นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วยหรือไม่?

คะแนนเสียงของคุณจะถูกเก็บข้อมูลแบบนิรนาม ไม่สามารถระบุผู้ลงคะแนนได้ แต่สามารถยกเลิกการลงคะแนนได้ โดยใช้ข้อมูลรหัสที่ได้รับทางอีเมล  ไม่ต้องการรับอีเมล
ลงคะแนนแล้ว 3316 คน
เห็นด้วย 408ไม่เห็นด้วย 2908

ประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องตลอดการร่างรัฐธรรมนูญนี้ คือ เรื่องของการเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 172  ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2558

มาตรา 172 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา 136

การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง

มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย”

ซึ่งหมายความว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ ต่างกันเพียงแค่ หากบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง แต่ถ้าบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีตำแน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม 

อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 173 ยังได้เปิดช่องไว้ในกรณีที่มีการเสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า 

มาตรา 173 ในกรณีที่พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาประชุมเป็นครั้งแรกแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 172 วรรคสาม ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี”

ซึ่งหมายความว่า หากพ้นกำหนดไปแล้วสามสิบวัน บทบัญญัติมาตรา 172 ที่ให้สภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งเพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามในกรณีเลือกบุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นอันได้รับการยกเว้น 

หมายเหตุ: รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาจากการเลือกตั้ง (โดยการเป็นสมาชิกสถาผู้แทนราษฎร) หลังจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 

 

สถานะการเปิดให้โหวต: 
เปิดให้โหวต

แสดงความเห็น

ประเด็นสนับสนุน

แม้การเลือกบุคคลขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น จะเป็นคนนอกที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่ผู้ที่เลือกนายกฯ ก็ยังคงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งจากองค์กรใดๆ ที่ไม่มีความยึดโยงทางประชาธิปไตยกับประชาชน

Votes: ชอบ 7 ไม่ชอบ 16 9 ความเห็น

ในประเทศประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาโดยส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้บัญญัติว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เช่น ประเทศฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี

Votes: ชอบ 1 ไม่ชอบ 9 7 ความเห็น

การเปิดโอกาสให้บุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น อาจทำให้ได้บุคคลที่ไม่คาดหวังผลประโยชน์ส่วนตัว หรือพวกพ้อง ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง เข้ามาบริหาร และทำงานเพื่อพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

Votes: ชอบ 1 ไม่ชอบ 8 4 ความเห็น

จากสถานการณ์ความขัดแย้งหลายครั้งที่ผ่านมา อาทิ ช่วงปี 2549 และก่อนปี 2557 จนมีการเรียกร้องให้มีนายกฯ คนกลางเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง พร้อมดำเนินการปฏิรูปก่อนจัดการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องทางให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 

ฉะนั้นหากในอนาคตเกิดวิกฤติความขัดแย้ง หรือความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลขึ้นมาอีก รัฐสภาจะมีทางเลือกสามารถเลือกบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นคนกลางเข้ามาจัดแก้ไขปัญหาได้โดยมีกฎหมายรับรอง อาจหลักเลี่ยงการทำรัฐประหารหรือการฉีกรัฐธรรมนูญได้ 

Votes: ชอบ 0 ไม่ชอบ 8 4 ความเห็น

ถ้าถามแค่ว่า นายกฯไม่ต้องเป็นส.ส.ก็ได้ ผมตอบเลยว่า ได้

นายกฯจะเป็นคนนอกก็ได้ จะเป็นใครก็ได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นคนที่ได้รับเลือกแล้วจากประชาชน

ไม่ใช่นึกอยากจะหยิบใครขึ้นมาเป็นก็ได้

ต้องมีการเลือกตั้ง

ปัญหาคือมันดูไม่เหมือนระบบรัฐสภาใช่ไหมล่ะ?

นั่นแหละปัญหา เพราะเราชอบติดภาพว่าถ้าเป็นประชาธิปไตย

ไม่เป็นรัฐสภา ก็ต้องเป็นแบบอเมริกา หรืออะไรอย่างนี้

เรามีทางออกมากกว่านั้น... อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นตรงกันหรือเปล่า

ปัญหาของเราคือการที่มีฝ่ายบริหารมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ มันเอื้อต่อการอวยผลประโยชน์กันเองหรือเปล่า?

 

Votes: ชอบ 2 ไม่ชอบ 0 3 ความเห็น

ประเด็นคัดค้าน

การเปิดให้มีนายกฯ คนนอก ทำให้ระบอบและกลไกตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถพัฒนาไปตามครรลอง เพราะอาจถูกแทรกแซงจากกองทัพโดยอ้างวิกฤติได้เสมอ

Votes: ชอบ 13 ไม่ชอบ 0 2 ความเห็น

อาจจะทำให้เกิดการเสนอชื่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2535 ที่พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียเอง หลังการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ 2534

Votes: ชอบ 10 ไม่ชอบ 1 6 ความเห็น

การเปิดโอกาสให้นายกไม่จำเป็นต้องมาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เท่ากับเป็นการย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือว่าเป็นการทำให้เสียงของประชาชนที่เลือกพรรคการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองไม่มีความหมาย ประชาชนไมอาจรู้ได้แน่ชัดว่า ถึงที่สุดแล้วใครจะได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

Votes: ชอบ 9 ไม่ชอบ 0 10 ความเห็น

เป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองและชนชั้นนำสามารถกลับมาต่อรองผลประโยชน์และอำนาจ โดยที่ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งไม่ได้มีส่วนในการต่อรองผลประโยชน์เหล่านั้น

Votes: ชอบ 5 ไม่ชอบ 0 4 ความเห็น

อาจทำให้ประเทศไทยเสียภาพลักษณ์ในการเป็นประเทศประชาธิปไตยในสายตาของต่างประเทศ และอาจส่งผลต่อความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจ

Votes: ชอบ 5 ไม่ชอบ 0 2 ความเห็น

ก่อนจุถึงการคำนึงถึงว่าใครเข้ามาบริหารประเทศแล้วมาทุจริต คอรัปชั่นเพื่อพวกพ้องนั้ัน เราๆทั้งหลายน่าจะสร้างบรรทัดฐานในการเคารพกติกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพการเลือกตั้งอย่่างเป็นทางการตามระบอบประชาธิปไตยที่จัดอย่างยุติธรรม ฉะนั้น! การจะเลือกใครเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแบบกลางคัน หรือจะเอาใครคนนอกเข้ามาบริหารเมื่อสถานการณ์ไม่ถูกใจคุณๆท่านๆ เป็นการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างเป็นอย่างยิ่ง

Votes: ไม่มีคะแนน 0 ความเห็น