ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้ศาลปกครองจัดตั้ง “แผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ” ขึ้นมา เพื่อตรวจสอบและยับยั้งการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่งบประมาณหรือเงินของแผ่นดิน ซึ่งด้านหนึ่งก็มีเสียงชื่นชมว่าจะทำให้การตรวจสอบทุจริตครอบคลุมมากขึ้น แต่อีกด้านก็มีเสียงวิจารณ์ว่า จะทำให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร และทำให้รัฐบาลทำงานยากลำบากมากขึ้น
ทั้งนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 244 ได้กำหนดให้จัดตั้งแผนกวินัยการคลังและการงบประมาณขึ้นมา ทั้งในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด โดยรายละเอียดเกี่ยวกับองค์คณะ อำนาจหน้าที่ การฟ้องคดีและวิธีการพิจารณาคดีให้ระบุไว้ในกฎหมายลูก
โดยเบื้องต้นผู้ที่มีสิทธิในการส่งฟ้องคดี จะมีทั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และประชาชนทั่วไป
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) กล่าวว่า ที่มาของแผนกคดีวินัยการเงินและการงบประมาณในศาลปกครอง เป็นการอุดช่องโหว่ของการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับฉ้อราษฎร์บังหลวงงบประมาณแผ่นดิน โดยในขั้นตอนการไต่สวนหากพบว่ามีพฤติกรรมที่ส่อว่ามีการทุจริต สามารถสั่งให้ยุติการกระทำได้ หรือหากพบว่าการกระทำนั้นสร้างความเสียหายให้กับเงินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน สามารถสั่งให้บุคคลนั้นคืนเงินหรือทรัพย์สินต่อแผ่นดินได้
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งแผนกคดีนี้ขึ้นมาในศาลปกครอง ถูกคนบางส่วนมองว่า เป็นไปเพื่อสกัด “นโยบายประชานิยม” หลังจากที่มีการระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 200 ให้ “เงินกู้” ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เงินแผ่นดิน”
แสดงความเห็น