เปิดผลโหวต คนอยากได้‘สสร.’-รัฐธรรมนูญ40 นักวิชาการชี้ต้องยกเลิก ม.44 คำสั่งคสช. ก่อนลงประชามติ

7 มิ.ย.2558  เว็บไซต์ประชามติ (Prachamati.org) จัดเสวนา “ทำประชามติอย่างไร ไม่ให้เสียของ” ดำเนินรายการโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข จากเว็บไซต์ประชาไท ทั้งนี้ เว็บไซต์ประชามติเป็นความร่วมมือของ 4 องค์กร คือ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล เว็บไซต์ไทยพับลิก้า เว็บไซต์ประชาไท และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

นอกจากการเสวนา ตัวแทนเว็บไซต์ประชามติได้เปิดผลสำรวจของเว็บที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.-4 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าร่วมโหวต 1,000 คนเศษ ในแต่ละข้อ ผลลัพธ์ได้แก่ 
(1) ให้นำรัฐธรรมนูญ2540 กลับมาใช้ เห็นด้วย 84% ไม่เห็นด้วย 16% 
(2) ให้นำรัฐธรรมนูญ2550 มาใช้ เห็นด้วย 20% เห็นด้วย 80% 
(3) ให้ประชาชนเลือก สสร. เห็นด้วย 87% ไม่เห็นด้วย 13% 
(4) ให้ คสช.แต่งตั้ง กมธ.ยกร่างใหม่ เห็นด้วย 14% ไม่เห็นด้วย 86% 
(5) ให้ สนช.จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เห็นด้วย 13% ไม่เห็นด้วย 87% 
(6) ให้คสช.หยิบฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา เห็นด้วย 26% ไม่เห็นด้วย 74%

 

 

ในการเสวนา ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ประชามติเป็นกลไก เครื่องมือสำคัญของประชาธิปไตยสมัยใหม่ มีหลักการเป็นการขยายประชาธิปไตยตัวแทนมาสู่ประชาธิปไตยทางตรง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ อย่างไรก็ตาม หากที่มาของประชามติไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะขัดกับหลักการพื้นฐานทางศีลธรรมและหลักกฎหมาย ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจึงเขียนหลักการประชามติเอาไว้อย่างชัดเจนถึงกระบวนการของการทำประชามติ บริบทของการทำประชามติต้องเอื้อให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่สักจะทำก็ทำ ดังนั้นจึงต้องเปิดให้มีการถกเถียง ทำเวทีประชาพิจารณ์ จะทำอย่างนั้นได้ต้องยกเลิกประกาศ คสช. รวมทั้ง ม.44 ที่มันไปขัดขวางบรรยากาศของการจัดเวที รวมกลุ่ม เสนอความเห็นต่างๆ

“ตอนนี้ก็ต้องว่าไปในเกมนั้น เราคงต้องไปพูด ไปรักษาหลักการไว้ ไม่ค่อยได้คิดว่าออกแบบอย่างไรให้เขาไม่อยู่ยาว ยังไงเขาก็อยู่ แต่คิดว่าอย่างน้อยที่สุดกระบวนการที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องก็ไม่ควรจะไปอยู่ในเกมให้เขาอยู่ต่อ ต้องสร้างกระบวนการที่อย่างน้อยรักษาหลักการไว้เรื่องประชามติ รักษาหลักการใหญ่ๆ ไว้” ประภาสกล่าว

จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า มีบางประเด็นที่หากไม่แก้ไขจะทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ นั่นคือ 1.การเลือกวุฒิสมาชิกที่กำหนดให้คณะกรรมการชุดหนึ่งเลือกแล้วให้ประชาชนเลือกจากตรงนั้นอีกทีซึ่งขัดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย 2.การควบรวมสององค์กรเข้าด้วยกันคือ คณะกรรมการสิทธิฯ กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งที่อำนาจหน้าที่ของสองแห่งนี้คนละเรื่องกัน 3. ระบบเลือกตั้งและพรรคการเมือง อย่าบีบฝ่ายตรงข้ามจนไม่มีทางออก เจตนาผู้ร่างอาจต้องการทำให้การเมืองโปร่งใส แต่บางครั้งก็ต้องรอบคอบเพราะพรรรคการเมืองสองพรรคในไทยต่างก็มีฐานมวลชนกว้างขวาง

จตุรงค์กล่าวอีกว่า การประชามติใช้งบประมาณราว 3,000 ล้านบาท หากแค่ได้ผลลัพธ์เพียงผ่านหรือไม่ผ่านน่าจะไม่คุ้มค่า ควรมีข้อมูลที่นำไปใช้ต่อได้ กกต.สามารถออกแบบให้ลงรายละเอียดมากกว่านี้ได้ เช่น อาจมีคำถามว่า ผ่านแต่ยังไม่เห็นด้วยในประเด็นอะไร หรือไม่ผ่านจะขอให้แก้อะไร

ปองขวัญ สวัสดิ์ภักดิ์ ตัวแทนกลุ่มเรียกร้องประชมติที่เป็นประชาธิปไตย กล่าวว่า ทางกลุ่มเรียกร้องการทำประชามติที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น  โดยแบ่งเป็นสองส่วนคือ ช่วงก่อนการทำประชามติจะต้องเปิดให้รณรงค์ แลกเปลี่ยนกันได้อย่างเสรี ทุกฝ่ายทุกความคิดเห็น และต้องยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เช่นนั้นเราก็พร้อมจะบอกว่าไม่ยอมรับการทำประชามติแบบนี้ เพราะไม่ใช่ประชามติที่เป็นประชาธิปไตย ส่วนช่วงขั้นตอนในการทำประชามติ ต้องรอก่อนว่า สปช.จะลงมติต่อตัวรัฐธรรมนูญอย่างไร หากรับรัฐธรรมนูญนี้ก็ไปทำประชามติ คนเห็นด้วยก็ประกาศใช้ นำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ทางกลุ่มเรียกร้องว่าไม่ให้กลับไปสู่วงจรเดิม แต่ให้ยกเลิกและยุบองค์กรที่มาจากรัฐประหารทั้งหมด แล้วเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยให้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็นำเข้าสู่กระบวนการประชามติอีกครั้ง ซึ่งเราได้คำนวณเวลาไว้แล้วว่าจะไม่เกินโรดแม็พของ คสช.

“ส่วนการทำประชามติรายมาตรานั้นไม่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง มันมีปัญหาที่มาของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นองค์กรที่ใช้กระบอกปืนวิ่งราวเอาสิทธิคนไป ถ้าเราจะเอารัฐธรรมนูญฉบับโจรขึ้นมาใช้เราจึงจำเป็นต้องให้ประชาชนเข้าไปออกสิทธิออกเสียงต่องรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด” ปองขวัญกล่าว

สุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่าการพูดเรื่องประชามติรัฐธรรมนูญตอนนี้มีสองแนว คือ ไม่อยากยุ่งด้วย เพราะรัฐธรรมนูญไม่เข้าท่าตั้งแต่ต้นทาง แต่ดิฉันอยากเสนอว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช้ยาสารพัดนึก สูตรสำเร็จ สิ่งที่เราเรียนรู้มาคือ รัฐธรรมนูญต้องไม่อยู่ในมือนักกฎหมายหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมของการเมืองไทยเราเรื่อยมา เราจึงต้องมองรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการต่อรองกันในสถานการณ์หนึ่งๆ และอย่าลืมว่าเดิมรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีเรื่องประชามติ แต่กลายเป็นเรื่องต้องเดินหน้าต่อเพราะเห็นได้ชัดว่ามีมุมที่หลายฝ่ายต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม การที่เราสามารถเดินหน้ามาสู่ประชามติได้ก็ควรใช้ประชามติให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

สุนี กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำคือ เราจำเป็นต้องทำให้คำขอแก้ไขหรือทุกข้อเรียกร้อง มาสู่เวทีเปิดให้เกิดการถกเถียงกันอย่างหนักในทุกประเด็น ไม่ว่าประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่าน ประเด็นต่างๆ ก็จะก่อรูปขึ้นมาจากการถกเถียงเพื่อที่เราจะนำไปทำประชมติเป็นรายประเด็น ขณะที่ต้องทำทั้งฉบับด้วย

ท่านสามารถรับชมเทปบันทึกภาพได้ที่ >>>  https://www.youtube.com/watch?v=lu26TIYgiPU

หากท่านเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยกับตัวเลือกเรื่อง 'หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไม่ผ่าน ควรทำอย่างไร?' สามารถโหวตได้ที่ https://www.prachamati.org/vote/road-to-constitution