นับคะแนนเว็บประชามติ คนใช้เน็ต 93% อยากให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

เว็บไซต์ Prachamati.org เปิดผลการออกเสียงในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ สามประเด็น เผยผู้ใช้เน็ต 93% อยากให้มีการทำประชามติ 87% ไม่เห็นด้วยกับการเขียนที่มา ส.ว. และ 90% ไม่เอานายกคนนอก

วันนี้ (18 พ.ค. 2558) เวลา 12.30 น. เว็บไซต์ประชามติเปิดผลโหวต 3 ประเด็นเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะ ก่อน คสช.จะประชุมและตัดสินใจ ในวันอังคารที่ 19 พ.ค. 2558 ว่าจะประกาศให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

สำหรับคำถามที่ว่า “รัฐธรรมนูญใหม่ต้องผ่านการทำประชามติ เห็นด้วยหรือไม่?” มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตออกเสียงลงคะแนนแล้ว 2,522 คน เห็นด้วย 2,359 คน ไม่เห็นด้วย 163 คน เท่ากับผู้ที่ลงคะแนน 93.54% เห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญใหม่ควรผ่านการทำประชามติ

สำหรับคำถามที่ว่า “ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เห็นด้วยหรือไม่?” มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตออกเสียงลงคะแนนแล้ว 1,878 คน เห็นด้วย 239 คน ไม่เห็นด้วย 1,636 คน เท่ากับผู้ที่ลงคะแนน 87.27% ไม่เห็นด้วยกับที่มา ส.ว.ที่เขียนไว้ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และคำถามที่ว่า “นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร เห็นด้วยหรือไม่?” มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตออกเสียงลงคะแนนแล้ว 1,933 คน เห็นด้วย 178 คน ไม่เห็นด้วย 1,755 คน เท่ากับผู้ที่ลงคะแนน 90.79% ไม่เห็นด้วยกับการเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง

เว็บไซต์ประชามติ เป็นความร่วมมือของกลุ่มสื่อทางเลือกและองค์กรวิชาการ คือ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักข่าวไทยพับลิก้า ประชาไท และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เพื่อสร้างช่องทางให้ประชาชนมีพื้นที่แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น ต่อประเด็นต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมทั้งลงคะแนนเสียงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นต่างๆ ด้วยการคำนึงถึงเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปประเทศที่ต้องการไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยอย่างแท้จริง โดยผู้จัดทำไม่มีธงว่าต้องการให้ผลการลงคะแนนในเว็บไซต์ออกมาเป็นอย่างไร ทุกคะแนนเสียงที่โหวตเป็นนิรนามแม้แต่ผู้ดูแลระบบก็ไม่อาจทราบได้ว่าผู้ใช้คนไหนลงคะแนนอย่างไร 

เว็บไซต์ประชามติ หรือ www.prachamati.org เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2558 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาสองสัปดาห์ เว็บไซต์ประชามติได้เปิดเผยผลโหวตแล้ว 3 ประเด็นดังกล่าว และมีประเด็นต่างๆ อีกอย่างน้อย 6 ประเด็นที่ยังไม่ได้เปิดเผยผลการโหวต เช่น เห็นด้วยหรือไม่กับการควบรวมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นด้วยหรือไม่กับการตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เห็นด้วยหรือไม่กับศาลปกครองแผนกวินัยการคลังและการประมาณ ซึ่งทุกคำถามจะเปิดให้แสดงความคิดเห็นได้จนถึงวันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ