1 ก.ย.2558 อลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) เปิดเผยผลการประชุมวิป สปช.นัดสุดท้าย ว่า การประชุมวันนี้ (1 ก.ย.58) มี เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุม โดยที่ประชุมได้มีมติกำหนดระเบียบวาระการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ซึ่งการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผย ไม่มีการอภิปรายแต่อย่างใด และจะนับคะแนนพร้อมทั้งประกาศผลในทันที ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
หาก สปช. มีมติเห็นชอบก็จะรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแจ้งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วันเวลาในการออกเสียงประชามติ และจะพิจารณาว่า สปช. ควรมีประเด็นคำถามในการออกเสียงประชามติหรือไม่ หากสมาชิกเห็นควรให้มีคำถาม ก็จะพิจารณาใน 2ประเด็น คือ ประเด็นให้มีการปฏิรูปประเทศอีก 2ปี ก่อนจัดการเลือกตั้ง และประเด็นการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากมีมติไม่เห็นชอบก็ถือเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจ ขณะเดียวกันในการประชุมวันนี้ (1 ก.ย.58) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังได้ส่งร่างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้สมาชิก สปช.พิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วนรอบด้าน
เผย ปธ.สปช. แจ้งไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมขาดคำปรารภ
อลงกรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ อุดม เฟื่องฟุ้ง สมาชิก สปช.พร้อมคณะ ได้ยื่นหนังสือถึงประธาน สปช. เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่ไม่มีคำปรารภไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ว่า ประธาน สปช. ได้แจ้งต่อที่ประชุม วิป สปช. แล้วว่าไม่สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจในการดำเนินการ ดังนั้นหากผู้ยื่นยังมีข้อสงสัยสามารถส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการได้โดยตรง
‘วันชัย’ มั่นใจเสียง สปช.ส่วนใหญ่ไม่ผ่านร่าง รธน.
วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า จากการปรึกษาหารือร่วมกันของกลุ่ม สปช.ที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นชัดเจนร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญไม่เต็มใบนั้นยังพอจะรับได้กับสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้ แต่ที่รับไม่ได้คือมีพิษและเชื้อร้ายซ่อนอยู่ในตัวของรัฐธรรมนูญ อาจก่อให้เกิดวิกฤติกับประเทศ มีความขัดแย้งแตกแยกระหว่างองค์กร โดยเฉพาะกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและผู้มีอำนาจที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองต่อไป
วันชัย กล่าวอีกว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของ สปช.และต้องทำประชามติ มีแนวโน้มอย่างสูงว่าจะเกิดความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายของกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ความโกลาหลอาจจะเกิดขึ้น และฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการสร้างสถานการณ์ก็จะสร้างกระแส พร้อมถือโอกาสกล่าวหาโจมตี คสช.ว่าต้องการสืบทอดอำนาจ ซ่อนเผด็จการอยู่ใน คปป. ซึ่งกระแสการเคลื่อนไหวดังกล่าว อาจถึงขั้น คสช.เอาไม่อยู่
วันชัย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม จากการประเมินข้อมูลในเชิงของความเป็นไปได้ สปช.กลุ่มนี้จึงเห็นพ้องต้องกันที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.นี้ โดยไม่ต้องการให้สถานการณ์ในประเทศนี้มีแรงกระเพื่อมจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และต้องการให้นำรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมาปรับปรุงแก้ไข เชื่อว่าวิธีการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และเท่าที่มีการประสานกัน สมาชิก สปช.มีความกระตือรือร้นและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทุกคนเริ่มติดต่อทำความเข้าใจกันจนมีเสียงมากขึ้น และมั่นใจว่ามีเสียงมากพอที่จะทำให้รัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบ
ที่มา: ประชาไท