‘องอาจ-พงศ์เทพ’ เห็นร่วม ผู้มีอำนาจต้องสร้างทางเลือกหาก รธน. ถูกคว่ำ

เปิดวงถกปัญหาประชามติ ‘องอาจ-พงศ์เทพ’ เห็นร่วม คสช.ต้องระบุให้ชัดประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร ‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ ชี้ คนไทยยังไม่เข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ แต่กลับเจอปัญหาการปิดกั้นการกระจายความรู้ สุดท้ายการออกเสียงอาจเป็นแค่ พิธีกรรม

26 มี.ค. 2559 ที่ ห้องประชุมชั้น 4 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อาคารวิศิษฐ์-ประจวบเหมาะ ได้การจัดเวทีสาธารณะ “ถกแถลงปัญหาประชามติ” ขึ้น โดยความร่วมมือของ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันสร้างอนาคตไทย และเว็บไซต์ประชามติ www.prachamati.org เพื่อพูดถึงปัญหาของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยมีผู้นำถกแถลง ประกอบด้วย สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, อนุสรณ์ ธรรมใจ, พงศ์เทพ เทพกาญจนา, นิกร จํานง, องอาจ คล้ามไพบูลย์, พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน, ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว, อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, โคทม อารียา และนฤมล ทับจุมพล

เคลียร์ปัญหาคาใจ มาตรา 10 พ.ร.บ.ประชามติ กกต. จัดเวทีได้ คนอื่นก็ต้องจัดได้

นิกร จำนง เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงปัญหาในร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... โดยลงรายละเอียดในมาตรา 10 ซึ่งระบุว่า “กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ และเท่าเทียมกันของบุคคลทุกฝ่ายในเรื่องที่จัดทำประชามติ และสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนสามารถดำเนินการจัดกิจกรรมในการรณรงค์เผยแพร่เกี่ยวกับการออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญ และให้สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมจัดสรรเวลาออกอากาศหรือเผยแพร่ข้อมูลตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด”

นิกร ระบุว่า การเขียนกฎหมายในลักษณะนี้ อาจทำให้เกิดการตีความว่า เป็นการกำหนดให้เฉพาะ กกต. เท่านั้นที่สามารถจัดให้มีเวทีในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะทำให้ภาคส่วนอื่นๆ ไม่กล้าที่จะเข้ามาจัดเวทีในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และการออกเสียงประชามติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กกต. ควรมีหน้าที่เพียงแค่จัดสรรเวลา สำหรับการรณรงค์เผยแพร่เกี่ยวกับการออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้เชิญทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญ มาแสดงความคิดเห็น ทั้งควรยึดหลักความเป็นกลาง ไม่ควรเชิญเฉพาะคนที่มีความเห็นเหมือนกันทั้งหมด

“เขียนแบบนี้ ภายใต้ภาวะที่เหมือนอยู่ในกฎอัยการศึก พูดกันตรงๆ เลยแล้วกัน มันจะทำให้คนไม่กล้าจัด ไม่กล้าทำ เพราะมันสุ่มเสี่ยงมาก และโทษแรงมาก คราวก่อนโทษไม่แรงเท่าไหร่ แล้วสู้กันในศาลได้ แต่คราวนี้ศาลทหารหรือเปล่าก็ไม่รู้ ฉะนั้นเราต้องเคลียร์ว่า โดยหลักการเมื่อไม่มีกฎหมายห้าม ไม่ว่าใครก็สามารถจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นได้ แต่ก็ต้องมีความเป็นกลาง ไม่ใช่ว่าไม่ผู้จัดไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็ดึงมาเฉพาะคนที่ไม่เห็นด้วย” นิกรกล่าว

ด้านองอาจ คล้ามไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการออกเสียงประชามตินั้น ไม่ควรเป็นเพียงหน้าที่ของ กกต. ที่จะมาจัดสรรให้บุคคลใดได้แสดงความคิดเห็นว่า เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ กกต. อาจจะกำหนดเกณฑ์ในแง่ของการสื่อของรัฐสำหรับเป็นช่องทางในการเผยแพร่ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับสื่ออื่นๆ กกต. ไม่ควรเข้าไปกำหนด ควรเปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นในสื่อต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

“ในกฎหมายประชามติ ส่วนใดก็ตามที่ยังมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน ผมอยากจะเรียกร้องให้ กกต. หรือกฤษฎีกา ควรจะออกมาบอกให้ชัดเจนว่า ข้อความที่ยังคลุมเครือนั้น พวกท่านมีเจตนารมณ์อย่างไรในการบัญญัติกฎหมายเหล่านั้นไว้” องอาจกล่าว

องอาจ กล่าวต่อว่า คสช. และรัฐบาล ควรทบทวน ประกาศของ คสช. ในเรื่องการห้ามจัดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมการทางเมือง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของพรรคการเมืองหรือ ของกลุ่มใดก็ตาม เพราะการออกเสียงประชามติในเรื่องรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หากยังมีประกาศห้ามเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเวทีที่ กกต. จัด หรือผู้อื่นจัด ก็อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดตามประกาศของ คสช.

องอาจ ยังกล่าวต่อไปว่า หากมีการเตรียมการทำประชามติแล้ว คสช. ควรระบุให้ชัดว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะมีการดำเนินการอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20

“ไม่ใช่ ให้คนไปลงประชามติ รับ ไม่รับ ก็ตาม ถ้าไม่รับเขาจะได้อะไรมาทดแทนรัฐธรรมนูญฉบับที่ออกเสียงลงประชามติ อีกประเด็นหนึ่ง เนื่องจากการออกเสียงประชามติมันอยู่ในบรรยากาศที่มี คสช. และมีรัฐบาลที่มาจาก คสช. ซึ่งเป็นผู้คุมอำนาจรัฐ คสช. ต้องแสดงความชัดเจนว่าจะไม่ใช้กลไกอำนาจรัฐไปดำเนินการใดๆ ก็ตามที่จะทำให้มีการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” องอาจกล่าว

อย่าทำให้ประชามติเป็นเพียง พิธีกรรม

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงปัญหาของการทำประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า เป็นการลงประชามติที่รวมหลากหลายประเด็นอยู่ในการตัดสินใจครั้งเดียว โดยหลักการทั่วไปของการทำประชามตินั้น จะเป็นการถามคำถามในประเด็นเดียว และเป็นประเด็นที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย เช่น ออกเสียงประชามติว่าจะให้ สกอตแลนด์ แยกตัวออกจากการปกครองของสหราชอาณาจักรหรือไม่ หรือกรณีของนิวซีแลนด์ ซึ่งเพิ่งผ่านการลงประชามติ เรื่องจะยกเลิกธงชาติแบบเดิม แล้วเปลี่ยนมาใช้แบบใหม่หรือไม่

สมบัติ กล่าวต่อถึงปัญหาในการทำประชามติรัฐธรรมนูญว่า มีประเด็นเยอะมาก ฉะนั้นจะมีคนที่เห็นด้วยกับอยู่บางส่วน และไม่เห็นด้วยในบางส่วน ทำให้เกิดการตัดสินใจชั่งน้ำหนักว่า ประเด็นที่เห็นด้วย กับประเด็นที่ไม่เห็นด้วย สิ่งใดมากน้อยกว่ากัน แล้วจึงไปลงประชามติ แต่การลงประชามติในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญจะได้ผลดีมาก ในสังคมที่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจมาก จึงจะสามารถทำให้คนไปลงประชามติได้ด้วยเหตุผล ไม่ใช่ไปลงประชามติด้วยเหตุชักจุงอื่นๆ

“ผมเคยให้สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจว่าคนไทยอ่านรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีกี่เปอร์เซ็นต์ ผลออกมา 4 เปอร์เซ็นต์ ผมสอนหนังสือก็ยังถาม ว่าที่มหาบัณฑิตว่า มีใครอ่านรัฐธรรมนูญหมดทั้งฉบับบ้าง มือหนึ่งก็ไม่เห็น นั่นหมายความว่าเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนทั่วไปสนใจ แม้กระทั่งคนที่นับว่ามีการศึกษาพอสมควรก็ยังไม่ค่อยสนใจ ฉะนั้นเวลาให้ชาวบ้านออกมาลงประชามติ ลองคิดให้สอดคล้องกับความเป็นจริงว่า วิธีการตัดสินใจของชาวบ้านเขาตัดสินใจอย่างไร เขาตัดสินใจว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย จึงมาลง หรือมีเหตุจุงใจอะไร ที่จะทำให้เขาตัดสินใจว่าจะลงหรือไม่ลง อันนี้พูดจากความเป็นจริงนะครับ ถ้าเราไม่หลอกตัวเองกันมากเกินไป” สมบัติกล่าว

สมบัติ กล่าวต่อไปว่า เมื่อความรู้ความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญของคนไทยยังมีน้อย แต่การให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญกลับถูกจำกัดอีก จะทำให้เกิดปัญหาที่สร้างความยุ่งยากมากขึ้น ฉะนั้นหากจะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่มีประเด็นมากมาย และซับซ้อน บรรยากาศในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเปิดกว้างมาก ต้องให้มีการถกแถลงกันเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เพื่อที่จะผู้คนจะได้มีข้อมูลในการตัดสินเพื่อไปลงประชามติ แต่หากยังเป็นบรรยากาศที่สิทธิ เสรีภาพถูกจำกัด ก็จะทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้นไปอีก ประชาชนจะมาลงประชามติด้วยความรู้ความเข้าใจ หรือมาด้วยการชักจูง สุดท้ายก็จะทำให้การลงประชามติเป็นเพียงพิธีกรรม

“ผมไม่แน่ใจว่า ภายใต้สภาพความเป็นจริงขณะนี้ ประชาชนมีความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญแค่ไหน ขนาดพูดกันถึงเรื่องระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสมมาตั้งแต่สมัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนที่ตกไป ก็มีประชาชนที่มีการศึกษาจำนวนมากไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ว่าตอนนี้มันหนักเข้าไปอีก เพราะว่ามันเป็น ระบบแบ่งสรรปันส่วนผสม ตกลงว่าจะให้ชาวบ้านเข้าใจได้แค่ไหน อย่างไร ประเด็นของผมก็คือ ถ้าเราจะทำประชามติภายใต้ ข้อจำกัด ข้อปิดกั้น ขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังขาดความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ เราทำได้แค่พิธีกรรม” สมบัติกล่าว

หากลงประชามติแล้วประชาชนไม่รับ จะทำอย่างไร?

พงศ์เทพ เทพกาญจนา กล่าวถึงสถานการณ์ในอนาคต หากมีการลงประชามติแล้ว ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป และจะเกิดอะไรขึ้นในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้เขียนถึงทางออกตรงนี้ไว้ โดยเขาเสนอว่า ควรให้ สนข. ตั้งคำถามพ่วงเข้าไปในการลงประชามติด้วยว่า หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะให้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ หรือจะให้ดำเนินการอย่างไรเพื่อให้บ้านเมืองได้ไปต่อ

“ผมว่ามันทำให้พี่น้องประชาชนไม่สบายใจเลย ว่าลงประชามติ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเขาชัดเจนมาเลยว่า ไม่รับฉบับนี้จะได้อะไร และเป็นทางเลือกที่มีเหตุผล อย่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งเคยผ่านประชามติมาก็มีเหตุผลที่จะเป็นทางเลือก รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ได้รับการยอมรับกันมากที่สุดฉบับหนึ่ง ก็เป็นทางเลือกที่ดี” พงศ์เทพกล่าว

พงศ์เทพ กล่าวต่อไปว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการลงประชามติ แล้วมีการหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ ก็ควรจะใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น และเปิดให้มีกระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขว้างมากขึ้น โดยแนวทางนี้จะเป็นทางเลือกที่เป็นธรรมสำหรับประชาชนทุกคน และมีโอกาสที่จะรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนจริงๆ

ด้าน อนุสรณ์ ธรรมใจ เสนอความเห็นว่า การลงประชามติ ไม่ควรจะเป็นการลงประชามติเฉพาะตัวรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มีการมีส่วนร่วมจากประชาชนมากเท่าที่ควร ฉะนั้นมีหลายประเด็นที่จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ความขัดแย้งอย่างชัดเจน เมื่อขาดกระบวนมีส่วนร่วมก็ต้องให้การลงประชามติให้เกิดการมีส่วนร่วมมากที่สุด คือใช้ประชามติเป็นกลไก ที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศ และแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง

อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า การลงประชามติจะต้องลงไปถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ เนื้อหาใดที่มีความขัดแย้ง เห็นต่าง และเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ต้องมีการลงประชามติในเรื่องนั้น เป็นเรื่องๆ ไป เช่นประเด็นที่มา ส.ว. ที่มา นายกรัฐมนตรี บทบาทขององค์อิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เพื่อที่จะได้ให้ประชาชนได้ออกแบบรัฐธรรมนูญร่วมกัน

“ให้ฟังเสียงประชามติ ว่าประชาชนส่วนใหญ่เขาต้องการอะไร เพราะเราปกครองกันในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนต้องมีอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง นายกรัฐมนตรีมีที่มาอย่างไร ให้อย่างให้ลงประชามติไปเลยว่า หนึ่งเอาแบบที่ กรธ. เสนอ หรือ สองนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นหลักการที่ต่อสู้กันมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว รณรงค์กันมาตั้งแต่ปี 2529 แล้วมาเป็นจริงใน พ.ศ. 2535 หรือ สามให้นายกรัฐมนตรีมากจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน” อนุสรณ์กล่าว

“ตัวรัฐธรรมนูญเองก็ให้โหวตด้วยว่า เอาหรือไม่เอา แต่ถ้าไม่เอาแล้วต้องมีทางเลือก ไม่ใช่ไม่เอาแล้ว ยังไม่รู้จะได้อะไร เพราะไม่งั้นการลงประชามติจะเป็นการลงประชามติแบบมีเงื่อนไข ซึ่งอาจจะไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริง และไม่สามารถวัดความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้” อนุสรณ์กล่าว

ที่มา: ประชาไท