เว็บไซต์ประชามติ เปิดผลโหวต เสียงผู้ใช้เน็ตส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับ 4 ประเด็นของมติรัฐธรรมนูญ

วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เว็บไซต์ประชามติ (prachamati.org) เปิดโหวตในคำถาม 4 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ซึ่งเริ่มเปิดให้ลงคะแนน ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน และนับผลคะแนนล่าสุดวันที่ 30 มิถนายน 2558 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าร่วมโหวตและแสดงความคิดเห็นในแต่ละประเด็นจำนวนมาก และยังเปิดการโหวตต่อให้ผู้ที่ยังไม่ได้ลงคะแนนสามารถใช้สิทธิ์ได้ สำหรับผลลัพธ์ใน 4 ประเด็น เป็นดังนี้ 

โดย เว็บไซต์ประชามติได้เปิดผลสำรวจของเว็บฯ ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. - 30 มิ.ย. 58 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าร่วมโหวต 700 คนเศษ ในแต่ละประเด็นประชามติ และยังเปิดการโหวตต่อให้ผู้ที่ยังไม่ได้ลงคะแนนสามารถใช้สิทธิ์ได้ ผลลัพธ์ได้แก่

(1) ให้มีศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ คุณเห็นด้วยหรือไม่?  มีผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 745 คน เห็นด้วย 215 คน หรือ 28.85 % ไม่เห็นด้วย 530 คน หรือ 71.15 %

จากการสำรวจความคิดเห็น ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าการตั้งศาลแผนกเฉพาะขึ้นมาจะยิ่งเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายตุลาการ อีกทั้งตุลาการเองก็กำลังเผชิญหน้ากับข้อวิจารณ์เรื่องความเป็นธรรม เสียงบางส่วนยังบอกอีกว่า เมื่อมีกระบวนการและคนทำหน้าที่อยู่แล้ว อาทิ ปปช. ปปง. ทำไมจะต้องเพิ่มหน่วยงานให้ใหญ่และเพิ่มงบประมาณด้วย 

(2) ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจชี้ขาดในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เห็นด้วยหรือไม่?
มีผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 755 คน เห็นด้วย 80 คน หรือ 10.60 % ไม่เห็นด้วย 675 คน หรือ 89.40 %

จากการสำรวจความคิดเห็น คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และมีผู้ให้ความเห็นรายหนึ่งกล่าวว่า การกำหนดประเด็นดังกล่าว "เป็นการสถาปนาอำนาจที่ไม่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย ให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งในตัวกระบวนการแก้ไข และในตัวเนื้อหา ซึ่งในบทว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจกับศาลสำหรับตีความไว้เยอะมาก นึกถึงตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน เรื่องการแก้ไขที่มา ส.ว. สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยอ้างมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ 50"

(3) ตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดอง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง เห็นด้วยหรือไม่?
 มีผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 724 คน เห็นด้วย 197 คน หรือ 27.21 % ไม่เห็นด้วย 527 คน หรือ 72.79 %

จากการสำรวจความคิดเห็น พบว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วย กลัวว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา จะไม่สามารถปปฎิบัติหน้าที่และรักษาความเป็นกลางได้ และเมื่อไม่ได้รับการยอมรับก็ไม่สามารถจะยุติความขัดแย้งได้ โดยเฉพาะคนกลางที่มาจากการสรรหา ผู้ให้ความเห็นบางท่านให้ทบทวนถึงการทำงานของ 'คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ' ในอดีต

(4) ควบรวม “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ” กับ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เห็นด้วยหรือไม่?
มีผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 706 คน เห็นด้วย 267 คน หรือ 37.82 % ไม่เห็นด้วย 439 คน หรือ 62.18 %

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เข้ามาลงคะแนน พบว่า มีทั้งคนที่เห็นว่าควรมีการควบรวม และแยกต่างหาก โดยคนที่เห็นด้วยกับการควบรวมเพราะเห็นว่าการปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่มีประสิทธิภาพ การดำรงอยู่ก็สร้างภาระงบประมาณให้ชาติเปล่าๆ แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่า บทบาทการทำงานยังต่างกันอยู่ และการคงอยู่ของกรรมาการสิทธิฯ จะมีประโยชน์มากกว่า และปัญหาที่ผ่านมาเป็นปัญหาตัวบุคคลมากว่าโครงสร้าง

นอกจากนี้ เว็บไซต์ www.prachamati.org ยังได้นำประเด็นทางสังคมที่มีความสำคัญมาให้ร่วมกันโหวตและแสดงความคิดเห็น โดยนำหลายประเด็นขึ้นเว็บไซต์แล้ว คือ

+คสช. เลื่อน road map #2 เห็นด้วยหรือไม่?
+โรงไฟฟ้าถ่านหินเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่?
+การให้พลเรือนขึ้นศาลทหารเห็นด้วยหรือไม่?
+วัดทุกแห่งต้องมีผู้ตรวจบัญชี เห็นด้วยหรือไม่?
+กัญชา ถูกกฎหมาย เห็นด้วยหรือไม่ ?
+คนเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้ เห็นด้วยหรือไม่?
+ตั้งบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายในไทย เห็นด้วยหรือไม่?

ที่สำคัญทุกคนสามารถเสนอประเด็นต่างๆ ที่อยากให้สังคมร่วมรับรู้มาได้ที่ อีเมล [email protected] หรือ ส่งข้อความมาที่ เฟซบุ๊ค 'Prachamati - ประชามติ'

ทั้งนี้ เว็บไซต์ประชามติเป็นความร่วมมือของกลุ่มสื่อทางเลือกและองค์กรวิชาการ คือ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล เว็บไซต์ไทยพับลิก้า เว็บไซต์ประชาไท เว็บไซต์ประชาธรรม เว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอ ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)