ไทยพับลิก้า สรุปคำขอแก้ไขร่างรัญธรรมนูญ ซึ่งประกอบไปด้วย ครม.-คสช. และสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้งนี้ ประเด็นที่มีการขอให้มีการแก้ไขเป็นส่วนใหญ่ อาทิ ที่มา ส.ว. และ สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปฯ สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ การปฎิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน การปฎิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาให้เป็นพลเมืองดี และการจัดทำ EHIA เป็นต้น
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 36 กำหนดให้ 3 หน่วยงาน ได้แก่สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) ซึ่งมีสมาชิก สปช.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบรับรอง (คือ 1 ผู้ขอ และผู้รับรอง 25 คนขึ้นไป) รวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) เขียนเสร็จสิ้นแล้ว ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับร่าง ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา
ปรากฎว่ามีคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกทั้งสิ้น 9 คำขอบ เป็นของ สปช. 8 คำขอ และ ครม. 1 คำขอ ส่วน คสช.ขอสละสิทธิ์ ไม่ส่งคำขอ
คำขอที่ 1 – ของนายพลเดช ปิ่นประทีป สมาชิก สปช.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มีจำนวนผู้รับรอง 27 คน
คำขอที่ 2 – ของนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สมาชิก สปช.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มีจำนวนผู้รับรอง 27 คน
คำขอที่ 3 – ของนายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิก สปช.ด้านพลังงาน มีจำนวนผู้รับรอง 26 คน
คำขอที่ 4 – ของนายสมชัย ฤชุพันธ์ สมาชิก สปช.ด้านเศรษฐกิจ มีจำนวนผู้รับรอง 27 คน
คำขอที่ 5 – ของนายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิธ สมาชิก สปช.จากจังหวัดตรัง มีจำนวนผู้รับรอง 30 คน
คำขอที่ 6 – ของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิก สปช.ด้านการเมือง และนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีจำนวนผู้รับรอง 32 คน
คำขอที่ 7 – ของนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช.ด้านการเมือง มีจำนวนผู้รับรอง 26 คน
คำขอที่ 8 – ของนายพงศ์โพยม วาศภูติ สมาชิก สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น มีจำนวนผู้รับรอง 25 คน
คำขอที่ 9 – ของ ครม.
ในคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ทั้ง 8 คณะ และ ครม. แม้จะเรียงประเด็นที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ใช้วิธีการเขียนที่แตกต่างกัน บางประเด็นเป็นการขอให้แก้ไขชื่อภาคหรือหมวด, บางประเด็นเชื่อมโยงหลายมาตรา, บางประเด็นเป็นการขอให้เพิ่มเติมเนื้อหาขึ้นมาใหม่ ฯลฯ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงจัดเรียงข้อมูลข้อมูลใหม่ โดยอ้างอิงถึงจำนวน “มาตรา”
ซึ่งผลปรากฎว่า คณะของนายสมบัติและนายเสรี (คำขอที่ 6) ยื่นแก้ไขเพิ่มเติมมากที่สุด คือ 265 มาตรา น้อยที่สุดคือ คณะของนายธีรยุทธ์ (คำขอที่ 2) เพียง 40 มาตรา
เมื่อตรวจสอบลงไปในเนื้อหาของคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ทั้ง 8 คณะ และ ครม. ปรากฎว่า มาตราที่ถูกขอแก้ไขเพิ่มเติม ครบ “ทุกคำขอ” จำนวน 2 มาตรา ประกอบด้วย
– มาตรา 121 ว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคนจากรายชื่อที่ได้รับการกลั่นกรองแล้ว รวม 77 คน และมาจากการสรรหาหรือเลือกกันเอง 173 คน โดยแบ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวง 10 คน อดีต ผบ.เหล่าทัพ 10 คน ผู้แทนสมาคมวิชาชีพต่างๆ 15 คน ผู้แทนองค์กรการเกษตร แรงงาน วิชาการ ชุมชน และท้องถิ่น 30 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ 58 คน
– มาตรา 279 ว่าด้วยการจัดตั้ง ”สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” ที่มีจำนวนไม่เกิน 120 คน มาจาก สปช.ชุดปัจจุบัน 60 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญการปฏิรูปด้านต่างๆ 30 และ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” โดยให้อำนาจหน้าที่ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเรื่องใดที่นำเสนอ ครม.แล้วไม่ปฏิบัติตาม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ สามารถจัดให้ทำประชามติการปฏิรูปเรื่องนั้น ได้
ส่วนมาตราที่ถูกยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 8 ใน 9 คำขอ มีจำนวน 4 มาตรา ประกอบด้วย
– มาตรา 64 ว่าด้วยสิทธิพลเมืองในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับรัฐและชุมชน และการกำหนดให้ต้องทำรายงานผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน
– มาตรา 74 ว่าด้วยการจัดตั้ง “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ขึ้นมาตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าของหน้าที่ของรัฐ
– มาตรา 284 ว่าด้วยการกำหนดแนวทางการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน
– มาตรา 286 ว่าด้วยการกำหนดแนวทางการปฏิรูปการศึกษา เพื่อพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองดี มีความรู้ความสามารถ
ส่วนมาตราทีถูกยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 7 ใน 9 คำขอ มีจำนวน 11 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 27 มาตรา 62 มาตรา 71 มาตรา 82 มาตรา 159 มาตรา 175 มาตรา 207 มาตรา 275 มาตรา 276 มาตรา 280 และมาตรา 308
ส่วนมาตราที่ไม่มีคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเลย มีจำนวนทั้งสิ้น 34 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 3 มาตรา 6 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 13 มาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 22 มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 178 มาตรา 186 มาตรา 189 มาตรา 190 มาตรา 192 มาตรา 194 มาตรา 195 มาตรา 196 มาตรา 197 มตรา 221 มาตรา 223 มาตรา 224 มาตรา 238 มาตรา 244 มาตรา 299 มาตรา 310 มาตรา 314 และมาตรา 315
แม้รายละเอียดคำขอแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราต่างๆ ของ สปช.ทั้ง 8 คณะและ ครม.จะแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม “จำนวนคำขอ” ก็มีผลต่อการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯ
เพราะมาตราใด ยิ่งมีคำขอเข้ามามากๆ ก็ยิ่งแสดงว่า ให้เห็นว่า มีคนไม่เห็นด้วยกับ กมธ.ยกร่างฯ จำนวนมาก
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า หากมาตราใดมีคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามามากๆ จะถือว่า “มีน้ำหนัก” แต่การจะแก้ไขหรือไม่และรูปแบบใด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ โดยระหว่างวันที่ 2-6 มิถุนายน 2558 นี้ จะเชิญตัวแทนผู้ยื่นคำขอ ทั้ง 9 คณะเข้าชี้แจงเหตุผลต่อ กมธ.ยกร่างฯ จากนั้น อาจจะมีนัดประชุมนอกรอบเพื่อสนทนาธรรม ก่อนจะไปประชุมเพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเวลา 12 วันเต็ม ไม่มีวันหยุดราชการ ระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ซึ่งคาดว่าจะไปประชุมที่สวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
“ถ้าประเด็นใด มาตราใดมีผู้ยื่นขอแก้ไขเป็นจำนวนมาก ก็ต้องพิจารณาอย่างแน่นอนที่สุด เพราะมีน้ำหนัก” นายคำนูณกล่าว
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดให้ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 60 วัน หรือภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ก่อนให้ที่ประชุม สปช.พิจารณาลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2558 นี้
แต่หาก ครม.และ คสช. เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ขยายเวลาการทำงานให้กับ กมธ.ยกร่างฯ “อีก 30 วัน” จะทำให้เส้นตายที่ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับ สปช. ขยับเป็นวันที่ 22 สิงหาคม 2558 และวันที่ สปช.จะลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ เลื่อนไปเป็นวันที่ 5 กันยายน 2558 แทน
แหล่งข่าวจาก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะแตกต่างจากการพิจารณาร่างกฎหมายทั่วๆ รวมถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 และปี 2550 ที่ใช้รูปแบบของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้ “อำนาจเด็ดขาด” กับ กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน ในการพิจารณาว่าจะแก้ไขเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมาตราใดได้เลย เหมือนการพิจารณาร่างกฎหมายในวาระที่ 2
“เมื่อทำเสร็จแล้วก็ส่งให้ที่ประชุม สปช.พิจารณาลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เท่านั้น หรือเทียบได้กับการลงมติในวาระที่ 3 จะไม่มีการอภิปรายแล้วมาลงมติแก้ไขเป็นรายมาตราอีก สปช.ทำได้เพียงลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น” แหล่งข่าวระบุ
แม้จะมีอำนาจเด็ดขาด แต่ กมธ.ยกร่างฯ ก็คงไม่สามารถเพิกเฉยต่อคำขอแก้ไขเพิ่มเติมของทั้ง สปช.และ ครม.ได้
อย่าลืมว่า “บรรทัดสุดท้าย” จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้วมาให้ สปช.พิจารณาลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เสียง สปช.เกินกึ่งหนึ่ง หรือตั้งแต่ 126 คนเป็นต้นไป
หากได้เสียงไม่ถึง นอกจากร่างรัฐธรรมนูญที่ปลุกปล้ำทำคลอดกันมาร่วม 9 เดือน จะต้องสูญเปล่า
กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน และ สปช.ทั้ง 250 คน ยังจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ตามไปด้วย
เดิมพัน ช่วงเวลา 12 วันที่หัวหิน ในการพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คำขอ จึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง