เกือบจะครบหนึ่งปีแล้วที่เว็บไซต์ประชามติ (prachamati.org) เปิดตัว เริ่มจากความต้องการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญในสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่เปิดพื้นที่ให้พูดคุยกันมากนัก และเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะให้มีการทำประชามติหรือไม่
จนมาถึงวันนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เป็นช่วงเวลาที่ผ่านการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วหนึ่งฉบับ และในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็กำลังจะเผยโฉมให้ได้เห็น
“จอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ผู้ผลักดันเว็บไซต์แห่งนี้ได้ย้อนทบทวนการทำงานของเว็บไซต์ประชามติที่ผ่านมาว่ามีส่วนสร้างการมีส่วนร่วมในสังคมได้แค่ไหน และมองไปข้างหน้าว่าในปี 2559 นี้ที่รัฐบาลบอกว่าจะมีการทำประชามติจริงนั้น ทิศทางของเว็บประชามติจะเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมาพอใจผลตอบรับมากน้อยแค่ไหน
ผมคิดว่าประเด็นคำถามสำคัญนั้น น่าพอใจ เช่น ประเด็นคำถามรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญควรต้องมีการประชามติหรือ ไม่ อันนี้การตอบสนองดีมาก ซึ่งประเด็นแรกๆ เป็นประเด็นหัวใจรัฐธรรมนูญ เช่น นายกต้องมาจากเลือกตั้ง เห็นด้วยหรือไม่ หรือประเด็นองค์ประกอบวุฒิสภาควรเป็นอย่างไร รวมถึงประเด็นว่าถ้ารัฐธรรมนูญประชามติไม่ผ่านควรทำอย่างไร ก็ชัดเจนว่าเสียงส่วนใหญ่ให้เอารัฐธรรมนูญเก่ามาใช้ หรือไม่ก็ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง
การที่หลังๆ มีคนสนใจน้อยลง อาจจะเป็นเพราะประเด็นหลังๆ เป็นประเด็นที่สำคัญน้อยลง แล้วคนก็เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ คือตั้งแต่มีการโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับที่มีบวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธานการรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ความสนใจในประเด็นรัฐธรรมนูญลดลงไปเยอะ เราก็พยายามที่จะเอาประเด็นเรื่องทางสังคมมาเสนอ ซึ่งบางประเด็นก็สามารถจุดติด เช่น เรื่องของกัญชาถูกกฎหมาย เรื่องกำลังพลสำรอง คิดว่าเพราะคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่กระทบสิทธิตัวเองค่อนข้างชัด เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ถ้าคนเห็นว่าเป็นประเด็นใกล้ตัวหรือสนใจเป็นพิเศษก็จะเข้าไปโหวตในเว็บประชามติ แต่ถ้าไม่ใช่ประเด็นที่เด่นและสนใจเป็นพิเศษคนจะไม่โหวต ทำให้มีไม่กี่ประเด็นที่ได้จำนวนโหวตเป็นจำนวนมาก
พบเจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไรในการทำเว็บประชามติบ้าง
ปัญหาที่เราพบมากคือว่า เมื่อเอาประเด็นไปขึ้นในเฟซบุ๊กก็มีคนพร้อมที่จะกดไลค์และแสดงความเห็นเยอะ แต่การโหวตในเว็บประชามติเป็นส่วนน้อยมาก
คือในบางประเด็นมีคนกดไลค์เป็นแสนขึ้นไป แสดงความคิดเห็นเป็นพัน แต่เข้าไปโหวตในเว็บจริงไม่กี่ร้อย อันนี้เป็นปัญหาที่เจอ เหมือนกับว่าผู้อ่านสนใจสื่อในเฟซบุ๊กแต่ไม่ค่อยสนใจสื่อในเว็บไซต์ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการจัดการของเว็บไซต์เองก็ได้ ส่วนการถกเถียงในเฟซบุ๊กก็มีชีวิตชีวามากกว่าในเว็บประชามติยังไม่ค่อยเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความเห็น โดยหลักก็คือใช้เพื่อโหวตอย่างเดียว ผมคิดว่าเราต้องคิดเรื่องการปรับปรุงต่อไป
ตรงนี้จะถือเป็นวัฒนธรรมการใช้สื่อในสังคมออนไลน์ได้ไหม
อาจเป็นส่วนหนึ่ง คือคนอาจจะชินและไว้ใจเฟซบุ๊กมากกว่าเข้าไปในเว็บ แต่จริงๆ ในเว็บประชามติเรารับรองความเป็นนิรนามในการโหวต หมายความว่าผลโหวตของแต่ละคนไม่สามารถดูได้ว่าใครโหวตอะไร อาจเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยชินที่จะไปโหวตในเว็บ ยิ่งในบรรยากาศปัจจุบันที่ขาดสิทธิเสรีภาพ คนอาจจะระมัดระวัง
เห็นว่าเว็บประชามติจัดกิจกรรมออฟไลน์ด้วย เช่น งานเสวนาทั้งประเด็นรัฐธรรมนูญและประเด็นสังคม ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
ผมคิดว่าเราจัดไม่บ่อย ควรจะจัดบ่อยกว่านั้น แต่ผมคิดว่าก็ออกมาค่อนข้างดี แม้ว่าประเด็นที่จัดเรื่อง “ทำประชามติอย่างไร ไม่เสียของ?” มีคนเข้าร่วมน้อย แต่สื่อมวลชนให้ความสนใจเอามาเผยแพร่ ส่วนประเด็นหลังที่เราจัดเรื่องวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญของอาจารย์บวรศักดิ์นั้น คนเข้าร่วมเยอะ แล้วตอนบ่ายวันเดียวกันเราก็จัดเวทีเกี่ยวกับเรื่องกัญชาถูกกฎหมาย คนก็ล้นห้องประชุมของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร
ตั้งแต่เปิดเว็บมา อาจารย์คิดว่ามีกิจกรรมหรือผลงานอะไรของเว็บประชามติที่สะท้อนเสียงของประชาชนให้ดังขึ้น
ผมรู้สึกว่าเว็บประชามติเป็นเวทีที่ประชาชนสามารถแสดงออกได้ ถามว่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่ วัดไม่ได้ขนาดนั้น เพียงแต่ว่าเป็นประโยชน์ในการที่จะรับรู้ว่าคนที่เข้าไปโหวตในเว็บประชามติส่วนใหญ่คิดอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าเป็นคนที่มีความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย เพราะคำตอบที่ออกมาเกือบทั้งหมดเป็นคำตอบที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง มีการอยากให้มีประชามติ ต้องการนายกและวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้ชัดเจน
โดยส่วนตัวอาจารย์คิดว่าเว็บประชามติมีความเป็นกลางมากพอไหม หรือออกไปทางเฉดสีใดสีหนึ่ง
เราพยายามทำเว็บให้เป็นกลาง คิดว่าคนที่เข้าเว็บประชามติไม่ได้มีสูตรสำเร็จ
เห็นได้จากคำถามเรื่องปกครองท้องถิ่น ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการการยุบ อบต. อบจ. ผลโหวตเรื่องนี้ก้ำกึ่ง 50% บอกว่ายุบก็ดี อีก 50% บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบ อันนี้ผมคิดว่าคนที่เข้ามาโหวตในเว็บประชามติ อาจจะมีความหลากหลายทางความคิดทางการเมือง เพราะฉะนั้น ผมไม่มองว่าเป็นพวกความคิดเหมือนกันหมด แต่โอเค อาจจะมองว่า กลุ่มที่มีความคิดศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยก็จะใช้เว็บนี้เป็นเวที ซึ่งไม่แปลก เพราะว่าเว็บประชามติเองก็คือการจำลองระบอบประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ถ้าเป็นคนที่สนับสนุนระบอบเผด็จการก็คงไม่ค่อยสนใจจะเข้าไปในเว็บประชามติ นอกจากจะเป็นเรื่องกัญชาหรือประเด็นทางสังคมจึงจะเข้าไปโหวต
ดังนั้นผมคิดว่าผู้ใช้เว็บประชามติไม่น่าจะเป็นคนเสื้อสีใดสีหนึ่ง แต่คงเป็นกลุ่มที่ยังเห็นความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอยู่
คิดว่าหน้าที่ของเว็บประชามติคือการพยายามเข้าถึงคนให้มากที่สุดและชักชวนคนให้มาโหวต ซึ่งความยากลำบากคือทำอย่างไรให้เขาเปลี่ยนจากแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กมาเป็นการโหวตในเว็บประชามติ
เว็บประชามติในปี 2559 นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ผมคิดว่าต้องพยายามดูกระแสความสนใจของประชาชนในเรื่องต่างๆ ตามข่าว เราควรจะพยายามจับประเด็นที่คนสนใจได้มากกว่าที่ผ่านมา รวมถึงประเด็นทางสังคมด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องวัดยาก เรื่องหนึ่งที่อาจจะทำคือไปทดสอบประเด็นกับคนตามถนน ดูว่าเขาสนใจประเด็นต่างๆ อย่างไร อีกเรื่องคือผมคิดว่าถ้ามีวิธีโหวตโดยตรงในเฟซบุ๊กคนจะตอบสนองกว่านี้ แต่ปัญหาคือเฟซบุ๊กไม่ได้ออกแบบสำหรับการโหวต คือเฟซบุ๊กไม่มีไลค์กับดิสไลค์ที่เราจะสามารถปรับมาเป็นเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยได้
ถึงที่สุดอยากให้ เว็บประชามติเป็นพื้นที่ที่วัดความเห็นของประชาชนได้ จะทำหน้าที่นั้นได้ถ้า หนึ่ง ประชาชนที่มาโหวตเป็นตัวแทนของประชาชนทั่วไป ซึ่งเราก็รับรองยาก หรือว่ามีประชาชนมาโหวตมากพอสมควรและไม่ได้เป็นประชาชนกลุ่มเดียว อันนี้ก็จะสะท้อนความเห็นในสังคมได้ หรือมองอีกมุมหนึ่ง อย่างน้อยนี่ก็เป็นเวทีแสดงความเห็นของคนในสังคมที่กำลังถูกปิดกั้นการแสดงความเห็นในทางอื่นในปัจจุบัน อันนี้อาจจะเป็นคุณค่าของเว็บประชามติก็ได้
แล้วถ้าหากสังคมเปิดแล้ว จะยังมีเว็บประชามติต่อไปอีกไหม
ผมว่ายังคิดไกลเกินไป เราไม่รู้เมื่อไหร่สังคมจะเปิดกว้าง ถ้าเป็นความคิดส่วนตัว ผมว่าเราควรมีระบบประชามติจริงในสังคม คือควรจะเป็นเรื่องง่ายในการที่คนจะล่าชื่อให้มีการทำประชามติในเรื่องสำคัญๆ
ผมชอบรูปแบบประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่มีการล่ารายชื่อประมาณ 10,000-20,000 คน เพื่อให้มีการทำประชามติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเมื่อมีการทำประชามติแล้ว สภาต้องปฏิบัติในเรื่องนั้น พูดง่ายๆ ว่าในสวิสเซอร์แลนด์ การทำประชามติทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่นคล้ายๆ การล่ารายชื่อเสนอกฎหมายหรือยกเลิกกฎหมาย สมมติว่าประชาชนกลุ่มหนึ่งคิดว่าเราควรมีกฎหมายห้ามจีเอ็มโอก็เสนอมาเป็นประชามติ แต่เมื่อเสนอแล้ว เขาเปิดเวทีให้มีการรณรงค์ได้ทั้งสองด้าน ซึ่งคล้ายๆ กับในเว็บประชามติที่จะให้เหตุผลทั้งสองด้าน
ผมอยากเห็นระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น และวิธีหนึ่งที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมมากขึ้นคือ ในประเด็นสำคัญ ให้ประชาชนเข้าชื่อขอลงคะแนนประชามติ ถ้าให้ดีควรทำทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีพัฒนาการ ถึงเวลานั้นอาจจะไม่ต้องมีเว็บประชามติก็ได้
การทำเว็บประชามติและการจัดกิจกรรมต่างๆ ในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง
คิดว่ากระทบ เพราะว่าคนบางคนอาจไม่ค่อยอยากแสดงความเห็น คือกลัว ระแวงว่าการแสดงความเห็นอาจจะเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือต่อครอบครัว ผมคิดว่าเราอยู่ในสังคมที่เกือบทุกคนเซ็นเซอร์ตัวเองในการสื่อสารสาธารณะ เช่น เฟซบุ๊ก ก่อนจะโพสต์อะไรก็นั่งคิดอยู่ว่าโพสต์แล้วปลอดภัยไหม ซึ่งอันนี้ก็เป็นอุปสรรคของเว็บประชามติ คือคนสบายใจหรือไม่ในการเข้าไปโหวตหรือแสดงความคิดเห็น
ส่วนในฐานะคนทำเว็บประชามติ คิดว่าไม่น่าจะเจอปัญหา เพราะว่าประเด็นที่ตั้งคำถามไม่มี อะไรที่ล่อแหลม แต่ถ้าตั้งว่า คสช. ควรออกไปเห็นด้วยหรือไม่ แบบนี้ก็ไม่แน่ แต่เราไม่ได้ถามคำถามแบบนั้น เราถามคำถามว่า คุณอยากเห็นรัฐธรรมนูญแบบไหน คุณอยากเห็นอะไรใหม่ๆ ในสังคมบ้าง
จัดงานที่มีลักษณะเป็นการเมืองขนาดนี้ มีปัญหาเรื่องการเชิญวิทยากรหรือการขอนุญาตจัดงานบ้างไหม
ก็ไม่คิดว่าเป็นปัญหา คือเวลาเราจัดงานเราไม่เคยขออนุญาตจัด และก็ไม่มีปัญหาเรื่องวิทยากรด้วย แล้วจริงๆ เวลาเราเชิญวิทยากร เราพยายามเชิญให้กว้างหน่อย แต่บางครั้งเราก็อยู่ในบรรยากาศว่า ถ้าเชิญวิทยากรคนนี้ อีกคนหนึ่งก็อาจจะไม่มา นี่คือลักษณะสังคมไทยตอนนี้ พวกสถานีโทรทัทัศน์ก็บ่นเรื่องนี้เหมือนกัน เวลาพยายามจะจัดให้คนมีความคิดคนละข้างทางการเมืองมานั่งถกเถียงกันก็มักจะเจอว่า ถ้าคนนั้นมาฉันก็ไม่ไป ซึ่งความตั้งใจเราไม่ใช่เชิญวิทยากรที่จะพูดด้านเดียว อันนั้นก็เป็นอุปสรรคหนึ่ง