การจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) คือ การจัดเก็บภาษีเป็นการพิเศษ เพื่อนำไปใช้สำหรับวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งเป็นการเฉพาะ ในประเทศไทย มีหน่วยงานที่ได้รับเงินอุดหนุนจากการจัดเก็บ Earmarked Tax ที่โดดเด่นอยู่ 2 องค์กร จนได้รับฉายาว่าเป็นหน่วยงานที่ได้รับรายได้จาก “ภาษีบาป” ได้แก่
1.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่ง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 กำหนดให้จัดสรรรายได้ร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บได้จากภาษีสุราและยาสูบให้แก่ สสส. ให้มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน โดยไม่ได้กำหนดเพดาน
2.) สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS หรือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่ง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 กำหนดให้จัดสรรรายได้ร้อยละ 1.5 ของภาษีที่เก็บได้จากภาษีสุราและยาสูบ แต่ไม่ให้เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี ให้แก่ ThaiPBS
ในการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ เคยมีผู้เสนอว่า จะให้มีบทบัญญัติห้ามการจัดเก็บ Earmarked Tax อย่างเด็ดขาด และสำหรับ 2 องค์กรข้างต้น ก็จะให้ดำเนินการต่อไปได้อีก 4 ปีเท่านั้น ขณะที่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม แนวหน้า รายงานว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจทบทวนข้อเสนอดังกล่าวอีกครั้ง โดยอาจทบทวนให้มีความยืดหยุ่น โดยจะไม่ห้ามจัดเก็บ Earmarked Tax เด็ดขาด แต่ให้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลังด้วย และจะยกเว้นให้องค์กรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้อย่างถาวร ไม่ได้กำหนดเวลแค่ 4 ปี
ที่มารูปภาพ: http://www4.thaihealth.or.th/
แสดงความเห็น