เปิดผลโหวต 7 คำถาม: เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับ ที่มานายกฯ-คกก.ยุทธศาสตร์ฯ-นิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร

ภายหลัง เว็บไซต์ประชามติ (prachamati.org) เปิดโหวตในคำถาม 7 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ซึ่งเริ่มเปิดให้ลงคะแนนตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าร่วมโหวตและแสดงความคิดเห็นในแต่ละประเด็นจำนวนพอสมควร ดังนั้น ทางเว็บไซต์จึงขอเปิดผลโหวตทั้ง 7 ประเด็น ซึ่งจากการนับผลคะแนนล่าสุดวันที่ 8 กันยายน 2558 มีผลดังนี้

 

 

1. นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วยหรือไม่?  

มีผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 2,912 คน เห็นด้วย 273 คน หรือ 9.38%  / ไม่เห็นด้วย 2,639 คน หรือ 90.62%
จากการสำรวจความคิดเห็น  ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะ นายกรัฐมนตรีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรจะมีความยึดโยงและสะท้อนเสียงของประชาชนได้มากกว่า เนื่องจากผ่านการเลือกตั้งมาก่อน อีกทั้ง หากไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อาจเป็นการเปิดช่องให้กลุ่มอำนาจที่ไม่ได้ให้ความสำคัญของประชาชนเข้ามากุมอำนาจฝ่ายบริหาร

2. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เห็นด้วยหรือไม่? 

มีผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 972 คน เห็นด้วย 111 คน หรือ 11.42%ไม่เห็นด้วย 861 คน หรือ 88.58%
จากการสำรวจความคิดเห็น  ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของประชาชน สมควรที่ประชาชนจะเป็นผู้มีสิทธิแก้ไขหรือตัวแทนประชาชนโดยชอบธรรมเท่านั้น ศาลไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวเพราะไม่ใช่ตัวแทนประชาชน ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญควรมีการกำหนดชัดเจนถึงขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ไม่ใช่มีอำนาจครอบจักรวาลตัดสินไปได้ทุกเรื่องจนกลายเป็นการก้าวล่วงการบริหารราชการแผ่นดินทั้งฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางส่วนยังเสนอว่า หากจะให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ต้องมั่นใจได้ว่าศาลมีความยึดโยงกับประชาชน มิเช่นนั้นจะสร้างความขัดแย้ง 

3. ให้มี คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม เห็นด้วยหรือไม่? 

มีผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 533 คน เห็นด้วย 121 คน หรือ  22.7% / ไม่เห็นด้วย 412 คน หรือ  77.3%
จากการสำรวจความคิดเห็น ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะขาดความน่าเชื่อถือว่าคนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการดังกล่าวจะมีความเหมาะสมมากพอที่จะดูแลเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการทั้งหมดได้หรือไม่ และการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวจะถือเป็นการยกอำนาจความชอบธรรมในการแต่งตั้งข้าราชการให้กับคน 7 คน เข้ามาตรวจสอบ ทั้งที่มีศาลปกครองอยู่แล้ว นอกจากนี้ จะทำให้การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนกับข้าราชการเมืองมีความแยกขาดจากกันจนเกินไป

4. ให้มี คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เห็นด้วยหรือไม่? 

มีผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 503 คน เห็นด้วย 102 คน หรือ 20.28% /  ไม่เห็นด้วย 401 คน หรือ 79.72%
จากการสำรวจความคิดเห็น ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะ คณะกรรมาการดังกล่าวถูกตั้งขึ้นมาภายใต้ข้อกังขาว่า เพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. เป็นภาวะรัฐซ้อนรัฐถึงแม้จะไม่ได้ลงมาบริหารโดยตรง แต่ก็จะมีอำนาจในการกำกับดูแลรัฐบาลอีกที นโยบายใดๆ ที่รัฐบาลแถลงไว้กับประชาชน และรัฐสภา อาจจะไม่มีความหมาย หากคณะกรรมการชุดนี้เห็นว่า ไม่มีประโยชน์ จะเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความวุ่นวายได้อีกครั้ง หากยังเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมีแต่จะเพิ่มปัญหาความขัดแย้งในสังคม

5. นิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร เห็นด้วยหรือไม่? 

มีผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 244 คน เห็นด้วย 25 คน หรือ 10.25% / ไม่เห็นด้วย 219 คน หรือ 89.75%
จากการสำรวจความคิดเห็น ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะ การรัฐประหารเป็นการมองข้ามเสียงของประชาชน และยึดอำนาจโดยคนส่วนน้อย และกลายเป็นการแย่งชิงอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากประชาชนทุกครั้ง ทั้งที่ควรให้เกียรติประชาชนที่ตัดสินใจและประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจกับรัฐบาลที่พวกเขาเลือกเอง และหน้าที่ของทหารคือรักษาเอกราชไม่ใช่มายุ่งกับการเมือง

6. ให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เห็นด้วยหรือไม่?

มีผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 240 คน เห็นด้วย 45 คน หรือ 18.75% / ไม่เห็นด้วย 195 คน หรือ 81.25%
จากการสำรวจความคิดเห็น ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะระบอบประชาธิปไตยประชาชนเป็นใหญ่ แค่ให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งก็พอ 

7. ครม.ชุดปัจจุบัน เลือก ส.ว. ชุดแรก เห็นด้วยหรือไม่? 

มีผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 194 คน เห็นด้วย 31 คน หรือ 15.98%ไม่เห็นด้วย 163 คน หรือ 84.02%