ความเดิมตอนที่แล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นทางกฎหมายต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประการที่ 1 ว่าที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นผลโดยตรงจากการรัฐประหาร ในทางกฎหมายถือว่าการกระทำรัฐประหารเป็นความผิดตามกฎหมาย และเป็นการใช้กำลังเข้าถือครองอำนาจรัฐโดยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย และในขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากองค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่าง ไม่มีองค์กรใดที่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน รวมถึงขั้นตอนการนำลงประชามติยังขัดกับหลักการลงคะแนนเสียงโดยเสรี
สำหรับตอนนี้จะกล่าวถึงประการที่ 2 คือ
ประการที่ 2 ความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แบ่งออกเป็น 4 ภาค 285มาตรา ซึ่งมีประเด็นที่ควรต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
- ประเด็นที่ 1 สิทธิเสรีภาพ
ในหมวดสิทธิเสรีภาพ ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 31 จำกัดการดำเนินการของรัฐว่าจะรับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามศักยภาพทางการคลังของรัฐเท่านั้น ซึ่งขัดกับหลักทั่วไปที่รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กรณีการรับรองสิทธิและเสรีภาพโดยอาศัยศักยภาพทางการคลังเป็นเพียงหลักการเฉพาะในเรื่องของสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้เป็นหลักทั่วไปในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อีกทั้ง บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ยังถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 45 ของร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า “ประชาชนที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองในสิทธิเหล่านี้เพียงเท่าที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่รัฐจัดให้เท่านั้น” ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยความแตกต่างทางสัญชาติ
ด้านเสรีภาพสื่อ ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 กำหนดให้เจ้าของกิจการสื่อมวลชน ต้องเป็นพลเมืองชาวไทยเท่านั้น โดยห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ รวมทั้งห้ามเป็นเจ้าของกิจการสื่อครอบครองสื่อหลายกิจการอันจะนำไปสู่การการครอบงำการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสังคม
ด้านสิทธิในชีวิตและร่างกาย ตามมาตรา 36 ซึ่งเป็นหลักการคุ้มครองสิทธิในเนื้อตัว ร่างกายของประชาชน รวมถึงการห้ามซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหาย ในมาตรานี้ได้ตัดสิทธิเรียกร้องทางศาลออกไป ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ประชาชนอ้างสิทธิตามบทบัญญัติมาตรานี้ในการฟ้องคดีต่อศาล เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษและเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง ซึ่งการตัดส่วนดังกล่าวออกจะสร้างความยากลำบากแก่ประชาชนในด้านกระบวนการเรียกร้องให้รัฐรับผิดในการกระทำที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่วัฒนธรรมลอยนวลผู้กระทำความผิด
ด้านเสรีภาพในทางวิชาการ ที่ประชาชนจะทำการศึกษา อบรม ทำการเรียนการสอนหรือการวิจัยต่างๆได้เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองและศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้น
- ประเด็นที่ 2 ระบบการบริหารราชการแผ่นดิน
ในประเด็นระบบการเลือกตั้งร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่มาตรา 118 กลับกำหนดสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งเพียงจังหวัดละ 1 คนและส่วนที่เหลือมาจากการสรรหาผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งฝ่ายพลเรือน 5 คน ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งฝ่ายทหาร จำนวนไม่เกิน 5 คนผู้แทนองค์กรวิชาชีพจำนวนไม่เกิน 15 คนผู้แทนองค์กรต่างๆจำนวน 5ด้าน ด้านละไม่เกิน 6คนและผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมในด้านต่างๆอีกไม่เกิน 68 คนซึ่งหากแบ่งตามสัดส่วนจะพบว่าสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะมีจำนวน 77 คนและสมาชิกวุฒิสมาสรรหาจะมีจำนวน123 คน ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจะมากกว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งขัดกับหลักการตามระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้งในฐานจะตัวแทนของประชาชน
ในด้านอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรมาตรา 165ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ แต่หากไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องได้รับมติเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามแต่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเวลาเดียวกันไม่ได้ ตามมาตรา 166ในกรณีที่มีการยุบสภา ให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสภาพและให้รักษาการต่อจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่หากมีเหตุให้รัฐมนตรีพ้นตำแหน่งให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ทั้งนี้ ตามมาตรา 174
ด้านการตราพระราชบัญญัติ ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในมาตรา 157 ว่าให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนทุกฉบับ
แต่ถ้าเป็นพระราชบัญญัติอื่นๆ ตามมาตรา 158 ไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกหรือวุฒิสภาหรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญ สามารถส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลวินิจฉัยได้
กระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ในร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดในมาตรา 196ให้การแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ ให้ใช้ระบบคุณธรรม โดยให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งดำเนินการแต่งตั้ง และให้มีกฎหมายกำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ขององค์กรนั้นๆทำหน้าที่กลั่นกรองและประธานกรรมการจริยธรรมประจำกระทรวงต่างๆให้ทำหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว
มาตรฐานคุณธรรมสำหรับผู้นำทางการเมือง ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 74 กำหนดให้จัดทำประมวลจริยธรรมมีมาตรฐานทางจริยธรรมถ้าผู้นำทางการเมืองไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษและอาจถูกถอดถอนหรือตัดสิทธิทางการเมืองได้
ด้านการปฏิรูปและการปรองดองร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติซึ่งมีที่มาจากประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปฏิรูปและการปรองดอง จำนวนทั้งหมดไม่เกิน 23คน ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปดังกล่าวมีสามารถให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ในประเด็นการปฏิรูปประเทศอันได้แก่ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจและด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาประเทศและลดการเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ โดยเมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอแล้วให้ดำเนินการตามข้อเสนอและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการได้ ให้แจ้งให้คณะกรรมการปฏิรูปฯทราบ ถ้าคณะกรรมการปฏิรูปฯยืนยันด้วยมติมากกว่าสามในสี่ ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตามมติของคณะกรรมการ
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังมีอำนาจนำเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปในด้านต่างๆต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยต้องสมาชิกคณะกรรมการปฏิรูปร่วมเป็นกรรมาธิการจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายนั้นๆ
อีกทั้ง ตามมาตรา 280 กำหนดว่าในช่วง 5 ปีแรกคณะกรรมการปฏิรูปมีอำนาจกระทำการใดๆทางนิติบัญญัติและบริหาร โดยให้มีผลชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ซึ่งในหมวดการปฏิรูปและการปรองดองนี้ ตามมาตรา 257 ให้ทั้งหมวดนี้รวมทั้งคณะกรรมการปฏิรูปสิ้นผลลงเมื่อครบ 5 ปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เว้นแต่มีการลงประชามติโดยประชาชนหรือรัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด ให้หมวดนี้อยู่ต่อไป แต่อยู่ได้เพียงคราวละ 5 ปี
ในส่วนขององค์กรอิสระ ร่างรัฐธรรมนูญใช้ชื่อว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
การประเมินผลตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 กำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรอิสระต่างๆ โดยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการประเมินผลแห่งชาติ ซึ่งจะต้องมีการออกกฎหมายออกไป
กรณีนี้ เห็นได้ชัดว่าเป็นการลดอำนาจของนักการเมืองทั้งในการแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ โดยให้ผ่านระบบคุณธรรมซึ่งยังมีที่มาและความหมายไม่ชัดเจนนอกจากนี้ยังส่งผลให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถบังคับบัญชาข้าราชการได้ อีกทั้ง ยังมีการเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรที่ไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับประชาชน เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ที่สามารถมีข้อเสนอที่ผูกมัดคณะรัฐมนตรีและมีช่องทางพิเศษในการเสนอกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎรประกอบกับการที่วุฒิสภาส่วนใหญ่แล้วมาจากการสรรหาส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับประชาชนประเด็นที่
3การแก้ไขรัฐธรรมธรรมนูญ
ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 270กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือประชาชนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคนลงชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่การแก้ไขส่วนที่เป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ เช่น การมีส่วนร่วมทางการเมือง โครงสร้างสถาบันการเมือง ด้านวินัยทางการคลัง หมวดศาล การปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 269 ต้องให้รัฐสภาพิจารณาลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณา จากนั้นจึงส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้ประชาชนลงมติต่อไป
กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ ถือเป็นรัฐธรรมนูญประเภทแก้ไขยาก โดยต้องผ่านทั้งกระบวนการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถยับยั้งการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ซึ่งตามหลักประชาธิปไตย ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญคือประชาชน ประชาชนย่อมมีสิทธิในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ การให้องค์กรที่ไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับประชาชนยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จึงขัดกับหลักประชาธิปไตย
โดยสรุป ความบกพร่องที่สำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่แสดงออกถึงความพยายามลดทอนอำนาจของประชาชน ผ่านเนื้อหาที่การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากบุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ เพิ่มจำนวนสมาชิกวุฒิภาที่มาจากการสรรหาให้มากว่าจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยระบบคุณธรรมทำให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจลดลงในการบังคับบัญชาข้าราชการให้ปฏิบัติไปตามนโยบาย