ชาวเน็ตเห็นด้วย! ปฏิรูปโครงสร้างองค์กรปกครองท้องถิ่น ความเห็นส่วนใหญ่ยังสับสนอยากให้ยกเลิก อบต.-อบจ.

ตั้งแต่ช่วงตุลาคมของปี 2557 เป็นต้นมา กระแสปฎิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่่นกลายเป็นประเด็นสำคัญ เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประชุมหารือพร้อมเชิญตัวแทนกระทรวงมหาดไทย(มท.) เข้าร่วม เพื่อวางแนวทางการยุบโครงสร้างองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยมีหลักสำคัญดังนี้

หนึ่ง ปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เหลือสองรูปแบบ คือ เทศบาล กับรูปแบบพิเศษ 
สอง เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น จากองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เป็นเทศบาล ทั้งหมด
สาม กำหนดให้เทศบาล มีสามรูปแบบ คือ เทศบาลตำบล เทศบาลอำเภอ และเทศบาลจังหวัด
สี่ เปลี่ยนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็น "สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด" ทำหน้าที่อำนวยการ อาทิ งบประมาณ และการกำกับดูแลการปกครองท้องถิ่นและ ให้ยกเลิกการเลือกตั้งอบจ. และให้ข้าราชการประจำเป็นหัวหน้าสำนักงาน อาจมีที่มาจาก ปลัดเทศบาลที่มีคุณสมบัติผ่านการสอบคัดเลือก 
ห้า ให้ สภาเทศบาลตำบล และเทศบาลอำเภอ มีที่มาจากจำนวนผู้ใหญ่บ้าน ทุกหมู่บ้านในเขตตำบลนั้น ๆ เท่าที่มีอยู่ ให้เป็นสมาชิกสภาโดยตำแหน่ง 
หก อำนาจการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เป็นของคณะกรรมการซึ่งมาจากตัวแทน 4 ฝ่ายได้แก่ ผู้แทนจากส่วนราชการอื่น / ผู้แทนข้าราชการประจำ / ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่น / ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 4 ปี

จากการพยายามผลักดันประเด็นดังกล่าวภายใต้สภาวะที่การมีส่วนร่วมเป็นไปอย่างจำกัด เว็บไซต์ prachamati.org จึงตั้งคำถามให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามาร่วมกันแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว กับคำถามว่า ‘ยุบ อบจ. และ อบต. เห็นด้วยหรือไม่?’ โดยเริ่มเปิดให้โหวตตั้งแต่วันที่ 3-30 พฤศจิกายน 2558 มีผู้เข้าร่วมโหวตกว่า 500 คน และมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นกว่า 1,100 คน 

ซึ่งผลการลงคะแนน นับเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ปรากฎว่า มีผู้เห็นด้วยจำนวน 427 คิดเป็น 82 % และมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวน 93 คิดเป็น 18 %

เว็บไซต์ prachamati.org สรุปประเด็น ข้อดี-ข้อเสีย ในการยุบอบต.และอบจ. โดยอ้างอิงข้อมูลส่วนใหญ่จากบทความ "การยุบเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" โดย โชคสุข กรกิตติชัย วิทยากรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเพื่อความเข้าใจจึงขอแยกประเด็นที่ได้ทำการรวบรวมมาดังนี้ 

ประเด็นที่หนึ่ง: การยกฐานะ อบต. เป็น "เทศบาล" และการควบรวม อปท. ขนาดเล็กเข้าด้วยกัน

ข้อดี คือ ง่ายต่อการบริหารจัดการ เพราะจะทำให้มีระบบเทศบาลที่รูปแบบเหมือนกันทั่วประเทศ โครงสร้างเหมือนกันหมด เนื่องจากที่ผ่านมา อบต.บางแห่งมีพื้นที่ความรับผิดชอบเล็กเกินไป อบต.ขนาดเล็กบางแห่งไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ การบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและภารกิจที่ซับซ้อนทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ

ข้อเสีย คือ ในกรณีที่พื้นที่ของ อบต. นั้นๆ เป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร เป็นป่าเขา เป็นเขตชนบท หรือเป็นเขตที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ การบริหารงานในรูปแบบเทศบาลก็อาจจะมีอุปสรรค เพราะพื้นที่กว้างแต่อาจดูแลไม่ทั่วถึง การให้ อปท. มีขนาดเดียวกันจะขัดแย้งกับความจำเป็นในการบริหารจัดการในพื้นที่ที่มีความแตกต่าง เพราะ อปท. ขนาดเล็กจะมีความใกล้ชิดกับคนในพื้นที่ รวมถึงการมีองค์กรเล็กๆ หลายแห่ง มีแนวโน้มจะช่วยถ่วงดุลไม่ให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามาครอบงำอปท.ในพื้นที่ต่างๆ ได้โดยง่าย

ประเด็นที่สอง: การยุบเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 

ข้อดี คือ ช่วยลดปัญหาความทับซ้อนในเรื่องงบประมาณ ภาษี ระหว่าง อบจ., อบต. และเทศบาล การยุบเลิกระบบบอบจ.ยังสามารถช่วยกระจายงบประมาณให้หน่วยงานอื่นเข้ามาดูแลตรงจุดมากขึ้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า อบจ. มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างห่างจากประชาชน ทำให้ระบบการตรวจสอบเป็นเรื่องยาก เพราะประชาชนไม่ทราบว่า อบจ. ทำหน้าที่อะไร มีความเกี่ยวพันกับประชาชนอย่างไร

ข้อเสีย คือ อปท. ขนาดเล็กไม่สามารถดำเนินภารกิจบริการสาธารณะขนาดใหญ่ได้ แม้อาจจะแก้ไขโดยการร่วมมือกันระหว่าง อปท. ข้างเคียงหลายแห่ง แต่ก็จะมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่ดี การแก้ปัญหาเดิมของ อบจ. ควรต้องกำหนดหน้าที่ให้ชัดเจนมากกว่ายุบเลิกไปเลย เพื่อให้ อบจ. ยังสามารถทำหน้าที่อุดช่องว่างของ อปท. ขนาดเล็กได้ 

ประเด็นที่สาม: ให้ยกเลิกการเลือกตั้ง อบจ. และให้สมาชิกสภาท้องถิ่น มาจากการแต่งตั้ง

ประเด็นดังกล่าวมีผู้สนับสนุน อย่างเช่น สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ที่เห็นควรว่าให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นมาเป็นผู้อำนวยการแทน นายกฯ อบจ. เพราะข้าราชการอาจจะมีความเชี่ยวชาญกว่าในการบริหารงบประมาณ บริหารงานบุคคล เพียงแต่ต้องเป็นเพียงชั่วคราวในช่วงแรก และในระยะยาวต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
 
ด้านผู้ที่ไม่เห็นด้วย อย่างเช่น วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า โครงสร้างดังกล่าวเป็นการให้อำนาจกับข้าราชการประจำมากเกินไป และจะทำให้ประชาชนอ่อนแอ แม้ว่าคนจะกลัวการคอร์รัปชั่นจากนักการเมืองท้องถิ่น แต่ข้าราชการนั้นน่ากังวลกว่า เพราะมีระบบตรวจสอบที่น้อยกว่านักการเมือง 

นอกจากการรวบความคิดเห็น และการวิเคราะห์ ข้อดี-ข้อเสีย จากมุมมองนักวิชาการแล้ว เว็บไซต์ Prachamati.org ยังได้รวบรวมการแสดงความเห็นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งจากบนเพจเฟซบุ๊คและบนหน้าเว็บไซต์ โดยความคิดเห็นแบ่งออกเป็นหลายประเด็น ดังนี้ 

หนึ่ง เห็นด้วยว่าควรยกเลิกเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยเปลี่ยนจากการจัดการบริการสาธารณะมาเป็นหน่วยงานอำนวยการให้กับ อปท. ขนาดเล็ก แต่ว่าผู้นำองค์กรก็ยังต้องมาจากการเลือกตั้ง มิเช่นนั้นจะขาดการยึดโยงกับประชาชน การให้ข้าราชการมีบทบาทในการปกครองส่วนท้องถิ่นสูงจะเป็นการทำลายหลักการกระจายอำนาจ และอาจเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยการทุจริตซื้อตำแหน่งกัน 

ส่วนผู้ที่เห็นค้านในประเด็นดังกล่าว มองว่า การแต่งตั้งก็มีส่วนดี เพราะคนที่ทำงานได้ดีอาจจะขาดโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งได้ 

สอง เห็นด้วยกับการยกระดับ อบต. ให้เป็นเทศบาล แต่ว่าทุกตำแหน่งต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยคนกลุ่มนี้มองว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง คือ ผลงานที่ประชาชนส่วนมากช่วยกันสร้างขึ้น ระบบแต่งตั้งไม่สามารถรับประกันผลประโยชน์ที่จะตอบแทนให้กับประชาชนได้ อีกทั้งการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกของท้องถิ่นจะเป็นการสร้างเครือข่ายของผู้มีอำนาจแต่งตั้งและอาจจะนำไปสู่การคอรัปชั่นอย่างรุนแรงของผู้มีอำนาจแต่งตั้งกับผู้ต้องการเข้าไปมีอำนาจในท้องถิ่น 

(ขยายความ - แต่เดิมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นตัวแทนของหมู่บ้านละสองคน แต่ข้อเสนอในการปฏิรูปครั้งนี้เสนอให้สมาชิกสภาเทศบาลตำบล และเทศบาลอำเภอให้มาจากผู้ใหญ่บ้านโดยตำแหน่ง)

นอกจากนี้ ยังพบประเด็นที่น่าสนใจ คือ คนจำนวนหนึ่งยังเข้าใจผิดว่า ข้อเสนอการปฎิรูปโครงสร้างดังกล่าว เป็นการเสนอให้ยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่นไปเลย ทำให้มีความคิดเห็นออกมาในทำนองว่า เห็นด้วยกับการยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่นไปเลย เพราะ โครงสร้างดังกล่าวเป็นฐานเสียงให้นักการเมือง และการบริหารจัดการก็ขาดประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น อีกทั้งยังซ้ำซ้อนกับการบริหารส่วนภูมิภาค 

ส่วนผู้ที่เห็นค้านในประเด็นข้างต้นมองว่า การยกเหตุผลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะให้ยุบระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นไปเลย หากแต่ต้องแก้ที่ระบบ โดยเพิ่มการตรวจสอบให้เข้มข้นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น