เดลีนิวส์ รายงาน 18 มิ.ย. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปาฐาถกฐาเรื่อง "รู้ลึก รู้ชัด กับอนาคตรัฐธรรมนูญ" โดยมีสาระสำคัญดังนี้
บวรศักดิ์ลั่น สปช.-คสช. คุมเกมรัฐธรรมนูญ แต่ตนจะร่างรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ที่วางไว้
บวรศักดิ์ กล่าวว่า "ใครบอกว่าตน รู้ลึก รู้ชัด กับอนาคตรัฐธรรมนูญ ต้องบอกว่าผิดหวัง เพราะแม้แต่ตนก็ยังไม่รู้อนาคตตัวเองเลย ซึ่งคนที่จะรู้ก็คือสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) จากนั้นคือ คสช. ที่จะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เมื่อใดก็ได้ ดังนั้นถ้าอยากรู้ชัดต้องไปถาม สปช .และ คสช. ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 19 ฉบับ ซึ่งฉบับที่กำลังร่างกันอยู่ เป็นฉบับที่ 20 เฉลี่ย 4 ปีใช้รัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ ทั้งนี้เหตุการณ์ปฎิวัติรัฐประหารในประเทศไทยมีเยอะมาก ไม่รวมกบฎต่าง ๆ สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2534 ตอนนั้นก็มีแต่คนบอกว่าไม่มีปฎิวัติ ถัดมาอีก 2 วัน พล.อ.ชาติชาย และตน ก็ต้องไปนอนค่ายทหาร 15 วัน
ช่วงเหตุการณ์ 19 ก.ย.49 ทุกคนก็บอกไม่เกิดแล้ว และมาล่าสุดเหตุการณ์ 22 พ.ค.57 ดังนั้นใครจะมาบอกว่าต่อไปจะไม่มีปฎิวัติรัฐประหารอีก ใครจะเชื่อก็เชื่อไป แต่ตนคงไม่เชื่อ เพราะตรงนี้เป็นวัฒนธรรมที่ฝังอยู่ในบ้านเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งจะเปลี่ยนได้หรือไม่ ก็ต้องอยู่ที่คนรุ่นใหม่ นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตลอด 8 ปีกว่าของความขัดแย้งของประเทศไทย มีความเสียหาย ชุมนุมแบบปักหลักค้างคืน 701วัน เสียหายทุกอย่าง ทั้งค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเยียวยา ค่าเผา ค่าเลือกตั้ง 2 ครั้ง และอื่นๆ มีมูลค่าเสียหายรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนเกิดเหตุการณ์ วันที่ 22 พ.ค.57 ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเหลียวหลังแก้ปัญหาในอดีต แลหน้าสู่อนาคต จึงมีเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญ 4 ข้อ คือ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข
บวรศักดิ์งง? กกต. กำหนวันประชามติเร็วไป อนาคตให้ดูการแก้ไข รธน.ชั่วคราว
บวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ที่มีการขยายเวลาให้ กมธ.ยกร่างฯ ออกไปอีก 30วัน ซึ่งเราจะส่งร่างให้ สปช. วันที่ 22 ส.ค.นี้ คาดว่าระหว่างวันที่ 5-7 ก.ย. ทาง สปช.จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากไม่เห็นชอบก็เป็นฝาแฝดอิน-จัน ตายตามกันไป และถ้าไปอ่านในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)ให้ดี จะเห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็จะตั้ง กมธ.ยกร่างฯ 21 คนมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใน 180 วัน และถ้าไม่ผ่านการทำประชามติ อีก กมธ.ยกร่างฯ 21 คน ก็สิ้นสุดการปฎิบัติหน้าที่ และไปดูดี ๆ ไม่ได้มีการเขียนเอาไว้ว่าจะทำยังไงต่อ แสดงว่า "แป๊ะ"ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)ต่อ เพราะไม่ได้มีการเขียนเอาไว้ว่าจะต้องทำอย่างไร และตนก็สงสัยว่า กกต.ไปกำหนดวันลงประชามติวันที่ 10 ม.ค.59 ได้อย่างไร เนื่องจากต้องแจกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ครบ ร้อยละ 80 ของครัวเรือน หรือประมาณ 19 ล้านฉบับ
บวรศักดิ์เปิดเผยอาจมีปรับแก้ ระบบเลือกตั้ง-กลุ่มการเมือง-ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี
ตนยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในอุดมคติของตน และการที่ ครม. ขอแก้ 100 กว่าจุดแสดงให้เห็นว่าไม่มีพิมพ์เขียว พิมพ์ชมพู หรือเขียนมาที่แป๊ะสั่ง ซึ่ง ครม.ได้กำชับมาตลอดว่าการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไม่ให้มีการออกมาตีกันอีก แต่ตนยืนยันว่าเจตนารมณ์ 4 ข้อนั้นต้องอยู่ เพราะเหมือนกับการออกแบบบ้าน ตรงนี้คือเสาเอก ถ้าเราจะสร้างบ้านแล้วมารื้อเสาเอกทิ้ง ก็ต้องหาคนเขียนใหม่ นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า การทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ อยู่ระหว่างการดูคำขอแก้ไข ซึ่งในหมวดการเมือง มีแนวโน้มที่จะปรับปรุงแก้ไข อาทิ การปรับจำนวน ส.ส. จากเดิม 250 คน อาจปรับเป็นส.ส.เขต 300 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน และมีแนวโน้มว่าการคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6 ภาค อาจปรับเป็นแบบเดิมโดยใช้เป็นเขตประเทศ
ส่วนเรื่องกลุ่มการเมืองก็มีแนวโน้มสูงที่จะเอาออก แต่จะให้มีการตั้งพรรคการเมืองง่ายขึ้น เพราะเราไม่อยากให้พรรคการเมืองเป็นของคนตระกูลใดเหมือนที่ผ่านมา ส่วนระบบโอเพ่นลิสต์ที่ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามานับ แต่เมื่อ กกต. ท้วงติงว่ามีปัญหา จึงจะปรับให้ไปใช้ครั้งแรกหลังจากมีการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับหน้าที่ ส.ว.คิดว่าจะปรับในส่วนของการเสนอกฎหมายออก เพราะหลายส่วนบอกไม่พร้อม ก็คงกลับให้มาทำหน้าที่กลั่นกรองตามเดิม และตัดอำนาจที่พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีออกด้วย ส่วนการถอดถอนก็จะให้ทำได้เฉพาะคนที่ ส.ว.แต่งตั้ง เห็นชอบ เป็นต้น
ซึ่งการปรับดังกล่าวถือเป็นการประณีประนอม เดินสายกลางแล้ว "อนาคตรัฐธรรมนูญนี้จึงขึ้นอยู่กับการที่ กมธ.ยกร่างฯ ที่ต้องคงเจตนารมณ์ 4 ข้อไว้ให้ได้ แต่ปรับบทบัญญัติให้สอดรับกับความรับได้ของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมไทย ดังนั้นจึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับในฝันของผม แต่จะเป็นฉบับที่ทำให้สังคมไทยขยับเคลื่อนไปได้ แก้ปัญหาความขัดแย้งในอดีต สร้างความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ พยายามทำให้การเมืองใสสะอาดสมดุลเท่าที่สังคมไทยจะรับได้ในเวลานี้ ส่วนอนาคตของรัฐธรรมนูญจะเป็นเช่นไร ต้องไปถาม สปช. และ คสช. ผมตอบไม่ได้ เพราะผมยังไม่รู้อนาคตของผม และผมเชื่อว่าเราจะเขียนรัฐธรรมนญให้ออกมาท่ามกลางภาวะสังคมไทยในปัจจุบัน อาจไม่ถูกใจใครร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คงไม่ไปขัดใจใครจนลุกขึ้นมาต่อต้าน เราจะประสานความรู้สึกคนในสังคมมาให้มากที่สุด" นายบวรศักดิ์ กล่าว.“