ร่างรัฐธรรมนูญสร้างกลไกกำกับนโยบายของรัฐบาล เห็นด้วยหรือไม่?

คะแนนเสียงของคุณจะถูกเก็บข้อมูลแบบนิรนาม ไม่สามารถระบุผู้ลงคะแนนได้ แต่สามารถยกเลิกการลงคะแนนได้ โดยใช้ข้อมูลรหัสที่ได้รับทางอีเมล  ไม่ต้องการรับอีเมล
ลงคะแนนแล้ว 516 คน
เห็นด้วย 151ไม่เห็นด้วย 365

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 ได้ออกแบบกลไกใหม่ๆ ขึ้นมากำกับหรือตีกรอบการกำหนดนโยบายของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ไม่ได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีวางนโยบายการบริหารประเทศแต่เพียงลำพัง โดยกำหนดห้ามใช้นโยบายประชานิยม กำหนดกรอบการปฏิรูป 15 ด้านไว้ในหมวด 4 และกำหนดให้รัฐบาลต้องทำตามข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ

ภาพจาก http://news.voicetv.co.th/thailand/11184.html

ตัวอย่างเช่น 

มาตรา 89 เรื่องแนวนโยบายด้านการเงินการคลัง กำหนดว่า รัฐต้องมีกลไกป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว หรือ พออธิบายได้ว่าห้ามรัฐบาลดำเนินนโยบายแบบประชานิยม

มาตรา 179 กำหนดว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรวมถึงนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว

มาตรา 279 วรรคสี่ กำหนดว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตามข้อเสนอและให้การสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ หากไม่สามารถดำเนินการได้ในเรื่องใด ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ แล้วนำเรื่องดังกล่าวไปทำประชามติ หากผ่านการทำประชามติแล้วถือว่ามีผลผูกพันให้คณะรัฐมนตรีต้องทำ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีการเขียนประเด็นการปฏิรูปด้านต่างๆ ไว้ใน ภาค 4 หมวด 2 ส่วนที่ 2 ตั้งแต่มาตราที่ 281-296 ซึ่งวางกรอบแนวทางการปฏิรูปให้ประเด็นต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านการเงิน การคลัง และภาษีอากร ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองที่ดี ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการผังเมือง ด้านพลังงาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุข ฯลฯ โดยกำหนดไว้ด้วยว่าผู้มีอำนาจทุกภาคส่วนในรัฐต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศตามแนวทางเหล่านี้ 

 

สถานะการเปิดให้โหวต: 
ปิดการโหวต

แสดงความเห็น

ประเด็นสนับสนุน

ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่จำเป็นต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วนในหลายๆ ประเด็น สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ทำงานอย่างหนักและใช้จ่ายงบประมาณไปมากแล้วเพื่อทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป และรัฐธรรมนูญใหม่ก็เป็นความหวังในการสร้างการปฏิรูปให้เกิดขึ้นได้จริง หากไม่มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเป็นรูปธรรมให้ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปถูกนำมาปฏิบัติ เมื่อรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นสู่อำนาจ หากเห็นว่าข้อเสนอข้อใดที่ทำได้ยากหรืออาจขัดกับผลประโยชน์ กระทบต่อฐานเสียงของนักการเมือง ข้อเสนอข้อนั้นก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง และความพยายามในการปฏิรูปก็จะสูญเปล่าไปอีกครั้ง

Votes: ไม่มีคะแนน 1 ความเห็น

ประเทศไทยเคยผ่านประสบการณ์ที่รัฐบาลหลายยุคสมัยออกนโยบายประชานิยม โดยเอางบประมาณของรัฐมาใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยและไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว เพื่อรักษาฐานคะแนนเสียงให้เป็นที่นิยมประชาชนและหวังว่าจะชนะการเลือกตั้งในสมัยหน้า 

ซึ่งแนวทางการดำเนินนโยบายเช่นนี้ปรากฏให้เห็นไม่ว่าจากรัฐบาลไหน เช่น นโยบายรถคันแรก นโยบายแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้นป.1 นโยบายบ้านมั่นคง เป็นต้น ซึ่งในการปฏิรูปประเทศครั้งนี้จำเป็นที่รัฐธรรมนูญต้องกำหนดกลไกป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลับไปอยู่ภายใต้การเน้นรักษาฐานคะแนนเสียงของนักการเมืองมากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม

Votes: ไม่มีคะแนน 1 ความเห็น

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งผูกพันกับการดำเนินนโยบายให้ถูกใจประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา ซึ่งอาจเป็นคนจากบางกลุ่มพื้นที่ หรือบางกลุ่มความสนใจ และบางครั้งอาจต้องผูกพันดำเนินนโยบายให้เอาใจหัวคะแนนหรือนายทุนของพรรคการเมืองด้วย 

ดังนั้น หากมีนโยบายบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติส่วนรวมแต่อาจขัดผลประโยชน์คนบางกลุ่ม รัฐบาลที่ต้องพึ่งพาคะแนนความนิยมจากการหาเสียงเลือกตั้งอาจไม่กล้าดำเนินนโยบายเหล่านั้น จึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่มีความจริงใจกับการปฏิรูปประเทศ ไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย ที่คอยกำหนดแนวทางและนโยบายในการปฏิรูปเพื่อถ่วงดุลกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกชั้นหนึ่งด้วย

Votes: ไม่มีคะแนน 1 ความเห็น

ประเด็นคัดค้าน

การตัดสินว่านโยบายใดเป็นประชานิยม หรือ รัฐสวัสดิการ มันยากมากๆ และใคร หรือคนดีที่ไหนจะเข้ามาตัดสิน และใครจะเป็นคนที่เลือกคนดีเหล่านั้น สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือ การที่อาจจะมีการใช้องค์กรอะไรก็ตามมากลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม และทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย

 

เอาง่ายๆ แค่ ผมให้เลือกระหว่าง นโยบายจำนำข้าวของ ปู นโยบายประกันราคาข้าว ของมาร์ค นโยบาย แจกเงินคนละพันต่อไร่ ของรัฐทหาร อัไหนเป็น ประชานิยม อันไหนเป็นรัฐสวัสดิการ ครับ

Votes: ไม่มีคะแนน 0 ความเห็น

คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งพรรคการเมืองต้องนำเสนอนโยบายในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกผู้สมัครคนใดหรือพรรคการเมืองใด ก็แสดงว่าประชาชนเห็นชอบด้วยกับแนวนโยบายนั้นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาจึงควรมีอำนาจเต็มที่ที่จะดำเนินการตามนโยบายที่เสนอไว้ตอนเลือกตั้ง

Votes: ไม่มีคะแนน 1 ความเห็น

ในทางกฎหมายการจะให้คำจำกัดความของ “นโยบายประชานิยม” นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ได้มีคำจำกัดความเดียวที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน การใช้ถ้อยคำดังที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญว่า นโยบายที่ “มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”ก็ไม่ทำให้รอดพ้นจากปัญหาในการตีความ ซึ่งต้องให้เป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ 

การวิเคราะห์ว่านโยบายหนึ่งๆ เป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่นั้น แม้อาจทำได้ในทางเศรษฐศาสตร์ แต่ในหลายกรณี จะทำได้เฉพาะหลังจากที่ใช้นโยบายนั้นไปแล้ว จึงน่าจะยากที่จะเขียนรัฐธรรมนูญป้องกันไม่ให้นโยบายนั้นเกิดขึ้น

Votes: ไม่มีคะแนน 1 ความเห็น

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา 279 ประกอบด้วยอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการแต่งตั้ง ไม่ได้มีที่มาจากประชาชนเลย แต่กลับมีอำนาจเสนอแนะนโยบายให้รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งต้องปฏิบัติตาม 

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีอำนาจในยุครัฐบาลคสช. ซึ่งจะทำหน้าที่โดยไม่มีกลไกตรวจสอบการทำงานทั้งจากภาคประชาชนหรือองค์กรใด

Votes: ไม่มีคะแนน 1 ความเห็น

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางแนวทางปฏิรูปไว้อย่างน้อย 15 ประเด็นใหญ่ๆ ตั้งแต่มาตรา 281-296 บางเรื่องก็เป็นการวางแนวทางกว้างๆ ขณะที่บางเรื่องก็กำหนดสิ่งที่ต้องทำไว้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ให้มีระบบบำนาญแห่งชาติ ให้มีองค์การบริหารและพัฒนาภาค ให้จัดทำประมวลกฎหมายการศึกษา เป็นต้น และยังให้จัดตั้งคณะกรรมการใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมาย 

Votes: ไม่มีคะแนน 1 ความเห็น