26 พฤษภาคม 2558 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร “เครือข่ายพลเมืองเสวนา” เปิดตัวเว็บไซต์ www.citizenforum.in.th เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ทั้งในรูปแบบ “ออนไลน์” และ “ออฟไลน์” โดยในงานมีตัวแทนจากภาคหลายภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นกระบวนการมีส่วนร่วมในร่างรัฐธรรมนูญ
เริ่มจาก ประภาส ปิ่นตกแต่ง อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ากระบวนการออกแบบรัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดมาก การจัดเวทีแสดงความคิดเห็นไม่สามารถทำได้ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 หรือรัฐธรรมนูญฉบับคนจน ตอนนั้นผมเป็น active citizen ร่วมกันชาวบ้านใช้เวลา 99 วัน ข้างทำเนียบในการร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งคุณอานันท์ ปันยารชุน และคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ลงมาเสวนาฟังข้อเสนอจากชาวบ้านด้วย เรียกว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตอนนั้นเปิดโอกาสให้คนเข้าไปต่อรองได้
ขณะที่การออกแบบรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้ถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองลงมาข้างล่าง เช่น ที่มาและอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา การเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก หรือการตั้งสมัชชาเมือง ดังนั้นด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่นนี้ เราก็ได้รัฐธรรมนูญแค่นี้
ประภาส ปิ่นตกแต่ง
สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ prachamati.org กล่าวว่า มีกลุ่มคนที่ถูกกันออกไปจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนี้ หลายคนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้กุมอำนาจปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จุดเริ่มต้นของความปรองดองกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องสะท้อนความกังวลขอทุกฝ่าย เช่น การปฏิรูปศาล หรือการปฏิรูปกองทัพ ทั้งนี้ในบรรยากาศที่ประชาชนยากจะแสดงความคิดเห็น สฤณี แนะนำให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยกเลิกประกาศและคำสั่งที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และให้ประกาศขั้นตอนของการมีส่วนร่วมในช่วงเวลาที่เหลืออยู่
สำหรับประเด็นที่น่าเป็นห่วงในร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องระบบตัวแทน เช่น วุฒิสภาที่อำนาจไม่สัมพันธ์กับที่มา หรือการให้สัดส่วนอดีตผู้นำเหล่าทัพก็ยังอธิบายได้ไม่ชัด อีกประเด็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งลงโทษมากกว่าการกำกับตรวจสอบ เช่น การตั้งศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ แม้ในการบริหารเราไม่อยากให้รัฐบาลใช้งบประมาณฟุ่มเฟือย แต่ในความเป็นจริงในแต่ละนโยบายเราไม่รู้ว่านโยบายไหนจะสำเร็จหรือผิดพลาด
สฤณี อาชวานันทกุล
วินัย ดะห์ลัน สมาชิกสภาปฏิรูป ช่วงนี้สภาปฏิรูปแห่งชาติ เข้าไปเสนอความคิดเห็นกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และเสนอแปรญัตติค่อนข้างมาก ขณะที่การมีส่วนร่วมของประชาชนก็เต็มเปี่ยม เช่น เรื่องผู้บริโภคเราจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 10 กว่าเวที หรือ เรื่องศิลปวัฒนธรรมเราไปจัดเวทีทั่วทุกภูมิภาค ทั้งนี้ในการแปรญัตติเราก็เอาความคิดเห็นจากเวทีมาร่วมด้วย แม้ขณะนี้ความเห็นหลายอย่างจะไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีกฎหมายลูกอีกจำนวนมากที่ความคิดเห็นประชาชนจะเข้าไปอยู่ในนั้น
อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องปกติที่สิ่งที่เราคิดจะมีทั้งสมหวังและผิดหวัง แต่เรื่องที่เราผิดหวัง สปช.คนอื่นก็สมหวังซึ่งเป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งคนอื่นสมหวังเราก็น่าดีใจ
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีการประชุม โดยในช่องทางที่เป็นทางการกรรมาธิการยกร่างฯ จะสรุปความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับจากการจัดเวที ไปรษณีย์ ฯลฯ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาแก้ไขร่วมกับความเห็นจากส่วนอื่นๆ
สำหรับช่องทางที่ไม่เป็นทางการ เช่น การแสดงความคิดเห็นจากเว็บไซต์พลเมืองเสวนา ทีมงานก็จะสามารถจะรวบรวมความเห็นไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้โดยตรง