29 เม.ย.2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่เอกสารความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเนื้อหาเอกสารดังกล่าวเป็นการชี้ให้เห็นถึง ความไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตยและความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประการ อันประกอบด้วย ที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นต่างๆ และร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย
โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุตอนท้ายด้วยว่า ขอแสดงจจุดยืนทางประชาธิปไตยด้วยการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่จุดเชื่อมโยงกับประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และเสนอให้มีการยกเลิกกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ทั้งหมด จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการคัดเลือกของประชาชน โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงยกเลิกประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่จากัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และให้ประชาชนลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
เอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
เกริ่นนำ
ปัจจุบันความเคลื่อนไหวของร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรดำเนินถึงขั้นตอนที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้งฉบับเสร็จสิ้นแล้วและนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นและขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ณ ช่วงเวลานี้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญได้ปรากฏต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นต่อความไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตยและความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประการ ดังนี้
ประการที่ 1 ที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนคือฐานความชอบธรรมของการใช้อำนาจรัฐและเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญที่จะถูกร่างและประกาศใช้เป็นกฎเกณฑ์พื้นฐานในการปกครองประเทศจะต้องได้รับการเห็นชอบจากประชาชนและองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐปกครองหรือทำการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจรัฐไม่ว่าทางตรง คือได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชน หรือทางอ้อม คือได้รับการแต่งตั้งจากตัวแทนของประชาชน แต่ปรากฏว่าที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีปัญหาเรื่องความไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตย ใน 3 ส่วน ได้แก่
1.1 ที่มาของร่างรัฐธรรมนูญเป็นผลโดยตรงมาจากการรัฐประหาร
การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นผลโดยตรงมาจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะข้าราชการทหารและตำรวจนามว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รวมถึงคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนสิ้นสุดลง ในทางกฎหมายถือว่าการกระทำรัฐประหารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และถือว่าเป็นการใช้กำลังเข้าถือครองอำนาจรัฐโดยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย โดยภายหลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ก่อตั้งสถาบันการเมืองขึ้นมา 5 สถาบันการเมือง ประกอบด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ร่วมมือกันปฏิรูปประเทศไทยและทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป ซึ่งคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
1.2 องค์กรที่ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน
ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย บรรดาองค์กรที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบสภาหรือคณะกรรมาธิการก็ตาม ต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านการได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงหรือได้การแต่งตั้งจากผู้แทนของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้ออกแบบขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยมีองค์กรที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้ ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้ง 5 องค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญมีปัญหาความไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะจากไม่มีองค์กรใดมีจุดเชื่อมโยงกลับไปหาประชาชน เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นองค์กรที่ถือกำเนิดมาโดยการรัฐประหาร รวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีและสภาปฏิรูปแห่งชาติต่างก็เป็นองค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เช่นเดียวกันกับที่มาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน ก็มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ
1.3 ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน
ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนคือผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ดังนั้นการกระบวนการยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ในทางกฎหมายต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนโดยตรงผ่านประชามติหรือได้รับความยินยอมจากผู้แทนของประชาชน เช่น รัฐสภา แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ขั้นตอนที่ 2 สภาปฏิรูปแห่งชาติแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แก่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันหลังจากได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะ ตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ข้อตอนที่ 3 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำเสร็จต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงยื่นคำขอให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ขั้นตอนที่ 4 เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นตามข้อเสนอและคำขอ ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญให้สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 37 ตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ในแง่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ย่อมพิจารณาได้ว่าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีขั้นตอนกำหนดให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจรัฐมีส่วนในการลงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด จึงส่งผลให้ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
ประการที่ 2 ความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แบ่งออกเป็น 4 ภาค 315 มาตรา ซึ่งมีประเด็นที่ควรต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 สิทธิเสรีภาพ
ในหมวดสิทธิเสรีภาพ ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 รัฐจะดำเนินการรับรองสิทธิของบุคคลให้สัมฤทธิ์ผลตามความสามารถทางการคลังของรัฐเท่านั้น ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญแบ่งสิทธิออกเป็น 2 ประเภทคือสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง
ตามมาตรา 26 สิทธิพลเมือง หมายถึงสิทธิของประชาชนชาวไทยเท่านั้นโดยจะครอบคลุมถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหลายอย่างเช่น สิทธิในการศึกษา เสรีภาพในการชุมนุม สิทธิในการได้รับการบริการด้านสาธารณสุขรวมถึงสิทธิชุมชนท้องถิ่นซึ่งกรณีเหล่านี้ตามมาตรา 45 ตัดสิทธิประชาชนที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองในสิทธิเหล่านี้เพียงเท่าที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่รัฐจัดให้เท่านั้น
ด้านเสรีภาพสื่อ ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 กำหนดให้เจ้าของกิจการสื่อมวลชน ต้องเป็นพลเมืองชาวไทยเท่านั้น โดยที่ห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและห้ามเป็นเจ้าของกิจการสื่อหลายกิจการที่จะมีผลต่อการครอบงาการนาเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสังคม
การบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้เห็นว่าได้ เป็นการละเลยหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหลายประการ แม้การแยกสิทธิมนุษยชนกับสิทธิพลเมืองออกจากกัน จะเป็นความเห็นที่ยอมรับในเชิงวิชาการ แต่สิทธิพลเมือง ครอบคลุมเพียงแค่สิทธิทางการเมือง เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง หรือสิทธิในการรวมกันเป็นสมาคมเท่านั้น ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติบัญญัติกลับให้สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เช่น สิทธิด้านสาธารณสุข หรือสิทธิทางการศึกษาเป็นสิทธิพลเมือง ซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนชาวไทยเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 45 กำหนดให้คุ้มครองสิทธิบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยเท่าที่รัฐจัดให้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าว
นอกจากนี้สิทธิชุมชน ยังมีความน่ากังวลที่รัฐจะคุ้มครองเพียงชุมชนของพลเมืองเท่านั้น แต่ละเลยไม่คุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย ชนเผ่าที่อยู่อาศัยตามพื้นที่ต่างๆของไทย ซึ่งบุคคลเหล่านี้เคยได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2550 เดิม แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่คุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนดังกล่าว
ประเด็นที่ 2 ระบบการบริหารราชการแผ่นดิน
ในประเด็นระบบการเลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่มาตรา 121 กลับกาหนดสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้งโดยอ้อม กล่าวคือ ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน แต่ผู้สมัครต้องได้รับการคัดกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมให้เหลือจังหวัดละ 10 คนก่อนการเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกวุฒิสภาที่เหลือให้มาจากการสรรหาจาก ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งฝ่ายทหาร จำนวน 10 คน ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งข้าราชการฝ่ายพลเรือน 10 คน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ 15 คน ผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรมจำนวน 30 คน ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง 58 คน
ในด้านอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 172 ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ แต่หากไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องได้รับมติเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามแต่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเวลาเดียวกันไม่ได้ ตามมาตรา 175 ในกรณีที่มีการยุบสภา ให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสภาพและให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ตามมาตรา 184
ด้านการเสนอร่างพระราชบัญญัติ มีการเพิ่มอำนาจให้กับวุฒิสภาในการเสนอร่างกฎหมายได้ โดยมาตรา 280 ของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีที่มาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ซึ่งสภาขับเคลื่อนดังกล่าว สามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศอันได้แก่ด้านกระบวนการยุติธรรมตารวจการเงินภาษีงบประมาณการบริหารการบริการสาธารณะท้องถิ่นการศึกษาการจัดการทรัพยากรพลังงานแรงงานวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เศรษฐกิจมหาภาคเศรษฐกิจรายภาคสาธารณะสุขสังคมการสื่อสารสารสนเทศ ให้แก่วุฒิสภาได้ ซึ่งหากวุฒิสภาเห็นชอบ ให้ส่งไปที่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป ซึ่งไม่ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบหรือไม่ก็ตาม หากวุฒิสภามีมติเห็นชอบในท้ายที่สุด ให้ส่งไปที่นายกรัฐมนตรีเพื่อมีความเห็นต่อไป หากนายกรัฐมนตรีไม่มีความเห็น ให้ถือว่านายกรัฐมนตรีเห็นชอบ
อย่างไรก็ดี ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในมาตรา 163 ที่ให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนทุกฉบับ หากเป็นพระราชบัญญัติทั่วไป มาตรา 164 หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติขัดหรือแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญ สามารถส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลวินิจฉัยได้
กระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ในร่างรัฐธรรมนูญ กาหนดในมาตรา 207 ให้การแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ ให้ใช้ระบบคุณธรรม โดยให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองและประธานกรรมการจริยธรรมประจากระทรวงต่างๆให้ทำหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว
มาตรฐานคุณธรรมสาหรับผู้นำทางการเมือง ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 74 กาหนดให้มีสมัชชาคุณธรรมและจัดทำประมวลจริยธรรมมีมาตรฐานทางจริยธรรมถ้าผู้นำทางการเมืองไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษและอาจถูกถอดถอนหรือตัดสิทธิทางการเมืองได้ ทั้งนี้ ให้สมัชชาคุณธรรมประเมินผลคุณธรรมของผู้นำทางการเมืองและแจ้งให้ประชาชนทราบ
กรณีนี้ เห็นได้ชัดว่าเป็นการลดอำนาจของนักการเมืองทั้งในการแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ โดยให้ผ่านคณะกรรมการคุณธรรม ซึ่งที่มาของระบบคุณธรรมหรือสมัชชาคุณธรรม ยังไม่มีที่มาชัดเจนนอกจากนี้ยังส่งผลให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถบังคับบัญชาข้าราชการได้ อีกทั้ง ยังมีการเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรที่ไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับประชาชน เช่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ที่สามารถเสนอกฎหมายผ่านไปยังวุฒิสภาได้เอง โดยที่วุฒิสภาส่วนใหญ่แล้วมาจากการสรรหาและเลือกตั้งโดยอ้อม แต่กลับมีอำนาจในการผ่านกฎหมายดังกล่าว แม้สภาผู้แทนราษฎรอันมาจากการเลือกตั้งจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
ประเด็นที่ 3 องค์กรอิสระ
ในส่วนขององค์กรอิสระ ร่างรัฐธรรมนูญใช้ชื่อว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยกาหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้องมีคณะกรรมการสรรหาโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจานวน 2 คนจากสมัชชาคุณธรรมซึ่งเป็นการใช้กลไกคุณธรรม ในการกากับดูแลองค์กรอิสระอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง มาตรา 268 ของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการดาเนินการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงต่างๆ เป็นกรรมการ ซึ่งกรณีเช่นนี้จะส่งผลให้ฝ่ายข้าราชการมีอำนาจเหนือฝ่ายการเมือง
ในส่วนของการส่งเสริม คุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชน ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 ได้ควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน มีคณะกรรมการ 11 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในทางเนื้อหาแล้วบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของระบบราชการ แต่บทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของประชาชน ดังนั้น การควบรวมสององค์กรเข้าด้วยกันจึงทำให้ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้
ประเด็นที่ 4 การแก้ไขรัฐธรรมธรรมนูญ
ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 301 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือประชาชนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคนลงชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ตามมาตรา 300 กำหนดการแก้ไขส่วนที่เป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ เช่น การมีส่วนร่วมทางการเมือง โครงสร้างสถาบันการเมือง ด้านวินัยทางการคลัง หมวดศาล การปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องให้รัฐสภาพิจารณาลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณา จากนั้นจึงส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้ประชาชนลงมติต่อไป
กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ ถือเป็นรัฐธรรมนูญประเภทแก้ไขยาก โดยต้องผ่านทั้งกระบวนการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถยับยั้งการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ซึ่งตามหลักประชาธิปไตย ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญคือประชาชน ประชาชนย่อมมีสิทธิในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ การให้องค์กรที่ไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับประชาชนยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จึงขัดกับหลักประชาธิปไตย
ประการที่ 3 ร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย
อุดมการณ์ของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยวางอยู่บนหลักการที่ว่าอำนาจรัฐทั้งหมดมาจากประชาชน ความเชื่อมั่นในการมีส่วนร่วมทางการปกครองของประชาชน ดังนั้น องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายที่ถูกก่อตั้งโดยรัฐธรรมนูญจะต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนทั้งหมดผ่านการได้รับเลือกตั้งหรือได้รับการแต่งตั้งจากผู้แทนของประชาชน เพื่อให้การบริหารประเทศ ออกกฎหมายและการตัดสินคดีความเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมุ่งจำกัดการมีส่วนร่วมทางการปกครองของประชาชนและไม่ไว้วางใจต่อการตัดสินใจของประชาชน ผ่านกระบวนการสามขั้นตอน โดยในขั้นแรก ร่างรัฐธรรมนูญออกแบบระบบทางการเมืองทำให้ผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง อันได้ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ให้ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและไร้อำนาจผ่านระบบเลือกตั้งที่มุ่งก่อให้เกิดรัฐบาลที่ผสม และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากบุคคลที่ไม่จาเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ รวมถึงได้บัญญัติมอบอำนาจด้านบริหารบุคคล แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอยู่ในอำนาจขององค์กรอื่นที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน อย่าง คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเมืองโดยระบบคุณธรรม
ในขั้นที่สองร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้สร้างขึ้นมาเป็นกลไกในการควบคุมผู้แทนของประชาชนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ประกอบด้วยองค์กรรัฐ อย่าง ศาล วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งของวุฒิสภา ซึ่งล้วนแต่ก็เป็นองค์กรที่มีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ในการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะของนโยบายทางการเมืองอย่างเข้มงวด รวมทั้งผ่านการเห็นชอบการเข้าดารงตำแหน่งและถอนถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น
และขั้นสุดท้ายในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ออกแบบให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ เป็นองค์กรที่ถืออำนาจรัฐเหนือผู้แทนประชาชนในการกาหนดนโยบายการบริหารประเทศและออกกฎหมายโดยอาศัยข้ออ้างในการสานต่อการปฏิรูป เพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารอย่างต่อเนื่องแม้จะมีการประกาศรัฐใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว
ความเห็นของศูนย์ทนายความต่อร่างรัฐธรรมนูญ
ตามเหตุผลทางหมดที่กล่าวมาข้างต้น ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน จึงขอแสดงจุดยืนทางประชาธิปไตยด้วยการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่จุดเชื่อมโยงกับประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และเสนอให้มีการยกเลิกกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ทั้งหมด จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการคัดเลือกของประชาชน โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงยกเลิกประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่จากัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และให้ประชาชนลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
ที่มา: ประชาไท