แนวทางการปฏิรูปตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการเขียน
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางแนวทางปฏิรูปไว้อย่างน้อย 15 ประเด็นใหญ่ๆ ตั้งแต่มาตรา 281-296 บางเรื่องก็เป็นการวางแนวทางกว้างๆ ขณะที่บางเรื่องก็กำหนดสิ่งที่ต้องทำไว้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ให้มีระบบบำนาญแห่งชาติ ให้มีองค์การบริหารและพัฒนาภาค ให้จัดทำประมวลกฎหมายการศึกษา เป็นต้น และยังให้จัดตั้งคณะกรรมการใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมาย
แนวทางการปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกับประชาชนวงกว้าง และอาจมีผลเปลี่ยนแปลงทิศทางของประเทศในแทบทุกประเด็น แต่แนวทางการปฏิรูปเหล่านี้ถูกร่างขึ้นโดยกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนที่คสช.แต่งตั้งเข้ามา ไม่ได้มีที่มาจากประชาชน และระหว่างกระบวนการร่าง หรือการจัดทำรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีการเปิดช่องทางให้ประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิรูปให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริง
ดังนั้นจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลและรัฐสภาชุดใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งจะต้องถูกบังคับให้ดำเนินนโยบายตามกรอบที่วางไว้แล้วเช่นนี้ หากความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางอื่น รัฐบาลชุดใหม่ก็ควรจะเปลี่ยนแปลงแนวทางการปฏิรูปประเทศให้แตกต่างไปได้
แสดงความเห็น