กมธ.ยกร่างรธน.เชื่อจะทบทวนที่มา กต.ศาลยุติธรรม

หลังจากวันนี้(17 มิ.ย.58) ศรีอัมพร ศาลิคุปต์  ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา พร้อมด้วยนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาฏีกาเป็นตัวแทนนำจดหมายเปิดผนึกพร้อมรายชื่อผู้พิพากษา 1,380 คน แยกเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา 203 คน ศาลอุทธรณ์ และอุทธรณ์ภาค 506 คน ศาลชั้นต้น 671 คน ยื่นผ่านนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการศาลยุติธรรมไปถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ คัดค้านกรณีกระแสข่าวว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจแก้ไขให้เพิ่มสัดส่วนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจากคนนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่เป็นผู้พิพากษา และข้อเสนอให้เพิ่มสัดส่วนจากฝ่ายการเมืองอีก 1 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา จากเดิมที่กำหนดสัดส่วน15 คน มาจากการสรรหาของวุฒิสภา 2 คน เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงครอบงำการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาได้ง่าย อีกทั้งในอดีตเคยมีกรณีนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแทรกแซงการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา จนเกิดวิกฤตตุลาการขึ้นเมื่อปี 2535 มาแล้ว เป็นเหตุให้การยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ข้อเสนอให้แยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรม และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐธรรมนูญปี 2550

นอกจากนี้ยังคัดค้านกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้พิพากษาที่ถูกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ โดยเห็นว่า จะเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี

‘วิษณุ’ แนะควรส่งให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

วันเดียวกัน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว ซึ่งทางที่ดีควรส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในส่วนคณะรัฐมนตรีได้ส่งคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนการยื่นอุทธรณ์คำสั่งฯ นั้นเป็นประเด็นเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีขอแก้ไข

ส่วนกรณีที่ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความห่วงใย หากรัฐบาลต้องอยู่บริหารประเทศต่อ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นความเห็นของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่รัฐบาลและประชาชนต้องรับฟัง แต่ไม่ขอตอบว่าจะอยู่บริหารประเทศต่อหรือไม่ เพราะตนอยู่ในรัฐบาล

วิษณุ ยังกล่าวถึงรายชื่อเจ้าหน้าที่และข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ว่า ได้เห็นรายชื่อดังกล่าวแล้ว ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ต้องอาศัยอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าไปดำเนินการ ส่วนข้าราชการชั้นผู้น้อยให้แต่ละกระทรวงต้นสังกัดดำเนินการลงโทษทางวินัย เบื้องต้นได้ดำเนินการปลดออกจากตำแหน่งแล้ว พร้อมกันนี้เตรียมเสนอรายชื่อข้าราชการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตให้นายกรัฐมนตรีภายใน 1-2 วันนี้ ทั้งนี้ต้องชื่นชมที่แต่ละกระทรวงตื่นตัว และลงโทษข้าราชการที่กระทำความผิดแล้วหลายราย ถือเป็นการเอาใจใส่ในราชการ

กมธ.ยกร่างรธน.เชื่อจะทบทวนที่มา กต.ศาลยุติธรรม

ไพบูลย์ นิติตะวัน  กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม 1,380 คน เข้าชื่อจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่เสนอให้มีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลเข้ามาเป็น ก.ต. เพิ่มขึ้นอีก 1 คน ว่า กรรมาธิการพร้อมจะนำความเห็นของคณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมไปพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะหารือกันในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.) ตนเห็นด้วยกับความเห็นของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ไม่ต้องการให้เกิดการแทรกแซง เพราะ กต.จะต้องมีความเป็นอิสระและเป็นกลาง  จากการพูดคุยกับกรรมาธิการฯ อย่างไม่เป็นทางการ เชื่อว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะส่วนใหญ่เห็นด้วยกับผู้พิพากษา
 
“การที่กรรมาธิการยกร่างฯ กำหนดให้ กต.ศาลยุติธรรมต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการ ก็เพราะต้องการให้เกิดความยึดโยงกับประชาชน และสอดคล้องกับองค์ประกอบของที่มาของ กต.ศาลปกครอง แต่หลังจากได้ทราบเหตุผลของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ก็เห็นว่า วิธีการพิจารณาคดีนั้นต่างจากศาลปกครอง และอาจทำให้ฝ่ายการเมืองมาแทรกแซงได้ จึงยืนยันว่า กรรมาธิการจะนำข้อทักท้วงดังกล่าวมาพิจารณาด้วย” ไพบูลย์ กล่าว

ที่มา: ประชาไท