‘สปช.นิรันดร์’ หวั่นรธน.ไม่ผ่านประชามติ เสนอใช้เสียงข้างมากของ ‘ผู้มาใช้สิทธิ’ แทน ‘ผู้มีสิทธิ’

2 ก.ย. 2558 บุญเลิศ คชายุทธเดช และ นิมิต สิทธิไตรย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกันแถลงข่าวประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายน 2558 นี้ ว่า แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีเนื้อหาที่ดีอยู่มากแต่ก็มีส่วนน้อยที่บกพร่อง ซึ่งบางภาคส่วนยังไม่ยอมรับ รวมไปถึงหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหลักการและเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญ เกรงว่าผลการลงมติที่ออกมาอาจสร้างความไม่ปรองดองรอบใหม่ขึ้นได้ และหากผ่านการลงมติจาก สปช. แล้วนำไปสู่การทำประชามติและไปบังคับใช้อาจสร้างปัญหาได้ ทำให้กระทบต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและต่อประเทศ ดังนั้นจึงขอให้มีการทบทวนให้รอบคอบ และปรับแก้ให้สมบูรณ์จนเป็นที่ยอมรับเกิดความสบายใจและมั่นใจของทุกฝ่าย ซึ่งมองว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า

นิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิก สปช. แถลงเรียกร้องไปยังสมาชิก สปช. ให้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่าหากลงมติรับร่างจนเข้าสู่กระบวนการทำประชามติแล้ว จะทำให้สูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการดำเนินการ แต่ร่างรัฐธรรมนูญจะยังไม่สามารถผ่านความเห็นชอบจากประชาชนได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติต้องผ่านเสียงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งหากนับแล้วคือต้องมากกว่า 23.5 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดประมาณ 47 ล้านคน ทั้งนี้ ตนดูจากสถิติการทำประชามติครั้งที่ผ่านมาพบว่ามีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเพียง 25 ล้านคน และผ่านความเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งเป็นจำนวน 14 ล้านคน เท่านั้น จึงนับว่ายังห่างจากคะแนนเสียงที่จะให้ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติอยู่มาก ประกอบกับครั้งนี้มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่แสดงความไม่เห็นด้วย จึงอาจเป็นปัจจัยเสริมในการให้ผู้มีสิทธิออกเสียงโหวตไม่ผ่านประชามติมากขึ้นกว่าเดิม

นิรันดร์ กล่าวต่อไปว่า ขอเสนอแนะให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 วรรค 7 โดยเปลี่ยนจากเดิมที่กำหนดให้การผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้เป็นการผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้มีความเป็นไปได้ ในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ

ที่มา: ประชาไท