สมบัติ บุญงามอนงค์: คสช.จะอยู่ยาก ถ้าประชามติไม่ผ่าน

หากมองข้ามเรื่องสีเสื้อ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ 'บ.ก.ลายจุด' มีสถานะไม่แตกต่างกับเน็ตไอดอล ด้วยความที่เขาใช้โซเซียลมีเดียในการสื่อสารความคิดและการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง จนมีผู้ติดตามหลักแสน มีเพียงช่วงต้นหลังรัฐประหารเท่านั้นที่เขาต้องหายหน้าหายตาไปหลังถูกฟ้องหลายคดีจากการโพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์

ในฐานะผู้ที่เฝ้ามองปรากฏการณ์ทางสังคมการเมือง รวมทั้งใช้โลกออนไลน์เป็นชีวิตจิตใจ จนมีความเข้าใจวัฒนธรรมของคนบนโลกเสมือนเป็นอย่างดี  เราพูดคุยกับ บ.ก.ลายจุด เพื่อให้เขาช่วยมองการทำงานของเว็บไซต์ประชามติ (prachamati.org) และสะท้อนภาพรวมของสังคมไทยปัจจุบัน นอกจากนี้เรายังชวนคุยถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นกลางปีนี้ ว่าจะเอายังไงดี? 
 
สถานการณ์การเมืองตอนนี้ทำให้คนใช้สื่อออนไลน์เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

โดยทั่วไปอินเทอร์เน็ตสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างมหาศาลเป็นยุคทองของอินเทอร์เน็ตกับประชาธิปไตย แต่ช่วงเวลานี้ ปัจจัยทางการเมืองทำให้พื้นที่ทางอินเทอร์เน็ตจำกัดลงมาก ผมคิดว่ารัฐบาล คสช.เป็นรัฐบาลแรกที่มีการเข้มงวดอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ในระดับผู้นำมีการกล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์การแสดงความคิดเห็นทางโลกออนไลน์บ่อยมาก หรือมีความพยามหลายครั้ง เช่น การทำซิงเกิลเกตเวย์ (single gateway) การไปขอข้อมูลจากเฟซบุ๊กหรือไลน์เพื่อนำมาใช้ดำเนินการทางคดี ซึ่งผู้ให้บริการปฏิเสธ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่ารัฐคิดจะเข้าไปควบคุมประชาชน แต่ก็ทำได้ยากมาก 
 
คนรอบๆ ตัวคุยเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญกันว่าอย่างไรบ้าง เขาตื่นตัวกันไหม

ไม่มีเลย ผมไม่เห็นใครคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ คนรอบตัวผมในโลกออนไลน์ที่สนใจทางการเมืองก็พูดอยู่บ้างแต่น้อยมาก ส่วนใหญ่ในกลุ่มผมค่อนข้างชัดเจนว่าไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน แล้วก็เนื่องจากยังร่างไม่เสร็จ ดังนั้นก็ไม่อยากจะตามข่าว ผมคิดว่าจะเริ่มมีความตื่นเต้นเมื่อมีประเด็นใหม่ๆ โผล่ขึ้นมา เพราะพอเปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาก็จะเริ่มมีคนอภิปราย แต่ถ้าประเด็นเริ่มซ้ำคนก็ไม่อภิปรายแล้ว
 
ไม่รู้นะ ผมอาจจะปรามาสกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มากไป ผมว่าเป็นเรื่องเสียสติที่คิดว่า รัฐธรรมนูญจะมาแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยก่อนหน้านี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่นี้ไม่ได้ตอบโจทย์ที่ผ่านมาเลย สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นมีเหตุผลเดียว คือการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ และทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญล้วนเป็นเรื่องการจัดสรรความสัมพันธ์ทางอำนาจว่า ใครจะยอมให้ใครมีอำนาจอยู่ตรงไหน สัดส่วนการถ่วงดุลกันเป็นอย่างไร หรือองค์ประกอบของผู้มีอำนาจจะเป็นอย่างไร จะยอมให้ผู้แทนปวงชนมีอำนาจมากแค่ไหน เขากลัวและกังวลเรื่องพวกนี้ ไม่ได้กังวลเรื่องการแก้ปัญหาในอดีต
 
นายกฯ คนนอกเป็นโจทย์สำคัญของการร่าง ผลโหวตจากเว็บไซต์ประชามติบอกว่า 'ไม่เห็นด้วย' คิดว่าคนมาโหวตคิดอย่างไร
 
การไม่เอานายกฯ คนนอกเป็นผลพวงจากเมื่อปี 2535 เป็นเรื่องการสืบทอดอำนาจ คนกลัวว่าคนที่มีอำนาจอยู่ภายนอกจะเข้ามาควบคุมอำนาจในระบบ เพราะที่ผ่านมาในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กองทัพมีอำนาจจริง คนก็กลัวว่ากองทัพหรืออำมาตย์ทั้งหลายจะเข้ามากำหนด
 
คิดว่าผลโหวตหรือกิจกรรมของเว็บไซต์ประชามติจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม
 
ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง พูดแบบตรงไปตรงมา ผมไม่คิดว่าเว็บประชามติจะเป็นเว็บที่เข้าถึงคนทั่วไปได้มากนัก ยังเกาะอยู่ในกลุ่มวิชาการ และไม่เข้ากับวัฒนธรรมของโลกออนไลน์ ต่างจากเพจสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการใช้โคว้ต หรือคลิปสั้นๆ ที่เป็นความเห็นของแต่ละคน โดยสื่อสารอยู่บนเฟซบุ๊ก ไม่ใช่เว็บ
 
ผมคิดว่าเว็บประชามติไม่เซ็กซี่ ต้องหารูปแบบที่คนจะมาคุยเรื่องนี้กันอย่างสนุก เช่น มีเกมหรือใช้ภาษาที่ดูสนุก อย่างในเว็บประชามติการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยถือเป็นรูปแบบที่น่าจะสนุก แต่ที่ทำออกมานั้นธรรมดา 
 
ประเมินว่าประชามติจะผ่านไหม
 
ถ้าเป็นบริบทเวลานี้ ไม่มีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง ผมว่าคนจะไม่เอารัฐธรรมนูญเยอะ แต่ว่าการไม่เอารัฐธรรมนูญก็มีหลายเหตุผล ทั้งเรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา หรือว่าการไม่เอาอาจจะเป็นวิธีการแสดงออกว่าเขาไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เขาต้องการตบหน้า คสช. บางทีอาจจะแค่นั้น ไม่ซับซ้อน 
 
ถ้าผมเป็น คสช.ผมลำบากใจมากเลย เกมนี้เป็นเกมที่ คสช.เป็นรองมาก ผมรอดูหมัดสุดท้ายว่า เขาจะขอแรงสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองขนาดใหญ่อย่างไร จะมีข้อต่อรองหรือสื่อสารอย่างไรให้พรรคการเมืองสนับสนุน เช่น จะทำยังไงให้ประชาธิปัตย์ออกมาโหนว่าต้องรับร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกับปี 2550  หรือให้เพื่อไทยบอกว่าก็พอยอมรับได้
 
ผลโหวตจากเว็บประชามติส่วนใหญ่อยากให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้หากประชามติไม่ผ่าน สำหรับ บก.ลายจุด ควรทำอย่างไร
 

ผมว่าที่จริงควรมีการรณรงค์ให้เอาฉบับเก่ามาใช้ก่อน เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 หรือ 2540 หลังจากนั้นให้รัฐบาลที่จะเข้ามาทำงานต่อ ถือเป็นภาระในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถ้าเป็นผมจะเสนอรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยต้องนำไปปรับแก้และต้องพูดชัดเจนว่าจะแก้ไขตรงส่วนใด การลงประชามติไม่ควรมีเพียงรับหรือไม่รับ ส่วนคนที่เอาฉบับ 2550 ก็ควรเสนอว่าจะปรับอะไรบ้าง แต่สุดท้ายควรเป็นการร่างใหม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต่อไป
  
ถ้า คสช.บอกว่า ประชามติไม่ผ่านจะอยู่ต่อ เราควรไปลงประชามติ หรือควรบอยคอตกระบวนการนี้ไปเลย

ถ้าคิดเรื่องผลการลงประชามติเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ควรไปบอยคอต กระแสยังไม่ถึงบอยคอต ยกเว้นว่ามีความไม่ชอบธรรมมากๆ เช่น มีการพยายามบิดพลิ้วเสียงของการลงประชามติ
 
การไปลงประชามติจะให้ภาพที่ชัดเจนว่าเราไม่เอา อาจหมายถึงไม่เอาทั้งรัฐธรรมนูญ ไม่เอาทั้ง คสช.ซึ่งถ้าสามารถทำให้การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหมายถึงการไม่เอา คสช.ได้ คสช.ก็จะไม่สามารถอยู่ต่อได้เลย หรือไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญ บ้าๆ บอๆ ได้ ผมคิดว่าช่วงลงประชามติเขาจะลำบากมาก