคนคัดเลือก
ทำหน้าที่เสนอนโยบายการปฎิรูปต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสนับสนุนงบประมาณเพื่อการดำเนินการ หาก ครม.ไม่สามารถดำเนินตามข้อเสนอได้ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ว่าจะต้องดำเนินการเรื่องนั้นหรือไม่ ผลการออกเสียงประชามติดังกล่าวให้มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้ต้องปฏิบัติตาม
แต่สิ่งที่ SIU ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือการกลไกในการดำเนินการตามข้อเสนอของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ
- ในมาตรา 280 หากเห็นว่าต้องตราพระราชบัญญัติขึ้นเพื่อให้บังคับจริงๆ ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติเสนอต่อวุฒิสภาก่อน หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบให้ร่างพรบ.ตกไป หากเห็นชอบให้วุฒิสภาเสนอร่าง พรบ.ต่อสภาผู้แทนราษฎร และหากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ ให้นำร่างกลับมาที่วุฒิสภาเพื่อลงมติ 2/3 และสามารถออกเป็นกฎหมายได้เลย
- ในกรณีที่เป็นร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงิน(งบประมาณแผ่นดิน การกู้เงิน การจัดเก็บภาษี) หากจะเสนอต่อวุฒิสภา ต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีโดยมีเวลาพิจารณารับรอง 30 วัน หากไม่แจ้งผลการพิจารณาภายใน เวลาที่กำหนด ให้ถือว่านายกรัฐมนตรีให้คำรับรอง
โดยภาพรวมแล้ว SIU มองว่าโครงสร้างรัฐธรรมนูญมุ่งลดอำนาจของนักการเมืองที่เป็นผู้แทนของประชาชน หากมองเข้าไปในส่วนที่มา ส.ส.สัดเป็นส่วนผสม 450 คน ส.ส.เขต 250 คน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 200 คน เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลผสม ไม่ต้องการให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง บีบให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ การดำเนินการในการผลักดันนโยบายต่างๆยากมากยิ่งขึ้น ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยากยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ที่พรรคเพื่อไทยเคยมีความพยายาม ในขณะเดียวกันการเกิดขึ้นขององค์กรต่างๆมากมายที่ใช้อำนาจโดยไม่มีหน่วยงานไหนถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจ รวมถึงการเอื้อกลไกในบางมาตรา(279)เพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช.ต่อไป
ที่มา: Siam Intelligence