รองนายกฯ ชี้แจงกติการ่วมก่อนทำประชามติ

ผู้จัดการออนไลน์ รายงาน 12 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายหลังการเชิญตัวแทน 3 ฝ่าย ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงบประมาณ และกรมการปกครอง มาหารือ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า เป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจ เพื่อทำข้อตกลง เนื่องจาก กกต. ต้องไปออกกฎ กติกา การออกเสียงประชามติ เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยมีรายละเอียดดังนี้

+ไม่มีการลงประชามตินอกราชอาณาจักร+

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี งบประมาณการทำประชามติอยู่ที่ 2,667 ล้านบาท ส่วนที่ไม่ให้มีการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะต้องใช้งบถึง 400 ล้านบาท และเสียเวลา จะเกิดความยุ่งยากกับการแจกตัวร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือน 

+ไม่มีการลงประชามติล่วงหน้า ให้ลงประชามติวันเดียวกัน+

วิษณุ กล่าวอีกว่า การออกเสียงลงประชามติล่วงหน้าก่อน 7 วันก็ไม่ต้อง ให้ลงประชามติวันเดียวเลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ส่วนวันลงประชามติไม่ขัดข้องถ้าเป็นวันที่ 10 ม.ค. 2559 แต่นั่นไม่ได้หมายความต้องล็อกตายตัว บวกลบได้อีกนิดหน่อยถึงวันที่ 17 ม.ค. 2559 ส่วนเวลาเปิด - ปิดหีบเลือกตั้งจะเป็นเวลา 08.00 - 16.00 น.

+เกณฑ์การนับคะแนน ยึดเสียงข้างมาก ไม่ต้องถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์+

ส่วนเกณฑ์การนับคะแนนที่กำหนดให้ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จะมาเท่าไรก็แล้วแต่ มาเท่าไรนับเท่านั้น ไม่ต้องครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เหมือนประชามติที่ผ่านมา สำหรับบัตรเลือกตั้งมี 3 บัตร 3 สี 3 หีบ เพื่อง่ายต่อการแยกบัตรเสียและการรับคะแนน และคำถามควรมีแค่ถามว่า รับ หรือไม่รับ ใช่ หรือไม่ใช่ และเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ เท่านั้น และยึดเกณฑ์เดียวกัน คือ เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ 

+คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิม+

รองนายกฯ กล่าว ส่วน กกต. จังหวัดที่จะหมดวาระลงกว่า 60 จังหวัดก็ไม่ต้องไปตั้งใหม่ เพราะถ้าตั้งจะอยู่ถึง 4 ปี อาจไม่ได้ทำอะไร แต่ต้องมาจ่ายเงินเดือนตลอด จึงให้ กกต. ไปคิดดูว่าจะทำอย่างไร เพราะต้องเข้ามาช่วยทำประชามติด้วย

+การรณรงค์ออกเสียงประชามติ รัฐบาลผ่อนคลายได้ แต่ถ้าขัดขวาง รณรงค์ให้ไม่ไปใช้สิทธิ์ มีความผิด+

การรณรงค์ออกเสียงประชามติ ฝ่ายการเมืองจะออกมารณรงค์ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องหารือกันอีกครั้ง เรื่องนี้ทุกคนรู้ปัญหาอยู่แล้ว อย่างการจัดชุมนุมหรืออะไรต้องหยุดไว้ก่อน ส่วนที่นักวิชาการเป็นห่วงความบริสุทธ์และเป็นธรรมของการออกเสียง ประชามติ ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2557 ของการใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 นั้น มันทำให้เป็นธรรมได้ ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร อาจจะผ่อนคลายซัก 1 - 2 อย่างได้ เมื่อถามว่าหากมีการรณรงค์ให้ไม่ออกมาใช้สิทธิมีความผิดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถือว่ามีความผิดรวมถึงฉีกบัตร ขัดขวางการลงประชามติ รวมถึงการทำโพลก่อนการทำประชามติ 7 วัน ถือว่ามีความผิดทั้งสิ้น