พอดิบพอดีกับวาระ 9 ก่อน 10 ปี ของการครบรอบการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเราขอใช้เป็นหมุดหมายเริ่มต้น ของข้อเรียกร้อง ‘การปฏิรูป’ ที่มีใจกลางปัญหาอยู่ที่ ‘คุณภาพ’ ของ ‘ประชาธิปไตย’
'ประชาไท' สัมภาษณ์ 'ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์' แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทบทวนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทบทวนการปฏิรูปในสังคมไทย ‘วาทกรรม’ หรือวาระที่จำเป็น? อะไรคือเงื่อนไขขั้นต่ำ พร้อมสรุปบทเรียน ว่าด้วยความยับยั้งชั่งใจของเสียงข้างมาก หรือความอดทนอดกลั้นของเสียงข้างน้อย
ประชาไท: คำว่า ‘ปฏิรูป’ ถูกใช้มาตลอดทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร แม้แต่ชื่อของคณะรัฐประหารในอดีตก็มีคำๆ นี้ คุณคิดว่าคำนี้หมายความอะไรแน่
พิชญ์: สังคมไทยใช้คำว่า ปฏิรูป ในหลายความหมาย ถ้าเราพยายามมองมันอย่างเข้าอกเข้าใจก็สามารถมองได้ทางหนึ่ง แต่ถ้ามองอย่างตั้งข้อสงสัยก็ย่อมทำได้
ถ้าเราเข้าอกเข้าใจ อย่างน้อยคนที่พูดถึงการปฏิรูป ในภาพรวมก็คือต้องการการเปลี่ยนแปลง ยอมรับว่าทุกอย่างต้องมีความเปลี่ยนแปลง มันเป็นข้อดีที่ทำให้เรารู้สึกว่าน่าจะหาจุดร่วมได้ เพียงแต่ต้องการการถกเถียงกันในเรื่องของเนื้อหาและขอบเขตของการเปลี่ยนแปลง
แต่ถ้าเรามองแบบตั้งข้อสงสัย จะเห็นว่า บางครั้งมันถูกใช้ในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงก็มี เป็นการออกมาเบรคการเปลี่ยนแปลง หรือต้องการเปลี่ยนทิศทางไปสู่ทางอื่น อันนี้ก็เหมือนเป็นการช่วงชิงความหมายกัน ซึ่งถ้าเรามองแบบบวก มันคือการยอมรับทิศทางการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ต้องการให้เปลี่ยนรวดเร็วนัก ให้ค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้ามองอีกด้าน มันอาจถูกใช้ในแง่การบิดเบือนการเปลี่ยนแปลงไปในทางอื่นหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ก็มีทั้งสองด้าน
คำนี้ใช้กันหลายๆ ครั้ง บางครั้งก็ใช้ในความหมายซึ่งสามารถที่จะยอมรับร่วมกันได้ ครั้งหนึ่งที่ชัดเจน คือการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 อารมณ์ร่วมในสังคมมันไปด้วยกัน แล้วทำให้คำว่า ‘ปฏิรูป’ มีความหมายบวก ก่อนหน้านั้นก็ใช้กันในภาษาอังกฤษ อย่างรัชกาลที่ 5 ก็ใช้คำว่า government reform หลังจากที่มีจดหมายถวายความเห็นขึ้นไปว่าควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงจาก absolute monarchy เป็น constitutional monarchy
คำว่า ‘ปฏิรูป’ มันไม่ง่ายเหมือนวิธีคิดแบบที่เข้าใจกันว่า เป็นอะไรที่ช้ากว่าการปฏิวัติ ของไทยมันมีทั้งช้ากว่าการปฏิวัติ หรือใช้ในความหมายในอีกทางเลย อย่างการปฏิรูปการเมืองรอบล่าสุด พอเห็นว่าสังคมกำลังเปลี่ยนไปในทางนี้ (ไม่ได้มองว่าไม่เปลี่ยน) แต่ว่าคุณต้องการไปอีกทิศทางหนึ่ง ก็ฉุดประเด็นนี้ขึ้นมา
‘การเลือกตั้ง’ เงื่อนไขขั้นต่ำที่จำเป็นของการปฏิรูป
ถ้าอย่างนั้น คนหรือกลุ่มคนที่ชูเรื่องการ ‘ปฏิรูป’ คราวนี้ เขาเห็นอะไร แล้วพยายามฉุดการเปลี่ยนแปลงไปทางไหน
การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ ผมพยายามมองมันสองด้าน มองในด้านที่มีคนพูดกันทั่วไปในด้านลบก่อน ขณะที่สังคมมันกำลังก้าวสู่ประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นหลัก ก็มีความต้องการที่จะเปลี่ยนทิศทางไปอีกทางหนึ่งแล้วก็จุดประเด็นปฏิรูปขึ้นมา ซึ่งจะพบว่า ยิ่งปฏิรูปยิ่งไม่เป็นประชาธิปไตย และไปไกลกว่าการกำกับประชาธิปไตย มันเป็นการไปปฏิเสธประชาธิปไตย หรือพยายามคิดเรื่องอื่นๆ มากกว่าประชาธิปไตยมากขึ้น หรือแทบจะเป็นการเปลี่ยนระบอบไปสู่อีกระบอบหนึ่งด้วยซ้ำ
ถ้าเราเรียนรัฐศาสตร์ ถ้าเราพูดถึงประชาธิปไตย เราจะต้องพูดในสองแบบ แบบหนึ่งเป็นอย่างที่นักการเมืองพูด คือ เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน พูดกันแค่นี้ ประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้ง แต่หากเราพูดถึงหลักวิชา พูดในห้องเรียน พูดแบบคนที่ศึกษาเรื่องนี้ มันจะเป็นการพูดว่า เราจะทำให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างไร
ประชาธิปไตยโดยตัวมันเอง มันอาจไม่ได้มีคุณภาพที่ดีด้วยตัวเอง เหมือนการเลือกตั้งซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ necessary (จำเป็น) แต่อาจมีหรือไม่ efficient (มีประสิทธิภาพ) แปลง่ายๆ คุณบอกว่าคุณอยากเก่ง อยากสอบได้ A แต่ก่อนจะได้ A คุณต้องเข้าสอบก่อน การเข้าสอบเป็นความจำเป็น เหมือนกันกับการเลือกตั้ง แต่คุณเข้าสอบแล้วไม่ได้หมายความว่าคุณจะสอบได้ A การจะได้คะแนนดี คุณก็ต้องอ่านหนังสือ ต้องปรับปรุงตัวเองเยอะแยะ เป็นเงื่อนไขที่สูงกว่าการเลือกตั้ง มันจึงต้องมีเงื่อนไขอื่นกำกับ
ในเงื่อนไขขั้นแรกที่คนเขายอมรับกันทั่วโลกสำหรับ Liberal Democracy หรือประชาธิปไตยแบบเสรี มิติของการเสรีจะทำให้ประชาธิปไตยไม่ถูกบิดเบือนได้ ความเป็นเสรีนิยมในทางการเมืองจะต้องมี เช่น นอกจากคนเท่ากันในความหมายของการไปโหวต คนต้องเท่ากันในความหมายของสิทธิในการใช้ชีวิต มีสิทธิเสรีภาพ ต้องได้รับการคุ้มครองขั้นต่ำ เหล่านี้มันไม่ได้อยู่ในการเลือกตั้ง แต่มันมากกว่า คุณต้องปรับปรุงส่วนที่เป็นเสรีนิยม อันนี้ขั้นแรก
ขั้นต่อไปที่เขาเถียงกันมาก คือนอกจากด้านการเมืองแบบที่จะต้องมีสิทธิเสรีภาพแล้ว คุณต้องไปเพิ่มหลักประกันสิทธิทางเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่อย่างนั้นคนจนจะเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพได้อย่างไรถ้าไม่มีการพัฒนาคุณภาพทางเศรษฐกิจให้กับเขา เขาไม่มีงานทำ เขาไม่มีหลักประกัน ก็ต้องช่วยเขาเพื่อให้เขาโหวตได้ดี อันนั้นเป็นอีกขั้นหนึ่ง เป็นเรื่องสวัสดิการทางเศรษฐกิจ
บางที่ก็สู้กันไปในอีกขั้นหนึ่ง คือ เงื่อนไขทางวัฒนธรรมด้วย เช่น ศาสนาที่ต่าง เชื้อชาติที่ต่าง ต้องได้รับการยอมรับ คนที่เรียนทฤษฎีรัฐศาสตร์อาจจะคิดมากขึ้นไปอีก เช่น คุณอ้างว่าคนเท่ากัน คุณเลยให้เขาถอดฮิญาบ หรือความเท่ากันคือเขาไม่ต้องถอด อันนี้เป็นมิติด้านวัฒนธรรม
ทั้งหมดทั้งปวง ถ้าประชาธิปไตยไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้มาช่วย ไม่มีเสรีนิยมทางการเมือง ไม่มีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ไม่มีการรับรองสิทธิทางวัฒนธรรม มันจะทำให้ประชาธิปไตยไม่ทำงาน แต่ในการปฏิรูปวันนี้มันเป็นไปในทางกลับกันคือ เอาทั้งหมดที่เหลือ แต่ไม่เอาการเลือกตั้ง มันขาดเงื่อนไขขั้นต่ำที่จำเป็น เหมือนคุณไม่เข้าสอบ แต่มีระบบคนดี แล้วเชื่อว่าจะมีตัวที่มาแทนการเลือกตั้ง ผมถึงบอกว่า นี่เป็นการปฏิรูปที่ออกไปจากทิศทางของประชาธิปไตย แต่เราก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้ว ทุกอย่างมันจะเปลี่ยนแปลงได้ทันที มันก็ต้องมีการขจัดเงื่อนไข ศัพท์โบราณเขาเรียกว่า มันต้องมีพัฒนาการทางการเมือง มันต้องพัฒนาขึ้นไปอีกๆ ซึ่งต้องใช้เวลา
เราจะเรียกปฏิรูป ปฏิวัติอะไรก็แล้วแต่ แต่มันไม่ควรมีหมุดหมายที่ไปล้มการเลือกตั้ง มันควรมีหมุดหมายที่จะไปพัฒนาให้การเลือกตั้งมีคุณภาพที่ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่เราสับสน
ถึงตรงนี้ ขอลากไปถึงรัฐธรรมนูญสักนิด คือว่า สมัยเราเด็กๆ เรื่องรัฐธรรมนูญมันง่าย เพราะเราก็ดูแค่ว่ารัฐธรรมนูญไหนเป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญไหนไม่เป็นเผด็จการ เพราะอุตสาหกรรมการเขียนรัฐธรรมนูญไม่ซับซ้อน มันเขียนง่าย งานวิจัยสมัยก่อนก็ฟันธงง่ายๆ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่อย่างนั้น กลายเป็น มีส่วนนี้ดูดี ยอมรับสิทธิเสรีภาพมากมาย แต่สิ่งที่มีปัญหาคือ การซ่อนกลไกต่างๆ ที่จะจัดการการเลือกตั้งโดยการทดแทนมันด้วยเงื่อนไขอื่นๆ ผมคิดว่าสังคมไทยรับได้มานานแล้วจนถึงปี 2540 ว่า การเลือกตั้งจะต้องถูกควบคุมโดยองค์กรอิสระ องค์กรภาคประชาชน เพียงแต่หลังจากนั้นมันเกินเลยออกไป เลยจากการควบคุมการเลือกตั้งไปสู่การหาสิ่งอื่นมาทดแทนการเลือกตั้ง ส่วนที่เป็นเสรีนิยมหรือสังคมนิยมที่ขยายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนที่เอ็นจีโอ ‘คนดี’ ควรจะใช้กำกับการเลือกตั้ง แต่พอพวกเลือกตั้งเพลี่ยงพล้ำ พวกนี้ก็คิดว่าจะเข้าไปร่างกฎหมาย ผลักดันวาระการปฏิรูป ตั้งแต่อานันท์ ปันยารชุน ประเวศ วะสี สนช. ยุคที่แล้ว สปช. ไม่รู้กี่ยุคต่อกี่ยุคที่ถูกเรียกใช้ ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า โจทย์การเมืองมันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการซึ่งป็นโจทย์เก่า โจทย์ใหม่คือการต่อสู้ของนักการเมืองกับอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทั้งสองกลุ่มเป็นนายหน้าของประชาชน และเริ่มจะไม่มีบาลานซ์แล้ว และต่างก็มองว่าอีกกลุ่มหนึ่งไม่ดี ทั้งที่ประชาธิปไตยทั้งสองส่วนนี้ต้องทำงานร่วมกัน
แต่ภาคประชาสังคมไทยไม่เหมือนภาคประชาสังคมในประเทศอื่นๆ โดยทฤษฎีสิบกว่าปีที่ผ่านมา ภาคประชาสังคม คือภาคที่กำกับนโยบายรัฐ แต่ไม่ได้ต้องการเป็นรัฐบาล แต่ภาคประชาสังคมไทย สุดท้ายต้องการเป็นคนมีอำนาจด้วย เรื่องนี้จะไปซ้อนทับกับวัฒนธรรมทางอำนาจของสังคมไทยอีกแบบหนึ่ง โดยทฤษฎีแล้ว ฝรั่งจะเชื่อว่า การพัฒนาทางการเมืองจะเกิดขึ้น จะต้องทำหรือต้องมี differentiation หรือการแบ่งงานกันทำในหลายๆ องค์กร เขาไม่ต้องการให้อำนาจกระจุกตัวในที่เดียว แต่ของไทยเชื่อว่า มีอะไรที่ extreme ดีก็ดีจริงๆ เลวก็ต้องเลวจริงๆ แล้ววิธีคิดอำนาจนิยมนั้นไม่ได้มีความหมายเสียหายอะไร แต่มันเป็นการคิดแบบดีแล้วก็ต้องดีที่สุด เลวแล้วก็เลวไปเลย จึงมีความเชื่อว่า ควรเอาอำนาจไปไว้ในที่เดียว อันนี้ผมถึงบอกว่า มันไปไกลกว่าวิธีคิดปฏิรูปเดิมในปี 2540 ที่ควบคุมกำกับแล้วก็หมุนกันไปมาโดย ‘ยึดโยงกับประชาชน’
แต่เราก็ต้องแปลคำนี้ให้ออกก่อน คำว่า ‘ยึดโยงกับประชาชน’ คือ มันกำกับตรวจสอบกับหลายด้าน และประชาชนมีทางเลือกหลายด้านที่เขาสามารถใช้อำนาจของเขาได้ ถ้าประชาชนพลาดในวันที่หนึ่ง เลือกอันนี้ผิด ยังมีกลุ่มที่สองไว้จัดการกับกลุ่มที่หนึ่ง เขาพลาดอันนี้ก็ไปใช้ทางอื่น ไม่ได้ตอบว่าประชาชนดีหรือไม่ดี แต่พอปี 2550 คุณเชื่อว่าพลังจากการเลือกตั้งมันไม่ดี แล้วต้องใช้อำนาจอย่างอื่นมาเหนือกว่าพลังเลือกตั้ง เช่น ศาล คณะกรรมการอื่นๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในลักษณะที่ใช้อำนาจคานกัน แล้วก็มองว่าประชาชนอยู่ข้างหลัง มองว่าประชาชนถูกหลอกโดยกลุ่มที่หนึ่ง คุณต้องมองให้เห็นก่อนว่า ประชาชนใช้อำนาจได้มากกว่าหนึ่งช่องทาง ผมไม่ได้บอกว่าประชาชนเลือกถูก เขาเลือกแต่ละเรื่องตามที่เขามีความคาดหวัง แล้วก็ปล่อยให้องค์กรเหล่านี้สู้กัน ตรวจสอบซึ่งกันและกัน...แต่เปล่า คุณไปมองว่าคุณเป็นผู้ปกครองประชาชน แล้วประชาชนไปเลือกนักการเมืองที่ผิด จำเป็นที่เราจะต้องจัดการดูแลประชาชนไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ ที่ควรจะเป็นนั้น ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ เขาเลือกผิดเลือกถูกได้ แต่เขาเลือกหลายองค์กรมาตรวจสอบกันและกัน นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ทุกคนทำงานโดยยึดโยงกับประชาชน คือ ประชาชนเป็นนาย ไม่ใช่ทำอะไรอ้างว่าเพื่อประชาชน แต่ประชาชนจะตรวจสอบองค์กรเหล่านั้นก็ไม่ได้ ดังนั้น การพัฒนาการทางการเมืองของเราในระยะหลัง จึงไม่กระจายอำนาจและไม่ยึดโยงกับประชาชน
ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่บนวาระปฏิรูป หรือไม่ต้องมีคำว่า ‘ปฏิรูป’ เลยด้วยซ้ำ?
‘ปฏิรูป’ ควรจะมีตลอดเวลา แต่มันต้องอยู่ในระบบ ไม่แปลก คุณทำงาน ต้องมีการ check up ระบบคุณ ต้องมีการออกกำลังกาย ถ้ามองการปฏิรูปในความหมายของการต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันเป็นเรื่องดี เพียงแต่เราใช้มันในความมุ่งหมายที่จะสกัดขัดขวางทิศทางความเปลี่ยนแปลงบางอย่างหรือเปล่าต่างหาก และเราก็เลยใช้สิ่งนี้ หรือเรารู้สึกว่าเราไม่มีสิทธิมีเสียงในการนิยามสิ่งเก่า เราเลยต้องนิยามสิ่งใหม่ขึ้นมา
ความยับยั้งชั่งใจของเสียงข้างมาก
ความอดทนอดกลั้นของเสียงข้างน้อย
ระบบที่เป็นอยู่ก่อนการรัฐประหาร หรือพูดง่ายๆ ว่าระบบที่มีการเลือกตั้ง ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ไม่เอื้อต่อการปฏิรูปหรือ?
นั่นแหละปัญหา ระบบการเลือกตั้งช่วงก่อนหน้านั้นมันก็ชัดเจน ช่วงไปถึงการเสนอให้มี ‘นิรโทษกรรมสุดซอย’ ก็ชัดว่ามันสุดซอยด้วยหลักการเสียงข้างมากและละเลยเสียงข้างน้อย rule of law คำถามตรงนี้ถึงสำคัญว่า สิ่งซึ่งเราต้องการจะมีในระบอบประชาธิปไตยที่เราพูดว่า ‘เสียงประชาชนมีอำนาจสูงสุด’ นั้น สิ่งที่ต้องมีคู่กันก็คือ ‘ความยับยั้งชั่งใจ’ แต่เราต้องพัฒนาตัวนี้ขึ้นมาในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เอาชุดคำอธิบายอื่นที่อยู่นอกประชาธิปไตยมากำกับมัน
แก่นสาระหลักของประชาธิปไตยคือ เสรีภาพ แต่สิ่งอื่นที่จะต้องมีคู่ไปกับสิ่งเหล่านี้คือ ความยับยั้งชั่งใจต่างๆ ทำแล้วกระทบคนอื่นหรือไม่ กระทบสิ่งอื่น เช่น รากฐานความเท่าเทียมกันในระหว่างที่ใช้อำนาจไหม มันเป็นบทเรียนราคาแพง ประชาธิปไตยต้องมีศีลของมัน มีคุณธรรมของมัน แต่เราไม่ควรมองประชาธิปไตยเป็นสิ่งแปลกปลอมแล้วเอาอย่างอื่นที่เราบอกว่า ‘ดีกว่า’ ไปกำกับมัน เหมือนรถยนต์วิ่งได้ถึง 200 กม./ชม. แต่เราก็ไม่วิ่งเต็มศักยภาพที่มันจะวิ่งได้ เพราะมันอันตราย มันเสี่ยงต่อความปลอดภัย มันอาจทำให้รถพัง รถชน หรืออาจทำให้ระยะเวลาการใช้งานของรถมันสั้นลง มันเป็นความยับยั้งชั่งใจต่อเสรีภาพของเรา หัวใจสำคัญของประชาธิปไตย คือการปกครองของประชาชน จะมองแค่ประชาชนเสียงข้างมากอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองประชาชนทุกกลุ่ม การเข้าใจหัวอกคนอื่นก็เป็นศีลของประชาธิปไตยเหมือนกัน
ปัญหาคือ พอเราเปิดโอกาสให้ใช้เหตุผลของการยับยั้งชั่งใจ เสียงข้างมากจะทำงานไม่ได้เลย เพราะก็มักจะมีฝ่ายหนึ่งอ้างถึงเหตุผลนี้มาสร้างความชอบธรรมตลอด
นั่นก็ใช่ แต่นั่นก็เป็นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ถ้ามองกลับไป ทำไมรัฐบาลสมัยนั้นไม่แก้กฎหมายให้เอาผิดคนที่ปราบเสื้อแดงเลย เขาก็ไม่ได้ทำ เขาก็ยังปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงาน นั่นก็คือการยับยั้งชั่งใจแบบหนึ่ง หรือช่วงที่โดนด่ามากๆ ทำไมไม่ออกกฎหมายเรียกคนด่ารัฐบาลไปปรับทัศนคติ ที่ผ่านมา การยับยั้งชั่งใจมันก็มีอยู่มาก แต่บางเรื่องมันพลาดก็ต้องยอมรับว่าเป็นบทเรียนราคาแพง ถ้าเรารู้จักวิพากษ์ตัวเอง อำนาจที่มีชัยชนะมันจะมีสติ และมันจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนอื่นไม่ใช่เหนือคนอื่น เพราะยิ่งไปกว่านั้นทุกคนเป็นประชาชน เรื่องบางเรื่องทำแล้วต้นทุนมันแพง ใครๆ ก็พูดเรื่องนี้ แต่พูดแล้วสะท้อนบทเรียน ไม่ใช่เอาไว้มาอ้างว่าฉันได้พูดไว้แล้ว แต่ควรต้องพูดว่า ถ้ามีอำนาจอีกครั้งจะมีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น
เรื่องใหญ่จริงๆ ในเรื่องประชาธิปไตย คือต้องทำให้คนอื่นเขายอมรับด้วย ถ้าปกครองโดยที่คนไม่ยอมรับ คุณก็ต้องระแวง เหนื่อย ถูกมองว่าบ้าตลอดเวลา เพราะเขาไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ
แต่เส้นขีดในการยับยั้งชั่งใจของประชาชนแต่ละกลุ่มก็ต่างกัน ปัญหาคือ เมื่อรัฐบาลไร้ความยับยั้งชั่งใจ แล้วจะจัดการอย่างไร ถึงที่สุดต้องอยู่บนกติกาหรือไม่ ใช้ความ ‘อดทนอดกลั้น’ ที่จะรอให้ครบอย่างมากที่สุด 4 ปี หรืออดทนรอวัดผลที่การเลือกตั้งไม่ใช่หรือ
เรื่องหนึ่งที่มันจะมาตอบตัวนี้ได้จริงๆ คือบทบาทของสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ภาวะผู้นำ’ แม้ว่าคุณจะอยู่กับคนที่เขาเชียร์คุณทั้งหมด แต่คุณก็ยังมีหน้าที่ในฐานะตัวแทนที่คุณจะต้องทำสิ่งนี้ และคุณต้องคิดแทนมวลชนของคุณด้วย แม้ว่ามวลชนจะอยู่ข้างคุณ แต่คุณก็รู้ว่าสงครามแต่ละครั้งมันเสียหาย คุณจะสู้ในตอนนั้นหรือเลือกที่จะสื่อสารกับคน ไปในทางนั้นจะหนักเกินไปหรือเปล่า ในเมื่อเรื่องแรกมันผ่านไป เรื่องที่สอง เรื่องที่สาม มันตามมา มันหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าเราย้อนกลับไปดู สุดท้ายแล้วการผลักดันเรื่อง ‘สุดซอย’ ไม่มีความผิด เป็นเรื่องปกติที่ถูกกฎหมาย แต่มันพิสูจน์จริงๆ ว่า นี่เป็นเรื่องของการยับยั้งชั่งใจ เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องสุดซอยมันก็ตัดสินแล้วว่า กระบวนการทางสภาไม่ผิด แต่ที่มันไปมีผลทางการเมืองจริงๆ เคาะกันไปมากลายเป็นเรื่องจำนำข้าว แต่ถามว่าจำนำข้าวมันสามารถรวมคนเดินออกไปบนถนนได้ไหมล่ะ จำนำข้าวไม่มีทางจะรวมคนบนถนนเพื่อให้ไปต่อต้านนโยบายเพื่อคนจนได้หรอก แต่เขาใช้เรื่องจำนำข้าวมาเป็นดาบที่สอง โดยที่ดาบเรื่องสุดซอยไม่มีใครผิด แต่ปล่อยให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ดอกที่สอง ดอกที่สาม ตามมาอีก กลายเป็นว่าไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตยแล้ว แต่เป็นเรื่องคอร์รัปชัน คดีความ กลายเป็นดุลยพินิจของศาล เป็นการตีความกฎหมายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายก็ต้องมีความสูญเสีย จะเห็นได้ว่าผลเสียหายจากเรื่องทางการเมืองมันมี และนั่นคือบทเรียนที่นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องเรียนรู้ว่า เกมหลังจากนั้นไม่ใช่เกมประชาธิปไตยแล้ว
หมายความว่า ไม่ว่าคุณมีรัฐบาลที่ดีแค่ไหน ผลิตนโยบายที่ดีออกมา ก็มีสิทธิที่จะถูกบิดว่า เป็นการดำเนินนโยบายแบบไม่ยับยั้งชั่งใจ
เราเถียงกันคนละเรื่อง รัฐบาลไม่ได้ล้มด้วยนโยบาย มันล้มด้วยการยับยั้งชั่งใจในการแก้กฎหมายบางตัวซึ่งไม่ใช่นโยบาย มันเห็นอยู่ว่า มีแรงจูงใจทางการเมืองอื่นซึ่งเป็นเรื่องการล้างผิด ตรงนั้นต่างหากที่มันใหญ่กว่า ถ้าสู้กันในทางของมวลชน เรื่องนโยบายก็เป็นเรื่องต้องสู้กันไป แต่มันไม่ได้เริ่มขึ้นจากเรื่องนี้ สิ่งที่โดนฟันเป็นเรื่องกติกามารยาทในระบบประชาธิปไตยที่ฝ่ายชนะไม่สามารถจะ hold ชัยชนะอย่างนิ่งๆ และสุภาพๆ ได้ มันนำไปสู่ความเสียหายอื่นๆ และนำไปสู่การไร้เหตุไร้ผลมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระบบต่างๆ ยิ่งพังเข้าไปอีก
สิ่งที่คุณตั้งคำถามก็เป็นเรื่องจริง ทำไมคนชนะต้องแบกภาระเยอะขนาดนี้เลยเหรอ ทำไมฝ่ายที่ถูกหลักการใหญ่ๆ ต้องแบกภาระเยอะแบบนี้เลยเหรอ คำตอบก็คือ มันก็ต้องแบกแบบนี้แหละถ้าคิดว่าจะอยู่ ต้นทุนพวกนี้มันสูง อันนี้เราพูดถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ยังไม่พูดถึงสิ่งที่ไปข้างหน้า ซึ่งต้องพูดทั้งสองส่วน
แล้วทั้งหมดนี้ เกี่ยวอะไรกับข้อเรียกร้องให้ ‘ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง’
มันเป็นวาทกรรมที่ถูกใช้เพื่อสร้างให้เห็นว่า การเลือกตั้งมันเลวร้ายมาก ยิ่งปล่อยให้การเลือกตั้งดำเนินต่อสังคมจะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ จำเป็นต้องมีอะไรมาสกัดขัดขวางการเลือกตั้งเอาไว้ คนบางคนก็เชื่อจริงๆ เพราะเห็นแล้วว่าคุณไม่ฟัง ถ้ายิ่งชนะอีกก็ไม่ฟังอีก มันเลยได้คนกลุ่มนี้ สำหรับวาทกรรมนี้ ก็อธิบายกันไปว่า ไม่ใช่จะไม่ให้เลือกตั้งนะ แต่ต้องปฏิรูปก่อน
อ่านนัยแล้ว คนกลุ่มนี้ที่จริงแล้ว ไม่ต้องการให้มีเลือกตั้งเลย?
ไม่ใช่ แต่อยากให้การเลือกตั้งสะท้อนความเป็นจริงกว่านี้
แล้วระบอบเดิมไม่สามารถทำได้?
ระบอบเดิมทำไม่ได้ในความหมายของคนเหล่านั้น ตอนนั้นมีข้อถกเถียงกันว่า เลือกตั้งก่อนค่อยปฏิรูปก็ได้ เพราะปฏิรูปกินเวลายาวนาน แต่เราไม่ได้เห็นความมุ่งมั่นของฝ่ายชนะที่พร้อมจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และการตัดสินใจที่มีการใช้กันบ่อยๆ คือ ปล่อยให้เกิดแนวโน้มที่จะมีการปะทะกันของมวลชน ตรงนั้นยิ่งทำให้เข้าเงื่อนไขของกลุ่มคนที่รู้สึกว่า ถ้ายิ่งปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปยิ่งวุ่นวายกว่านี้ จึงเกิดเหตุผลของการรักษาความสงบขึ้นมา
พูดไปพูดมาจะกลายเป็นให้ความชอบธรรมของการรัฐประหาร?
ผมเข้าใจสิ่งที่คุณพูด ซึ่งผมไม่อยากจะพูดว่า การทำรัฐประหารมันชอบธรรมหรือไม่ ผมไม่ได้บอกว่าการทำรัฐประหารคือสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ได้บอกด้วยว่าเป็น necessary evil หรือเป็นสิ่งไม่ถูกต้องอันจำเป็น เปล่าเลย ผมไม่ได้เห็นด้วยเลย เพียงแต่ผมเข้าใจได้ว่า ทำไมคนเหล่านั้นถึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องออกมา หรือพูดอีกอย่างก็คือ ผมพยายามเข้าใจพวกที่ทำ ถ้าเขาไม่ได้วางแผนร่วมกับอีกฝ่ายหนึ่ง เขาก็คงถูก shape (สร้างการรับรู้) ประเด็น รับรู้สิ่งซึ่งมันเกิดขึ้นในแบบนี้ เขาจึงคิดว่าเขาจำเป็นต้องทำ แน่นอนสำหรับผมแล้ว เรื่องที่เขารับรู้นั้นไม่จริง แต่ผมเข้าใจว่า สำหรับเขาแล้วมันจริงพอในชีวทัศน์ โลกทัศน์ของเขา คือ ผมยังอยู่ในกลุ่มที่เชื่อว่า เขาไม่ได้วางแผนทำ (รัฐประหาร) ในความหมายว่าไปปลุกเร้าสถานการณ์จนเขามีความชอบธรรมที่เขาจะทำ แต่ผมเชื่อว่าเขาวางแผนทำในความหมายที่ว่า เขาตัดสินใจว่าจะต้องทำเพื่อยุติความขัดแย้ง เขาก็จำเป็นจะต้องวางแผนในการทำ ไม่ใช่ว่าเขาต้องการอำนาจ จึงไปวางแผนให้เกิดความวุ่นวายแล้วไปทำ ดังนั้น สำหรับผม คนที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้จึงมีด้วยกัน 3 ฝ่าย ฝ่ายที่อยากให้ทำ ฝ่ายที่ขนมวลชนออกมาเกิดการเผชิญหน้า และฝ่ายที่ทำ มองย้อนกลับไปทุกคนก็ต้องเรียนรู้เรื่องนี้
ทำไมต้องพูดเรื่องนี้ เพราะผมเชื่อว่ามันสำคัญในการทำความเข้าใจ การทำรัฐประหารมันเกิดไม่ได้ถ้ากลุ่มแรกไม่ได้พยายามผลักดันให้สถานการณ์ไปสู่จุดนั้น กลุ่มสองอ่านสถานการณ์แล้วเชื่อว่าตัวเองจะหยุดยั้งได้โดยการแสดงพลังประชาชน ถ้าการตั้งรับไม่ใช่การขนมวลชน มันก็อาจไม่นำสถานการณ์มาสู่จุดนี้ก็ได้ หรือกลุ่มที่สามก็อาจไม่ร่วมมือกับกลุ่มสองเพื่อทำให้กลุ่มแรกสงบลงก็ได้ อันนี้มันวนได้ แต่ผมก็ไม่ได้คิดถึงขนาดว่า แหม! บางครั้ง มีระดับ ผบ.ทบ.บอกว่านายกฯ ควรลาออก ซึ่งกองทัพก็ไม่ได้โจ่งแจ้งขนาดนั้น มันเข้าใจได้ว่าสถานการณ์อะไรนำไปสู่สิ่งที่เกิดในวันนั้น แต่ถามว่า ผมสนับสนุนหรือเห็นด้วยไหมต่อการตัดสินใจของทหาร ขออนุญาตไม่เห็นด้วย
ถามอีกทีว่า เหตุผลของการรัฐประหาร คือการเรียกร้องให้ปฏิรูป ถ้าย้อนกลับไปได้ มีความจำเป็นต้องปฏิรูปไหม
จำเป็นแน่นอน มันจำเป็นต้องมีการปฏิรูป แต่ไม่ใช่การอธิบายในแบบที่ว่า ก่อนหรือหลังเลือกตั้ง การปฏิรูปเป็นกระแสของการปรับปรุงตลอดเวลา มันไม่ได้มี urgency (ความเร่งด่วน) ขนาดนั้น ถ้าเรามองการปฏิรูปว่าเป็น self-improvement (การพัฒนาตัวเอง) ยังไงก็ต้องทำ
แต่ระบบและกลไกขณะนั้นก็ไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิรูปอะไรต่างๆ ที่อยากให้เป็นได้
ได้สิ ปี 2540 มันเกิดการกดดันจนต้องทำ มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้กติกาเดิม ทหารก็ไม่ได้ออกมาแทรกแซงด้วย มันมีกระแสของสังคม กระแสของคนชั้นกลาง มีการอดอาหาร มีอะไรต่อมิอะไร มีเงื่อนไขการต่อสู้แบบอื่นที่จะผลักดัน
แปลว่าถ้าจะปฏิรูปต้องมีกลไกอะไรใหม่ๆ นอกเหนือจากที่เป็นอยู่
มันก็ต้องลองผิดลองถูกไปนั่นแหละ เหมือนทุกประเทศ ยกเว้นอังกฤษ อเมริกา มีการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ มีองค์กรอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา มันไม่มีใครให้เราลอกได้ เราอาจไปหยิบมาใช้แล้วปรับปรุง แต่โจทย์ใหญ่ต้องมีก่อนว่า เราต้องการอะไร ต้องการให้พลเมืองเป็นใหญ่ การเลือกตั้งไม่ตอบโจทย์นี้ก็ต้องปรับปรุงให้การเลือกตั้งดีขึ้น ให้พลเมืองเป็นใหญ่ได้ด้วย
ระบอบเดิมก็แก้กฎหมาย แก้ระบบการเลือกตั้งได้
ถูก
แต่เขาเชื่อว่ามันทำไม่ได้ เพราะอะไร
มันไม่สามารถสื่อสารให้คนกลุ่มใหญ่เข้าใจไง คุณสื่อสารกับคนกลุ่มหนึ่งแล้วผลักดันไปสู่สถานการณ์หนึ่งก็ได้อำนาจในการแก้ ถามว่าการเลือกตั้งมันแพ้ชนะกันแบบเละเทะเหรอ ถ้าเราดูตัวเลขมันประมาณ 60 กับ 40 สลับกัน คนอยู่กลางๆ มันน่าจะพอต่อสู้ดึงคนกลางๆ กันได้อยู่ ตัวเลขมันไม่ได้ห่างกันขนาดนั้น
วันนี้เรากลับไปสู่จุดตั้งต้นใหม่ ที่มองในทางบวกก็มี แต่จุดอันตรายก็มี สิ่งที่กำลังเกิดคือ เรากลับไปสู่ประเด็นที่ผมว่าเป็นประเด็นใหม่ คล้ายๆ ‘สองนครา’ ในความหมายของ อ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ‘คนเก่า’ ไม่ใช่ อ.เอนก สมัยนี้ คำอธิบายคือ ฝ่ายหนึ่งเลือกตั้งได้ แต่ปกครองไม่ได้ ฝ่ายหนึ่งปกครองไม่ได้ แต่ทำลายการเลือกตั้งได้ แล้วมันไม่ใช่ ‘สองนครา’ ในความหมายที่แข่งกันในเกมเลือกตั้งแบบที่ อ.เอนก บอก มันกลายเป็นว่า สองฝ่ายทะเลาะกันเสียจนอีกคนหนึ่งที่อยู่ตรงกลางเข้ามาปกครองแล้วก็ทำอะไรไม่ได้อีกเหมือนกัน หรือมันจึงกลายเป็นคำถามว่า ประชาธิปไตยมันจะขับเคลื่อนประเทศได้อย่างไร เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยขับเคลื่อนประเทศไม่ได้ ฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยก็ขับเคลื่อนประเทศไม่ได้เหมือนกัน แล้วฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยก็เชื่อว่าจะขับเคลื่อนประเทศได้ก็โดยใช้อำนาจที่สาม อำนาจที่สามก็ขับเคลื่อนประเทศไม่ได้อีก อันนี้มันเห็นอยู่ สภาพเช่นนี้มันจึงล็อคกันไปหมด ไปๆ มา อำนาจฝ่ายค้านและอำนาจรัฐบาล คือกลับมาใหม่หมด เช่น พูดอะไรออกไป คนจำนวนมาก คนเสื้อแดง คนที่รักประชาธิปไตยก็รับไม่ได้ มาถึงตรงนี้ ประโยคที่ง่ายที่สุด ที่เขาเริ่มถามคำถามกันในวงวิชาการเกี่ยวกับเรื่องเมืองไทย ก็คือ ถ้าส่วนสำคัญของประชาธิปไตย คือการทำให้ทุกคนยอมรับกฎกติกา หากฝ่ายค้านเขาไม่เล่นในเกมกับคุณ แล้วคุณจะอยู่อย่างไร
ใครจะมีบทบาทในการสื่อสาร ผลักดัน และรณรงค์เพื่อจะเปลี่ยนแปลงให้เกิดการปฏิรูปในระบบที่มีการเลือกตั้ง
มันก็ทุกฝ่าย ไม่ว่าฝ่ายค้าน ภาคประชาชนหรือสื่อ ก็ต้องทำงานด้วยกัน ประเด็นก็คือ มันไม่มีใครโฟกัสในการแข่งขันตรงนี้ เพราะอีกฝ่ายไม่ผลิตนโยบาย การต่อสู้มันไม่ใช่การต่อสู้ในทางนโยบายแต่เป็นการต่อสู้ในทางวาทกรรมไปแล้ว ฝ่ายหนึ่งผลิตนโยบาย ฝ่ายหนึ่งผลิตวาทกรรม พอผลิตมา อีกฝ่ายก็ผลิตวาทกรรมต่อ สุดท้ายก็เถียงกันว่าเธอถูก ฉันผิด แค่นั้น ถามว่าในระบบเก่ามีหวังไหม มันก็มี แต่เราขาดทางเลือกที่สามในตอนนั้น ถ้าเราย้อนกลับไปดู มันแปลกมาก นักการเมืองมีสองกลุ่มจริงๆ แต่ไม่มีเหมือนในอดีตที่มีนักการเมืองกลุ่มอื่นๆ เป็นทางเลือกอิสระ ทุกคนพร้อมจะเข้าคอก เว้นชูวิทย์คนเดียว แต่ก่อนหน้านั้น มันมีคนที่เชื่อว่า ฉันจะตั้งพรรคการเมืองออกมาต่อสู้ แล้วอย่าโทษนักการเมืองอย่างเดียว พวกคนดี ก็เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ 40 มาทั้งนั้น แปลว่าคุณเคยยอมรับวิธีคิดแบบหนึ่ง พอถึงเวลาคุณอกหัก ผิดหวังกับมัน ก็เลยคิดล้มระบบเลยดีกว่า ไม่ได้คิดว่าอย่างนั้นต้องต่อสู้ใหม่ ผลักดันใหม่เหมือนที่คุณเคยทำมาแล้ว
ในต่างประเทศเขาจะไปหนุนพรรคฝ่ายค้าน โหวตฝ่ายค้านให้ทำหน้าที่นี้
มันก็แล้วแต่ประเทศไหน แต่ในประเทศประชาธิปไตยเสรี เขาจะสร้างระบบที่ทำให้ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ เสียงมันจะไม่ห่างกันมาก ในประเทศไทย เลข 60:40 มันกำลังสวย กลุ่มหนึ่งสามารถยึดกุมจิตใจของภูมิภาคและคนบางกลุ่มได้จริง คำถามใหญ่มันน่าจะไปอยู่ที่ว่า จะทำ power sharing (แบ่งสรรอำนาจ) ยังไง
ที่สำคัญคือ พวกเราทุกคนหยุดฝันกันแล้วด้วย ในช่วงก่อนมีสถานการณ์ปฏิรูป คนกลุ่มที่ชนะก็รู้สึกว่าโอเคแล้ว คนที่แพ้ก็รู้สึกเกมเดิมเล่นไม่ได้ก็ต้องล้มเกม คำถามคือ จะล้มยังไง เรื่องนี้คุยไปก็วน เพราะมันเป็นการสำรวจตัวเองอย่างเดียว ไม่ได้พูดว่าข้างหน้าจะไปยังไง ข้างหน้าต่างหากที่สำคัญ
รัฐธรรมนูญสังคมประเพณี
‘ข้างหน้า’ หมายถึงรัฐธรรมนูญ?
ผมรู้สึกว่า คำว่า รัฐธรรมนูญ เราเข้าใจกันสุดโต่งเกินไป เราไปมองคำว่า constitution ในความหมายแบบประเทศที่มีประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร เราเลยเชื่อว่า รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นกฎกติกาสูงสุดที่ถูกเขียนขึ้นมาบนกระดาษ แล้วเชื่อตามนั้น ถ้าเราดูอย่างน้อยในอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ทั้งหมดล้วนเป็นรีพับลิกทั้งสิ้น ไม่มีอะไรอยู่เหนือกว่ากติกาที่เขาตกลงร่วมกันแล้วเขียนขึ้นมา เพราะคนมันเท่ากัน แต่สังคมไทยมันเป็นสังคมประเพณี เราก็ต้องมองรัฐธรรมนูญในนามของประเพณี ซึ่งถ้ามองในแบบประเพณี รัฐธรรมนูญก็คือการต่อรองอำนาจกัน
สิ่งที่ใช้ในอังกฤษ คำว่า constitutional หมายถึงการต่อรอง การแบ่งปันอำนาจกัน การตัดสินใจเรื่องหนึ่งๆ ต้องมาจากการปรึกษาหารือกับคนอื่นๆ และนั่นคือพัฒนาการมาโดยตลอดว่า กษัตริย์กับขุนนางเขาต่อรองอำนาจกันอย่างไร กษัตริย์ต้องการเก็บภาษีเพิ่ม ต้องการรบ ขุนนางซึ่งเป็นที่มาของรายได้รู้สึกว่า ใช้เงินไม่ถูกทาง ต่อมาต่างคนก็ต่างหันไปหาประชาชนมากขึ้น หรือประชาชนก็เรียกร้องขอมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น
ถ้าเรามองประวัติศาสตร์แบบนี้ สิ่งที่เราจะต้องเห็น เช่น สมมติสิ่งที่ยิ่งลักษณ์ทำ ถามว่าผิดรัฐธรรมนูญไหม เราก็ไปหมายถึงผิดในทางลายลักษณ์อักษรไหม หรือผิดในทางธรรมเนียมประเพณีของการต่อรองอำนาจกันว่า คุณจะใช้อำนาจอย่างหนึ่งต้องได้รับการยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ดังนั้น constitution มันต้องเลิกแปลว่ากฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เพราะเราไม่ได้อยู่ในระบอบสาธารณรัฐ มันต้องแปลเหมือน constitution ของอังกฤษ ซึ่งหมายความว่า สิ่งนี้ได้ผ่านการหารือกับผู้คนที่หลากหลายหรือเปล่า
ถ้าเราอ่านดีๆ ไม่ว่าจะ รศ.103 หรือการเคลื่อนไหวในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ ทั้งหมดคือการเคลื่อนไหวเพื่อขอสิทธิขอเสียง constitutional monarchy ไม่ได้หมายความถึงกษัตริย์กับกฎหมายที่เป็นเล่ม แต่หมายความว่า กษัตริย์ที่ปรึกษาหารือกับคนอื่น เป็นกษัตริย์ที่แบ่งอำนาจกับคนอื่น หมายความว่า คนที่มีอำนาจสูงสุดนั้นใช้อำนาจโดยรับฟังเสียงของคนอื่น ฉะนั้น ถ้าเราพูดในยุคสมัยใหม่ คำว่ารัฐธรรมนูญในเซ้นส์แบบอังกฤษ จึงไม่ใช่ดูแค่ว่า กฎหมายถูกหรือผิดแล้วให้ศาลตัดสิน แต่มันถามถึงมโนสำนึกว่า เวลาใช้อำนาจ คุณใช้อำนาจมากเกินไปหรือเปล่า แบ่งคนอื่นไหม ให้คนอื่นได้วิพากษ์วิจารณ์คุณไหม ดังนั้น constitution มันจึงรวมถึงความหมายนี้ด้วย เพราะเราคือสังคมประเพณี ไม่ใช่สังคมรีพับลิกที่เชื่อว่าคนเท่ากัน แต่เราเชื่อว่าสังคมมีความหลากหลาย คนที่มีอำนาจต้องรับฟังคนที่ไม่มีอำนาจ
แล้วมันจะมีเส้นหรือมาตรฐาน หรือเพดานตรงไหนที่จะรู้ว่านี่คือการคุยแล้ว เพียงพอแล้ว
เพดานคือการเมืองไง เพดานคือการต่อรอง เพดานคือการขยับเส้นตลอดเวลา มันคือสิ่งซึ่งขยับบนข้อตกลง บนการต่อสู้ซึ่งคุณต้องลุ้น มันเป็นเทคนิคการต่อสู้สารพัดที่จะขยับเส้นไปมา คำถามว่า ความลงตัวอยู่ที่ไหน มันก็คือเสน่ห์ของการเมืองที่ต้องลุยกันทุกวัน ช่วงชิงความหมาย ต่อสู้กัน มันจึงไม่ใช่เส้นในแบบที่ฉันเชื่อว่า นี่คือเหตุผลสูงสุดที่ฉันจะบัญญัติเป็นกฎหมาย สังคมที่ไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ว่ามันไม่มีกฎกติกา ความสำคัญของมัน คือทำให้คนยอมรับมากกว่าปล่อยให้คนสองสามคนมานั่งตัดสินด้วยรัฐธรรมนูญ
คุณพูดถึงการต่อรอง เหมือนพูดถึงการเมืองสองฝ่าย แล้วประชาชนเกี่ยวด้วยไหม อยู่ตรงไหน
มันคือทุกฝ่าย เมื่อก่อนเจ้ากับขุนนางต่อรองกัน ตอนนี้ใหม่กว่านั้น ประชาชนก็ต้องมีเอี่ยวมากขึ้น
ที่ผมอธิบาย คือเวลาจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือจะต่อรองอำนาจ ถ้าคุณเป็นฝ่ายที่เสียประโยชน์ก็ต้องต่อรองต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ แต่คุณอย่าไปมองแบบตายตัวขนาดที่เชื่อว่า เราจะมีกฎหมายที่ดีที่สุด ลงรายละเอียดมากที่สุด มันควรเป็นกฎหมายที่เปิดให้ทุกฝ่ายได้ต่อสู้กัน มีพื้นที่ในการต่อสู้ต่อรองกัน
แปลว่า เราต้องเลิกคิดว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพราะต้องไปต่อรองกับส่วนอื่น
ก็ต้องไปต่อรองกับคนที่บอกว่าตัวเองเป็นตัวแทนของเขา ถ้าฉันมีอำนาจจริงฉันต้องปลดเธอได้ แต่ไม่ใช่ว่า เทวดา 20 คนช่วยปลดคนนี้ให้หน่อย มันไม่ได้ทำให้ประชาชนมีอำนาจ พูดง่ายๆ ผ่านรูปธรรมคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ไม่ได้บอกว่าประชาชนเป็นใหญ่เลย มันคือข้าราชการที่คุมนักการเมืองคนนั้นเป็นใหญ่ในนามของประชาชน เพราะประชาชนได้เลือกคนเหล่านั้น ถ้าประชาชนเป็นใหญ่จริง ประชาชนต้องเลือกทั้งสองฝ่ายแล้วมีการคานกัน ประชาชนต้องเลือกได้ทางตรงทางอ้อม เราอย่าไปมองว่าประชาชนดีหรือเลว แต่ประชาชนเป็นผู้เลือก และเขามีสิทธิเลือกคนหลายๆ กลุ่มเพื่อให้คนเหล่านั้นแข่งขันหรือคานอำนาจกัน นั่นคือการบอกว่าประชาชนคือผู้มีอำนาจ และไม่ใช่การคิดง่ายๆ ว่าประชาชนมีอำนาจ ประชาชนก็ออกไปม็อบตรงๆ ไม่ใช่ ประชาชนอาจเลือกตัวแทนหลายทางแล้วให้ตัวแทนหลายทางนั้นไปสู้กันเพื่อให้ประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราจะทลายวิธีคิดอย่างไร้สาระว่า ประชาชนพร้อมหรือไม่พร้อม ประชาชนพร้อมอยู่แล้ว แต่ประชาชนอาจเลือกผิดได้ หรือเลือกโดยผลประโยชน์ที่ต่างกันได้ เลือกคนกลุ่มนี้เพราะอย่างนี้ เลือกคนกลุ่มนั้นเพราะอย่างนั้น ประชาชนอาจเลือกคณะรัฐบาลนี้เพราะเขาอยากได้เศรษฐกิจที่ดี ประชาชนเลือกศาลแบบนี้เพราะเขาเห็นว่านอกเหนือจากเศรษฐกิจดีต้องมีหลักการอื่นที่ดีด้วย ทำไมไม่เปิดการร่างแบบนั้น เวลาคุณเดินช็อปปิ้งเดินห้างเดียวไหมล่ะ มันต้องออกแบบระบบให้คนรู้สึกว่า เขาใช้อำนาจได้มากกว่าหนึ่งทาง
ผมไม่ได้มาเสนอคำตอบสำเร็จรูป แต่ผมคิดว่า มีหลักการบางอย่างที่เราไม่ควรละเลย นั่นคือสิ่งที่พยายามจะบอก ผมไม่ได้บอกว่า มีชุดกฎหมายที่กลั่นกรองเขียนไว้แล้วด้วยประสบการณ์ความรู้ของผม ไม่ใช่ ผมไม่ได้มีหน้าที่นั้น ผมมีหน้าที่อธิบายว่า ประชาธิปไตยก็ต้องพัฒนาคุณภาพ มันอยู่ไม่ได้ด้วยตัวเองถ้าไม่มีเงื่อนไขอื่นๆ มาประกอบ ประชาธิปไตยต้องให้ประชาชนมีส่วน แทนที่เราจะมองว่า การเลือกตั้งเป็นทางเดียวที่จะให้ประชาชนมีอำนาจ ก็ต้องมองว่าประชาชนมีอำนาจเข้าถึงและต่อรองกับอำนาจอื่นๆ ได้ยังไง
ถ้าเราถอดเรื่องคุณค่าว่า ประชาธิปไตยมีคุณค่าเหนืออย่างอื่น บางส่วนมันเป็นเรื่องของท้องถนน เป็นเรื่องของความเชื่อ ถ้าเราวางเรื่องนี้ไปก่อน ประชาธิปไตยก็คือเกม คือพฤติกรรมของมนุษย์แบบหนึ่ง เราต้องมองว่า จะปรับปรุงเกมอย่างไร คุณมีหน้าที่ปรับปรุงเกม จะทำอย่างไรให้เกมนี้เล่นแล้วสนุก ให้คนอื่นได้เล่นด้วย อันนี้คนละโจทย์ อันนี้คือโจทย์ของคนที่เรียน comparative politics หรือรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่เขาเริ่มมองว่า จะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานในที่หนึ่งแล้วมันไม่ถอยออกมา ทำให้มันเป็น only game in town ให้ได้ ทำให้มันเป็นเกมที่ทุกคนยอมเล่นด้วยกัน ให้คนอยากจะเล่นในเกม มุ่งมั่นที่จะทำให้เกมมันสามารถผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะได้ ไม่ใช่คำอธิบายว่า มันจะออกแบบกฎกติกาอะไรที่ทุกคนจะมองว่าเป็นความจริงถูกต้องสูงสุด แต่ที่เราทำ มันตรงข้าม เราไปเชื่อว่าฝ่ายไหนถูก แล้วเราพยายามไปออกแบบให้เขาเป็นฝ่ายชนะเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ ต้องมองก่อนว่า จะทำให้มันเป็นเกมที่ทุกฝ่ายเล่นด้วยกันได้ไหม
ถ้าอย่างนั้น ทั้งเลือกตั้ง ทั้งปฏิรูป ก็ extreme (สุดขั้ว) ทั้งคู่ ?
ใช่ ปฏิรูปในความหมายที่ผ่านมา 2-3 ปีนั้นเอ็กซ์ตรีม แต่คำว่าปฏิรูปในความหมายกว้าง มันเป็นคำซึ่งจริงๆ แล้วน่าจะพอดีในความหมายของการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโดยคำนึงถึงรากฐานที่มีอยู่ แต่พอใช้ในการเมืองไทยแล้วมันเสียหาย เพราะเรามีทัศนคติที่ไม่ถูก ฝ่ายที่เป็นนักการเมืองเลือกตั้งก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่
ที่มา: ประชาไท