อาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 คือวันออกเสียงประชามติ ““เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559” และคำถามพ่วงว่า ““เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ให้วุฒิสภาจากการแต่งตั้งของ คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงห้าปีแรกได้” ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย บอกกับเราว่าการออกเสียงประชามติครั้งนี้มีผู้มีสิทธิออกเสียง 50,585,118 ราย ส่วนหนึ่งคือผู้ที่เคยออกไปลงประชามติเมื่อปี 2550 ซึ่งถือว่าเป็นการออกเสียงประชามติครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อ “ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ รัฐธรรมนูญฉบับ 2550” ที่เพิ่งถูกยกเลิกไปเมื่อสองปีที่แล้ว
แม้การออกเสียงประชามติในประเทศไทยจะเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 แต่สำหรับประเทศไทยแนวคิดการออกเสียงประชามติก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ การออกเสียงประชามติถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับ 2592 ซึ่งกำหนดให้ประชาชนสามารถออกเสียงได้ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับ 2511 และ 2517 ก็มีบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็ให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการออกเสียง หากคณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการใดจะกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติและประชาชน อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ไทยยังไม่เคยมีการให้ประชาชนออกเสียงประชามติในประเด็นอื่นๆ เลย
การออกเสียงประชามติเป็นกระบวนการประชาธิปไตยทางตรง เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจตัดสินใจในกิจการสาธารณะด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านผู้แทน สำหรับประชามติในประเทศไทยดูจะเป็นเรื่องแปลก เพราะเกิดขึ้นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2549 และกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ที่ต่างก็เป็นการลงประชามติที่จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลจากการรัฐประหาร ด้านหนึ่งเราอาจเห็นว่า คณะรัฐประหารที่ไม่ได้มีที่มาจากประชาชนใจกว้างที่ให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ แต่อีกด้านหนึ่งการจัดทำประชามติที่เกิดขึ้นก็ถูกตั้งคำถามถึงความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เพราะคณะรัฐประหารสร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้การออกเสียงประชามติในประเทศไทยถูกมองว่า อาจเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับคณะรัฐประหารเท่านั้น
ปี 2559 ประชามติในช่วงเปลี่ยนผ่าน
การออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ถูกจัดทำขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องการให้ประเทศเกิดความสงบเรียบร้อย และไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย เราจะเห็นคำอธิบายจากผู้ที่มีส่วนในการจัดประชามติครั้งนี้ที่กล่าวไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน เช่น พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผู้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ "คือต้องการให้ประชาชนออกมาใช้เสียงประชามติจำนวนมาก เป็นไปด้วยความสุจริต ไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นในสังคม และให้ประชาชนใช้เหตุและผลเป็นหลัก รวมถึง ต้องการให้การออกเสียงประชามติได้รับการยอมรับกับประชาชน”
ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ที่ออกมาแถลงหลังทราบว่าที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนตีความมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติฯ ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า "หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่กระทบก็ดำเนินการจัดทำการออกเสียงประชามติต่อไป แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยว่า...ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะกระทบกับการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องกลับมาพิจารณาว่ากฎหมายที่มีอยู่สามารถดำเนินการให้การออกเสียงประชามติเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557"
และเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำชัดเจนอีกครั้งว่า “เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน หากจะทำอะไรที่เสรีต้องรอรัฐธรรมนูญก่อน ค่อยว่ากัน แต่ตอนนี้เราต้องการความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก”
รัฐบาล คสช.พยายามควบคุมการรณรงค์แสดงออกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มงวด ด้วยข้ออ้างทางกฎหมาย เช่น คำสั่งคสช.ที่ 3/2557 เรืองห้ามมิให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนขึ้นไป หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง ที่กำหนดว่า
“ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย"
ความผิดตามมาตรานี้มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท และศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดไม่เกินห้าปี และหากทําผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป มีโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดสิบปี ด้วยเนื้อหาของ พ.ร.บ.ประชามติที่คลุมเครือ ผสมกับบทลงโทษที่รุนแรง ทำให้บรรยากาศในการรณรงค์แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ซึ่งเป็นที่เงียบเหงาอยู่แล้วเงียบเหงาขึ้นไปอีก
ทหารจับนักศึกษากลุ่มประชามติใหม่ ขณะรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ด้วยเหตุผลเรื่องช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของประเทศ เราเห็นกิจกรรมสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญต้องถูกยุติและแทรกแซง โดยข้ออ้างจากคำสั่งที่ 3/2558 ที่ห้ามมิให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนขึ้นไปจำนวนหลายครั้ง กระทั่งในช่วงประกาศใช้ พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็มีการจับกุมและดำเนินคดีกับนักศึกษาและนักกิจกรรมแรงงานที่ทำการรณรงค์เกี่ยวกับประชามติ ด้วยข้อจำกัดที่มีอยู่ทำให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในการรณรงค์ไม่มีสีสันมากนัก กลุ่มที่ออกตัวชัดเจนและทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ก็มีเพียงกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ที่ชัดเจนที่สุดในการรณรงค์ว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการผลิตเสื้อ สติ๊กเกอร์ ใบปลิว แผ่นพับ ที่มีสัญลักษณ์ที่แสดงออกว่า “โหวตโน” รวมทั้งเหตุผลว่าทำไมประชาชนควรออกไปโหวตโน
ในทางตรงกันข้ามการรณรงค์จากภาครัฐดูจะมีความเข้มข้น เนื่องจากรัฐบาลระดมทรัพยากรผ่านกลไกของรัฐ ด้วยการให้หน่วยราชการต่างๆ ช่วยเหลือและให้ความร่วมมือเพื่อช่วยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ โดยโครงการที่โดดเด่นและเป็นที่กล่าวถึงมากคือ "โครงการ รด.จิตอาสา" ที่ให้นักศึกษาวิชาทหารช่วยในประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยโครงการนี่มีนักศึกษาวิชาทหาร ประมาณ 80,000 – 100,000 คน สมัครเป็น รด.จิตอาสา โดยพวกเขาจะได้รับการอบรมความรู้จาก กรธ. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
อีกโครงการ คือ "โครงการอบรม ครู ก. ข. และ ค." ที่เป็นโครงการที่รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยให้ทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ในระดับจังหวัดและอำเภอ และให้คัดเลือกวิทยากร (ครู ก) ระดับจังหวัดๆ ละ 5 คน เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น เพื่อสามารถถ่ายทอดความรู้ จัดฝึกอบรมวิทยากร (ครู ข) ระดับอำเภอ จำนวน 878 อำเภอๆ ละ 10 คน รวม 8,780 คน และวิทยากร (ครู ค) ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 80,491 แห่งๆ ละ 4 คน รวม 321,964 คน ซึ่งชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ.กล่าวถึงโครงการนี้ว่า ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือการทำหน้าที่ของครู ค.ที่จะเคาะประตูชี้แจงตามหมู่บ้าน
เจ้าหน้าที่รณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
สองโครงการข้างต้นมีเป้าหมายสำคัญคือเป็นกลไกของรัฐบาลในการรณรงค์เพื่ออธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ แม้ฝ่ายรัฐอธิบายว่าโครงการเหล่านี้ไม่ได้เป็นการรณรงค์บอกให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าการออกไปอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐ และกรธ.เพียงฝ่ายเดียว โดยที่ไม่มีฝ่ายที่เห็นต่างสามารถออกไปรณรงค์หรือให้ข้อมูลในทางตรงข้ามกับรัฐได้ คือการรณรงค์ให้โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ
ปี 2550 ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง
ประชามติครั้งแรกของประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อ 19 สิงหาคม 2550 ครั้งนั้นเป็นการออกเสียงว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าถ้าหากผลลัพธ์ คือ ไม่เห็นชอบคณะรัฐประหารก็สามารถหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดก่อนหน้ามาประกาศใช้ก็ได้ ผลการออกเสียงประชามติปรากฏว่าผู้มีสิทธิออกเสียงรวมทั้งประเทศ จำนวน 45,092,955 คน มีผู้ใช้สิทธิออกเสียง จำนวน 25,978,954 คน คิดเป็นร้อยละ 57.61 เห็นชอบ จำนวน 14,727,306 คน คิดเป็นร้อยละ 56.69 และไม่เห็นชอบจำนวน 10,747.411 คน คิดเป็นร้อยละ 41.38 โดยมีประชาชนจาก 35 จังหวัด ต้องลงประชามติภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึก
"ไฟเขียว" รับร่างรัฐธรรมนูญ
การออกเสียงประชามติในเดือนสิงหาคม 2550 ไม่เพียงเป็นการชี้ชะตาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีความหมายสำคัญทางการเมือง เพราะการทำประชามติครั้งนั้นเป็นหนึ่งในแผนบันได 5 ขั้นของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ประกาศไว้ว่าต้องทำให้สำเร็จ ดังนั้นจะเห็นว่า พลเอกสนธิ บุญญรัตนกลิน รวมทั้ง พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ออกมาบัญชาการด้วยตนเอง เพื่อรณรงค์ประชาชนให้ออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ผ่านกลไกของกองทัพ กองอำนวยการรักษาความั่นคงภายใน (กอ.รมน.) รวมถึงข้าราชการทุกสังกัด ทบวง กรม
จากบทความของมติชนสุดสัปดาห์ แสดงให้เห็นความต้องการเบื้องหลังของรัฐบาลในการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนออกใช้สิทธิมากขึ้น เห็นได้จาก "การประชุมคณะรัฐมนตรีนัดส่งท้ายประชามติ พล.อ.สุรยุทธ์ แสดงความต้องการว่าอยากให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิถึงร้อยละ 60 สอดคล้องกับเป้าหมายของ อารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย ที่วางมาตรฐานแกมบังคับไว้ที่ร้อยละ 60 ในทุกจังหวัด เนื่องจากรัฐบาล และคมช.มั่นใจว่า ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิลงประชามติมากโอกาสที่คะแนนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจะทิ้งระยะห่างจากฝ่ายโหวตโนก็จะมาตามไปด้วย"
แผนประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิช่วงโค้งสุดท้ายถูกกำหนดอย่างเข้มข้น เช่น วันที่ 3-5 สิงหาคม 2550 รัฐบาลจัดงาน “มหกรรมประชาธิปไตย” ณ อิมแพค เมืองทองธานี ในงานนี้มีการจัดนิทรรศการ เสวนาวิชาการ แข่งขันโต้วาที ฯลฯ และวันที่ 13 สิงหาคม รัฐบาลจัดกิจกรรมเดินรณรงค์ “มหกรรมรวมพลังประชาธิปไตย พร้อมใจลงประชามติ” โดยมีประชาชนจำนวนคนกว่าครึ่งแสนที่สวมเสื้อเหลืองเดินรณรงค์ร่วมกับ พล.อ.สุรยุทธ์ โดยเดินจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มาปักธงรวมพลังประชาธิปไตย ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกลุ่มที่มาร่วมเดินรณรงค์คือ กลุ่มข้าราชการ นิสิตนักศึกษา พ่อค้า ประชาชน และพลังมวลชนจาก 17 จังหวัดภาคกลาง และกรุงเทพฯ ขณะที่ในส่วนของจังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ ทั่วประเทศ ก็ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นพร้อมกันกับส่วนกลางด้วย
ในช่วงโค้งสุดท้ายของการลงประชามติ ครม.มีมติกำหนดให้วันที่ 20 สิงหาคม เป็นวันหยุดราชการมีการประกาศลดราคาค่าโดยสารรถไฟ รถเมล์ รถ บ.ข.ส. เรือโดยสาร รถไฟฟ้า ในส่วนของ กกต.เปิดไฟเขียวให้กระทรวงมหาดไทยสามารถจัดรถขนคน ไปลงประชามติได้โดยไม่ถือว่าผิดกฎกติกา พร้อมประกาศตั้งรางวัลให้กับทางจังหวัดที่มีประชาชนออกมาลงประชามติจำนวนมาก
ขณะที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ร.ร) เองก็ใช้การรณรงค์เชิงรุกผ่านสื่อสาธารณะของภาครัฐและเอกชนรณรงค์ให้ไปลงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญ โดยชูประเด็นว่า หากรัฐธรรมนูญผ่านจะนำไปสู่การเลือกตั้ง ในการรณรงค์มีการใชั "ไฟเขียว" เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกถึงการ "รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงโค้งสุดท้ายมีการเพิ่มการอัดโฆษณารณรงค์ทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่สอดแทรกเข้าถึงครัวเรือนได้มากที่สุด รวมถึงการให้สัมภาษณ์ตอกย้ำว่า การลงมติ เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง นำประเทศกลับคืนสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพรรคการเมืองใหญ่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย ตลอดจนกลุ่มการเมืองต่างๆ คอยให้การสนับสนุนประเด็นนี้
โฆษณารณรงค์ให้คนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ
โฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนร่วมงานมหกรรมประชาธิปไตย
โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการณรงค์ประชามติของรัฐบาล
"ล้มรัฐธรรมนูญ=ล้มรัฐประหาร"
การรณรงค์ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นับว่ามีความคึกคักและได้รับการตอบรับจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคมพอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จากการติดตามความเคลื่อนไหวของหน่วยงาน กลุ่ม องค์กร ชมรมต่างๆ ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง สิงหาคม 2550 ของสถาบันพระปกเกล้า พบว่ามีการเคลื่อนไหวจากทั้งกลุ่มที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญมีการเคลื่อนไหวกันอย่างค่อนข้างเสรี เช่น วันที่ 4 มีนาคม 2550 โครงการ Thai say no และกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ มีการจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “ทำไมคนไทยต้องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช.”, วันที่ 18 เมษายน 2550 12 องค์กรต้านรัฐประหารจัดแถลงข่าวหัวข้อ “รัฐธรรมนูญ 2540 ยังไม่ตายประเทศเสียหายเพราะรัฐประหาร”, 13 พฤษภาคม 2550 กลุ่มเอฟทีเอวอร์ท จัดกิจกรรม “การปั่นจักรยาน เพื่อรณรงค์ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ต้องมีสาระเพื่อประชาชนจริงๆ”, 4 สิงหาคม 2550 สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ประสานงานกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ นัดรวมตัวรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ “แดงไม่รับ” เพื่อรณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 บริเวณลานหน้าห้างสยามเซ็นเตอร์ และ 18 สิงหาคม 2550 แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ รณรงค์พร้อมแจกใบปลิวรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ในของส่วนกลุ่มที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนญมีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีวัตถุประสงค์ และเหตุผลที่แตกต่างกันไป เช่น กลุ่มการเมืองอย่างกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) นำโดย วีระ มุกสิกพงศ์ จักรภพ เพ็ญแข จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเนื่องจากมีที่มาจากรัฐประหาร หรือกลุ่มไทยรักไทย ที่แปลงสภาพหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ก็ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เชื่อถือและไว้วางใจอำนาจประชาชน มีการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร โดยมีการจัดทำสติ๊กเกอร์และเสื้อสีแดง ขึ้นมาภายใต้คำขวัญ "We Vote No" และ "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 50" สำหรับสองกลุ่มหลังมีรายงานข่าวว่าช่วงโค้งสุดท้ายแกนนำในพื้นที่บ้างคน ชูคำขวัญ "คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะได้ทักษิณกลับคืนมา"
อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นนักกิจกรรมและนักวิชาการ เช่น เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร มีแกนนำ เช่น สมบัติ บุญงานอนงค์ อุเชนทร์ เชียงแสน กลุ่มนี้เคลื่อนไหวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยให้เหตุผลว่า "ล้มรัฐธรรมนูญ=ล้มรัฐประหาร" มีการซื้อโฆษณาในสื่อมวลชน เคลื่อนไหวตามสถานที่ต่างๆ และเปิดไซต์ www.wevoteno.net หรือกลุ่มนักวิชาการ นำโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ สมเกียรติ ตั้งนโม จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กลุ่มนี้ให้เหตุผลการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้เกิดจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการประชาธิปไตย อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเกิดขึ้นได้จริง โดยใช้ริบบิ้นสีเขียวอ่อนเป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์
ดีเบตระหว่างฝ่ายรณรงค์เห็นชอบกับไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2550
นอกจากการรณรงค์เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ในครั้งนั้นองค์กรพัฒนาเอกชนบ้างแห่งก็มีบทบาทในการอาสาตรวจสอบการออกเสียงประชามติ อย่างมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยหรือพีเน็ต บทบาทที่โดดเด่นของพีเน็ตในขณะนั้นคือการร่วมมือกับเครือข่ายจัดดีเบต จุดเด่น-ข้อด้อย ของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ณ หอประชุม บ้านมนังคศิลา ถนนหลานหลวง ในวันที่ 3 สิงหาคม 2550 โดยมีผู้ร่วมการดีเบต ประกอบด้วยฝ่ายสนับสนุน ได้แก่ 1.จรัญ ภักดีธนากุล สสร. 2.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สสร. 3.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนฝ่ายคัดค้าน ประกอบ ด้วย 1.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 2.จาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย 3.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดีเบตครั้งนี้มีการถ่ายทอดผ่านทีวี โดยเป็นที่สนใจมาก เพราะเป็นการดีเบตของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงทั้งสองฝ่าย
แม้การรณรงค์ประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ดูเหมือนว่าจะมีการรณรงค์จากภาคประชาชนหลายกลุ่มและแทบไม่พบการถูกปิดกั้นนั้น ในอีกมุมหนึ่ง บก.ลายจุด หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวว่าการลงประชามติครั้งนั้นไม่แฟร์ “ผมไปปราศรัยเรื่องไม่เอารัฐธรรมนูญที่จังหวัดเชียงราย แล้วถูกจับเข้าค่ายทหาร หนึ่งคืน หนึ่งวัน นั่นก็คือวิธีการ มีการไปเก็บใบปลิวเอกสารต่อต้านก็มีการขัดขวางระดับหนึ่ง”
โฆษณารณรงค์ให้คนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์
การออกเสียงประชามติทั้งสองครั้งในประเทศไทย เป็นการจัดการออกเสียงประชามติเรื่องเดียวกัน คือ การรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในบริบทที่คล้ายกัน คือ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นหลังการรัฐประหารและการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมโดยคณะรัฐประหาร และทั้งสองครั้งยังคงมีข้อครหาเรื่องความโปร่งใสในการจัดกิจกรรมของภาครัฐบาล และเสรีภาพของประชาชนที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นรณรงค์คัดค้าน
สังคมไทยจึงมีภาพจดจำเกี่ยวกับการทำ “ประชามติ” เท่าที่สังคมไทยเคยมีประสบการณ์ผ่านมา แต่ในบริบททั่วไป การทำประชามติมีเป้าหมาย วิธีดำเนินการ และเงื่อนไของค์ประกอบที่แตกต่างกันไปอีกมาก หากศึกษาประสบการณ์การทำประชามติในต่างประเทศ จะพบตัวอย่างการทำประชามติทั้งที่ดีและไม่ดีหลากหลายต่างกันไป การจัดทำประชามติหลายครั้งมีกลไกที่ซับซ้อนซึ่งออกแบบมาเพื่อมุ่งจะตอบสนองความต้องการของประชาชนที่หลากหลายให้ได้ เช่น ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในสหราชอาณาจักร เป็นต้น ส่วนประชามติที่ออกแบบมาเพื่อเป็นตรายางสร้างความชอบธรรมให้เผด็จการอย่างชัดเจนก็มีไม่น้อย เช่น ในศรีลังกา อียิปต์ เป็นต้น เมื่อศึกษาแบบอย่างให้มากขึ้นอาจทำให้เราเข้าใจประชามติของไทยมากขึ้นได้ และช่วยกันคิดได้ว่าตัวอย่างแบบไหนน่าเดินตาม ตัวอย่างแบบไหนไม่น่าเดินตาม
๐๐๐๐๐
ภาพการรณรงค์ประชามติร่างรัฐรรมนูญ 2550