การใช้ชีวิตคู่ของชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง หรืออื่นๆ มีให้เห็นทั่วไปในสังคมไทย จนเป็นที่ยอมรับกันในสังคมส่วนใหญ่แล้ว แต่คู่ที่ไม่ใช่ชายแท้กับหญิงแท้ จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไม่ได้ ทำให้สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายที่จะตามมาจากการใช้ชีวิตคู่นั้นสับสนไปหมด ขณะที่กฎหมายของหลายประเทศยอมรับการจดทะเบียนสมรสของคนเพศเดียวกันแล้ว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 1448 กำหนดว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว...” การที่กฎหมายเขียนว่า “ชายและหญิง” เท่ากับเป็นการกำหนดชัดเจนว่าการสมรสเป็นการผูกผันกันตามกฎหมายของฝ่ายหนึ่งที่เป็นชายกับอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นหญิงเท่านั้น
ในประเทศไทยเคยมีกรณีเมื่อปี 2555 นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือเกย์นที ประธานกลุ่มเกย์การเมืองไทย พร้อมด้วยนายอรรถพล จันทวี คู่ชีวิตที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาเป็นเวลา 19 ปี ได้พยายามขอจดทะเบียนสมรสที่ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ แต่ทางอำเภอเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสให้ทั้งคู่ได้ (http://bit.ly/1K2r09h)
ในปัจจุบันผู้คนในสังคมเริ่มยอมรับการอยู่กินกันของคู่รักเพศเดียวกันบ้างแล้ว แต่กฎหมายยังไม่ยอมรับ ทำให้คู่รักเพศเดียวกันที่อยู่กินด้วยกันพบอุปสรรคไม่อาจได้รับสิทธิหน้าที่ที่พึงมี เช่น สิทธิที่จะรับมรดกของอีกฝ่าย สิทธิเป็นผู้จัดการมรดกเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลในกรณีที่อีกฝ่ายเป็นข้าราชการ สิทธิการตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาลแทนอีกฝ่าย สิทธิการเป็นผู้รับประโยชน์ในสัญญาประกันชีวิต สิทธิการได้สัญชาติตามคู่ของตน ฯลฯ
[อ่านรายละเอียดเรื่องสิทธิตามกฎหมายที่คู่รักเกย์ เลสเบี้ยนเข้าไม่ถึง]
การจะแก้ไขกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ อาจทำได้โดยการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 เป็น “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว...”
แสดงความเห็น