20 ส.ค. 2558 เมื่อวานนี้ อลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) เผยว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของการทำหน้าที่ สปช. มีภารกิจ 5 เรื่องสำคัญ ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนพ้นวาระได้แก่ การรับมอบร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการใน วันที่ 22 ส.ค. ที่ห้องประชุมรัฐสภา โดยมี เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นผู้รับมอบจาก บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ การจัดสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญให้กับสมาชิก สปช. สำหรับประกอบการตัดสินใจ ที่โรงแรมเซนทราศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ในวันที่ 25 ส.ค. ส่วนภารกิจที่สามจะเป็นการประชุม สปช.เพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. เวลา 10.00 น.
ขณะที่การพิจารณาเรื่องคำถามประชามติจะดำเนินการหลังการลงมติในร่างรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการพิจารณาคำถามประชามติจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน เริ่มจากการลงมติว่าจะตั้งคำถามประกอบการออกเสียงประชามติหรือไม่ หาก สปช. เห็นควรจะนำไปสู่การพิจารณาญัตติที่สมาชิกเสนอและเปิดให้มีการ อภิปรายก่อนลงมติเลือกคำถามใดคำถามหนึ่งส่งให้คณะรัฐมนตรีต่อไป ถือเป็นอันเสร็จสิ้นการประชุม สปช.อย่างเป็นทางการและปิดประชุม จากนั้นจะเป็นการการประชุมใหญ่ชมรม สปช. ครั้งแรกเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับและเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดแรก เพื่อเผยแพร่แนวคิดพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศและจัดกิจกรรมพบปะแลกเปลี่ยนความ รู้ในหมู่อดีตสมาชิก สปช.ต่อไปโดยไม่ยุ่งเกี่ยวใด ๆ ทางการเมือง
ทั้งนี้ อลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้มั่นใจว่าสมาชิก สปช. ทุกคนมีอิสระเต็มที่ และไม่มีใครชี้นำได้ ในการใช้ดุลยพินิจลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคำถามประกอบการออกเสียงประขามติ
ขณะเดียวกันในวันนี้ ยังคงมีการประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยยังเปิดให้ผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติม เข้ารับฟังการชี้แจงของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามกำหนด สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และเสรี สุวรรณภานนท์ สปช. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จะเข้ารับฟัง แต่ทั้งนายสมบัติและนายเสรีไม่ได้มาด้วยตนเอง โดยมอบหมายคณะทำงานเข้าร่วมแทน
ทั้งนี้ สมบัติ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ กับสำนักข่าวไทยว่า การเข้าร่วมฟังคำชี้แจงไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากข้อเสนอส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ไม่ถูกนำไปพิจารณาทบทวนแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งท้ายสุดกรรมาธิการยกร่างฯ ยังคงยึดรูปแบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ซึ่งจะเป็นเหตุนำมาซึ่งรัฐบาลที่อ่อนแอ ขาดเอกภาพ และเกิดปัญหาการต่อรองประโยชน์ และด้วยเหตุที่คำขอแก้ไขไม่ได้รับการสนองตอบ กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และ กรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จึงนัดหมายหารืออย่างไม่เป็นทางการ 24 ส.ค. นี้ เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันในการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และแม้จะให้เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก แต่ยอมรับว่ามีสมาชิกไม่น้อยที่จะลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ที่มา: ประชาไท
ภาพประกอบ: ไทยพับลิก้า