คม วิเคราะห์ การเมืองรอบสัปดาห์: อนาคต 'ร่างรัฐธรรมนูญ' มืดมน...

สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ สำนักข่าวเนชั่น

แม้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาชัดเจนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ต้องบอกว่า “อนาคต” ของร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจน เนื่องจากอนาคตของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้อยู่ที่ “เนื้อหา” เท่านั้น
 
รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อนการแก้ไข กำหนดให้อายุของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขึ้นอยู่กับการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ด้วย คือ หาก สปช.เห็นชอบ สปช.ก็อยู่ทำหน้าที่ต่อ หาก สปช.ไม่เห็นชอบ ทั้ง สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้อง “ตายตกไปตามกัน” แล้วไปเริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยการตั้ง สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
 
ครั้งนั้นมีเสียงออกมาว่า กำหนดไว้อย่างนี้อาจทำให้ สปช.บางส่วนไม่สนใจดูเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะโหวตรับเลย เพราะต้องการอยู่ในตำแหน่งต่อ และมีบางคนเสนอจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ สปช.อยู่ต่อ แม้จะไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
 
ปรากฏว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในประเด็นนี้ด้วยจริงๆ แต่แก้ไขไปในทาง “ตรงกันข้าม” กับข้อเสนอ คือ ไม่ว่า สปช.จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ สปช.ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไป จากนั้นให้ “นายกฯ” ตั้ง “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” จำนวน 200 คน มาทำหน้าที่แทน สปช. (250 คน)
 
เป็นการแก้ไขที่สอดคล้องกับกระแสข่าวที่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ ไม่แฮปปี้กับการทำหน้าที่ของ สปช.นัก เพราะมักจะขยันเสนอประเด็นอะไรมากมายที่ทำให้เกิดการโต้เถียงโต้แย้งกันในสังคม การ “โละ” สปช. และตั้งเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ จึงถูกมองว่าเป็นการ “กระชับอำนาจ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเลือกคนที่ “พูดภาษาเดียวกัน” มาทำงาน

แม้ว่า สปช.จะต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะโหวตอย่างไร แต่เนื่องจากในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติม “ไม่ได้ปิดทาง” ที่ สปช.จะมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ทำให้เกิดกระแสเล็ดลอดออกมาว่า หากใครโหวตตามทิศทางที่ “คสช.” ต้องการ ก็อาจจะได้กลับเข้ามาอยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ

คสช.ต้องการให้ สปช.โหวตร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร? คือคำถามใหญ่
 
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวออกมาว่า มีกลุ่ม สปช.และ สนช.กลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอดีต ส.ว.กลุ่ม 40 ส.ว.คือกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับขั้วอำนาจเก่า ได้มีการปรึกษาหารือกัน และข้อสรุปหนึ่งคือ ให้ไปทำความเข้าใจกับ สปช.ในการลงมติร่างรัฐธรรมนูญว่า หากเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้กระบวนการปฏิรูปประเทศ โดย คสช.ที่ยังคั่งค้างอยู่อีกหลายเรื่องไม่เสร็จเรียบร้อย ถ้าพูดตรงๆ คือ ให้โหวต “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับเสนอ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ที่มีมาก่อนหน้านี้
 
นี่เองคือสิ่งที่ทำให้เห็นว่า การโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ครั้งนี้ ไม่สามารถวัดได้จาก “เนื้อหา” ของร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏออกมา  
 
การให้สัมภาษณ์ของ สปช. ล่าสุด ส่วนใหญ่ยังพูดเหมือนกัน คือ ขอดูร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จเรียบร้อยก่อน จึงจะบอกได้ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งๆ ที่ความจริงร่างรัฐธรรมนูญนี้เสร็จออกมาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ประเด็นที่เป็นหัวใจปรากฏให้เห็นออกมาหมดแล้ว หากตัดสินใจด้วยเนื้อหาน่าจะสามารถตัดสินใจได้แล้ว
 
สำหรับประเด็นสำคัญๆ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด แทบทุกเรื่องที่เป็นประเด็นขัดอกขัดใจฝ่ายการเมืองได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ตัดออกไปเกือบทั้งหมดแล้ว ได้แก่ ตัดเรื่องให้กลุ่มการเมืองส่งผู้สมคร ส.ส.ได้, ตัดโอเพ่นลิสต์, ตัดอำนาจนายกฯในการเสนอร่างกฎหมายแบบเร่งด่วน และตัดอำนาจ ส.ว.ในการเสนอร่างกฎหมายและตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีก่อนที่นายกฯ จะทูลเกล้าฯ ถวาย
 
เหลือเพียงเรื่อง “ที่มานายกฯ” ที่ “ในทางเปิดเผย” ฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ คือ เพื่อไทย และ ประชาธิปัตย์ แสดงท่าทีคัดค้านหัวชนฝาว่าไม่เห็นด้วยกับการ “เปิดช่อง” ให้ “คนนอก” มาเป็นนายกฯ ได้ แต่ก็มีบางคนตั้งคำถามถึง “หลังฉาก” ว่าเป็นอย่างไร มีการต่อรองอะไรกันหรือไม่ จะเป็นประเด็น “ปรองดอง” กันหรือไม่ หรือจะเป็นประเด็นที่เอาไว้เป็นเงื่อนไขให้ “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญ
 
การที่ สปช.จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ มีผลโดยตรงต่อ “โรดแม็พ” ไปสู่วันเลือกตั้งว่าจะเร็วหรือช้า
 
หาก สปช.ให้ความเห็นชอบ ก็จะเดินไปสู่กระบวนการทำประชามติ หากประชามติผ่าน ก็เดินหน้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ถ้าเป็นตามสูตรนี้จะได้วันเลือกตั้งที่เร็วที่สุด คือประมาณเดือนกันยายนปีหน้า
 
แต่หาก สปช.ไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โรดแม็พไปสู่การเลือกตั้งจะช้าไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพราะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่อีก 6 เดือน ก่อนส่งไปทำประชามติ ถ้าผ่านก็ไปเลือกตั้งประมาณมีนาคม 2560 แต่ถ้าไม่ผ่าน ก็ต้องวนกลับมาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โรดแม็พสู่วันเลือกตั้งก็ขยายออกไปอีก
 
นอกจากนี้ โรดแม็พไปสู่การเลือกตั้งยังขึ้นอยู่กับ “คำถาม” ที่จะมีการทำประชามติไปพร้อมกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมให้ สปช. และ สนช. สามารถส่งคำถามให้ ครม.พิจารณาได้สภาละ 1 คำถาม ตอนนี้ 3 คำถามที่มาแรง คือ จะให้ปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้งหรือไม่ จะให้มีรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ และจะให้คนนอกเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ ซึ่ง 2 คำถามแรกจะไปในทิศทางเดียวกันคือต้องการให้ คสช.อยู่บริหารประเทศต่อ 
 
เอาเข้าจริง สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการลงมติของ สปช. หรือในการทำประชามติ การตัดสินใจจะไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ แต่จะอยู่ที่ว่าต้องการให้ คสช.บริหารประเทศต่อไปหรือไม่
 
ตามกรอบเดิม ภายใน 23 กรกฎาคมนี้ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช.เพื่อให้ สปช.ลงมติในต้นเดือนสิงหาคม แต่ตอนนี้กติกาใหม่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศแล้ว มีแนวโน้มว่าคณะกรรมาธิการจะขอขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน ซึ่งจะทำให้การลงมติร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ขยายเวลาออกไปเป็นต้นเดือนกันยายน
 
สปช.จะเห็นชอบหรือไม่ ประชามติจะผ่านหรือไม่ อนาคตของร่างรัฐธรรมนูญ “ขึ้นอยู่กับสถานการณ์”!! 

ที่มา: คม-ชัด-ลึก