หลังจากที่ นิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาแถลงข้อเสนอวานนี้(2 ก.ย.58) ตอนหนึ่งว่า ขอเสนอแนะให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 วรรค 7 โดยเปลี่ยนจากเดิมที่กำหนดให้การผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้เป็นการผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้มีความเป็นไปได้ ในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ (ดูรายละเอียด)
จากนั้นวันนี้ (3 ก.ย.58) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ โพสต์แสดงความเห็นต่อประเด็นการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญตาม รธน.(ชั่วคราว) 2557 นั้น ต้องผ่าน เสียงข้างมากของ ‘ผู้มีสิทธิ’ หรือ ‘ผู้มาใช้สิทธิ’ กันแน่ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะว่า ‘Somsak Jeamteerasakul’
โดยสมศักดิ์ ระบุว่า ลองเช็คตัว รธน.(ชั่วคราว) 2557 ดู ปรากฏว่า เป็นไปตามที่ นิรันดร์ พูดไว้จริงๆ คือ รธน 2557 ฉบับแก้ไข ได้ระบุไว้ชัดว่า "ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ...." (ดูตัวบทที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/064/1.PDF ) นั่นคือ "โดยเสียงข้างมาก" นั้นหมายถึงเสียงข้างมาก ของ "ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ" ไมใช่ของผู้มาลงประชามติ นั่นคือต้องประมาณ 23.5 ล้านจริงๆ
ภาพที่สมศักดิ์ ทำไฮไลน์ รธน.(ชั่วคราว) 2557 มาตราที่ว่าด้วยการออกเสียงประชามติรับร่างรธน. (ที่มา :Somsak Jeamteerasakul)
ส่งผลต่อการรณรง "โนโหวต" หรือ "โหวตโน"
นอกจากนี้ สมศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้มีนัยยะสำคัญต่อประเด็นที่มีการถกเถียงกันในหมู่แอ๊คติวิสต์ที่ว่าจะรณรงค์ "โนโหวต" หรือ "โหวตโน" ดี โดยเหตุผลสำคัญที่คนเสนอให้รณรงค์อย่างหลัง เพราะกลัวว่า ถ้า "โนโหวต" คือบอยคอตไม่เข้าร่วมใดๆ กับ "ประชามติ" ที่ว่าเลย จะทำให้ รัฐธรรมนูญ ผ่าน "ประชามติ" เพราะถ้าคนที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. โนโหวตหรือไม่ไปลงมากๆ จริง คนที่เหลือไปลง ส่วนใหญ่คงลงรับมากกว่า
แต่ถ้าดูจากข้อกำหนดเรื่อง "เสียงข้างมาก" และตัวเลขตามที่ นิรันดร์ ยกมาข้างต้นแล้ว เห็นได้ว่า ถ้าคน "โนโหวต" เยอะ เรียกว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ รธน. จะได้เสียง "รับ" เกิน 23.5 ล้าน ดังนั้น ถ้า จะรณรงค์ "โนโหวต" และถ้าพรรคการเมืองหลักอย่างน้อยหนึ่งพรรคเอาด้วย ก็ไม่ต้องห่วงเลยว่า รธน จะผ่าน เอาเข้าจริง ต่อให้สมมุติว่า รณรงค์โนโหวตแล้ว ยังมีคนไปลงราว 10 ล้านคน และต่อให้ทั้ง 10 ล้านคนลง "รับ" ทุกคน ก็ได้เสียงไม่ถึง 23.5 ล้านอยู่ดี คือเอาเข้าจริง แทบเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะทางไหน โนโหวต หรือ โหวตโน ที่เสียงรับจะได้เกิน 23.5 ล้าน ขอแต่เพียงให้อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยและประชาชนทีสนับสนุนพรรคนี้ไม่เอาด้วย ไม่ว่าจะไป โหวตโน หรือ โนโหวต-ไม่ไปเลย คือต่อให้สมมุติว่า คนที่เลือก ปชป. ไปและ ปชป. หันมารับ รธน. ก็ตาม ปชป. ก็ไม่เคยได้เสียงถึงระดับ 23.5 เลย ได้เพียง 10 ล้านต้นๆ
หวั่น คสช.แก้ รธน. ให้ใช้เสียงข้างมากจากผู้มาใช้สิทธิแทน
สมศักดิ์ วิเคราะห์ต่อว่า ยกเว้นแต่ คสช. จะ "เอะใจ" และทำตามที่ นิรันดร์ เสนอ คือเปลี่ยนข้อกำหนดเรื่องประชามติเสียก่อน ให้เป็นเพียง "เสียงข้างมากของผู้มาลงประชามติ"
ซึ่ง สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่าตอนจะเขียนกระทู้นี้ ตนคิดหนักเหมือนกันว่า จะเป็นการ "ชี้โพรงให้กะรอก" หรือไม่ แต่คิดแล้ว ในเมื่อ นิรันดร์ เองได้เสนอไปแล้ว และ คสช. ก็คงคิดได้ถึง "โพรง" หรือช่องทางรอดนี้ ถ้าพิจารณาสถานการณ์ขณะนี้ ที่ทั้ง ปชป. และ เพื่อไทย แสดงท่าทีจะไปโหวตโน การเขียนนี้ก็คงไม่มีผลอะไร และตนเห็นว่าควรเป็นประเด็นที่เราเข้าใจให้ถูกแต่แรกว่า ตามข้อกำหนดขณะนี้ ที่ว่า "เสียงข้างมาก" นั้น ของอะไรกันแน่
สมศักดิ์ กล่าวทิ้งหายด้วยว่า เอาเข้าจริงยังมองว่า ต่อให้สมมุติว่า คสช เอะใจและแก้ข้อกำหนดก่อน แต่ถ้าทั้งสองพรรคใหญ่ปฏิเสธร่วมสังฆกรรมกับ "ประชามติ" ที่ว่าจริงๆ คือเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนไม่ไปลงจริงๆ แล้วมีคนไปลงเพียง 5 ล้านหรือกว่านั้นไม่มาก และทุกคน "รับ" หมด รธน. ที่ "ผ่านประชามติ" ตามข้อกำหนดที่สมมุติว่าแก้ใหม่แล้วนั้น ก็จะไม่มีความชอบธรรมใดๆเหลืออยู่แล้ว มีคน "รับ" เพียง 5 ล้าน จากผู้มีสิทธิ์ 47 ล้าน อะไรแบบนั้น แต่จริงๆ แล้ว ประเด็นเรื่องโนโหวตเลยนั้น ปัญหาแต่ไหนแต่ไร อยู่ที่ว่า พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหน คงไม่เอา แต่อย่างน้อย ในปัจจุบัน เราสามารถมั่นใจได้เลยว่า ถ้าไม่มีการแก้ข้อกำหนด และยังเป็นไปตามนี้ รธน. นี้ ไม่ผ่านถึงระดับ 23.5 ล้านแน่ ต่อให้คน โนโหวต หรือพากันไม่ไปลงเยอะๆ ก็ตาม ที่เหลือที่ไปลง ยังไงก็ไม่มีทางได้เสียงถึง อย่างที่เพิ่งเขียนไป ต่อให้ คนทีเคยเลือก ปชป. ไปลงรับเป็นส่วนใหญ่ ก็ไม่มีทางได้ถึง
ที่มา: ประชาไท